อะไรเอ่ย ยิ่งดูยิ่งสั้น?/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

อะไรเอ่ย ยิ่งดูยิ่งสั้น?

 

ในยุคที่คนส่วนใหญ่รับข่าวสารและความบันเทิงจากรายการโทรทัศน์เป็นหลัก การจะดูอะไรสักหนึ่งรายการเราจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที หรืออาจจะยาวเป็น 2 ชั่วโมงสำหรับการดูละครสักเรื่อง

เราเคยชินกับการดูคอนเทนต์ตามตารางเวลาออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ รายการยาวเท่าไหร่ เราก็จะต้องดูนานเท่านั้น เว้นแต่เราจะปิดหนีไปทำอย่างอื่นเสียก่อน

เมื่อเราเปลี่ยนรูปแบบการชมคอนเทนต์มาอยู่บนอินเตอร์เน็ต วิดีโอที่เราดูก็เริ่มจะสั้นลงเรื่อยๆ ความเชื่อที่ฉันได้ยินอยู่บ่อยครั้งก็คือเราจะต้องทำวิดีโอบนอินเตอร์เน็ตให้สั้นและกระชับที่สุดเพราะไม่มีใครอยากดูอะไรยาวๆ

ดังนั้น เราจึงจะเห็นว่าความยาวเฉลี่ยของคลิปบนโลกออนไลน์มักจะอยู่ที่ 5 ถึง 20 นาที ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและวิธีการนำเสนอของแต่ละช่อง

5 ถึง 20 นาทีที่ว่ากลายเป็นช่วงเวลาที่ดูยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์เลยทีเดียวเมื่อเทียบกับการเสพวิดีโอสั้นที่กำลังฮอตฮิตมากในหมู่ผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย

อย่างการดูคลิปสั้นๆ บน TikTok หรือการดู Reels บน Facebook และ Instagram คลิปเหล่านี้อาจจะใช้เวลาเพียงแค่ 15 วินาที ไปจนถึง 3 นาทีซึ่งก็นับว่าสั้นกว่าคลิปบนแพลตฟอร์มอื่นๆ มาก ส่วนใหญ่ก็จะต้องรีบนำเสนอและรีบตบเข้าท่อนฮุกให้ได้ภายในเวลารวดเร็ว

แม้ว่าฟีเจอร์การทำคลิปสั้นๆ จะเริ่มโด่งดังมาจาก TikTok แต่ทันทีที่ Instagram นำคอนเซ็ปต์แบบเดียวกันไปใช้ในชื่อฟีเจอร์ Reels ก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้ใช้งานภายในเวลาอันรวดเร็วเหมือนกัน

สถิติของ Instagram ระบุว่าคนใช้เวลามากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของเวลาใช้งาน Instagram ทั้งหมดไปกับการชมคลิปสั้นแบบ Reels นี่แหละ

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เรามาแยกแยะความแตกต่างของฟีเจอร์ Reels และ Stories กันสักหน่อยดีกว่าค่ะ

Stories เป็นฟีเจอร์บน Instagram ที่ให้เราแชร์ภาพนิ่งหรือวิดีโอโดยที่เราสามารถตกแต่งให้สวยงามด้วยลายเส้น สติ๊กเกอร์ หรือใส่เพลงเข้าไปเพิ่มบรรยากาศ โดย Stories จะมีอายุอยู่ได้เพียงแค่ 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่วินาทีที่เรากดแชร์

ในขณะที่ Reels เป็นฟีเจอร์สำหรับการแชร์คลิปวิดีโอสั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งก็สามารถเลือกความยาวได้ว่าจะให้ยาว 15 30 60 และกำลังจะเพิ่มเป็น 90 วินาทีด้วย

เพราะอะไรวิดีโอสั้นถึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและมากมายขนาดนี้ คำตอบก็ไม่ได้ยากอะไร คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่มีเวลาจะมานั่งดูคลิปวิดีโอยาวๆ อยากจะดูอะไรสั้นๆ ให้จบไปเร็วๆ มากกว่า

(แต่เอาเข้าจริงๆ ฉันว่าการดูคลิปสั้นไม่น่าจะช่วยให้ประหยัดเวลาไปได้มากสักเท่าไหร่ เพราะก็ต้องยอมรับว่าใครที่หลุดเข้าไปดูคลิปสั้นใน TikTok หรือ Instagram มักจะกดออกมาทันทีภายในคลิปสองคลิปไม่ได้หรอก ธรรมชาติของแพลตฟอร์มถูกออกแบบมาให้เราเลื่อนไปสู่คลิปต่อไปได้ง่าย รู้ตัวอีกทีก็อาจจะดูไปแล้วเป็นร้อยๆ คลิป หมดเวลาไปเป็นชั่วโมงๆ ได้เหมือนกัน)

สาเหตุที่วิดีโอสั้นทำให้เราพัวพันติดหนึบ ทำใจกดออกจากแอพพ์ไม่ได้เสียที ก็เป็นเพราะว่าเบื้องหลังมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่จะคัดเลือกคลิปสั้นคลิปต่อไปที่เราน่าจะชอบมาให้เราดูเรื่อยๆ ถ้าสังเกตจะพบว่าคลิปสั้นที่เราดูก็จะไม่ใช่คลิปของเพื่อนเราเสมอไป แต่เป็นคลิปที่อัลกอริธึ่มเห็นแล้วว่าเราชอบดู ก็จะส่งมาให้เราดูต่อเนื่องแบบไม่จบสิ้น

เหมือนอย่างฉันเองที่มักจะเห็นแต่คลิปสั้นแมวหลากหลายสายพันธุ์เพราะเห็นภาพปกเป็นแมวเมื่อไหร่ก็อดไม่ได้ที่จะคลิกเข้าไปดูทุกที

คลิปสั้นได้รับความนิยมชนิดที่ยักษ์ใหญ่เจ้าของแพลตฟอร์มวิดีโอยาวอย่าง YouTube ก็ไม่ยอมตกขบวน และออกฟีเจอร์ YouTube Shorts สำหรับคลิปสั้นแบบแนวตั้งออกมาด้วยเหมือนกัน แถมยังนำโมเดลการใส่โฆษณาที่ตัวเองเก่งกาจเข้ามาสวมทันทีอย่างว่องไว

บริษัทอื่นๆ ล้วนกำลังพยายามหารูปแบบการโฆษณาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคลิปวิดีโอสั้นเพราะเล็งเห็นแล้วว่านี่เป็นช่องทางการสร้างรายได้แบบใหม่ที่มีศักยภาพสูง จะทำอย่างไรให้มีโฆษณาเข้ามาสวมได้เยอะๆ

และจะสวมด้วยวิธีไหนให้ผู้ชมไม่รู้สึกขัดใจด้วย

 

คําถามที่น่าสนใจก็คือถ้าหากวิดีโอสั้นๆ ได้รับความนิยมขนาดนี้ วิดีโอยาวๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยจับจองพื้นที่เต็มโซเชียลมีเดียจะยังคงมีที่อยู่อีกหรือไม่ หรือจะค่อยๆ เลือนรางจางหายไปในที่สุด

ฉันคิดว่าเราอาจจะไม่สามารถชี้ชัดไปได้เลยว่าวิดีโอยาวหรือวิดีโอสั้นอันไหนจะสูญพันธุ์ อันไหนจะได้ไปต่อ เพราะวิดีโอทั้งสองแบบตอบโจทย์ที่แตกต่างกันออกไป

วิดีโอสั้นที่จับความสนใจได้รวดเร็ว ชมจบได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีอาจจะเหมาะสำหรับการเรียกความสนใจให้คนได้เห็นแบรนด์มากขึ้น คล้ายๆ การกวักมือให้คนเดินมาที่หน้าร้าน

ในขณะที่วิดีโอยาวจะไปตอบโจทย์อีกแบบ ก็คือการสร้างความภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ เหมือนสินค้าหรือบริการที่ตั้งใจทำอย่างสุดฝีมือเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้า วิดีโอยาวจะช่วยทำให้ลูกค้าเกิดความผูกพันกับแบรนด์และรู้จักแบรนด์ได้อย่างลงลึกมากขึ้น เพราะการจะทำให้ใครสักคนรู้จักและเข้าใจเราได้ก็จะต้องใช้เวลาจริงไหมคะ

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนออกมาเตือนว่าคนรุ่นใหม่หาความรู้จากการดูคลิปสั้นๆ ไม่กี่วินาทีกันมากขึ้น สิ่งที่ต้องระวังก็คือคลิปสั้นที่ถูกจำกัดเวลาอาจจะทำให้ได้รับความรู้เพียงผิวเผิน เพราะคนเข้าใจว่าได้รู้เรื่องนั้นๆ ไปแล้วโดยไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลต่อ

ส่วนคลิปยาวเองก็มีข้อเสีย ผู้ชมเห็นว่ายาวก็อาจจะรู้สึกไม่อยากคลิกชมตั้งแต่ต้นเพราะไม่อยากลงทุนทางเวลามากขนาดนั้น

 

คลิปสั้นไม่ได้แปลว่าทำง่าย และคลิปยาวไม่ได้แปลว่าทำยากเสมอไป ตัวฉันเองรู้สึกว่าการจะทำคลิปยาว 60 วินาทีสักคลิปให้เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นต้นฉบับที่ไม่เหมือนใครนั้นเป็นเรื่องที่ยากสุดๆ บางทีอาจจะต้องใช้เวลาออกแบบกันเป็นวันๆ เลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น การทำความเข้าใจคอนเทนต์ที่ตัวเองนำเสนอและตัดสินใจว่าอะไรเหมาะที่จะทำแบบสั้น อะไรเหมาะที่จะทำแบบยาว และเลือกทำสลับกันไปหรือทำเคียงคู่กันไปโดยไม่ยึดติดว่าจะต้องสั้นหรือยาวเท่านั้น

ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่รอบคอบที่สุดนะคะ