ยาปราบชมพูทวีป สยบอาการหวัดและแพ้อากาศ / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

ยาปราบชมพูทวีป

สยบอาการหวัดและแพ้อากาศ

 

ใครที่ไม่คุ้นเคยชื่อยาโบราณก็อาจตั้งข้อสงสัยว่ายาปราบชมพูทวีป คือยาอะไร?

ถามหาที่มาของชื่อก็ยังไม่มีหลักฐานว่าเรียกกันเช่นนี้ด้วยเหตุใด

แต่พบว่าการตั้งชื่อยาแบบฉบับดั้งเดิมนั้นเหมือนให้พลังใจพลังในตัวยาเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ และถ้าพูดถึงการใช้ประโยชน์ก็จะพบการสืบต่อความรู้ตำรับยานี้มาอย่างยาวนาน น่าจะใช้ในวิถีพื้นบ้านบางแห่ง และมีบันทึกในตำรายาโบราณหลายแห่งซึ่งมีหมอแผนไทยนำมาปรุงใช้ต่อๆ กันมา

เท่าที่พอทราบประมาณปี พ.ศ.2538 เริ่มมีการพัฒนาและยอมรับเป็นเภสัชตำรับโรงพยาบาล โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลสูงเนินได้ทำการศึกษาวิจัย จนในเวลานี้ยาปราบชมพูทวีปได้รับการบรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และมีการใช้เพิ่มขึ้นในสรรพคุณซึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยไข้จำนวนมาก

นั่นคือ บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ

ลองนึกดูถ้าไม่นับไข้โควิด-19 ปกติเราก็ป่วยไข้เป็นหวัดกันบ่อยๆ และยิ่งระยะหลังอาการแพ้อากาศ อาการภูมิแพ้ก็เป็นกันมากมาย

 

ในเวลานี้หน่วยบริการสุขภาพที่มีแพทย์แผนไทยประจำการ หรือในคลินิกแพทย์แผนไทย คนไข้ใดที่มีอาการภูมิแพ้หรือแพ้อากาศก็จะได้รับการจ่ายยาปราบชมพูทวีป ปัจจุบันมีการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ในการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยภูมิแพ้ พบว่าหลังใช้ยาครบ 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

และผู้ป่วยบางรายที่กินยาปราบชมพูทวีปแล้วยังช่วยให้เจริญอาหาร กินอาหารได้ดีขึ้นซึ่งน่าจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอขึ้นจึงทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย

ปัจจุบันจึงมีการใช้ยาปราบชมพูทวีปทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน กล่าวคือ ใช้แทนยาในกลุ่ม Antihistamine (แก้แพ้) ได้แก่ คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) และลอราทาดีน (Loratadine) ที่มีสรรพคุณแก้แพ้ และลดน้ำมูก นั่นเอง

ตามประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรตำรับยาปราบชมพูทวีปนั้น ประกอบด้วยตัวยามากถึง 23 ชนิด จะเสาะหามาทำเองอาจไม่สะดวก ปัจจุบันมีผลิตจำหน่ายเพื่อความสะดวกของผู้ใช้

แต่ขอนำส่วนประกอบยามาแสดงให้รู้จัก เนื่องจากในการทำงานของมูลนิธิสุขภาพไทย พบตำรับยาปราบชมพูทวีปที่หมอพื้นบ้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาท่านหนึ่ง มีความแตกต่างแต่ก็ใช้ในสรรพคุณที่ตรงกัน นำมาเปรียบเทียบให้เรียนรู้

ขอเริ่มจากตำรับทางการที่ประกาศไว้

ตัวยาสำคัญ 465 กรัม ได้แก่ 1) กัญชาเทศ (ใบ) 120 กรัม 2) พริกไทยดำ (ผลแก่จัดแห้ง) 120 กรัม 3) เหงือกปลาหมอ (ทั้งต้น 120 กรัม 4) กานพลู (ดอกตูม ก่อนบาน) 10 กรัม 5) หัศคุณเทศ (ลำต้น และ/หรือราก) 10 กรัม 6) ขิง (เหง้า) 8 กรัม 7) เจตมูลเพลิงแดง (ราก) 8 กรัม 8) บุกรอ (เหง้า) 8 กรัม 9) สมอเทศ (เนื้อผล) 8 กรัม 10) สมอไทย (เนื้อผล) 8 กรัม 11) เทียนแกลบ (ผล) 6 กรัม 12) เทียนแดง (เมล็ด) 6 กรัม 13) เทียนตาตั๊กแตน (ผล) 6 กรัม 14) โกฐเขมา (เหง้า) 4 กรัม 15) โกฐสอ (ราก) 4 กรัม 16) เทียนดำ (เมล็ด) 4 กรัม 17) พิลังกาสา (ผล) 4 กรัม 18) ลำพันหางหมู (เหง้า) 4 กรัม 19) การบูร 2 กรัม 20) ดีปลี (ช่อผล) 2 กรัม 21) กระวาน (ผล) 1 กรัม 22) ดอกจันทน์ 1 กรัม 23) ลูกจันทน์ (เมล็ด) 1 กรัม

ต่อไปนี้เป็นตำรับยาของป้าถวาย กลั่นพจน์ เป็นชาวพระนครศรีอยุธยามาแต่กำเนิด ปัจจุบันท่านจากไปแล้ว ทิ้งไว้เพียงมรดกความรู้ ซึ่งทางมูลนิธิสุขภาพไทยเก็บภูมิปัญญาไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ป้าถวายเรียนวิชาหมอพื้นบ้านมาจากบิดา และบอกเล่าตำรับยาปราบชมพูทวีปของท่านมีส่วนประกอบยา 26 ชนิด ดังนี้

1) ลูกจันทน์ หนัก 1 เฟื้อง 2) ดอกจันทน์ หนัก 1 สลึง 3) การบูร หนัก 1 สลึง 4) ลูกกระวาน หนัก 1 สลึง 1 เฟื้อง 5) ดีปลี หนัก 2 สลึง 1 เฟื้อง 6) ลูกพิลังกาสา หนัก 3 สลึง 7) รำพันหางหมู หนัก 3 สลึง 1 เฟื้อง 8) เทียนแดง หนัก 5 สลึง 1 เฟื้อง 9) เทียนตาตั๊กแตน หนัก 6 สลึง 1 เฟื้อง 10) เทียนแกลบ หนัก 7 สลึง 11) ขิงแห้ง หนัก 7 สลึง 1 เฟื้อง 12) ลูกสมอเทศ หนัก 9 สลึง 13) หัวบุกรอ หนัก 9 สลึง 1 เฟื้อง 14) กานพลู หนัก 10 สลึง 15) โกฐสอ หนัก 1 บาท 16) โกฐเขมา หนัก 1 บาท 1 เฟื้อง 17) เทียนดำ หนัก 1 บาท 1 สลึง 18) เทียนขาว หนัก 1 บาท 1 สลึง 19) ว่านน้ำทั้งห้า หนัก 1 บาท 3 สลึง 20) เจตมูลเพลิง หนัก 2 บาท 21) ลูกสมอไทย หนัก 2 บาท 22) หัสคุณเทศ หนัก 5 บาท 1 สลึง 1 เฟื้อง 23) เหงือกปลาหมอ หนัก 30 บาท 24) พริกไทยล่อน หนัก 30 บาท 3 สลึง 1 เฟื้อง 25) ใบกัญชาเทศ หนัก 31 บาท 2 สลึง 1 เฟื้อง 26) เกลือสินเธาว์ หนัก 1 บาท

นำตัวยาทั้งหมดตากแห้งบดเป็นผง ผสมนม เนย น้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเมล็ดในเม็ดนุ่น รับประทานครั้งละ 2-3 เม็ด ก่อนอาหาร วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น กินต่อเนื่องสัก 1 สัปดาห์

ข้อสังเกตเมื่อกินยานี้จะมีอาการร้อนวูบวาบตามตัวไม่ต้องตกใจ ข้อแนะนำ เมื่อกินยาตำรับนี้ให้งดกินยาอื่น

 

เมื่อพิจารณา 2 สูตรตำรับพบว่าตัวยาเหมือนกันเกือบทั้งหมด

ที่ต่างกันคือ ตำรับของป้าถวายใช้น้ำหนักยาไม่เหมือนกันและใช้การชั่งตวงวัดแบบโบราณ ทั้งยังมีสมุนไพร 3 ชนิดที่เพิ่มขึ้นมา คือ เทียนขาว ว่านน้ำ และเกลือสินเธาว์ การเพิ่มว่านน้ำก็มีความน่าสนใจเพราะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้หวัดด้วย

และหากพิจารณายาตำรับนี้ ตัวยาหลักๆ คือ เหงือกปลาหมอ พริกไทย และสมุนไพรอื่นๆ ที่มีรสร้อนจำนวนมาก กินแล้วอาจแสบร้อนทรวงอกได้ และไม่ควรใช้ในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีไข้สูงๆ เพราะจะทำให้ร่างกายร้อนยิ่งขึ้น

อาการไวรัสที่ไม่ใช่แพ้อากาศก็ไม่ควรใช้ และใช้อย่างระมัดระวังในคนที่เป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน

ยาปราบชมพูทวีปนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของภูมิปัญญาดั้งเดิม ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพในปัจจุบัน เป็นการพึ่งพาตนเองด้านยาของไทยที่ดีอย่างหนึ่งด้วย •