ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2565 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
จักรกฤษณ์ สิริริน
Bore-out + Burn-out + Brown-out = การลาออกครั้งใหญ่?
ในอดีต “เสียงบ่น” ของ “คนทำงานรุ่นเก่า” มักจะเป็นทำนองว่า “บริษัทเขี้ยว-เจ้านายโหด-โรงงานนรก” แต่ก็ยัง “ทนๆ ทำไป” จนกว่าจะ “ถึงที่สุด”
แต่ทุกวันนี้ “คนทำงาน” ทั้ง “รุ่นเก่า” และ “รุ่นใหม่” มีทัศนคติ และอดทนต่อความ “เขี้ยว-โหด-นรก” น้อยลงเรื่อยๆ
นำมาสู่ศัพท์ 3 คำ คือ Bore-out, Burn-out และ Brown-out
Bore-out หรือ Bore-out Syndrome คือ “ภาวะเบื่องาน”
เมื่อ “คนทำงาน” เกิดความรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่มีคุณค่า เจ้านายไม่ตอบสนอง และองค์กรไม่ส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ของตน
พูดอีกแบบก็คือ “คนทำงาน” เกิดอาการ “ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน”
“ภาวะเบื่องาน” หรือ Bore-out อาจมีความแปลกประหลาดตรงที่โดยส่วนใหญ่แล้ว “คนทำงาน” มักเกิดอาการ “ท้อ” จาก “ภาระงานที่หนัก” และ “ภาวะความตึงเครียดในที่ทำงาน”
แต่ Bore-out กลับเกิดจาก “ภาระงานที่น้อยเกินไป” และ “ไม่ท้าทาย” ทำให้เกิด “ภาวะถดถอยในการทำงาน”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ “คนทำงาน” มีอาการ Bore-out เกิดขึ้นแล้ว ทัศนคติที่มีต่องานมักจะเปลี่ยนแปลงไปในทางลบเสมอ!
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้ง “งาน” และ “สุขภาพจิต” ของ “คนทำงาน” ได้ในระยะยาว
นำไปสู่การที่ “คนทำงาน” เกิดอาการ “หมดไฟ” หรือ Burn-out และ “หมดใจ” หรือ Brown-out
Burn-out หรือ Burn-out Syndrome หมายถึง “ภาวะหมดไฟ” เกิด Cynicism หรือ “ขาดความรู้สึกสนุก” และ “ขาดแรงจูงใจในงานที่ทำ”
นำไปสู่ปัญหาตามมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เบื่อหน่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ
อาการหลักของ Burn-out ประกอบด้วย
1. รู้สึกสูญเสียพลังงาน หรือมีภาวะอ่อนเพลีย
2. เกิดความรู้สึกต่อต้าน และมองงานของตนเองในทางลบ ขาดความตั้งใจ หรือไม่มีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จ รู้สึกไม่สนุกกับงานที่ทำอยู่
3. ขาดความผูกพันกับที่ทำงาน รู้สึกเหินห่างกับเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลูกค้า”
Burn-out แบ่งออกเป็น 5 ระยะ กล่าวคือ
1. The Honeymoon เป็นช่วงเริ่มต้นกับงานในองค์กรใหม่ๆ “คนทำงาน” จะพยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน มีความตั้งใจสูง และเสียสละตนเองเพื่องานอย่างเต็มที่
2. The Awakening “คนทำงาน” เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตน ทั้งในแง่ค่าตอบแทน หรือการเป็นที่ยอมรับ เกิดความคับข้องใจ และเหนื่อยล้า
3. Brown-out “คนทำงาน” รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง หงุดหงิดง่ายขึ้น ขัดใจไปทุกสิ่ง เริ่มหนีหน้า และพยายามแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน ไม่เผชิญความจริง วิจารณ์องค์กรบ่อยขึ้น
4. Full Scale of Burn-out หากระยะ Brown-out ไม่ได้รับการแก้ไข “คนทำงาน” จะเริ่มสิ้นหวัง รู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง เข้าสู่ภาวะหมดไฟอย่างเต็มที่
5. The Phoenix Phenomenon ถ้า “คนทำงาน” ได้รับการปรับสภาพจิตใจให้ผ่อนคลาย ก็อาจสามารถกลับมามีแรงบันดาลใจ และคาดหวังต่องานได้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น
ส่วน Brown-out หรือ Brown-out Syndrome หมายถึง “ภาวะหมดใจในการทำงาน” มีสาเหตุมาจาก “ความเบื่อหน่าย” หรือ “ไม่พอใจ” ที่มีต่อ “เพื่อนร่วมงาน” และ “สภาพแวดล้อมของสำนักงาน”
ซึ่งแน่นอนว่า Brown-out Syndrome เป็น “ขั้นสุด” ที่มีความรุนแรงกว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” (Burn-out Syndrome) หรือ “ภาวะเบื่องาน” (Bore-out Syndrome)
เพราะ “องค์การอนามัยโลก” หรือ WHO (World Health Organization) ได้ยืนยันว่า Brown-out Syndrome เป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์
เนื่องจาก Brown-out หรือ “ภาวะหมดใจ” ส่งผลให้มีพนักงานลาออกจากงานมากถึง 40% ขณะที่ Burn-out หรือการลาออกเพราะ “ภาวะหมดไฟ” นั้น มีเพียง 5% เท่านั้น!
อาการ Brown-out อาทิ รู้สึกถูกกดดัน คิดว่าองค์กรคอยจับผิด ความกระตือรือร้นในการทำงานลดลง ไม่อยากทำงานนอกเหนือเวลางาน ไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ปลีกตัวจากสังคมเพื่อนร่วมงาน
WHO บอกว่า “ภาวะหมดใจ” ต่างจาก “ภาวะหมดไฟ”
เพราะคนกลุ่ม Brown-out ยังมี “ไฟในการทำงาน” แต่ด้วยอาการข้างต้น ทำให้เลือกที่จะ “ลาออก” จากองค์กรนั้นๆ เพื่อไปหาสิ่งที่ตนต้องการ
ส่วนใหญ่มักเกิดกับพนักงานที่มีความสามารถสูง จึงมีโอกาสหางานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
แม้ว่าองค์กรจะยื่นข้อเสนอต่างๆ เช่น ขึ้นเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่ง ก็ไม่สามารถฉุดรั้งคนที่มี “ภาวะหมดใจ” ได้
เพราะคนกลุ่ม Brown-out รู้ดีว่า งานเดิม และสถานที่ทำงานเก่า ไม่ตอบโจทย์ความต้องการนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า “ภาวะเบื่องาน” (Bore-out Syndrome) “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” (Burn-out Syndrome) และ “ภาวะหมดใจในการทำงาน” (Brown-out Syndrome) นำไปสู่ “การลาออก” ทั้งสิ้น
ดังตัวอย่างล่าสุดจากตลาดแรงงานสหรัฐ
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.2021 ที่ชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 4.5 ล้านคน ตัดสินใจลาออกจากงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของ COVID-19 คิดเป็น 3% ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
และผลการสำรวจของหนังสือพิมพ์ USA Today เมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ว่า คนที่ลาออกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีเพียง 20% เท่านั้นที่รู้สึกเสียใจที่ลาออก
ผนวกกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันลาออกในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างคงที่ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิด COVID-19 เสียอีก
ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Decker อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Nebraska Omaha เผยว่า COVID-19 เป็นชนวนที่เร่งให้กระบวนการเกษียณอายุเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ควร
“เห็นได้ชัดว่าแม้อัตราการลาออกในสหรัฐจะลดลงมาอยู่ที่ 2.9% โดยตัวเลขผู้ที่ลาออกลดลงเหลือ 4.4 ล้านคนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ แต่ก็มีคนกลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานราว 6.7 ล้านคน” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Decker กระชุ่น
“ผมคิดว่าความต้องการคนทำงานจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ความต้องการกำลังแรงงานในอเมริกากำลังเผชิญกับความท้าทายของภาวะสังคมสูงวัย” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Decker กล่าว และว่า
“ผมคิดว่ารัฐบาลต้องหันกลับมาพิจารณานโยบายตรวจคนเข้าเมืองอีกครั้ง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการนำเข้าแรงงานต่างชาติกับจำนวนแรงงานในประเทศที่ลดลง เพื่อช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Decker สรุป
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. Jay Zagorsky อาจารย์ด้านบริหารธุรกิจจาก Questrom School of Business มหาวิทยาลัย Boston ไม่เชื่อว่า COVID-19 คือเหตุผลที่ทำให้คนรีบเกษียณเร็วกว่าปกติ
“แม้เราจะยอมรับว่าสหรัฐกำลังประสบกับภาวะการลาออกครั้งใหญ่อยู่ แต่ผมคิดว่ามันเป็นความจริงในบางมุม แต่ไม่ใช่ทุกแง่” ศาสตราจารย์ ดร. Jay Zagorsky กล่าว และว่า
เนื่องจากสถิติการลาออกของสหรัฐนั้น เพิ่งจะเริ่มมีการจัดเก็บมาแค่เดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2000 ถึงปัจจุบันเท่านั้น
“หมายความว่า สำนักงานสถิติแรงงานไม่มีข้อมูลอ้างอิงก่อนหน้านั้น เพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบกับตัวเลขในปัจจุบันให้เห็นภาพที่ชัดเจนได้” ศาสตราจารย์ ดร. Jay Zagorsky กล่าว และว่า
ตัวเลขคนที่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวน 6.7 ล้านคน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายจนถึงขั้นต้องใช้คำว่า “การลาออกครั้งใหญ่”
“แต่ควรจะเรียกว่าการเปลี่ยนงานครั้งใหญ่มากกว่า” ศาสตราจารย์ ดร. Jay Zagorsky ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง การเปลี่ยนงานครั้งใหญ่ในสหรัฐยังไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เพราะบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ไม่ได้ลาออก
โดยอัตราการลาออกที่สูงนั้น มาจากกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร รวมถึงธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น