พื้นที่ไฟเขียว (ทางการเมือง) : นโยบายที่เร่งด่วน มากกว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พื้นที่ไฟเขียว (ทางการเมือง)

: นโยบายที่เร่งด่วน

มากกว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ

 

หากใครก็ตามได้ลองฟังนโยบายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา เชื่อแน่ว่าจะต้องได้ยินนโยบายหนึ่งที่ทุกผู้สมัครต้องพูดถึงแทบทุกคน นั่นก็คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ

สัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมสำหรับเมืองที่จะถูกนับได้ว่ามีสภาพแวดล้อมที่ดี ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) คืออย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน แต่กรุงเทพฯ ณ ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 7.34 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น

ตัวเลขข้างต้นเป็นความจริงเชิงสถิติที่สร้างความตื่นตัวทางนโยบายให้กับกรุงเทพฯ มายาวนาน ยิ่งหากมองย้อนกลับไปหลายปีก่อน ตัวเลขสัดส่วนยิ่งน้อยกว่านี้มาก จนสร้างความกังวลให้เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลโดยสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ในปีล่าสุดพบว่า หากพิจารณาพื้นที่แยกลงไปในระดับเขต จำนวน 50 เขตของ กทม. จะมีพื้นที่ 13 เขตที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนมากกว่า 9 ตารางเมตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ คลองเตย ราชเทวี พระนคร ดุสิต ตลิ่งชัน จตุจักร ประเวศ ปทุมวัน หลักสี่ บางขุนเทียน บางบอน ทวีวัฒนา และคันนายาว

และจากข้อมูลของ The Visual by Thai PBS พบว่า หากสามารถปรับพื้นที่ใต้ทางด่วนใน กทม.ทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ พื้นที่โล่งตามผังเมืองรวมฉบับใหม่ พื้นที่สนามกอล์ฟ และพื้นที่ราชพัสดุที่หน่วยราชการหรือทหารใช้อยู่ ก็จะทำให้พื้นที่สีเขียวโดยเฉลี่ยของ กทม.มีมากถึง 13.2 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เทียบเท่าปารีสได้เลยทีเดียว

(ดูใน https://thevisual.thaipbs.or.th/bangkok-green-space/main/)

หากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น เฉพาะในเชิงปริมาณนะครับ อาจกล่าวได้ว่า กทม.มีพื้นที่ทางกายภาพที่มากพอ (โดยไม่ต้องเวนคืนหรือรื้อไล่ชาวบ้านอะไรอีกต่อไป) ที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นปอดสีเขียวให้กับคน กทม.พร้อมอยู่แล้ว

ปัญหาติดเพียงแค่ว่า การบริหารจัดการพื้นที่เหล่านั้นให้มีการใช้งานในลักษณะพื้นที่สีเขียวอย่างมีคุณภาพให้ได้อย่างแท้จริงต่างหาก ที่ดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญ จนทำให้พื้นที่ในเชิงปริมาณที่มากพอเหล่านั้น ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ ผมยังเห็นด้วยแน่นอนว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีประสิทธิภาพยังเป็นนโยบายที่จำเป็นสำหรับเมืองใหญ่แบบ กทม. (ประเด็นนี้จะขอกล่าวถึงละเอียดในสัปดาห์หน้า)

แต่ประเด็นที่อยากจะชวนคิดในที่นี้ก่อนก็คือ เอาเข้าจริงแล้วการเพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” แม้จะสำคัญ แต่อาจไม่เร่งด่วนมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนำมาเทียบกับปริมาณการมีอยู่ของ “พื้นที่ไฟเขียว (ทางการเมือง)” ที่นับวันจะหดน้อยลงเรื่อยๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ

 

พื้นที่ไฟเขียว (ทางการเมือง) คือพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้ามาใช้พื้นที่สามารถแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของตนเองได้อย่างเสรี

อนุญาตให้มีการชุมนุมกันเพื่อแสดงออกทางการเมืองโดยที่ไม่ถูกขัดขวาง (ตราบใดที่การชุมนุมไม่นำไปสู่ความรุนแรง)

และที่สำคัญคือ จะต้องได้รับการอำนวยความสะดวกที่จำเป็นจากทาง กทม. ในฐานะหน่วยงานสำคัญในการดูแลพื้นที่

แต่เป็นที่น่าเสียดาย นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เรื่อยมาจนถึงการรัฐประหาร 2557 พื้นที่ไฟเขียวฯ จากที่เคยกระจายตัวอยู่หลายแห่งใน กทม.กลับถูกทำลายลง

พื้นที่ไฟเขียวฯ ในอดีตที่สำคัญๆ หลายแห่งถูกเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เหลือแค่เพียงพื้นที่สีเขียวไว้ออกกำลังกายและถูกห้ามใช้เพื่อชุมนุมโดยสิ้นเชิง เช่น สนามหลวง บางแห่งถูกเปลี่ยนกลายเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่เข้าถึงแทบไม่ได้อีกต่อไป เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้า

และบางแห่งถูก กทม.ขัดขวางด้วยการนำกระถางดอกไม้มาวางกีดขวางเพื่อกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้จัดกิจกรรมทางการเมือง เช่น บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รวมไปถึงอีกหลายต่อหลายแห่งที่ทางเจ้าหน้าที่ กทม.มักใช้กระถางต้นไม้และดอกไม้เข้าไปวางขวางไม่ให้เกิดการชุมนุมในที่สาธารณะ

และการปิดกั้นล่าสุด คือ กรณีที่สำนักงานเขตปทุมวันมีหนังสือแจ้งไปยัง “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ไม่อนุญาตให้มีการจัดเวทีนำเสนอนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ บริเวณลานหน้าหอศิลป์ฯ ในหัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา) ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดแนวคิดของผู้สมัครแต่ละคน ว่าคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

 

ไม่เฉพาะเพียงแค่กรุงเทพฯ เท่านั้นหรอกนะครับ ทุกพื้นที่ของประเทศไทยหลังการรัฐประหาร สิ่งที่เรียกว่าพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองต่างถูกควบคุมและทำลายลงอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ที่ยังมีประชาชนแข็งขืนต่อต้านและฝ่าฝืนเข้าไปชุมนุม ก็จะถูกสอดส่อง คุกคาม ไปจนกระทั่งถูกใช้กำลังในการสลายการชุมนุมอย่างไรเหตุผล

พื้นที่สาธารณะเกือบทุกแห่งในสังคมไทยปัจจุบัน กำลังถูกบีบให้กลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดการเมือง

ภาครัฐและ กทม. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พยายามนำเสนอภาพของพื้นที่ทางการเมืองว่าเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรง ขาดระเบียบ สกปรก และควรสูญหายไปให้หมด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่สาธารณะไหนที่ในอดีตเคยมีการใช้งานซ้อนทับกันระหว่างการเป็นพื้นที่สีเขียวกับการเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง (เช่น สนามหลวง) ก็จะยิ่งถูกนำเสนอภาพของความสกปรก ไร้ระเบียบที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยให้มีการชุมนุมทางการเมือง

ทุกครั้งที่มีความพยายามจะเรียกร้องให้มีการเปิดใช้สนามหลวงสำหรับชุมนุมทางการเมือง สิ่งที่เราจะเห็นได้ทันทีจากฝ่ายต่อต้าน คือ การโชว์ภาพถ่ายเก่าของสนามหลวงที่สกปรกและเต็มไปด้วยขยะภายหลังจากมีการชุมนุมทางการเมือง เพื่อที่จะนำเสนอภาพเลวร้ายของการชุมนุมทางการเมือง

แน่นอน ผมไม่เห็นด้วยเลยนะครับกับความสกปรกที่เกิดขึ้น แต่การแก้ไขปัญหาความสกปรกไม่ใช่อะไรที่ยากเลย เราสามารถจัดการได้หลากหลายวิธีโดยที่ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยการถูกลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุม

 

ในทัศนะผม ความพยายามในการสร้างพื้นที่คู่ตรงข้ามที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ระหว่าง “พื้นที่สีเขียว” ที่สะอาด สวยงาม ร่วมรื่นของต้นไม้ดอกไม้ กับ “พื้นที่ไฟเขียวฯ” ที่ไร้ระเบียบ สกปรก และ อันตรายดังกล่าว เป็นเพียงภาพลวงตาเกินจริงที่สังคมเผด็จการสร้างขึ้น

หากเป็นไปได้ ผมอยากเสนอว่า ผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคต ควรจะต้องถือเป็นนโยบายหลักที่สำคัญ ที่จะต้องกำจัดภาพลวงตาเกินจริงดังกล่าวออกไป เพราะพื้นที่ทั้งสองแบบสามารถอยู่ร่วมกันและแชร์ใช้พื้นที่ด้วยกันได้

จากนั้น จะต้องเร่งทำการสำรวจและจัดทำข้อมูล “พื้นที่ไฟเขียวฯ” ใน กทม. ในรูปแบบเดียวกับการจัดทำข้อมูล “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งผลที่ได้คงจะทำให้เราเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวในตอนนี้ขาดแคลนเป็นอย่างยิ่ง

และสุดท้าย ก็ควรเร่งรัดส่งเสริมให้มีการเพิ่ม “พื้นที่ไฟเขียวฯ” ให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน อย่างน้อย กทม.ควรมีพื้นที่นี้ในสัดส่วน 1 ตารางเมตรต่อคนให้ได้ภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยเริ่มจากพื้นที่สนามหลวงก่อนเลยเป็นอันดับแรก

อย่างน้อยที่สุด พื้นที่สนามหลวงฝั่งทิศเหนือที่ปัจจุบันเป็นพื้นแข็งอยู่แล้ว แทนที่จะปล่อยว่างเพื่อรอรถทัวร์นักท่องเที่ยวมาจอดเพียงอย่างเดียว ก็ควรจะเปิดให้ใช้เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองได้เลย โดยแทบไม่ต้องมีการปรับภูมิทัศน์ใดๆ ให้เสียงบประมาณ

รวมถึงควรเลิกใช้งบประมาณสิ้นเปลืองมหาศาลในการนำดอกไม้กระถางมาวางรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้แล้ว โดยควรปล่อยให้เป็นพื้นเดิมของอนุสาวรีย์และอนุญาตให้ประชาชนสามารเข้าไปแสดงออกทางการเมืองได้โดยอิสระเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต

สิ่งนี้ก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่เสียงบประมาณ แถมยังประหยัดงบฯ ดอกไม้กระถางที่ไร้ประโยชน์ได้อีกต่างหาก

 

ความขาดแคลนแสนสาหัสของ “พื้นที่ไฟเขียว (ทางการเมือง)” ใน กทม. (จริงๆ คือทุกเมืองทั่วประเทศไทยในตอนนี้เลยก็ว่าได้) มิใช่เพียงแค่การเล่นคำเล่นสำนวนนะครับ

แต่การขาดแคลนพื้นที่ประเภทนี้มันคือตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยที่ตกต่ำลงของสังคมไทย

หาก “พื้นที่สีเขียว” คือพื้นที่ที่ทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง “พื้นที่ไฟเขียว (ทางการเมือง)” ก็คือพื้นที่ที่ทำให้จิตวิญญาณของเราแข็งแรงขึ้น

การดำรงอยู่ของพื้นที่ทั้งสองแบบเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ในสังคมที่อ้างว่าตนเองเป็นประชาธิปไตย