BRI ท่ามกลางความท้าทาย-ความเสี่ยงรอบใหม่/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

BRI ท่ามกลางความท้าทาย-ความเสี่ยงรอบใหม่

 

ศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจระดับ “หายนะ” เกิดภาวะขาดแคลนทั่วประเทศทั้งอาหาร เชื้อเพลิงและยารักษาโรค อีกทั้งเป็นหนี้สินท่วมจนต้องประกาศผิดนัดชำระหนี้นอกประเทศทั้งหมดแล้ว

ล่าสุดได้ร้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารโลก ซึ่งให้เงินช่วยเหลือระยะสั้นเป็นจำนวนเงิน 600 ล้านดอลลาร์ และส่งตัวแทนไปยังกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เพื่อขอทุนช่วยเหลือเร่งด่วนวงเงินปีนี้ 3-4 พันล้านดอลลาร์ (อัลจาซีรา, เมษายน 2565)

ปากีสถานเกิดสุญญากาศทางการเมือง เมื่ออิมราน ข่าน ประธานาธิบดีชิงยุบสภาก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่ามีสิทธิ์แพ้คาสภาสูง โดยผู้นำปากีสถานกล่าวหาว่า สหรัฐอยู่เบื้องหลังด้วยการวางแผนสมคบคิดจับมือกับฝ่ายค้าน เพื่อโค่นเขาลงจากอำนาจ

ทั้ง 2 ประเทศ ถือเป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายประเทศที่จีนผูกสัมพันธ์และดึงเข้าโครงการใหญ่ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือบีอาร์ไอ (BRI) การปลุกเส้นทางสายไหมทางการค้าทั้งบกและทะเลที่จะทำให้จีนกลายเป็นทรงอิทธิพลในด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก

ทว่า วิกฤตน้อยใหญ่ถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง กับหลายประเทศรวมถึงจีนเอง ทำให้เส้นทางที่กำลังแผ้วถางต้องเจอมรสุม

 

จีนประกาศเดินหน้าแผนมาตั้งแต่ 2556 จนตอนนี้มีถึง 145 ประเทศ (รวมทั้งไทย) เข้าร่วม แม้จะมองว่าเป็นโอกาสสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศที่ร่วมแผนการนี้

อย่างไรก็ตาม ก็มีการเตือนถึงความเสี่ยงมาตั้งแต่ขับเคลื่อนโครงการนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการปฏิบัติงานโครงการ, ความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศนั้นๆ, ความเสี่ยงที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หรือความเสี่ยงด้านความมั่นคง เป็นต้น

รวมถึงการเกิดความไม่พอใจของประชาชนในประเทศกลุ่ม BRI ไม่ว่าการขาดความโปร่งใส, ธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ,การทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆ หรือบางประเทศเผชิญความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ข้อพิพาททางกฎหมายและการค้าที่เพิ่มขึ้น

หรือมีข้อกังวลถึงความคุ้มค่าในการลงทุนจาก BRI ตามข้อมูลของธนาคารโลก มีบางประเทศได้ประโยชน์อย่างคีร์กีซสถาน, ปากีสถาน, ไทย แต่บางประเทศอย่างอาเซอร์ไบจาน, มองโกเลีย, ทาจิกิสถาน อาจต้องลงทุนสูงมากเพื่อไปให้ถึงการเชื่อมโยงและการผสานทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างระดับเมกะโปรเจ็กต์เอง หากประเทศไหนมีระบบการตรวจสอบหรือปราบปรามการทุจริตที่ไม่เข้มแข็ง ก็จะเผชิญความเสี่ยงในการบริหาร รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ล้มเหลวและเต็มไปด้วยการทุจริต

 

นั้นทำให้ในระยะหลัง หลายโครงการที่จีนเข้าไปร่วมลงทุน ได้เพิ่มการตรวจสอบความโปร่งใสมากขึ้น ท่ามกลางโครงการที่ไม่คืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือน้ำลึก ฮัมบันโตต้าในศรีลังกา หรือท่าเรือกวาดาร์ ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษจีน-ปากีสถาน

เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของบางประเทศ อย่างมาเลเซียก็ขอเจรจาข้อตกลงโครงการภายใต้ BRI ใหม่อีกครั้ง

หรือภาวะสงครามกลางเมืองในพม่าที่ฝ่ายรัฐบาลทหารปะทะกับพันธมิตรกองทัพพิทักษ์ประชาชนภายใต้รัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังชาติพันธุ์ ลากยาวมาปีกว่า

หรือในกรณีประเทศไทย แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลประยุทธ์นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 หลังสหรัฐประกาศลดความสัมพันธ์และตัดผลประโยชน์ทางการค้า จีนก็เข้าเสียบแทนและรัฐบาลกับฝ่ายจารีตนิยมของไทยก็เอนเอียงชนิดแนบชิด จนผู้นำรัฐบาลทหารได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้งปี 2562 ก็ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีน

แต่ความนิยมของรัฐบาลประยุทธ์ก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ แม้จะมีการประเมินถึงอิทธิพลของจีนต่อไทยจะสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก (อันดับ 1 คือกัมพูชา ตามด้วยสิงคโปร์) กระแสเชิงลบในกลุ่มประชาชนกำลังค่อยๆ เพิ่มขึ้น ประจวบกับที่สหรัฐภายใต้รัฐบาลไบเดน ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และไทยอยู่ในลิสต์ที่สหรัฐเพ่งเล็งในการจัดความสัมพันธ์ใหม่

ล่าสุด สหรัฐได้เชิญไทยพร้อมกับชาติสมาชิกอาเซียน มาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐที่จะมาขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จะมีการหารือเกี่ยวกับการเข้าร่วมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกด้วย

ทำเอาจีนต้องออกสื่อเชิงเตือนรัฐบาลไทยไม่ให้เข้าร่วม หรือมีความพยายามจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดในไทยที่โปรจีนต่างออกมาแสดงความกังวล ต่อท่าทีรัฐบาลไทยหากเลือกเข้าร่วมกับสหรัฐ

สะท้อนความกังวลต่อผู้วางหมากอย่างจีนว่า อาจสูญเสียอิทธิพลในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปให้กับสหรัฐ (รวมถึงยุโรป)

 

จนการเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สถานการณ์ได้กินเวลามากกว่า 2 เดือน สร้างความยุ่งยากให้กับจีนทั้งในแง่มิติความสัมพันธ์กับรัสเซียที่แน่นแฟ้น และมิติเศรษฐกิจที่จีนมีผลประโยชน์ร่วมกับรัสเซียและยูเครน ที่อยู่บนเส้นทางสายไหมภาคพื้นในแผน BRI ด้วย

แม้จีนจะสงวนท่าทีไม่เข้าไปยุ่งกับความขัดแย้ง พร้อมแสดงบทบาทผู้ต้องการเห็นสันติ แต่ก็ยังคงสานประโยชน์กับรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรสามัคคีจากหลายชาติ

Foreign Policy ออกบทความเมื่อต้นมีนาคมที่ผ่านมา ประเมินว่า สงครามของวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียในการรุกรานยูเครน การคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลกระทบต่อการค้าในภาคพื้นทวีปซึ่งจีนใช้เส้นทางรถไฟสายยูเรเชียในการส่งสินค้าไปยังยุโรป แต่เส้นทางพาดผ่านรัสเซียและยูเครน ทำให้จีนสูญเสียโอกาสทำรายได้จากการส่งออก

หรืออีกบทวิเคราะห์ จาก East Asia Forum เมื่อเมษายนที่ผ่านมา มองว่า ความซับซ้อนของความขัดแย้ง ทำให้รัฐบาลจีนยากจะเลือกยืนข้างรัสเซีย แม้ว่าจีนจะดูเหมือนกระตือรือร้นที่จะแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับรัสเซียในระดับหนึ่ง ทว่าโดยเนื้อแท้ วิกฤตนั้นไม่แน่นอน ในขณะที่ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป ความกดดันจากนานาชาติที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้จีนเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างรัฐบาลรัสเซียและชาติตะวันตกอย่างแจ่มแจ้ง

จะนำไปสู่ความโชคร้ายทางยุทธศาสตร์สำหรับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์จีนยังไม่ถึงกับชะงักหมด เพราะยังคงมีเส้นทางภาคพื้นเข้าสู่ยุโรปได้ ผ่านตะวันออกกลางเข้าสู่ตุรกีและอีกเส้นทางที่พยายามกรุยกันคือ เส้นทางการค้าบริเวณขั้วโลกเหนือ

ทำให้ดูเหมือนจีนไม่หยุดยั้งในการเชื่อมโยงเพื่อบรรลุความทะเยอทะยานสูงสุดของตัวเอง