เที่ยวชมงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2484 ที่ไม่ได้จัด/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

เที่ยวชมงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2484

ที่ไม่ได้จัด

งานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2484 ล่มลงจากเหตุกองทัพญี่ปุ่นบุกไทยในวันเปิดงานวันแรกนั้น แทบไม่มีการศึกษา เนื่องจากมีผู้จดบันทึก มีรูปถ่าย และเอกสารร่วมสมัยที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานในครั้งนั้นได้น้อย

ประเก็บ คล่องตรวจโรค นิสิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เล่าว่า เช้าวันนั้น เขาตื่นนอนตอนตี 4 “ทันใดนั้นหูของข้าพเจ้าก็สังเกตได้ว่า ในเมืองมีเสียงวิ่งกันพลุกพล่าน เสียงเครื่องยนต์มันครางกระหึ่มมากยิ่งขึ้นตลอดเวลา และดูมันยังกับมีปฏิวัติขึ้นทั่วพระนคร…ข้าพเจ้ากลับเข้ามุ้งทำท่าจะมุดหัวนอนต่อไปอีก ก็ได้ยินแตรเดี่ยวของทหารปลุกเวลาประมาณตี 5 ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงเครื่องบินก้องกระหึ่มอยู่บนฟากฟ้า เสียงมันดังมาก แสดงว่าเครื่องบินดำดิ่งผาดโผนเฉี่ยวลงมาต่ำ เมื่อแหงนขึ้นไปบนท้องฟ้า ก็มองเห็นเครื่องบินนับสิบๆ ลำบินฉวัดเฉวียนวนไปวนมาเตี้ยๆ แค่ยอดไม้อยู่ทั่วบริเวณท้องฟ้าในกรุงเทพฯ แลเห็นดวงกลมสีแดงเบ้อเร่อที่ลำตัวอย่างชัดเจน ญี่ปุ่นบุก ญี่ปุ่นบุก!…” (ประเก็บ คล่องตรวจโรค, 2515, 197)

แท้ ประกาศวุฒิสาร เล่าต่ออีกว่า เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่บางปูแล้ว ทหารญี่ปุ่นพยายามตัดการสื่อสารบางปูกับกรุงเทพฯ ด้วยการปีนขึ้นไปตัดสายโทรศัพท์ วารินทร์ อมาตยกุล ผู้จัดการสถานที่ตากอากาศใช้ปืนยิงทหารตกลงมาตาย ทำให้คุณวารินทร์ต้องหนีเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงตอนบ่าย เหตุการณ์เริ่มสงบลง เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และเชื่อแน่ว่า งานรื่นเริงที่ยิ่งใหญ่ประจำปีที่กำลังจะเปิดงานในช่วงบ่ายของวันที่ 8 ธันวาคมต้องยุติลง จากนั้น “เขาไปสังเกตการณ์ที่ศาลาเฉลิมกรุง เกือบไม่มีคนดูหนัง ถนนหนทางเงียบ พรางไฟด้วย หนังรอบดึกต้องงดฉาย รถรางก็เลิกเร็วขึ้น ทุกคน ทุกๆ แห่งรอดูว่า เหตุกาณ์จะเป็นอย่างไร” (แท้, 2544, 85)

เด็กชายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เล่าว่า “วันรุ่งขึ้น เราได้ฟังประกาศทางวิทยุกรมโฆษณาการว่า รัฐบาลไทยยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปรบกับอังกฤษได้ยังพม่า และมลายู… พอเราออกจากบ้าน ก็พบทหารญี่ปุ่นเต็มไปหมด” (สุลักษณ์, 2527, 242)

ซุ้มประตูทางงานรัฐธรรมนูญ 2484 ที่สวนอัมพร และสมุดกำหนดการปีนั้น

บทความในเมืองไทยหนังสือภาพ ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ของกรมโฆษณาการที่ได้จัดพิมพ์จำหน่ายขณะนั้น บันทึกว่า

“การฉลองรัฐธรรมนูญ คือ การฉลองขวัญของประชาชนเป็นการแสดงวิญญาณร่วมของประชาชนชาวไทยให้ระลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งได้ประศาสน์ผลอำนวยความสุขสมบูรณ์ให้ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ ทุกๆ ปีจะมีการฉลอง และในการฉลองนั้นจะจัดให้มีการแสดงความก้าวหน้าของประเทศในทุกๆ ด้านให้ประชาชนได้ชม ได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจในกิจการที่รัฐบาลได้จัดทำให้เจริญรุ่งเรืองเพื่อให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้น” จิตวิญญาณแห่งระบอบใหม่ของผู้เขียนครั้งนั้นยังสะท้อนออกมาว่า “รัฐธรรมนูญเปรียบดังฉัตรชัยที่กั้นกำบังประเทศให้ร่มรื่นพ้นจากความทุกข์ ให้สิทธิเสรีภาพเสมอกันหมดไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะและตระกูล” (เสริม บุญยรัตพันธุ์, 2484, 55)

ควรบันทึกด้วยว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญในปีที่ 10 มีการจัดงานได้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น และขยายขนาดของงานออกไปจัดที่ 1.บริเวณเขาดินวนาและสวนอัมพร 2.บริเวณสนามหลวง และ 3.บริเวณสวนลุมพินี สำหรับงานที่สวนลุมฯ นั้นตามแผนงานจะมีงานต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2485 เลยทีเดียว ด้วยงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานรื่นเริงที่สำคัญในระดับชาติที่หนุ่มสาวสมัยนั้นเฝ้ารอการมาถึงของงานดังกล่าว คนร่วมสมัยจึงบันทึกถึงความนิยมในครั้งนั้นว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานใหญ่ระดับชาติ หนุ่มๆ สาวๆ ชอบมาก เพราะได้แต่งตัวสวยๆ อวดกันในเดือนธันวาคมเป็นฤดูหนาว ที่เหมาะจะอวดกันเรื่องการแต่งตัว” (แท้, 2544, 83)

จากภาพวาดที่หน้าปกเมืองไทยหนังสือภาพ ฉบับงานฉลองรัฐธรรมนูญ เดือนธันวาคม 2484 เป็นภาพเดียวที่ค้นพบขณะนี้ถึงลักษณะของซุ้มทางเข้างานฉลองรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เปิดงาน มีลักษณะเป็นปีกขนาดใหญ่ 4 ปีก คล้ายปีกที่อยู่รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เพิ่งเปิดไปเมื่อ 2483 รูปทรงและสไตล์ของซุ้มเป็นศิลปะแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ซึ่งมีความเรียบง่ายแต่โฉบเฉี่ยว ที่สะท้อนถึงความทันสมัย และความก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลต้องการสื่อความหมายถึงประชาชนว่า ไทยหลังการปฏิวัติ 2475 มีความเจริญในทุกๆ ด้านดังสไตล์ของการออกแบบนั้น

(ชาตรี, 2563, 262)

งานฉลองรัฐธรรมนูญในปีที่ 10 นี้ มีพัฒนาการจัดงานได้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น และขยายขนาดของงานออกไปจัดที่ 1.บริเวณเขาดินวนาและสวนอัมพร 2.บริเวณสนามหลวง และ 3.บริเวณสวนลุมพินี สำหรับงานที่สวนลุมฯ นั้นจะมีงานต่อเนื่องจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2485 เลยทีเดียว

หากพิจารณาจากกำหนดการของงาน พบว่า กิจกรรมที่ถูกส่งเสริมให้แสดงมากในปีนี้ รัฐนิยมและการสร้างตนเอง กล่าวคือ มุ่งเน้นงานหัตถกรรมของเยาวชน เช่น มีการแสดงงานช่างนักเรียนหญิง เช่น สวนสุนันทา สายปัญญา สตรีวิทยา สตรีวัดมหาพฤฒาราม เขมะสิริอนุสสรณ์ ศึกษานารี ราชินี สตรีวัดระฆัง มาแตร์เดอีวิทยาลัย การช่างสตรีพระนครใต้ การเรือนพระนคร เป็นต้น ส่วนการสาธิตงานช่างมาจากนักเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย นักเรียนช่างกลปทุมวัน เป็นต้น (สมุดกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2484, 15-19)

รวมทั้งการพยายามสร้างความเป็นอารยะของวิถีชีวิตให้กับคนไทยตามหลัการสร้างตนและสร้างชาติ เช่น การแสดงสภาพชีวิต แบบบ้าน บริเวณที่ทำกิน สวนสาธารณะและสนามเด็กเล่นของชาวนิคมสร้างตนเองในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งแสดงแบบบ้านและเครื่องเรือนทั่วไปเพื่อส่งเสริมการครองชีพให้แก่ประชาชนด้วย

ประยูร ภมรมนตรี ประธานกรรมการจัดงาน แนะนำให้เข้าชมการแสดงอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่ตึกหอพิพิธภัณฑ์ในสนามเสือป่าที่จัดแสดงสินค้าไทยและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดต่างๆ นำเสนอเป็นรูปจำลอง ส่วนภายในสวนอัมพรมีการจัดแสดงการฝีมือของนักเรียนและนักเรียนอาชีวะศึกษา (ประยูร ภมรมนตรี, 2484, 60-61)

ตามแผนงาน งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีมหรสพแสดงที่สนามหลวงถึง 15 โรง มีการเตรียมจุดพลุดอกไม้เพลิงด้านสนามหลวงตอนเหนือขนานใหญ่ มีร้านให้พ่อค้าแม่ค้าเช่าตั้งแผงหาบเร่ แผงลอย มีป้ายโฆษณาให้เช่าตลอดการจัดงาน ทั้งนี้ มหรสพที่สนามหลวงแสดงอังกะลุง ภาพยนตร์ ละครย่อย เพลงฉ่อยจำอวด หีบเพลงปากผสมกีตาร์ ดนตรีผสม และดนตรีสตริงแบนด์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในงานปีนี้มีกิจกรรมใหม่ที่ถือเป็นการประกาศความก้าวหน้าให้ประจักษ์แก่พลเมืองทั้งปวงและนานาชาติให้ประจักษ์ คือ การกระจายเสียงคลื่นยาว ระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม เริ่มจากเปิดสถานี 18.00 น.

มีรายงานสภาพอากาศ รายการข่าว ดนตรีสากล บรรยายวิชาความรู้ การสนทนา “นายมั่นกับนายคง” เทียบเวลา ข่าวสินค้า ดนตรีบันเทิง ละครพูด และการกระจายเสียงคลื่นสั้น ระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม เปิดสถานี 18.30 น. จากนั้นเป็นรายงานสภาพอากาศ ข่าวภาษาอังกฤษและภาษาไทย ข่าวต่างประเทศจากโทรเลข บทความจากหนังสือพิมพ์ อ่านเรียงความที่ชนะเลิศประกวดงานฉลองรัฐธรรมนูญ แจ้งราคาสินค้า รายการดนตรี เป็นต้น

สาวไทยสมัยประชาธิปไตย 2484

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่มหกรรมงานเฉลิมฉลองอันมโหฬารของพลเมืองอันก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ซึ่งมีการเตรียมงานที่สมบูรณ์รอบด้านมาก ทั้งด้านสถานที่ การตกแต่ง ร้านค้า กิจกรรมของนักเรียนสามัญและอาชีวศึกษาต่างฝึกซ้อมฝีมือมาทั้งปีเพื่อแสดงความสามารถของพวกเขาและเธอให้ผู้มาเที่ยวงานให้ประจักษ์ในความสามารถของเยาวชนไทย

การเตรียมการประกวดนางสาวไทย มหรสพจำนวนมากที่เตรียมพร้อมจะแสดงให้ประชาชนชม พร้อมตลาดนัดที่พ่อค้าแม่ค้าขนสินค้าทั้งสดและแห้งมารอลูกค้าให้มาจับจ่ายใช้สอยในวันที่ 8 ธันวาคม

ต้องยุติลงอย่างฉับพลันเมื่อญี่ปุ่นบุกไทยและดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่สร้างโศกนาฏกรรมอย่างใหญ่หลวงให้กับไทยและภูมิภาคเอเชีย

สลากกินแบ่งบำรุงงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนั้น