ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |

วัดต้นเกว๋น เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ เนื่องด้วยเป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากวัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง ก่อนจะเดินทางต่อเข้าเวียงเชียงใหม่
ซึ่งในอดีตเป็นประเพณีของเจ้าหลวง และเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่จะจัดอัญเชิญมาให้ประชาชนได้เข้าสรงน้ำสมโภชองค์พระธาตุ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังวัดสวนดอก และวัดพระธาตุดอยสุเทพ ตามลำดับ
นอกจากนี้ วัดต้นเกว๋นยังมีสถาปัตยกรรมที่งดงามวิจิตรยิ่ง คือ มณฑปแบบจัตุรมุข ที่ปัจจุบันพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือ ยังคงความสมบูรณ์ สร้างจากไม้และมุงกระเบื้องดินขอเผาแบบโบราณ บนหลังคาประดับช่อฟ้าและหงส์ สะท้อนความงามที่สล่าล้านนาได้สร้างสรรค์ไว้
โดยในปี พ.ศ.2532 สมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้วัดต้นเกว๋น เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
และในศาลาจัตุรมุขด้านหนึ่งได้ประดิษฐานรูปหล่อครูบาศรีวิชัย ให้ประชาชนได้กราบสักการะ

วิหารวัดต้นเกว๋น
วัดต้นเกว๋น มีวิหารแบบล้านนาโบราณ ที่บันทึกไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2401
สล่าผู้สร้างมีความชำนาญในการแกะสลักไม้ จึงได้แกะสลักลวดลายดอก รูปสัตว์ที่หน้าจั่ว และช่อฟ้า ลายรูปปั้นดอกกูดบริเวณฐานชุกชี ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย
ด้านหลังมีพระพิมพ์โลหะติดกับฝาผนัง แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัย และแบบนาคปรก ราวบันไดที่ทอดไปสู่ตัววิหารประดับตกแต่งเป็นปูนปั้นรูปพญานาค หน้าต่างวิหารด้านนอกทำเป็นลูกกรงไม้แกะสลักลาย
ทั้งนี้ วัดต้นเกว๋นยังมีของสำคัญอีกหลายชิ้นที่เป็นมรดกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เช่น เสลี่ยง สำหรับหามบั้งไฟไปบูชา ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า “เขนีย” กลองโยน (ก๋องปู่จา) ที่ใช้สำหรับตีในวันพระ อาสน์สำหรับตั้งโกศพระบรมธาตุ ธรรมาสน์โบราณ และหีบพระไตรปิฎกที่งดงามอีกด้วย
วัดต้นเกว๋นสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
ที่มาของชื่อ วัดต้นเกว๋น กล่าวคือ มาจากชื่อต้นไม้ในบริเวณที่สร้างวิหาร เรียกชื่อว่า ต้นบ่าเกว๋น ภาคกลางเรียกว่า ตะขบป่า
ต่อมาได้ตั้งชื่อใหม่ ตามเจ้าอาวาสที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้างวัดนี้ คือ ครูบาอินทร์ จึงรวมชื่อ อินทร์ + อาวาส เป็น วัดอินทราวาส แต่ประชาชนก็ยังจดจำชื่อ วัดต้นเกว๋น อยู่เช่นเดิม และด้วยเหตุที่วัดต้นเกว๋นยังคงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมของวัดไว้ทุกส่วน จึงทำให้มีการขอเข้ามาถ่ายทำละครย้อนเวลาอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เกิดกระแสความนิยมเข้าเยี่ยมชมวัดขึ้นเป็นอย่างมาก
ความรู้สึกของผู้ที่ได้เดินทางเข้าไปอยู่บริเวณวัดต้นเกว๋น จึงเสมือนว่าได้หวนกลับคืนไปอยู่ในอดีตกาลอีกครั้งหนึ่ง •