ผ่าเบื้องหลัง มติลับ ‘กพฐ.’ เร่งดันหลักสูตรฐานสมรรถนะ / การศึกษา

การศึกษา

 

ผ่าเบื้องหลัง มติลับ ‘กพฐ.’

เร่งดันหลักสูตรฐานสมรรถนะ

 

เถียงกันอยู่นานว่า เป็นมติ หรือเพียงการหยิกยกขึ้นมาพูดคุยในที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) วันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา กับข้อความที่ถูกส่งต่อๆ ให้คนในแวดวงการศึกษา ที่ระบุว่า การประชุม กพฐ.วันดังกล่าว เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … ระดับประถมศึกษา และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … ระดับประถมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนโดยกำหนดชื่อหลักสูตรว่า “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … และเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ”

และเห็นชอบแผนการทดลองใช้ (ร่าง) หลักสูตร ดังนี้

1. ปีการศึกษา 2565 ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

2. ปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้

และ 3. ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตร ประถมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 4

ที่สำคัญขอปรับเวลาในการประกาศใช้หลักสูตรจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นตุลาคม 2565!

ทำเอาอุณหภูมิในวังเสมาร้อนระอุขึ้นมาทันที!

 

เพราะมติดังกล่าว อาจขัดกับมติ กพฐ.เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งบอร์ด กพฐ.รับทราบความก้าวหน้า ว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะยังเป็นร่างหลักสูตรและยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรม และที่ประชุมยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ในปี 2565 เนื่องจากมีเรื่องข้อกฎหมายและขั้นตอนต่างๆ ที่อาจจะไม่ทันการ เพราะจะเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 ในเดือนพฤษภาคมแล้ว จึงได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปทำแผนว่า จะนำไปใช้ได้เมื่อไหร่ อย่างไร

แต่ปรากฏว่า วันที่ 7 เมษายน 2565 กพฐ.กลับมีมติให้มีการเร่งรัดใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว

เรียกว่า งงกันทั้งกระทรวง ไม่เว้นกระทั่งพ่อบ้านวังจันทรเกษม อย่างนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ที่ระบุว่า มติดังกล่าวแตกต่างจากมติเดิม ที่ให้นำร่องใช้ในพื้นที่นวัตกรรม แต่หากโรงเรียนอื่นจะใช้ ให้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นรายโรงไป อีกทั้งการปรับหลักสูตรแต่ละครั้งควรจะต้องดู ทิศทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้วย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการมุ่งเน้นในเรื่องของการอบรมพัฒนาครูให้จัดการเรียนการในรูปแบบแอ็กทีฟเลินนิ่ง

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องความพร้อมของครู และหลักสูตรที่ต้องคำนึงถึงด้วย…

 

ขณะที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ออกมาชี้แจงว่า มติดังกล่าวเป็นเพียงการเห็นชอบกรอบหลักสูตร ไม่ได้ประกาศใช้ในโรงเรียนทั่วไป ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการยกร่างหลักสูตรได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้ที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งที่ประชุมยืนยันว่าหลักสูตรมีความจำเป็นต้องพัฒนา แต่ระหว่างที่ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ไปก่อน ส่วนหลักสูตรที่จะพัฒนาใหม่ ให้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมตามที่ตกลงไว้เช่นเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง

“การจะนำหลักสูตรที่ปรับปรุงพัฒนาใหม่ไปใช้กับโรงเรียนทั่วไป ต้องทำให้ครบกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ถ้าเสร็จเมื่อไรก็ประกาศใช้ โดยยังไม่ได้ระบุว่าจะให้วันไหน ส่วนมติที่ออกมานั้น ในความหมายของคณะกรรมการ กพฐ. เป็นการประกาศกรอบหลักสูตร เพื่อให้โรงเรียนนำร่องไปทดลองใช้ก่อนเป็นเวลา 1 ปี เมื่อผลการทดลองออกมาแล้ว จึงจะมาดูข้อดี ข้อเสีย ปรับปรุงพัฒนาก่อนจึงจะประกาศใช้กับโรงเรียนทั่วไป อย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี ตอนนี้หลักสูตรดังกล่าวนำร่องใช้ในพื้นที่นวัตกรรมตามมติเดิมเท่านั้น โรงเรียนทั่วไปยังไม่มีโรงเรียนใดเป็นโรงเรียนนำร่อง กรณีนี้ที่เกิดขึ้นอาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนและสับสนในทางปฏิบัติ เพราะสุดท้ายแล้วหากจะใช้จริงก็จะต้องประกาศล่วงหน้า 2-3 ปี”

นายอัมพรระบุ

 

แว่วว่า งานนี้ร้อนถึงฝั่งทำเนียบรัฐบาล ทำให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องยกขบวนบอร์ด กพฐ. และผู้บริหาร ศธ. เข้าชี้แจงต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล ศธ.!

ข่าวว่า รองนายกฯ ย้ำหนักแน่น ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ไปก่อน แต่เปลี่ยนวิธีการสอนเป็นแบบแอ็กทีฟเลินนิ่ง และถ้าจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ก็ให้ใช้ในพื้นที่นวัตกรรมเท่านั้น ไม่ให้นำมาใช้นอกพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อตกลงเดิม

สอดคล้องกับนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ที่เห็นว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและยังเป็นหลักสูตรที่มีความเห็นต่างขัดแย้ง หากประกาศใช้สุ่มเสี่ยงจะเกิดการฟ้องร้องสูง

สิ่งที่ น.ส.ตรีนุชควรเร่งดำเนินการ

1. การทำให้หลักสูตรฐานสมรรถนะถูกกฎหมาย เพราะการอนุมัติใช้หลักสูตรต้องเป็นมติ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แม้การประชุม กพฐ.ครั้งล่าสุด จะมีมติประกาศใช้ในปีการศึกษา 2565 แต่หลักสูตรนี้ริเริ่มจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการการศึกษา (กอปศ.) ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ไม่ได้ริเริ่มจาก กพฐ. ดังนั้น จึงควรทำให้ถูกต้องก่อนประกาศใช้

2. กระบวนการจัดทำหลักสูตรยังมีความไม่สมบูรณ์ ไม่มีงานวิจัยรองรับ ควรนำร่องในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม ซึ่งมีกว่า 400 แห่ง ใน 8 จังหวัดก่อน เพราะมีกฎหมายเฉพาะให้สามารถทดลองใช้ได้ ก่อนขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป

และ 3. ขณะนี้ผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีความเห็นที่หลากหลาย และไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญการจัดทำหลักสูตร ดังนั้น ควรหาผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรงมาดำเนินการและให้คำอธิบายที่เหมาะสม

“ขณะนี้มีโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมนำร่องเพียง 5 แห่ง ไม่สามรถนำมาการันตีและประกาศใช้ทั่วไปได้ ควรนำร่องในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมทุกแห่งใย 8 จังหวัดก่อน เพื่อให้มีงานวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการรองรับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้อง จากนั้นค่อยประกาศใช้ในปี 2566-2567 ก็ไม่ถือว่าช้าเกินไป” นายสมพงษ์กล่าว

 

หลังเข้าชี้แจงกับรองนายกฯ เท่าที่ทราบ พายุก็สงบลงทันที

โดยนายอัมพรเปิดเผยว่า รองนายกฯ ให้เน้นปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา จัดการเรียนการสอนในรูปแบบแอ็กทีฟเลินนิ่ง เร่งปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน การวัดการประเมินผลใหม่ ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะตามที่ต้องการ!

เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เรื่องนี้ไม่ว่าใครจะชนะ ผู้ที่แพ้แน่นอนคือนักเรียน ครูและระบบการศึกษาไทย ที่ต้องรับกรรมกับความเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง! •