คุยกับทูต : จูเว็งซียู มาร์ติงซ์ ติมอร์-เลสเต ฉลองเอกราช 20 ปี พร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ (3)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

คุยกับทูต : จูเว็งซียู มาร์ติงซ์

ติมอร์-เลสเต ฉลองเอกราช 20 ปี

พร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ (3)

 

ติมอร์-เลสเต ได้แสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานโครงการพระราชดำริเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่นักเรียนติมอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2014

โดยได้พระราชทานความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งปรับปรุงสภาวะแวดล้อมของโรงเรียนในติมอร์-เลสเต ได้แก่ โรงเรียนประถม Escola Basica Filial Acanuno และโรงเรียนอนุบาล Ensino Pre-Escolar Acanuno ชานกรุงดิลี อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค การเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเพื่อยกระดับภาวะโภชนาการของนักเรียน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯโปรดให้นายฟรังซิสกู กูร์แตร์รีซ ลู โอลู ประธานาธิบดีติมอร์ เลสเต เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงดิลี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนติมอร์ฯ

พระราชทานอุปกรณ์การเกษตร ยาและเวชภัณฑ์ และทรงติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการของโรงเรียนทั้งสองแห่งซึ่งใช้พื้นที่ร่วมกัน

รวมทั้งได้พระราชทานอาคารเรียนหลังใหม่ ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนติมอร์-เลสเต วันที่ 10-13 มิถุนายน 2019

ในพิธีมอบอาคารเรียนหลังใหม่แก่โรงเรียนประถม Escola Basica Filial Acanuno มีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา ติมอร์-เลสเต ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2021

โครงการตามพระราชดำริดังกล่าวได้ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนต่อการพัฒนาการศึกษาควบคู่กับโภชนาการและการสาธารณสุขของติมอร์-เลสเต และมีโรงเรียนเป้าหมายที่ดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริดังกล่าวรวม 6 แห่งในติมอร์-เลสเต

นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ เอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเต

ไม่ว่าชนชาติไหน ต่างก็มีนิทานปรัมปรา ตำนาน เกร็ดประวัติศาสตร์ที่เล่าสืบต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ (H.E. Mr. Juvencio de Jesus Martins) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำราชอาณาจักรไทย เล่าว่า

“พวกเราชาวติมอร์ฯ พูดถึงประเทศของเราเองว่าเป็นดินแดนแห่งจระเข้ เนื่องจากลักษณะของประเทศมีรูปร่างคล้ายจระเข้ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตำนานในอดีตกาลว่ามีจระเข้ว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรมาเป็นเวลาช้านาน โดยมีเด็กชายนั่งอยู่บนหลังและในที่สุดก็กลายร่างเป็นผืนแผ่นดิน”

ชาวติมอร์ตะวันออกมีวิถีชีวิตเคียงขนานไปกับสายน้ำที่ชุมไปด้วยจระเข้ใหญ่เล็ก เป็นเสมือนบรรพบุรุษศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานผืนดินผืนน้ำอันอุดมสมบูรณ์แก่พวกเขา หลายพื้นที่ในติมอร์ฯ บริเวณหมู่บ้านริมน้ำจะมี ‘รูปปั้นเด็กยืนบนหลังจระเข้’ ที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพบูชา

ตามตำนานเล่าถึงการกำเนิดประเทศว่า มีจระเข้ตัวใหญ่มหึมานามว่า Lafaek Diak เป็นจระเข้ที่เป็นมิตรกับมนุษย์ และเสียสละตัวเองให้เด็กชายในรูปปั้นได้อยู่อาศัยบนหลังของมันเสมือนเป็นบ้าน พร้อมมอบความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เด็กชาย

ภูเขา Matebian เป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของติมอร์ตะวันออก

พวกเขาเชื่อว่าลักษณะภูมิประเทศของติมอร์ที่เป็นเขาสูงหลายลูกสลับกันนั้น คือหลังของจระเข้ในตำนานที่เล่าขาน

“บางคนเรียกแผ่นดินนี้ว่า ดินแดนแห่งพระอาทิตย์อุทัย (The land of the rising sun : East Timor) ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวโปรตุเกสมอบให้กับดินแดนนี้ในฐานะเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโปรตุเกส โดยดวงอาทิตย์จะสัมผัสดินแดนแห่งนี้ก่อนในทันทีที่ปรากฏขึ้นมาบนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยภูเขา มีถนนคดเคี้ยวเชื่อมโยงทุกส่วนของประเทศ”

“นอกจากนี้ ติมอร์ฯ ยังมีชื่อเสียงมากในเรื่องกาแฟที่มีกลิ่นหอมและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

“Cristo Rei of Dili” รูปปั้นพระเยซูสูง 27 เมตร บนยอดเขาปลายสุดของคาบสมุทร Fatucama พระเยซูยืนอยู่บนลูกโลกและหันหน้าออกสู่ท้องทะเลสีครามกว้างใหญ่เบื้องล่าง

ติมอร์-เลสเต กับการเป็นสมาชิก “อาเซียน” (ASEAN) ในอนาคต

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติมอร์ฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย จะเห็นได้จากการเข้าร่วมเวทีการประชุมต่างๆ ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

หลังจากได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียนในปี 2002 ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค (ASEAN Regional Forum) ในปี 2005 และร่วมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation) ในปี 2007

“ติมอร์-เลสเตได้ยื่นเอกสารสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 4 มีนาคม 2011 ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนต่างยินดีรับใบสมัครในเชิงบวก เราดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อบูรณาการและเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสถาบันและกลไกการปกครองในประเทศ การตั้งสถานกงสุลหรือสถานทูตประจำในชาติอาเซียน และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในทุกนัด รวมถึงการประชุมสุดยอดปี 2019 ที่ไทยรับหน้าที่ประธานด้วยเช่นกัน”

“ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนติมอร์-เลสเตเข้าสู่อาเซียนอย่างเต็มที่ โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของติมอร์-เลสเตเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 (52nd AMM) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2019, การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 26 (26th ASEAN Regional Forum – ARF) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2019”

 

การจะได้เป็นสมาชิกอาเซียนหรือไม่นั้น ตามกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผลบังคับใช้ได้กำหนดไว้ในมาตรา 6 ในเรื่อง “ว่าด้วยการรับสมาชิกใหม่” โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไข 4 ประการสำคัญ คือ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, การยอมรับโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง, การตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตรนี้, ความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติพันธกรณีของสมาชิกภาพ การรับสมาชิกให้ตัดสินโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน รัฐผู้สมัครจะได้รับเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อได้ลงนามภาคยานุวัติสารกฎบัตรนี้

ข้อที่เป็นอุปสรรคมากที่สุด คือ การยอมรับโดยรัฐสมาชิกทั้งหมด

ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่รับรองเอกราชของประเทศติมอร์-เลสเต และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2002 ทำให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ กล่าวว่า

“ติมอร์-เลสเต ขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การสนับสนุนการเข้าร่วมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง มีคณะค้นหาข้อเท็จจริงจากประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Fact-Finding Mission – APSC FFM) เยือนกรุงดิลี (Dili) เพื่อประเมินความพร้อมของติมอร์-เลสเตในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนซึ่งขณะนี้อยู่ในการประเมินโดยประเทศสมาชิกอาเซียน”

“ผมยินดีและซาบซึ้งในความร่วมมือที่ประเทศไทยมีต่อประเทศติมอร์-เลสเต โดยมุ่งหวังในการรักษาความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งโดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่อนาคตที่เจริญรุ่งเรืองและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันตลอดไป”

ปัจจุบันมีสถานเอกอัครราชทูต 15 ประเทศตั้งอยู่ในกรุงดิลี โดยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ

“เราหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามข้อกำหนดและความคาดหวังของอาเซียน เพื่อติมอร์ฯ จะได้เข้าเป็นชาติสมาชิกลำดับที่ 11 ขององค์กรที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างเช่นอาเซียนอีกไม่นานนี้”

และเมื่อโอกาสนั้นมาถึง ก็จะเป็น “11 ชาติ 1 อาเซียน” ดำเนินตามวิสัยทัศน์อาเซียน ซึ่งเป็นประชาคมที่มีพลวัต มีชีวิตชีวา ที่นำไปสู่ความสำเร็จ จากความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกับสมาชิกทั้งในประชาคมและหุ้นส่วนนอกภูมิภาค •