จากอ๊อดสู่อาทรและซายูริ / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

จากอ๊อดสู่อาทรและซายูริ

 

ไม่ได้เป็นชื่อหนังสือ หรือซีรีส์อะไรหรอกนะครับ

แต่เป็นสามบทบาทของนักแสดงชายคนหนึ่งที่ผมจะเขียนถึงในเครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้

เขาคนนี้เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) ประจำปี 2564”

ผมกำลังพูดถึง “นพพล โกมารชุน” หรือ “พี่ตู่” เวลาที่ผมใช้เรียกขาน

หากคนที่เป็นแฟนภาพยนตร์และละครไทย คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก นพพล โกมารชุน พี่ตู่ได้ท่องในโลกบันเทิงมากว่า 40 ปี ด้วยผลงานการแสดงและกำกับการแสดงที่ได้รับการยอมรับและมีเสียงชื่นชม รวมทั้งรับรางวัลจากเวทีต่างๆ มาแล้ว

จริงๆ แล้วผมเริ่มรู้จักพี่ตู่ จากบทบาทการแสดงในบท “ลีเจ็ง” หนุ่มชาวเขามีเขี้ยวยิ้มเก๋ ในเรื่อง “ใต้ฟ้าสีคราม” เป็นครั้งแรก เรื่องนั้นเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของพี่ตู่คู่กับเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ จากการกำกับฯ ของฉลอง ภักดีวิจิตร เมื่อปี 2521

จากนั้นพี่ตู่ก็เล่นหนังเล่นละครอีกหลายเรื่อง แต่ผมกำลังจะพูดถึงเรื่องที่รับบทเป็น “อ๊อด” จากละครเรื่อง “สี่แผ่นดิน” บทประพันธ์อมตะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จากการสร้างของกนกวรรณ ด่านอุดม กำกับการแสดงโดยกัณฑรีย์ น. สิมะเสถียร ออกอากาศทางช่อง 5 เมื่อปี 2523

 

ตอนจะทำละครเรื่องสี่แผ่นดินนี้ ตอนแรกพี่ตู่ได้รับการติดต่อให้รับบท “อั้น” ลูกชายคนรอง แต่ด้วยความที่ตนเองชื่นชอบในบทของ “อ๊อด” มากกว่า เพราะตรงกับบุคลิกของตนเองที่เป็นคนรักงานวรรณกรรม รักการอ่าน รักครอบครัว จึงขอเล่นบทนี้แทน

ซึ่งผลปรากฏว่า บทอ๊อด ที่พี่ตู่เล่นนั้นสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมละครเป็นอย่างมาก ได้รับเสียงกล่าวขวัญและชื่นชม จนสามารถคว้ารางวัล “ดารายอดนิยมฝ่ายชาย” จากงาน “ทีวีตุ๊กตาทองมหาชน” ในปี 2523 และรางวัล “นักแสดงชายดีเด่น” ในการประกาศรางวัลของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ในปี 2524 ด้วย

แม้จะมีการนำเรื่องสี่แผ่นดินมาทำอีกหลายครั้งในเวลาต่อมาทั้งละครทีวี และละครเวที แต่ภาพ “ตาอ๊อด” ของแม่พลอย ที่พี่ตู่เคยฝากฝีมือไว้ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำแฟนๆ ละครเสมอมารวมทั้งผมด้วย

จากบท “อ๊อด” ก็มาสู่บท “อาทร” ในปี 2527 จากละครเรื่อง “เก้าอี้ขาวในห้องแดง” ที่สร้างโดยมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช กำกับการแสดงโดยเริงศิริ ลิมอักษร ออกอากาศทางช่อง 3

ที่เลือกเขียนถึงบทนี้ทั้งๆ ที่จริงๆ พี่ตู่ก็แสดงเรื่องอื่นๆ ไว้เยอะ แต่เรื่องนี้เป็นการแสดงโดยมีเพื่อนของผม คือ “ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ร่วมแสดงด้วย และเป็นผลงานเรื่องแรกที่เป็นงานละครโทรทัศน์ของตั้วด้วย

เรื่องนี้ตั้วรับบท “บูรพา” ที่แอบรักเพื่อนที่ชื่อ “ละเวง” แสดงโดยมยุรา ธนบุตร (นามสกุลตอนนั้น) แต่ละเวงดันไปหลงรัก “อาทร” ที่รับบทโดยพี่ตู่นี่เอง

ตอนนั้นยังพูดแซวศรัณยูเลยว่า ได้ประกบพระเอกดังเลยนะ เอาให้รอดละกัน…

จากเรื่องนี้ที่แจ้งเกิดกับโลกละครโทรทัศน์ ตั้วก็ได้มีผลงานตามมาอีกมากมาย เช่นเดียวกับพี่ตู่ที่มีทั้งหนังทั้งละครออกมาให้แฟนๆ ชมอยู่เสมอ

 

ส่วนที่ผมได้มาใกล้ชิดกับพี่ตู่จริงๆ จังๆ ก็เมื่อตอนที่เจ เอส แอล ขึ้นเกมโชว์ใหม่ชื่อว่า “เกมจุดเดือด” อยากได้พิธีกรคู่ใหม่ที่ไม่เคยทำรายการมาก่อน หวยมาตกที่พี่ตู่ นพพล กับพี่เจี๊ยบ-กาญจนาพร ปลอดภัย

ชื่อเสียงอันโด่งดังของพี่ตู่นั้นไม่ต้องสงสัย เมื่อติดต่อไปจึงดีใจที่พี่ตู่สนใจรับงานนี้ ด้วยว่างานพิธีกรเป็นความท้าทายใหม่ของพี่ตู่นั่นเอง และนั่นทำให้ผมได้ทำงานกับพี่ตู่เป็นครั้งแรก

และได้พบกับความเป็นมืออาชีพของพี่ตู่ก็จากงานนี้เช่นกัน

ที่เด่นชัดมากๆ คือ เรื่องตรงเวลา พี่ตู่จะมาก่อนเวลานัดหมายทุกครั้ง มาด้วยสภาพร่างกายที่พร้อมทำงาน ไม่ใช่อิดโรยเพราะถ่ายละครดึก หรือไปรับงานอื่นมาก่อน แสดงถึงการเคารพต่อหน้าที่การงานที่ได้รับ

พี่ตู่จะให้ความเคารพต่อบทมาก อาจจะเป็นเพราะมาจากการเล่นละครที่บทเป็นเรื่องสำคัญ พี่ตู่จะศึกษา ซักถาม และทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว จนแทบจะไม่ผิดพลาดเลยเวลาที่ถ่ายทำ แต่รายการเกมโชว์นั้นไม่ได้มีบทเสมอ ต้องอาศัยความสดหน้างานด้วย ซึ่งพี่ตู่ก็เอาตัวรอดได้ดี

ตอนนั้นพี่ตู่ก็เหมือนเป็นคนในครอบครัวของเจ เอส แอล เพราะทำรายการกันอยู่หลายปี รวมทั้งเวลามีรายการพิเศษ หรืองานพิเศษ ก็มักใช้สอยความสามารถของพี่ตู่อยู่เนืองๆ อย่างตอนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สในปี 2535 และเจ เอส แอล ได้รับหน้าที่จัดงานเลี้ยงต้อนรับเหล่านางงามที่เข้าประกวด พี่ตู่ก็ใช้ภาษาอังกฤษในการเป็นผู้ดำเนินรายการในงานนั้นด้วย

 

จาก “อ๊อด” มาสู่ “อาทร” แล้ว คราวนี้ก็มาถึง “ซายูริ”

สำหรับบท “ซายูริ” นี้ เป็นบทพระเอกจากละครเวทีในทีวี ที่ชื่อรายการ “วิก 07” ที่โด่งดังมากของเจ เอส แอล เมื่อ 30 ปีก่อน กำกับการแสดงโดยแหม่ม-พิไลวรรณ บุญล้น

“วิก 07” จะป็นการแสดงละครเวทีชวนหัว จบในตอน ตอนที่ออกอากาศแรกๆ ก็ยาวแค่ครึ่งชั่วโมง เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้นก็ขยายเวลาเป็นตอนละหนึ่งชั่วโมง

เป็นเวทีที่นักแสดงทั่วฟ้าเมืองไทยและคนมีชื่อเสียงแวะเวียนกันมาเล่น เพราะทุกคนบอกว่าเป็นความสนุกในรสชาติใหม่ๆ ที่เป็นละครเวที มีผู้ชมสดๆ สนุกกันสดๆ หัวเราะกันตรงนั้นที่ถ่ายทำ

บางครั้งก็นึกสนุกทำเป็นเรื่องยาวแสดงติดต่อกันหลายตอน ครั้งหนึ่งได้ทำเรื่อง “ซากุระบานเช้าบานเย็น” เนื้อเรื่องเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในสมัยเอโดะ เรื่องนี้ได้เชิญพี่ตู่มารับบทพระเอกที่ชื่อ “ซายูริ” เป็นคนลากรถในฉากหน้า แต่ฉากหลังเป็นซามูไรดาบดำที่คอยปราบอธรรมและกำจัดผู้คิดไม่ซื่อต่อโชกุน

พี่ตู่ใช้ความสามารถทั้งการแสดงและการร้องเพลงในละครวิก 07 เรื่องนี้ได้อย่างน่าประทับใจ เรื่องการจำบทแม่นยำนั้นไม่ต้องพูดถึง แถมจังหวะแบบละครเวทีพี่ตู่ก็ทำได้อย่างดี จำได้ว่าเวลาถ่ายทำนั้นดึกดื่น แต่พี่ตู่ก็ยังคงกระฉับกระเฉง พร้อมที่จะทำงานเสมอจนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักแสดงและทีมงาน

เรียกว่าใครๆ ก็รักผู้ชายคนนี้ และดีใจที่ได้ร่วมงานกันกับมืออาชีพ

 

จากงานแสดงและพิธีกร พี่ตู่ขยายพื้นที่ตัวเองสู่งานผู้จัดและผู้กำกับละคร ในนามบริษัท “เป่าจินจง” จึงไม่ได้มีโอกาสร่วมงานกันเหมือนเคย ถึงกระนั้นก็คงได้พบปะกันตามงานต่างๆ และทักทายกันผ่านโลกโซเชี่ยลเป็นระยะ

ได้เห็นถึงความสำเร็จจากผลงานละครของพี่ตู่ พลอยชื่นชมเมื่องานนั้นๆ ได้รับรางวัล

ช่วงหลังได้เจอะเจอกันตามงานศพของคนในวงการบ่อยครั้งขึ้น

งานล่าสุดก็คืองานสวดพระอภิธรรมศพของเจย์ ศุภกาญจน์ ลูกชายของพี่เจี๊ยบ-กาญจนาพร ปลอดภัย ผมได้นั่งติดกับพี่ตู่ คุยนั่นนี่กัน และยังนึกเลยว่า

คนที่นั่งข้างๆ เรานี้ เป็นคนเก่ง มีความสามารถ มีผลงานเป็นที่ยอมรับมากมาย เป็นคนมีน้ำใจไมตรีต่อคนในวงการ มีการวางตัวที่ดีจึงเป็นที่รักใคร่นับถือของคนที่ได้ร่วมงาน และมีจิตใจที่เป็นสาธารณะกุศลเสมอมา

สมควรจะได้รับการยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สักวันหนึ่ง

คล้อยหลังจากวันนั้นมาแค่ 2 วัน ก็ได้รับทราบข่าวดีจากการประกาศของกระทรวงวัฒนธรรม ให้นายนพพล โกมารชุน เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) ประจำปี 2564” จริงๆ

อืมมม… นี่เราแม่น หรือเพราะคุณค่าที่พี่ตู่คู่ควร จึงทำให้สัมฤทธิผลตามที่นึกกันแน่ เชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า ฮะ ฮะ ฮ่า

 

ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับ พี่ตู่-นพพล โกมารชุน เป็นอย่างมาก

และก็พลอยให้คิดถึงบุคคลที่เป็นที่รักยิ่งของพี่ตู่ท่านหนึ่ง นั่นก็คือ “ป้าจุ๊-จุรี โอศิริ” แม่ของพี่ตู่นั่นเอง ป้าจุ๊ก็เคยได้รับเกียรติให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักพากย์และนักแสดง) ประจำปีพุทธศักราช 2541”

จากปี 2541 ถัดมา 23 ปี ผู้เป็นลูกก็ได้รับเกียรตินั้นตามผู้เป็นแม่

จึงน่าจะเป็น คู่แม่ลูกคู่เดียว ที่ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ในสาขาศิลปะการแสดง เช่นกันเสียด้วย

เมื่อพูดถึงป้าจุ๊แล้ว ก็ทำให้นึกถึงความรักและความผูกพันของป้าและพี่ตู่ที่คนในวงการรับรู้ดี ดังนั้น ไม่ว่าจะบทอ๊อด บทอาทร บทซายูริ หรือบทไหนๆ ที่พี่ตู่เคยสวมบทบาทมา แต่บทหนึ่งที่พี่ตู่ตีบทแตกและทำได้อย่างดีที่สุด ก็คือ “บทผู้เป็นลูก” ของแม่ที่ชื่อ จุรี โอศิริ

ขอชื่นชมอีกครั้งดังๆ ในคอลัมน์นี้นะครับพี่ตู่ •