ภูมิภาษา และปัญญาแผ่นดิน / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ภาพประกอบ : kohyor.go.th

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ภูมิภาษา

และปัญญาแผ่นดิน

 

ระหว่างเสาร์ 14-จันทร์ 16 พฤษภาคม 2565 นี้มีประชุมสัมมนาเรื่อง “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอ สงขลา ด้วยความร่วมมือของสถาบันหลักคือคณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรมวุฒิสภา สมาคมสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน และ สสส. กับสถาบันทักษิณคดีศึกษา พร้อมด้วยสถาบันเดวัน บาฮาซา ประเทศมาเลเซีย และสถาบันศิลปะแห่งนครจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ผู้เข้าร่วมประชุมเสวนานอกจากตัวแทนของสถาบันต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ก็มีท่านผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ต่างๆ ปราชญ์พื้นที่และศิลปินผู้เกี่ยวข้องอีกหลากหลาย

นี่เป็นการประชุมเสวนาเพื่อประมวลความคิดเห็นครั้งแรก ยังจะมีครั้งต่อไปให้ครบทั้งสี่ภาค

จุดประสงค์คือความต้องการให้มีสถาบันเพื่อบริหารจัดการเรื่องเกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งเป็นหลักไว้นั้นเป็นสำคัญ

ด้วยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ที่นับวันจะทวีมากขึ้นในยุคสมัยของโลกวิถีใหม่

นั่นคือเรื่องของภาษาและปัญญาแผ่นดิน

 

ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นวัฒนธรรมและอารยธรรมที่เป็นแก่แกนของสังคมทุกสังคมในโลกนี้

วัฒนธรรมเป็นพัฒนาการ ขณะที่อารยธรรมเป็นความเจริญอันเป็นเป้าหมายของวัฒนธรรมที่ดีนั่นเอง

วัฒนธรรมมีสองด้าน คือ ถ้าพัฒนาดีก็นำไปสู่อารยะ แต่ถ้าพัฒนาไม่ดีก็พาไปสู่หายนะ

จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเป็นเบื้องต้น เพราะความหมายของ “ภาษา” นี่เองเป็นพาหะของการสื่อความ

ความหมายโดยรวมของคำว่า “วัฒนธรรม” ก็คือ “วิถีชีวิต”

ทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนเป็นวัฒนธรรมทั้งสิ้น

ที่ต้องโยงยาวสาวความนี่ก็เพราะเรามักเข้าใจไม่ตรงกัน แม้ในคำเดียวกัน ดังคำวัฒนธรรมนี้เอง ด้วยคำนี้เป็นศัพท์บาลีสันสกฤตที่เรานำมาใช้ ความหมายที่แท้ดังเรียก “รากศัพท์” นั้นยากที่คนทั่วไปจะรู้ถึง ศัพท์ทั้งหลายจึงถูกนำไปใช้ในความหมายหลากหลายที่มักเป็นความหมายไม่ตรงกันอยู่เสมอ

ซึ่งเรามักต่าง “ฉวยใช้” ไปตามที่รับรู้มาเพียงเท่านั้น

 

ความหมายของวัฒนธรรมในอีกระดับก็คือ เรื่อง “ฐานวัฒนธรรม” อันมีอยู่สามฐาน คือ รากฐาน-พื้นฐาน-ภูมิฐาน

จำเพาะเรื่องของ “ภาษา” หรือวัฒนธรรมทางภาษาในสามฐานนี้ ตัวอย่างคือ

ภาษาที่เป็นรากฐานคือ ใช้ “สื่อความ” เพื่อเข้าใจกัน ดังคนไทยก็ใช้ภาษาไทยสื่อความเข้าใจ สื่อความคิด คือคิดด้วยภาษา กระทั่งฝันก็ฝันด้วยภาษาไทย

ภาษาที่เป็นพื้นฐานนอกจากใช้สื่อสารเพื่อประโยชน์นานาแล้ว ธุรกิจโดยตรงเกี่ยวกับภาษา เช่น หนังสือ ก็ยังแปรเป็นมูลค่ามหาศาล ไม่ยกเว้นสื่อสมัยใหม่ทั้งหลายในโลกวันนี้ด้วย

ภาษาที่เป็นภูมิฐานโดยตรงก็เช่นวรรณกรรมทรงคุณค่าทั้งหลายบรรดามี ดังวรรณคดีของเราและวรรณกรรมเอกของโลก สเปนนั้นยกย่องเรื่องดอนกิโฆเต้วรรณกรรมของสเปนเมื่อกว่าพันปีแล้วว่าเป็น “แสงสว่างแห่งอาณาจักร” นั่นเลย

ไทยเรามีปัญหาด้านรากฐานทางภาษาอยู่มากมายก่อให้เกิด “ช่องว่าง” ทางความเข้าใจนอกจากภาษาบาลีสันสกฤตแล้ว เวลานี้ภาษาต่างประเทศที่โลกยุคใหม่ใช้สื่อสารกันอยู่ ยิ่งถ่างช่องว่างของความไม่เข้าใจออกไปมากขึ้น

 

ชาติใดชนใดก็ตามที่ไม่ “แตกฉาน” ในภาษาของตนมากเท่าใดก็ยิ่งอ่อนแอในภูมิปัญญามากเท่านั้น

ด้วยสรรพความรู้บรรดามีนั้นล้วนแล้วแต่ต้องทำความเข้าใจพื้นฐานของตนไปรองรับด้วยกันสิ้น แม้เรื่องภาษาก็เช่นกัน เช่นคนไทยก็ต้องใช้ภาษาไทยไปรับรู้ภาษาต่างชาตินั้นๆ

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น คำประชาธิปไตยที่เรานำมาใช้รับรู้ ศัพท์ Democracy นี่ก็ต่างคนต่างตีความไม่ตรงกันแล้ว ด้วยคำประชาธิปไตยเองก็เป็นศัพท์บาลีสันสกฤตซึ่งผูกขึ้นมาใหม่

ดังนั้น ภาษาที่เป็นส่วนรากฐานของวัฒนธรรมจึงสำคัญยิ่งโดยเฉพาะสังคมไทย ที่คนส่วนใหญ่ไม่ “แตกฉาน” ในภาษาไทยของตน

บางคนลึกๆ แล้วรู้สึกดูถูกภาษาของตนด้วยความคิดที่ใช้ภาษาของตนนั่นเองมารู้สึกดูถูกโดยไม่รู้ตัวเอาด้วยซ้ำ

 

รากฐานนั้นเป็นสิ่งมีคุณค่า

พื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสร้างมูลค่า

ภูมิฐานนั้นเป็นสิ่งทรงค่า

สามฐานวัฒนธรรมทางภาษาจึงสำคัญยิ่งเช่นเดียวกับ “ปัญญาแผ่นดิน” ซึ่งภาษาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ปัญญาแผ่นดิน” เป็นมรดกอารยธรรมที่ตกทอดมาเป็นภูมิปัญญาของความเป็นไทยในทุกวันนี้

 

ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน หัวข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดให้มีองค์กรในรูปสถาบันเพื่อบริหารจัดการดูแลให้เป็นเอกภาพ มิใช่กระจัดกระจายดังสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้ มิฉะนั้นนอกจากจะเกิดสภาพล้าหลังทางวัฒนธรรมแล้ว ยังอาจตกเป็นเหยื่อทางวัฒนธรรม ดังเริ่มจะมีเค้าอยู่แล้วในวันนี้

สถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินต้องมีลักษณะสานพลังสามภาคส่วน คือ ภาคราชการ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) ภาคประชาชน ดังเรียก “ไตรภาคี” ซึ่งต้องเป็นเอกภาพกันอย่างมีดุลยภาพอันเป็นเรื่องต้องลงลึกในรายละเอียดต่อไป

ดังคำของผู้รู้เคยกล่าวคือ

เรื่องของศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินนี้ สำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้อยู่ในมือของราชการแต่โดยลำพังเพียงเท่านั้น •