สะพานเขียว / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

สะพานเขียว

 

พอรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้คนเริ่มกล้าออกนอกบ้าน ผู้ที่ชื่นชอบและเคยออกกำลังกายที่สวนลุมพินี เดิมเคยเดินวิ่งวนอยู่แค่ในรั้ว เริ่มขยายพื้นที่จากสวนลุมพินีไปถึงสวนเบญจสิริ โดยอาศัยสะพานเขียว

เส้นทางจะเริ่มจากหัวมุมทางแยกสารสิน-วิทยุ ข้ามถนนวิทยุ ลอยฟ้าผ่ากลางชุมชนรื่นฤดีและสนามคลี ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร ถึงโรงงานยาสูบ เลียบคลองไผ่สิงโต ไปจนถึงประตูทางเข้าสวนเบญจสิริ ตรงท้ายซอยสุขุมวิท 10

สะพานเขียว หรือกรีนสกายวอล์กนี้ มีระยะทางเกือบกิโลเมตรครึ่งนี้ สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 สมัยที่ รศ.ประภาภัทร นิยม และ รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. เพียงแต่ว่า ผู้บริหารชุดต่อมาไม่รู้ ไม่ได้ใส่ใจ จึงปล่อยให้สะพานทรุดโทรมจนเป็นปัญหาไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเวลากลางคืน

สะพานนี้จึงเลือนหายไป ไม่มีใครพูดถึง

 

เวลาผ่านไปยี่สิบปี ถึงจะมีคนคิดได้ จัดการบูรณะผิวพื้น ติดตั้งราวสเตนเลส ทาสีตัวสะพาน และทางขึ้นลงใหม่เป็นสีเขียว สกายวอล์กเลยปรากฏโฉมใหม่อีกครั้ง

ยิ่งมีพระเอกหนุ่ม เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และนางเอกสาว ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ แวะไปเดินเล่นบนสะพานเขียว ถ่ายภาพและโพสต์ลงในอินสตาแกรม เลยทำให้สะพานเขียวโด่งดัง มีผู้ติดตามมาเดินเล่นมากขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพเซลฟี่บนสะพานเป็นที่สนุกสนาน จนคนเจนใหม่คิดเอาเองว่า สะพานลอยช่วงที่ผ่านชุมชนร่วมฤดี บรรยากาศเหมือนเมืองเก่าญี่ปุ่น

เลยมีคนแต่งคอสเพลย์ สวมครุยปริญญาหรือแต่งตัวสวยๆ ไปเดินเล่น ถ่ายภาพกันมากมาย มีการปักหมุด คึกคักตลอดทั้งวัน ปนเปไปกับผู้รักสุขภาพและผู้รักการถ่ายภาพ

แม้แต่ผู้รักชุมชน ยังส่งเสริมให้มีกิจกรรม กรีนสกายวอล์กเพื่อสุขภาพและชุมชนชี้ชวนให้คนที่ผ่านลงไปอุดหนุนร้านค้าสองข้างทาง

มีเอสเอ็มอีครีเอทีฟ ปรับพื้นที่ชั้นบนของบ้าน ที่ติดกับสะพาน ให้เป็นร้านขายเครื่องดื่ม และของหวาน ตกแต่งด้วยดอกซากุระ ป้ายผ้า และตุ๊กตาญี่ปุ่น กลายเป็นจุดหมายสำคัญ

แม้แต่ร้านค้าเดิมที่อยู่ระดับล่าง ที่มีทั้งร้านเครื่องดื่ม ขนม ก๋วยเตี๋ยวเรือ อาหารตามสั่งยังคึกคักจากธุรกิจลอยฟ้า ให้บริการรับเงินส่งสินค้า ผ่านทางรอกชักขึ้นชักลง

สวนริมคลองไผ่สิงโต ยังเป็นภูมิทัศน์ธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงามยิ่งนัก โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณเป็นร้อยล้าน เหมือนสวนในคลองช่องนนทรี

 

สะพานเขียวจึงกลายเป็นสะพานเชื่อมต่อสวนสาธารณะ เอื้อให้ผู้รักสุขภาพ ไปเดิน วิ่งและปั่นจักรยาน เป็นที่สนุกสนาน เพราะมีทางต่างระดับขึ้นลงหลายจุด

จึงกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ให้เที่ยวชมมุมมองใหม่ของกรุงเทพฯ ด้านหลังคอนโดมิเนียมหรู สำนักงานโก้ อพาร์ตเมนต์สูง จนถึงบ้านและเพิงไม้ มัสยิดและโบสถ์

จึงกลายเป็นพื้นที่พัฒนาชุมชน กระจายรายได้จากคนนอกพื้นที่

จึงกลายเป็นงบฯ ภูมิทัศน์ที่น่าสนใจ โดยภูมิสถาปนิกนิรนาม โดยไม่ใช้งบประมาณในการโยกย้ายไม้ใหญ่ ปลูกไม้ประดับ ทำลานคอนกรีต ติดตั้งไฟกะพริบ ที่น่าจะเป็นแบบอย่างให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่นำไปปฏิบัติต่อ

ที่สำคัญ จึงกลายเป็นสกายวอล์กแบบไทยที่น่าสนใจ ไม่แพ้สวนลอยฟ้าบนทางรถไฟลอยฟ้าเก่า High Line ในนิวยอร์ก หรือ Coulee Verte Rene DuPont ในปารีส •