‘ฟินแลนด์-สวีเดน’ สู่นาโต อีกสัญญาณตึงเครียดในยุโรป/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Banners displaying the NATO logo are placed at the entrance of new NATO headquarters during the move to the new building, in Brussels, Belgium April 19, 2018. REUTERS/Yves Herman/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

‘ฟินแลนด์-สวีเดน’ สู่นาโต

อีกสัญญาณตึงเครียดในยุโรป

 

หากย้อนไปมองเหตุผลของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่ตัดสินใจนำกำลังทหารรุกรานประเทศเพื่อบ้านอย่างยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว หนึ่งในนั้นย่อมมี “ท่าที” ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต รวมอยู่ด้วย

ท่าทีที่ว่าก็คือการขยายเขตแดน “หลังสงครามเย็น” ของนาโตไปทางตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือท่าทีต้อนรับ “ยูเครน” ชาติที่มีชายแดนติดกันเข้าเป็นหนึ่งชาติสมาชิก

แม้รัสเซียจะตัดสินใจเปิดฉากสงครามในยูเครนแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการขยายเขตแดนของนาโตจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ล่าสุด ฟินแลนด์และสวีเดน ที่เดิมมี “สถานะเป็นกลาง” ส่งสัญญาณเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกนาโตด้วยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

และนั่นจะกลายเป็นว่าเขตแดนของพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอย่างนาโต กลุ่มพันธมิตรที่รัสเซียมองว่ามีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง กลับกินเขตแดนกว้างไกลไปทางตะวันออกมากกว่าเดิมถึง 2 เท่า

และแน่นอนว่าจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีสำหรับรัสเซียอย่างแน่นอน

 

ฟินแลนด์และสวีเดน สองชาตินอร์ดิกที่มีเขตแดนติดกับรัสเซียยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต โดยฟินแลนด์นั้นเคยทำสงครามกับสหภาพโซเวียตมาแล้วสองครั้งใหญ่ๆ โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อราว 80 ปีก่อน

สงครามครั้งนั้นซึ่งเรียกกันว่า “สงครามฤดูหนาว” สงครามที่ฟินแลนด์ที่มีกำลังพลน้อยกว่าสามารถต้านทานกำลังรบของรัสเซียไว้ได้อย่างเหลือเชื่อ

สงครามจบลงด้วยการไร้ผลแพ้ชนะ พร้อมๆ กับข้อตกลงระหว่างสองฝ่าย โดยฟินแลนด์สามารถคงสถานะชาติที่มีเอกราชเอาไว้ได้ ด้วยการประกาศเป็นชาติที่มีสถานะเป็นกลางทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นในเวลาต่อมา

ขณะที่ทางด้านสวีเดนนั้น สถานะเป็นกลางนั้นเป็นเสาหลักในนโยบายต่างประเทศมาเป็นเวลานานกว่า 200 ปีแล้ว

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทั้งฟินแลนด์และสวีเดน ต่างเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศไม่ได้แสดงท่าทีสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนาโตแต่อย่างใด

ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนไม่ได้มองว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้ว่าในปี 2014 รัสเซียจะผนวกแหลมไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียด้วยก็ตาม

แต่หลังจากรัสเซียนำกำลังรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ประชาชนชาวฟินแลนด์และสวีเดนจำนวนมากเปลี่ยนความคิดและหันมาสนับสนุนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตเพิ่มมากขึ้น

 

โพลที่เพิ่งจัดทำเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าชาวฟินแลนด์มากถึง 68 เปอร์เซ็นต์ที่สนับสนุนให้ฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คัดค้าน ขณะที่ในสวีเดน สัดส่วนผู้สนับสนุนนาโตก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีประชากรสัดส่วน 57 เปอร์เซ็นต์ที่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกนาโต เพิ่มขึ้นจาก 51 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็มีให้เห็นแล้วกับชาติอดีตสหภาพโซเวียตอย่างลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ที่แม้รัสเซียจะมีปัญหากับประเทศเหล่านี้บ้างแต่ก็รัสเซียก็ไม่แตะต้องรุกรานชาติเหล่านี้ที่ปัจจุบันมีสถานะสมาชิกนาโต แต่กลับกลายเป็นยูเครนที่ตกเป็นเหยื่อแทน

สื่อท้องถิ่นฟินแลนด์และสวีเดนต่างรายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่ฟินแลนด์จะยื่นขอเข้ารวมเป็นสมาชิกนาโต ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำนาโต ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้

ขณะที่พรรครัฐบาลสวีเดนก็แสดงออกชัดเจนว่าสวีเดนจะยื่นเสนอเข้าร่วมพร้อมๆ กับฟินแลนด์เช่นเดียวกัน

ด้านโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ก็ส่งสัญญาณว่าหากสองชาติยื่นเรื่องขอเป็นสมาชิกจะมีการเร่งรัดกระบวนการให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว

 

ขณะที่กระบวนการรับสมาชิกใหม่นั้น ชาติสมาชิกนาโตทั้ง 30 ชาติจำเป็นต้องร่วมลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ซึ่งฮังการีที่นำโดยนายวิกเตอร์ ออร์บัน นายกรัฐมนตรีที่เป็นพันธมิตรสำคัญของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นชาติเดียวที่มีโอกาสที่จะคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกของสองชาติ

แต่หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่า ออร์บันมีโอกาสที่จะไม่ทำเช่นนั้นเนื่องจากการต้องพึ่งพาในเรื่องงบประมาณจากสหภาพยุโรป รวมไปถึงมีท่าทีที่แสดงออกสนับสนุนอียูในการออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียก่อนหน้านี้

ในด้านจุดยืนทางการทหารของฟินแลนด์และสวีเดน ที่อาจมีมาตรฐานไม่ตรงกันกับนาโตนั้น การซ้อมรบร่วมกับนาโตก่อนหน้านี้ก็จะขจัดข้อกังวลเหล่านี้ไปได้ ในส่วนของงบประมาณด้านการทหารที่นาโตกำหนดให้ชาติสมาชิกต้องมีงบฯ สัดส่วน 2 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีนั้น

ฟินแลนด์ผ่านมาตรฐานนี้ไปแล้ว ขณะที่สวีเดนก็มีแนวโน้มที่จะทำได้ในเร็วๆ นี้

 

การยื่นขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของฟินแลนด์และสวีเดน แน่นอนว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซีย และสร้างความตึงเครียดทางการเมืองอย่างแน่นอน จึงเป็นเหตุให้นาโตต้องเร่งกระบวนการให้เสร็จสิ้นให้เร็วที่สุดเนื่องจากรัสเซียอาจดำเนินการอะไรบางอย่างในช่วงเวลานี้ได้

อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์และสวีเดนต่างจากยูเครนที่ทั้งสองชาติเป็นสมาชิกอียูอยู่แล้ว และนั่นหมายถึงความคุ้มครองตามสนธิสัญญาลิสบอน มาตรา 42.7 ที่กำหนดให้ชาติสมาชิกอียูต้อง “ให้ความช่วยเหลือทุกทาง” กับชาติสมาชิกอื่นๆ ที่ถูกโจมตี

ขณะที่รัสเซียเองที่กำลังทุ่มสรรพกำลังไปที่ยูเครนอย่างเต็มกำลังและคงไม่อาจเปิดศึกสองด้านได้ง่ายๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ เนื่องจากรัสเซียจะสามารถโจมตีไซเบอร์เข้าใส่รัฐบาล รวมถึงเครือข่ายบริษัทยักษ์ใหญ่ในฟินแลนด์และสวีเดนเพิ่มมากขึ้น รัสเซียอาจใช้เรือดำน้ำรุกล้ำเข้าสู่น่านน้ำของสองชาติในทะเลบอลติก รวมไปถึงอาจส่งเครื่องบินรบรุกล้ำน่านฟ้าอย่างที่เคยทำมาแล้วก็เป็นได้

โดยสรุปรวมแล้วการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของทั้งฟินแลนด์และสวีเดน ย่อมทำให้สถานการณ์ในยุโรปตึงเครียดมากขึ้นอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความไม่พอใจให้กับประธาธิบดีปูติน ที่เวลานี้ไม่สามารถประกาศชัยชนะในสมรภูมิยูเครนได้

และอาจตัดสินใจในสิ่งที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้