ครั้งหนึ่ง ‘ไทยหรือพม่า’ ปฏิรูปเขมรเถรวาท?/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ครั้งหนึ่ง ‘ไทยหรือพม่า’

ปฏิรูปเขมรเถรวาท?

 

อีกครั้งที่โยมขญมวนกลับมา “เถรวาท” สมัยอินโดจีนที่ก่อตั้ง “โรงเรียนบาลี” เพื่อสอนปริยัติธรรมในพนมเปญราวทศวรรษ 1930 เพื่อปลดแอกแคว้นเขมรจากอิทธิพลของสยาม

แต่โยมขญมก็เพิ่งจะเบิกเนตรว่า ทำไมบารังอินโดจีนจึงตั้งชื่อสถาบันนี้ว่า “โรงเรียนบาลีระดับสูง”?

ว่าแต่ “โรงเรียน” นี้ มีความแตกต่างไปจากสำนักสอนเปรียญธรรมบาลีไทยอย่างไร จึงต้องใส่คำว่า “ระดับสูง” ห้อยท้ายเช่นนั้น?

หรือนี่คือปฐมบทของ “ทฤษฎีปฏิรูปเถรวาท” ฉบับกัมพูชาโดยคณะยิวบารัง และที่ใส่คำว่า “ยิว” ไว้ไม่ใช่ใดอื่น แต่เพื่อเน้นว่าไม่ใช่คาทอลิกที่ศาสนจักรตั้งแต่สมัยลาลูแบร์-อยุธยาและอินโดจีนต่างหวาดกลัวว่าจะถูกครอบงำ

แต่เมื่อไปได้แคว้นกัมพูชาเป็นอาณานิคมแล้ว ลูกหลานฉลาดไวลาลูแบร์ ยังมีความคิดที่จะแทรกแซงนักบวชเถรวาทโดยเฉพาะการเอาคณะสงฆ์เขมรออกจากสยาม และด่านแรกเลยก็คือ การทำให้กัมพูชามีสำนักศึกษาบาลีเป็นของตน

ไม่ใช่เอะอะก็ส่งไปเรียนที่สยาม ยากลำบากในการเดินทาง และสยามเองก็จำกัดจำนวนสงฆ์

นับวันจะเหมือนตาลยอดด้วน ที่ไม่มีพระเขมรเล่าเรียนธรรมชั้นสูง เป็นทรัพยากรของชาติให้ประเทศตนรุ่งเรือง

อันที่จริงกาลนั้น ศาสนจักรสำนักกลางกรุงเทพฯ ยังไม่วางระบบการศึกษาบาลีอย่างจริงจัง นอกจากบางสำนักที่เคร่งครัดก็เล่าเรียนยอมรับกัน

การที่ฝรั่งเศสดำริมาก่อตั้งสำนักบาลีธรรมเป็นระบบโรงเรียนที่เริ่มต้นในกรุงพนมเปญและต่อมาขยายสาขาไปยังพื้นที่อื่น เช่น กรุงอุดงค์ ตลอดจนมีการส่งพระสงฆ์ลาวมาเล่าเรียนที่นี่

สำหรับความเห็นของโยมขญม นี่นับเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของการรุกรานยึดครองอินโดจีนของตะวันตก

ฤๅเป็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า การส่งเสริมคณะนักบวชเถรวาททั้งในลาวและเขมรโดยสยามที่ไม่มีมาก่อนนั้น คณะศาสนจักรหรือสงฆ์ไทยก็อ่อนแอเช่นกัน เพราะเอาเข้าจริง ก็เป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายรัฐอำนาจ ไม่เคยมีโอกาสจะสังคายนาและปกครองตนเองอย่างเป็นเอกเทศ

และสามารถยกระดับตนเองและหมู่เหล่าเถรวาทในภูมิภาคเดียวกันอย่างแท้จริง

ชัดเจนเรื่องความไม่ปกตินี้ การที่ราชสำนักกัมพูชาสถาปนาธรรมยุต/สยามนิกายเข้าไปอีก ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกแบ่งฝักฝ่าย เป็นเหตุให้มหานิกายกัมพูชาอ่อนแอ แลไม่แปลกเลยที่รัฐบาลอินโดจีนจะหาทางโค่นล้มธรรมยุติให้จงได้ นั่นก็คือ ก่อตั้ง “โรงเรียนบาลี” ของตนขึ้นมา

ไม่เท่านั้น เพื่อให้ชัดเจนว่า “ไม่ใช่” สูตรการเรียนฉบับเดียวกับสยาม จึงเติมท้ายคำว่าระดับสูงเสมือนเป็นลิขสิทธิ์ของตัวเอง นับเป็นการตลบหลังเล็กๆ ทีเดียวล่ะ!

เหมือนคำว่า “ระดับสูง” ที่อาจเป็นการ “ปักหมุด” ของเถรวาทฉบับบารัง? ตามหลักการสร้าง “แบรนด์” ใหม่ที่ย่อมจะตั้งใจให้ “ต่าง” จากสยาม?

ถ้าเช่นนั้น บาลีระดับสูงเขมรนี้มีความต่างจากหลักสูตรสยามที่ตรงไหน? ซึ่งต่างกันจากคำว่า “ใหญ่” ในที่นี้คือ grand/กร็องด์ หรือ “สูง” ในที่นี้คือ haut/โอต์?

และคำว่า haut ที่ตรงกับภาษาเขมรระดับสูง-ศาลา-บาลี-จอน่-ขปุส่ (sala-pali-chean-khpasa)

เพื่อเปรียบเทียบกับทฤษฎีโยมขญมต่อสูตรการศึกษาบาลีฉบับเขมรว่า มีสารตั้งต้นมาจากทางใด? ซึ่งโยมขญมก็โยนลูกต่อไปโดยว่าถึงแม้คณะบารังจะไม่ใช้คำว่า sala-pali-thom/ศาลาบาลีทม คือไม่ใช้คำว่า grand ที่จะตรงกับคำว่า “บาลีใหญ่” อันเป็นสูตรศึกษาบาลีแบบพม่านั้น

และทำไมโยมขญมจึงลากไปถึงได้?

ก็เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนบารังปลายบูรพาทิศ ศ.หลุยส์ ฟิโนต์ คนนี้แหละผู้ออกแบบโรงเรียนบาลีระดับสูงในเขมร และก่อนจะเกิดการศึกษาระบบนี้ ฟิโนต์เองเคยเดินทางไปพม่า

เป็นไปได้ไหม นี่เป็นหนทางของนักก่อการบารังที่จะฝัง “ดีเอ็นเอ” เถรวาทใหม่ให้แก่กัมพูชา และมีเงื่อนไขว่า พึงแตกต่างไปจากไทย? และนั่นคือคำตอบว่า ทำไมจึงเป็น “บาลีใหญ่” ที่บารังชื่นชมต่อภูเมีย/พม่าและหวังจะเอามาประยุกต์ใช้ในแขมร์

ไม่เพียงจะยกระดับให้ต่างจากสยาม แต่ยังเป็นการดัดหลังบางกอกด้วย?

ทฤษฎีสมเล่นแร่แปรธาตุโรงเรียน “บาลีใหญ่” ฉบับพม่า ได้สร้างกระชุ่มกระชวยต่อจิตใจโยมขญมเป็นอย่างมาก

ว่าแต่ทำไมฉันจึงเชื่อว่าบารังไปเอาสูตรนี้มา? มีอะไรสนับสนุน? นอกจากท่านฟิโนต์ที่ปลาบปลื้มเถรวาทของพม่าตั้งแต่ที่ยังเป็นนักวิจัยและเมื่อเกษียณจากโรงเรียนบารังฯ กรุงฮานอย ฟิโนต์เดินทางผ่านภูเมียไปอินเดีย คาดว่าเขาคงเขียนจดหมายถึง ผอ.สถาบันพุทธฯ เขมรเล่าถึงภารกิจเถรวาทครั้งสุดท้ายที่นั่น

เมื่อไปถึงฝรั่งเศสแล้ว ก็คงตายตาหลับ

เพราะหลุยส์ ฟิโนต์ คือ “สารตั้งต้น” ทุกอย่างของเถรวาทกัมพูชา ขอให้เรานึกถึง “สตาร์ตอัพ” ฉบับเถรวาทในศตวรรษที่ 20 ถ้าพอจะจินตนาการ

และการที่กัมพูชามีการสังคายนาพระไตรปิฎก, สำนักพุทธศาสนบัณฑิตโดยศิษย์-ซูซานน์ คาร์เปเลส ที่ฟิโนต์ปั้นมากับมือและเธอก็มีองค์ความรู้ด้านเถรวาททั้งฐานกว้างและด้านลึกเราจึงจำเป็นต้องยกเครดิต

รวมทั้งการส่งเสริมให้พระเขมรจาริกไปเยือนพม่า-ศรีลังกา นั่นเท่ากับว่า สารตั้งต้นของคณะก่อการเถรวาทชาวบารัง อย่างไม่มายาคติ พวกเขาย่อมทราบว่า การศึกษาบาลีใหญ่ของพม่าเป็นเยี่ยงใด

หรืออย่างน้อยโดยไม่มายาคติ มีพระเถรวาทไทยได้กล่าวไว้ในเรื่องนี้ เช่น ที่สำนักวัดท่ามะโอ ก้าวหน้าถึงขั้นส่งพระเณรของไทยกลับไปศึกษาต้นทางที่เมียนมา จนกลายเป็นบุคลากรแถวของบาลีไทยสายเมียนมาที่เคร่งครัดตามหลักการศึกษาอันเก่าแก่ อ้างย้อนไปถึงพุทธกาล

ตามรอยการสำรวจนี้ หากตอนนั้นพม่าไม่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว คณะบารังเถรวาทคงส่งพระเขมรไปเล่าเรียนที่นั่น

 

ไม่ใช่จินตนาการเพ้อฝัน แต่มีข้อหักล้างบางอย่างที่ฉันมาพบในภายหลัง โดยเฉพาะอัตจาริกหรือจริตเถรวาทของเขมรกับพม่ามีหลายอย่างช่าง “พ้อง” กัน!

ตั้งแต่ท่านั่ง “ยงโย่” ยองๆ ในขณะอุปสมบทเป็นพระหรือบรรพชาเป็นเณร ฉันเคยเห็นภาพเก่าการบวชนอกอุโบสถของเขมรกับท่านั่งที่ว่าซึ่งแตกต่างจากสยาม

นอกจากนี้ ลักษณะกฎระเบียบของโรงเรียนระดับสูงกัมพูชาก็บังเอิญเหลือเกินที่พบว่ามีความคล้ายกับสำนักเรียนของเมียนมาในปัจจุบันอย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะการกำหนดให้พระเณรเข้าเรียนในอารามเดียวกันเป็นร้อย และบางแห่งก็กึ่งพันรูป!

ส่วนเรื่องการ “ขบฉัน” นั้น ก็นับว่าแปลกที่พระเณรเมียนมาปัจจุบัน ในวัด-สำนักเรียนจะเริ่มฉันมื้อแรกก่อนพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งตรงกับเขมรด้วย เพียงด้วยเหตุปัจจุบัน เมื่อไม่มีการเล่าเรียนหนังสือแล้ว การฉันข้าวต้ม “บอบอ” มื้อเช้าก่อนรุ่งสาง จึงเท่ากับเป็นการหล่อเลี้ยงจริตเดิม ซึ่งข้อนี้ต่างกันกับสงฆ์ไทย

ที่สงฆ์เขมรมักออกบิณฑบาตรตอนสายๆ ราว 10 โมงเช้า ซึ่งนั่นก็เป็นการฉันมื้อเพล และตรงกับธรรมเนียมวัดเมียนมาตามที่โยมขญมฟังมาจากพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล ผู้เรียนและสอนบาลีธรรมที่เมียนมาถึง 18 ปี โดยว่า “หลังฉันอาหารมื้อแรกก่อนรุ่งสางราวหกโมงเช้าเสร็จสิ้นแล้ว จึงเริ่มเล่าเรียนหนังสือ” ซึ่งเรื่องนี้คล้ายกันกับพระเณรที่โรงเรียนบาลีระดับสูงที่วัดลังกากรุงพนมเปญ

แต่เมื่อไม่มีการศึกษาเคร่งครัดเยี่ยงอดีต การ “ขบฉัน” แลข้อวัตรเขมรในปัจจุบันจึงดูจะไม่ร่วมสมัยและกล่าวได้ว่ามีธรรมเนียมที่ต่างจากสงฆ์ไทย เว้นแต่ข้อที่ให้สอบแข่งขันบาลีที่วัดพระแก้ว

ธรรมเนียมสยามที่เขมรรับมาข้อนี้ ปัจจุบันแม้จะยกเลิกไปแล้ว แต่ก็เป็น “หลักฐาน” ชั้นดีที่ช่วยไขปริศนาการเรียนบาลีแบบไหน “ไทย-พม่า” ที่เขมร?

เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีสังคายนาเถรวาทกัมพูชาภาคต่อไป การตามหา “sala-pali-chean-khpasa” จึงยังไม่จบที่ฉันจะต้องตามหา

เช่นเดียวกับคนนอกศาสนา-คณะก่อการบารังฯ พวกเขามีความฝันที่เป็นเยี่ยงใด?