คนรอบข้าง : มนัส สัตยารักษ์

เมื่อครั้งที่เกิดกรณีทำร้ายร่างกายกลางถนน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าคดี “กราบรถ” นั้น พอเรื่องถึงโรงพักได้ไม่นานก็ทำท่าว่าจะไกล่เกลี่ยและตกลงกันได้ในทางแพ่ง ไม่ถือเอาเรื่องวิวาทชกต่อยเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากส่วนที่เป็นคดีอาญาอันยอมความกันไม่ได้เท่านั้น

ต่างก็หวังกันว่าพอเรื่องไปถึงศาล อาจจะเป็นเหตุให้ศาลพิจารณาลงโทษสถานเบาได้

ผมบังเอิญนั่งดูทีวีตอนนี้เกือบจะตลอดเรื่องด้วยความสนใจ เพราะเคยตกเป็นตัวละครในฉากประเภทนี้อยู่บ่อยๆ ผมนึกชมนายตำรวจที่สามารถทำให้ทั้งสองฝ่าย “เย็น” ลงได้ พอถึงเวลาที่จะดำเนินการทางเอกสารเพื่อให้จบเรื่องส่วนนี้ ทนายของฝ่ายผู้ต้องหา ซึ่งมีท่าที (เสี้ยม) สอนหรือแนะนำอยู่ตลอดเวลา ก็จัดแจงบันทึกภาพด้วยมือถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานตามแบบฉบับของนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญและรอบคอบ

ด้วยประสบการณ์อันยาวนานของการเป็นตำรวจโรงพัก ผมร้องโวยวายอยู่ในใจ

“ห่ะเอ๊ย… เดี๋ยวก็กลายเป็นเรื่องยาวหรอก”

แล้วก็จริงตามที่คาด มารดาของผู้บาดเจ็บเปลี่ยนท่าทีจาก “เย็น” เป็น “ยกการ์ด” ระวังตัว ภาพของฝ่ายตรงกันข้ามที่รีบรนกดชัตเตอร์เก็บภาพมันบอกถึงความพร้อมที่จะใส่เกราะป้องกันตัวหรือพร้อมสู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่พร้อมจะ “ปรองดอง” นั่นเอง

ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเล่าซ้ำเพราะเรากำลังก้าวเข้ามาในยุคของ “คำพิพากษา” กันแล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีหลายเรื่องที่ศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้และต้องรับโทษ

แต่เป็นที่สังเกตได้ว่า หลายรื่องที่ตัวจำเลยเองเหมือนยอมแล้ว แต่คนรอบข้างหรือคนใกล้ตัวยังไม่อยากให้ยอม

ถ้าเราจะย้อนเวลาไปยังจุดเริ่มต้นของแต่ละกรณีที่ทำให้การเมืองวิกฤต ต้องยอมรับว่าเกือบทุกเรื่องมันเริ่มมาจากความโลภ ความมักมาก ความทะเยอทะยานของเจ้าตัวก็จริง

แต่ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่บานปลายใหญ่โตมโหฬารนั้นก็เพราะคนรอบข้างและคนใกล้ตัวเป็นผู้เพิ่มดีกรีความร้อนแรงทั้งสิ้น

ถ้าจะย้อนทบทวนเรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องเอ่ยนามตัวละครสำคัญแต่ละตัวให้เป็นที่กระทบกระเทือนใจกันจนกลายเป็นการ “เหยียบคนล้ม”

โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ทุกคนรู้เรื่องเบื้องหลังและเบื้องลึกดี เพราะเป็นเรื่องที่ประเทศชาติเสียหายร้ายแรง เป็นข่าวอื้อฉาวแพร่ไปในสื่อทุกชนิดทั่วโลกเป็นเวลานานหลายปี บางเรื่องถึงกับได้รับการขนานนามว่าเป็น “ตำนาน” หรือ “มหากาพย์” เลยทีเดียว

ก่อนวิกฤตการเมือง นักการเมืองแบ่งออกเป็นหลายฝ่ายอย่างแตกสลายนั้น เริ่มต้นด้วยการมีนักพูดออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ พวกเขาพูดอย่างสุภาพ อิงหลักวิชาการน่าเชื่อถือ

ผมเองเมื่อดูโทรทัศน์ในรายการที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล วิพากษ์ ทักษิณ ชินวัตร แรกก็เพียงแต่รู้สึกแปลกใจเพราะดูเหมือนนายสนธิจะเคยยกย่องชมเชยมาก่อน

ต่อมาการพูดในรายการนี้ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็เพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน

จำได้ว่าผมประทับใจมากถึงขนาดโทรศัพท์ไปแนะนำเพื่อนขาการเมืองท่านหนึ่งว่า “นายสนธิพูดด้วยลีลาและเนื้อหาคล้าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”

เพื่อนผู้สนใจการเมืองระดับเกาะติดทีวี รับว่าเห็นพ้องด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อความเข้มข้นสูงขึ้นถึงระดับที่ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์อาจจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย รายการนี้จำต้องออกมากลางถนน โดยมีพรรคพวกบริวารคนรอบข้างตามออกมาด้วย

เมื่อออกมากลางถนนก็ไม่มีใครควบคุมได้ แม้แต่ตัวเองก็คุมไม่ได้

ฝ่ายนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อออกมาตอบโต้ก็เช่นเดียวกับ สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวคือ เพิ่มความเข้มข้นของคำพูดขึ้นเรื่อยๆ จนต้องออกมาพูดกลางถนน เมื่อออกมากลางถนนสมัครพรรคพวกของ ทักษิณ ชินวัตร ล้ำหน้ากว่าพวกของ สนธิ ลิ้มทองกุล หลายเท่า

จนต่อมาการโจมตีพาพิงไปถึงประธานองคมนตรี และในที่สุดหลายคนก็ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ “ล้มเจ้า”

มีคำถาม 2 ข้อในเรื่องนี้

คำถามแรก คือ เหตุใดคนรอบข้างจึงเพิ่มดีกรีความรุนแรงทั้งการพูดและการกระทำถึงขั้นไม่แคร์ข้อหาหมิ่นประมาท ไม่แคร์กระทั่งข้อหาร้ายแรงและกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศชาติ (อย่างที่เกิดขึ้นในการนำม็อบล้มการประชุมผู้นำอาเซียนที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีช พัทยา)

คำถามข้อที่สอง คือ เหตุใด “ผู้นำ” ทางการเมืองของแต่ละฝ่ายจึงไม่ห้ามปรามหรือพยายามยุติความรุนแรงที่คนรอบข้างพูดหรือกระทำ แถมยังดูเหมือนให้ท้ายเสียด้วยซ้ำไป

คำตอบของคำถามข้อแรกก็คือ การพูดที่มีความร้อนแรงและรุนแรงจะทำให้ได้การ “ยอมรับการนำ” การนำจะทำให้ได้รับผลประโยชน์ไม่รูปใดก็รูปหนึ่ง

จะสังเกตเห็นได้ว่านักพูดหรือดีเจในรายการวิทยุถีบตัวเองขึ้นมาเป็นแกนนำในทางการเมืองหลายราย

ได้ดิบได้ดีมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีก็มี แต่พลาดท่าเสียทีต้องเข้าคุกไปก็มี

ส่วนคำตอบของคำถามข้อที่สองก็คือ คนที่ทะเยอทะยานที่จะเป็น “ผู้นำ” นั้น ต้องมีคุณสมบัติที่ดีๆ หลายข้อ อย่างที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือมีบุคลิกแบบ “ใจถึงพึ่งได้” ดังนั้น แม้จะรู้ว่าคนข้างตัวทำผิดพลาดระดับ “โอเวอร์ฮีต” ไปแล้วก็ต้องใจถึง ยอมตกกระไดพลอยโจนก็ต้องยอม

อย่างน้อยก็ยังได้รับการยอมรับมากกว่าพวก “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” มากมาย

ทั้งหมดทั้งสิ้นข้างต้น เป็นแค่คำตอบของนักวิเคราะห์ที่ “ห่างไกล” การเมือง

พาดหัวข่าว “รมว.มหาดไทย เตรียมอุทธรณ์คดีที่ดินอัลไพน์ ห่วงกระแสสังคมต้าน ออก กม.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์”

พาดหัวข่าวทำเอาตกใจ เพราะไม่รู้ว่าอุทธรณ์ให้โจทก์หรือจำเลย โจทก์คือ ป.ช.ช. จำเลยคือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งศาลเพิ่งสั่งจำคุก 2 ปี

แต่อ่านข่าวไปจนจบก็ได้ความว่า กำลังศึกษาเพื่อจะอุทธรณ์กรณีที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งขอเพิกถอนโฉนดที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์โดยมิชอบ และจะดำเนินการตามที่กฤษฎีกาให้คำแนะนำ

ค่อนข้างซับซ้อนสับสนต้องอ่านซ้ำจึงเข้าใจ โดยเฉพาะวลี “คำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง”

ในกรณีนี้ถ้ากระทรวงมหาดไทยยอมรับนับถือว่า “กฤษฎีกา” เป็น “คนข้างตัว” ที่ไว้ใจได้อย่างที่สุดมาตั้งแต่ต้น มรดกยายเนื่อมก็ไม่ตกเป็นเหยื่อทุจริตชน ไม่เป็นคดีเน่าเหม็นบานปลายใหญโต

ไม่ต้องออก พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินธรณีสงฆ์ อันเป็นเรื่องผิดปกติ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบและเสียหายจากการซื้อที่ดินอัลไพน์จำนวนกว่า 600 ราย ซึ่ง รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ผู้เสียหายอาจจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำตั้งแต่ต้น

ข่าวไม่ได้บอกว่าใครคือผู้กระทำมาตั้งแต่ต้น ถ้าจะให้เดา ทุกคนก็ต้องเดาตรงกันว่าคือ นายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยกระทวงมหาดไทย ที่ได้รับหมอบหมายให้ควบคุมดูแลกรมที่ดิน ในห้วงเวลานั้น