‘อิรัก’ หลังสิ้นสุด ‘ไอเอส’ ไร้การฟื้นฟู ชีวิตที่ไม่ดีขึ้น/บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ AFP

บทความต่างประเทศ

 

‘อิรัก’ หลังสิ้นสุด ‘ไอเอส’

ไร้การฟื้นฟู ชีวิตที่ไม่ดีขึ้น

 

8 ปี หลังจากการต่อสู้อย่างหนัก ระหว่างกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส กลุ่มนักรบญิฮาด กับกองทัพของอิรัก ที่ทำให้ตอนเหนือของประเทศอิรัก ถูกทำลายเสียหายอย่างหนัก

มาถึงตอนนี้ สภาพบ้านเมืองก็ยัง “ไม่มีอะไรดีขึ้น”

สำนักข่าวเอเอฟพี ได้รายงานเรื่องนี้เอาไว้ โดยสัมภาษณ์นายอิสซา อัล-ซัมซูม พ่อลูก 5 วัย 42 ปี ที่บอกกับเอเอฟพีว่า “มากุ” ที่แปลว่า “ไม่มีอะไรเลย”

ที่ว่า “ไม่มี” คือ ไม่มีทั้งไฟฟ้า ไม่มีบ้าน ไม่มีการฟื้นฟู และไม่มีงานทำ!

ซัมซูมอาศัยอยู่กับภรรยาและครอบครัว ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เมืองฮาบาช ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ไปทางเหนือราว 180 กิโลเมตร หมู่บ้านที่ถูกระเบิดนับสิบครั้งในช่วงการต่อสู้กับไอเอสเมื่อปี ค.ศ.2014

สภาพความเสียหายบ้านเมืองตอนนั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น

อาคารที่พักที่ซัมซูมอาศัยอยู่กับครอบครัว ก็อยู่ในสภาพพังเสียหายเนื่องจากระเบิด หลังคาเปิด และที่สำคัญคืออาคารแห่งนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่บ้านของซัมซูม แต่เป็นตึกที่ไม่มีใครอยู่แล้ว เพราะบ้านของซัมซูมเสียหายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกแล้ว

เมื่อครั้งที่รัฐบาลแบกแดดประกาศชัยชนะเหนือไอเอส เมื่อเดือนธันวาคม 2017 สภาพความเสียหายนั้นใหญ่หลวงนัก

แต่ซัมซูมกล่าวอย่างหดหู่ว่า เขายังไม่เห็นว่าจะมีการฟื้นฟูอะไรเลยสักอย่าง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามลง

 

ทั้งนี้ เมืองฮาบาช เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในช่วงที่ไอเอสยึดเมืองเอเมอลี ที่อยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร โดยเมื่อปี 2014 นักรบไอเอสที่ควบคุมเมืองโมซูล ทางตอนเหนือของอิรัก และบริเวณโดยรอบ ได้เคลื่อนกำลังไปทางตอนใต้ โจมตีเมืองเอเมอลี และใช้พื้นที่โดยรอบตั้งเป็นฐานที่มั่น เช่นที่เมืองฮาบาช ใช้เป็นฐานสำหรับการบุกโจมตี

อย่างไรก็ตาม จากการร่วมมือกันระหว่างกองทัพของอิรัก กองกำลังชีอะห์ และกองกำลังชาวเคิร์ด ได้เปิดฉากโจมตีพื้นที่ที่กลุ่มไอเอสยึดเอาไว้ และสามารถขับไล่กองกำลังของกลุ่มไอเอสออกจากพื้นที่ควบคุมได้ในที่สุด

แต่แม้ว่ากลุ่มไอเอสจะออกไปแล้ว หากแต่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่เคยถูกยึดครองและถูกโจมตีอย่างหนัก กลับยังคงได้รับความเจ็บปวดอยู่ อันเนื่องมาจากความแตกต่างในเรื่องของศาสนา ระหว่างมุสลิมสุหนี่เป็นคนส่วนใหญ่ในเมือง กับกลุ่มกองกำลังของรัฐบาล ที่เป็นมุสลิมชีอะห์

มีรายงานว่า กลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาล นักรบอาสาสมัคร รวมไปถึงกองกำลังของรัฐบาล ได้โอบล้อมเอเมอลีเอาไว้ รวมทั้งฮาบาชด้วย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังสามารถจับภาพการก่อเหตุโจมตีชาวบ้านได้จากกลุ่มก้อนของควันที่พวยพุ่งขึ้นมาเนื่องจากการระเบิดตามจุดต่างๆ

จากรายงานของสภาผู้ลี้ภัยแห่งนอร์เวย์ (เอ็นอาร์ซี) ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านเกือบ 20,000 คนที่ไร้ที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากเหตุโจมตี และต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมาก รวมไปถึงความต้องการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น น้ำสะอาด และไฟฟ้า หรือแม้แต่การได้รับเอกสารระบุตัวตน ที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประชาชนในเขตพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม

เอ็นอาร์ซีระบุว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในเมืองฮาบาช เป็นมุสลิมสุหนี่ ขณะที่ชาวอิรักส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์ บางครั้งพวกสุหนี่จะถูกมองว่าเป็นพวกที่ไม่น่าเชื่อถือ และถูกสงสัยว่าอาจจะเป็นพวกที่คอยให้การสนับสนุนพวกหัวรุนแรง เนื่องจากพวกนักรบไอเอสเป็นพวกสุหนี่

อับเดลคาริม นูรี เพื่อนบ้านของซัมซูม ซึ่งเป็นมุสลิมสุหนี่เช่นกัน บอกว่า ชีวิตของเขาตกอยู่ในความอับอาย ไม่มีงานทำ มีแกะอยู่ 5 ตัว ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ได้

แม้ว่าจะขอร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรช่วยเหลือ แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา รายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลอิรักที่เป็นพวกชีอะห์ ที่ยังคงเดินหน้าบังคับการพลัดถิ่นของพวกสุหนี่อย่างต่อเนื่อง

รายงานดังกล่าวยังระบุถึงการสุ่มจับกุมตัวชาวสุหนี่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงแบกแดด รวมทั้งการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับไอเอส

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของจังหวัดซาลาเฮดดิน ที่ตั้งของเมืองฮาบาช ได้เปิดเผยว่า “ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย” ทำให้การฟื้นฟูต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า

และแม้ว่าฮาบาชจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอิรัก หากแต่กลุ่มติดอาวุธก็ยังคงมีฐานทัพอยู่ห่างออกไปทางตอนเหนือราว 15 กิโลเมตรเท่านั้น

โดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธดังกล่าว ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบีร์ อาเหม็ด ที่ถูกระบุว่าเป็นหมู่บ้านที่ไม่สามารถควบคุมเอาไว้ได้ หากเข้าไปแล้ว จะไม่สามารถรับประกันได้ว่า คุณจะสามารถออกมาได้หรือไม่

ชีวิตของชาวบ้านทางตอนเหนือของอิรัก ยังคงมืดมน ไร้หนทางสู่ความสว่างอย่างแท้จริง แม้จะไม่มี “ไอเอส” แล้วก็ตาม