วิวาทะ อภิสิทธิ์-จาตุรนต์ ว่าด้วย ‘การรัฐประหาร’ กับการก้าวไม่พ้นระบอบทักษิณ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

วิวาทะ อภิสิทธิ์-จาตุรนต์

ว่าด้วย ‘การรัฐประหาร’

กับการก้าวไม่พ้นระบอบทักษิณ

 

หลังจากห่างๆ จากสนามการเมืองไปตั้งแต่ช่วงหลังการเลือกตั้งรอบล่าสุด ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หวนกลับมามีบทบาทบนสื่ออีกครั้ง ในช่วงที่ประชาธิปัตย์ทั้งพรรคกำลังสั่นคลอนด้วยข่าวฉาวของอดีตรองหัวหน้าพรรค

กระแสเสียงความกดดันในพรรค ปชป.ต่อตัวผู้นำ และผู้บริหารของพรรคให้รับผิดชอบดังขึ้นจากทุกพื้นที่

แม้จะมีความพยายามสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป.ขณะนี้ว่า การรับผิดชอบ คือการอยู่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การลาออกเพื่อหนีปัญหา

แต่การเขย่าเก้าอี้ก็ยังคงมีมากระทบเป็นระลอกอยู่ตลอด

แน่นอนว่า มีการเอ่ยชื่อ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ขึ้นมาอีกครั้ง จากสมาชิกที่คุ้นหน้าคุ้นตาของ ปชป. เรียกร้องให้ ‘เดอะมาร์ค’ กลับมานำทัพประชาธิปัตย์อีกครั้ง

 

การหวนคืนหน้าจอการเมืองของ ‘นายอภิสิทธิ์’ กลับมาอีกครั้ง ผ่านการให้สัมภาษณ์ทางช่องยูทูบ สภาที่ 3 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ด้วยสคริปต์บทเดิม คือ การโหมขย่มย่ำ ‘ตระกูลชินวัตร’ และ ‘นายทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองอันดับ 1 ของพรรคเก่าแก่อย่าง ปชป.มาโดยตลอด

‘เดอะมาร์ค’ แสดงความกังวลอย่างเปิดเผยถึงกรณีการชู น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวนายทักษิณ เข้ามานำพรรคเพื่อไทย และแนวคิดจะพานายทักษิณกลับประเทศ จะทำให้เกิดการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง

โดยระบุว่า ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ยังก้าวไม่พ้นครอบครัวชินวัตร และหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คนในครอบครัวมาดำรงตำแหน่งอีก ขออย่าย้อนกลับไปสู่พฤติกรรม หรือการกระทำที่เป็นลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัว ให้พวกพ้อง หรือไปทำอะไรที่ฝืนกับหลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมาย ซึ่งอาจรวมไปถึงแนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรม

โดยย้ำว่า การได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งมา เป็นความยินยอมพร้อมใจของประชาชนให้เข้ามาผลักดันนโยบาย หรือทำงานให้กับประเทศชาติ แต่ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เข้ามาทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักของกฎหมาย

ซึ่งเป็นห่วงว่าจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารอีก

ออกข่าวไม่ทันพ้นวัน ขุนพลฝั่งเพื่อไทยก็ทยอยออกมาโต้ทันที

เริ่มตั้งแต่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณเอง นายภูมิธรรม เวชยชัย นายจาตุรนต์ ฉายแสง ไปจนถึงเหล่าแกนนำคนเสื้อแดงที่ยังคงมีรอยแผลช้ำกับนายอภิสิทธิ์ และการรัฐประหาร

ถ้อยคำการตอบโต้ประเด็นนี้ของนายจาตุรนต์จึงเต็มไปด้วยความคับข้องใจว่า การพูดอย่างนี้ของนายอภิสิทธิ์เป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยและสนับสนุนเผด็จการและการรัฐประหาร

ซึ่งหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีพฤติกรรมหรือการกระทำที่เป็นลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัว ให้พวกพ้องหรือไปทำอะไรที่ฝืนกับหลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมาย อย่างที่ยกขึ้นมาแล้ว เป็นความไม่ถูกต้องชอบธรรมจะมาใช้อ้างในการทำรัฐประหาร ถ้ามีพฤติกรรมอย่างนั้นจริง ทำไมไม่ใช้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการกับรัฐบาลนั้น ทำไมจะใช้การรัฐประหารที่ทำลายหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล

ยิ่งกว่าสิ่งใด ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การทำรัฐประหารก็ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไร การรัฐประหารก็จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าเสมอ

บนหลักการประชาธิปไตยจึงไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะทำให้การรัฐประหารจะกลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรมไปได้

พร้อมหยันการเสนอความเห็นของนายอภิสิทธิ์ครั้งนี้ว่า ก่อนการรัฐประหารปี 2549 นายอภิสิทธิ์บอยคอตการเลือกตั้งที่ชักชวนให้กองทัพยึดอำนาจ และเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ก็บอกว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็น ก่อนการรัฐประหารในปี 2557 เข้าร่วมขบวนการเป่านกหวีดของ กปปส. บอยคอตการเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร และเมื่อเกิดการรัฐประหารก็เออออห่อหมกไปด้วยอย่างออกนอกหน้า

เมื่อนึกย้อนหลังไปแล้ว คงต้องสรุปว่าการแสดงความเห็นครั้งนี้เป็นความเห็นที่คงเส้นคงวาของนายอภิสิทธิ์ในการที่เห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำได้

และในบางสถานการณ์ก็เป็นสิ่งที่ดีถึงขั้นที่ต้องช่วยสร้างเงื่อนไขหรือเชื้อเชิญให้เกิดขึ้น

จึงไม่เข้าใจเหตุใดคุณอภิสิทธิ์จึงออกมาพูดในตอนนี้ ทำไมจึงมาขู่ประชาชนว่าอย่าเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ มิฉะนั้นจะเกิดรัฐประหาร

ในขณะที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองเขาเห็นกันหมดแล้วว่าการรัฐประหารที่ผ่านมา ได้ทำให้บ้านมืองเสียหายล่มจมไปแล้วอย่างไร

 

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ออกมาตั้งข้อสอบกลางภาควิชาการเมืองการปกครองให้นายอภิสิทธิ์ถึง 6 ข้อ คือ

1. ประเทศประชาธิปไตยใดในโลก ยอมรับหลักการว่าถ้ารัฐบาลทำไม่ดีแล้วต้องถูกรัฐประหาร จงยกตัวอย่างและอธิบาย

2. ในประเทศไทย รัฐบาลเลือกตั้งที่ถูกชุมนุมต่อต้านแล้วยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน กับฝ่ายค้านที่จัดม็อบบอยคอตเลือกตั้ง ขัดขวางการรับสมัครและลงคะแนน ฝ่ายใดคือเงื่อนไขของการรัฐประหาร และฝ่ายใดสนับสนุนการสืบทอดอำนาจพายเรือให้เผด็จการนั่ง

3. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีหัวหน้าพรรคการเมืองคนใดบอยคอตเลือกตั้ง 2 ครั้ง ทำทางให้รัฐประหาร 2 หน ปราบปรามประชาชนตายเป็นร้อย จนกลายเป็นพรรคครึ่งร้อย ส่องกระจกแล้วอธิบาย

4. ข้อกล่าวหารัฐบาลอื่นว่า “เอื้อประโยชน์ให้คนในครอบครัวและพวกพ้อง ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ตลอดจนกลไกการตรวจสอบทั้งหลาย รวมถึงองค์กรอิสระ” มีในรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามี เหตุใดไม่เคยวิจารณ์และตักเตือนว่าอาจถูกรัฐประหาร ถ้าเห็นว่าไม่มี ไม่ต้องอธิบาย เอาที่สบายใจ

5. ตลอดเวลา 8 ปี นี่คือการเมืองปฏิรูปตามที่เคยเรียกร้องหรือไม่ อย่างไร

และ 6. เมื่อไหร่จะเลิกปลอม?

เป็นข้อสอบที่นายอภิสิทธิ์ยังไม่ได้ตอบ

 

นอกจากบรรดาฝ่ายการเมืองจะออกมาตอบโต้กันพัลวันแล้ว เรื่องนี้ยังกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม ที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก

ความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อดีตนายกฯ กล่าวทำนองว่าพฤติกรรมบางอย่างที่ฝืนหลักธรรมาภิบาลบ้าง กฎหมายบ้าง เอื้อประโยชน์พวกพ้องบ้าง จะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การทำรัฐประหารได้ คำกล่าวเช่นนี้ขัดแย้งต่อหลักการ ในรัฐเสรีประชาธิปไตยภายใต้การปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างในการกระทำผิดกฎหมายเสียเองด้วยการกระทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญละเมิดต่อตัวบทกฎหมายต่างๆ

หากคุณอภิสิทธิ์สนับสนุนระบอบเสรีประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารจริงต้องเข้าใจและพึงตระหนักอย่างยิ่งว่า ในรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น หลักนิติธรรมถือเป็นหลักการที่คอยประคับประคองค้ำจุนให้ระบอบประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ได้

ดังนั้น แม้จะปรากฏการกระทำที่ขัดต่อตัวบทกฎหมาย ไม่ถูกต้องกับหลักการ แต่การเข้าไปแก้ไขต้องเป็นวิธีการตามครรลองของกฎหมายและวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีข้ออ้าง หรือเงื่อนไขใดๆ สำหรับการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างการทำรัฐประหาร

ปรากฏการณ์เห็นแย้งกับ ‘เดอะมาร์ค’ ครั้งนี้ สะท้อนว่า บทเดิมที่ ปชป.เคยเล่น และสคริปต์เก่าที่เคยพูดซ้ำๆ เพื่อทำลาย ‘ฝั่งทักษิณ’ เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเสื่อมมนต์ขลังสำหรับสังคมไทยในยุคนี้แล้วหรือไม่

เพราะคำว่า ‘รัฐประหาร’ ไม่ใช่คำที่ผู้คนในยุคสมัยนี้ต้องการได้ยินอีกต่อไป

การคัมแบ๊กของ ‘อภิสิทธิ์’ เที่ยวนี้ ต้องคิดใหม่ แล้วเล่นบทที่สังคมรับได้ เพราะผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สะท้อนแล้วว่า ปชป.เดินผิดทาง?!?