ข้างสนาม-นายกฯ สำรองพร้อม/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ข้างสนาม-นายกฯ สำรองพร้อม

 

พอเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ใกล้วันเปิดประชุมสภา สถานการณ์การเมืองเริ่มกลับมาร้อนระอุ โดยเฉพาะชะตากรรมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกิดคำถามว่า เสียงโหวตในสภาของรัฐบาลมีเพียงพอจริงหรือไม่

ถ้าหากฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบมีการลงมติ เสียงไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อ จะมีพอจริงหรือ

เพราะคู่อาฆาตคนสำคัญของนายกฯ คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังเคลื่อนไหว เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ด้วยการส่งสัญญาณขู่ว่า มีมือที่มองไม่เห็นใน ส.ส.พรรคต่างๆ ทำให้เมื่อเปิดสภาจึงยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรี ก็อาจต้องใช้มาตรา 272 วรรค 2

เพื่อหานายกฯ คนนอกมาแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง

คำว่านายกฯ คนนอก หมายถึง บุคคลที่อยู่นอกเหนือบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำเสนอในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562

โดยพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาล คือ ภูมิใจไทย เสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนพรรคใหญ่ฝ่ายค้าน เพื่อไทย เสนอ 3 ชื่อ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ

ถึงที่สุดแล้ว ที่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวถึง ไม่พ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคหลักของรัฐบาล

ไม่ได้อยู่ในบัญชีผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ จึงเข้าข่ายเป็นนายกฯ จากคนนอกบัญชี ซึ่งต้องมีขั้นตอนการโหวตเพิ่มมากขึ้น

ถือเป็นข้อเสนอเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยไม่กระทบเครือข่ายอำนาจปัจจุบัน และไม่กระทบต่อสูตรรัฐบาลปัจจุบัน เป็นข้อเสนอที่เครือข่ายขุนศึกขุนนางน่าจะรับได้ เป็นข้อเสนอที่คนในพรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะเป็นการสนับสนุนหัวหน้าพรรคตัวเอง ให้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล เป็นข้อเสนอที่พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ก็คงไม่มีปัญหา

พูดง่ายๆ ว่า เริ่มเกิดกระแสนายกฯ สำรองที่พร้อมจะเข้ามาแทนที่นายกฯ ปัจจุบัน ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เมื่อสภาเปิดสมัยประชุม โดยมีการผลักดัน พล.อ.ประวิตร เป็นตัวเลือก เป็นนายกฯ สำรอง

แต่ขณะเดียวกัน กระแสนายกฯ สำรองก็เป็นที่ขานรับอย่างกว้างขวาง ในแทบทุกวงสนทนา พากันพูดถึงนายกฯ สำรองกันเป็นเรื่องเป็นราว

พูดกันถึง พล.อ.ประวิตร ว่าที่นายกฯ สำรองกันอย่างจริงจัง ทั้งมีเสียงเห็นด้วยว่า จะเป็นผู้สามารถประสานทุกฝ่ายได้ดีกว่า ส่วนกระแสไม่เห็นด้วย มองในเรื่องสุขภาพ อีกทั้งมองว่าถ้าเป็นฐานรัฐบาลปัจจุบัน คงไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ดี คงไม่มีอะไรดีกว่าเดิม

เหนืออื่นใด กระแสนายกฯ สำรองที่จุดติด เป็นเพราะว่าทุกฝ่ายมองว่า สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มา 8 ปีแล้ว ย่อมสมควรแก่เวลาแล้ว

อีกทั้งปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญในระยะอันใกล้นี้ ดูหนักหนาสาหัสในทุกปัญหาจริงๆ!!

 

ปัญหาแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเจอะเจอ คือ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ซึ่งฝ่ายค้านต้องเปิดเขียงชำแหละรัฐบาลแน่นอน ประเด็นที่ฝ่ายค้านจะยกขึ้นมาถล่มแน่ๆ คือ วิกฤตราคาน้ำมัน ส่งผลให้ข้าวของทุกอย่างแพงตามกันไปหมด

ขณะที่เศรษฐกิจทรุดหนักต่อเนื่อง ตลอด 2 ปีมานี้ วิกฤตโควิดทำให้ธุรกิจการค้าซบเซาหนัก พอมาเจอน้ำมันแพงพุ่ง จากพิษสงครามรัสเซีย แล้วรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย

คงจะเป็นประเด็นหลักในการอภิปราย ท่ามกลางความรู้สึกร่วมของประชาชนที่ยากลำบาก

โดยเนื้อหาของการอภิปรายในเรื่องน้ำมันแพง ข้าวของแพง จะมีส่วนกดดัน ส.ส.รัฐบาล ให้ต้องคิดหนักด้วยเช่นกัน จะร่วมกันอุ้มนายกฯ คนนี้ต่อไปอย่างไร ในเมื่อประชาชนร่ำร้องถึงปัญหาปากท้องกันไปทั่ว

สถานการณ์ที่ชาวบ้านกำลังเบื่อหน่ายรัฐบาล เพราะไม่สามารถหยุดราคาน้ำมันแพง ทำให้สินค้าแพงไปทั้งตลาด แพงไปทุกหย่อมหญ้า กล่าวได้ว่าคล้ายกับสถานการณ์เมื่อปี 2564 ที่คนไทยเจอกับวิกฤตโรคระบาดโควิดอย่างหนัก แล้วพบว่ารัฐบาลมีความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน แถมไม่มีชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่ทั่วโลกใช้กัน

อารมณ์ของประชาชนคนไทยในช่วงนั้น ทำให้ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐจำนวนหนึ่ง นำโดย ร.อ.ธรรมนัส ได้รับรู้ว่าชาวบ้านไม่พึงพอใจรัฐบาลเป็นอย่างมาก

ในจังหวะที่พรรคฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ กับอีก 5 รัฐมนตรี ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ต่อเนื่องถึงต้นเดือนกันยายน 2564

ทำให้เกิดแนวคิดในหมู่ ส.ส.กลุ่มธรรมนัส ถ้าร่วมยกมือไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านได้เป็นอย่างมาก กลุ่มตนเองเหมือนเป็นฮีโร่ช่วงหาทางออกให้กับประเทศด้วยวิถีทางรัฐสภาเลยทีเดียว

แต่เกมมาพลิก เมื่อ พล.อ.ประวิตรโดดลงมาเบรกด้วยตัวเอง ขอให้ธรรมนัสและพวก กลับมาโหวตสนับสนุนนายกฯ เหมือนเดิม พร้อมๆ กัฐทีมงานกระเป๋าหนักของฝ่ายรัฐบาล พากันวิ่งล็อบบี้ ส.ส.ฝ่ายธรรมนัส จนเปลี่ยนใจกลับมาโหวตไว้วางใจนายกฯ และ 5 รัฐมนตรี

กระนั้นก็ตาม ได้กลายเป็นจุดแตกหักระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ ร.อ.ธรรมนัส ด้วยการปลดพ้นรัฐมนตรี และกลายเป็นจุดร้าวฉานยากจะสมานคืนดี จนสุดท้ายธรรมนัสก็นำทัพไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยรวม 18 เสียง

พรรคเศรษฐกิจไทยนี่แหละ ที่เป็นประเด็นร้อนในการเมือง เมื่อจะมีการอภิอปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ว่าสถานการณ์จะย้อนกลับไปเหมือนเมื่อกันยายน 2564 หรือไม่!?

แถมเป็นสถานการณ์ในช่วงที่รัฐบาลกำลังถูกชาวบ้านบ่นกันหูอื้อ จากเรื่องวัคซีนโควิดเมื่อปี 2564 เป็นเรื่องน้ำมันแพง ของแพง ในวันนี้

แค่ด่านนี้ก็น่าระทึกสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์จริงๆ

 

ปัญหาต่อมา ที่เป็นเหมือนระเบิดเวลา ซึ่งจะเข้าช่วงระทึกสุดขีดคือเดือนสิงหาคม โดยจะมีการยื่นตีความตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะต้องอยู่ในวาระไม่เกิน 8 ปี โดยมองกันว่า จะต้องนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 หลังจากก่อการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปีดังกล่าว

ถ้านับตามนี้ก็เท่ากับจะครบ 8 ปี ในเดือนสิงหาคมปีนี้

แม้จะมีเสียงโต้แย้งอีก 2 สูตร คือ ต้องนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้ โดยถ้านับตามนี้ก็เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปี ในปี 2568 หรืออีกสูตรคือ เริ่มนับตั้งแต่เป็นนายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 นั่นคือ เริ่มนับเมื่อเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2562 เท่ากับจะครบ 8 ปี ในปี 2570

แต่ก็มีฝ่ายที่ยืนยันว่าต้องนับตั้งแต่เป็นนายกฯ หนแรก และเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความในเดือนสิงหาคมนี้ จะนำไปสู่การจุดชนวนประเด็น พล.อ.ประยุทธ์หมดอายุบนเก้าอี้นายกฯ แล้ว ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และอาจเกิดการเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบอย่างกว้างขวาง

แต่กระแส พล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคม จะจุดติดหรือไม่ ย่อมขึ้นกับสถานการณ์ในเวลานั้น ขึ้นกับว่ารัฐบาลได้สร้างผลงานการบริหารประเทศจนประชาชนพึงพอใจอย่างมากได้หรือไม่

ถ้ายังอยู่ในภาวะน้ำมันแพงลิบลิ่ว ข้าวของแพงทั้งแผ่นดินเช่นนี้ ประเด็นครบวาระ 8 ปี หมดเวลาสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ คงร้อนแรงเป็นแน่

ดูภาพรวมของปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องฝ่าข้ามไป หนักหนา จนกระแสนายกฯ สำรองเหมือนเป็นเรื่องจำเป็นเสียแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสที่แตกหักกับ พล.อ.ประยุทธ์แบบยากจะคืนดีกันได้ ย่อมต้องการเปลี่ยนแปลง และต้องผลักดัน พล.อ.ประวิตรให้เป็นนายกฯ สำรองเตรียมขึ้นแทน เพราะจะเป็นทางเลือกที่ไม่หักหาญกับกลุ่มอำนาจนอกระบบ ขุนศึกขุนนาง ที่หนุนหลังรัฐบาลในระบบนี้อยู่

แต่ในแง่ฝ่ายค้านและฝ่ายประชาธิปไตย ย่อมต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านั้น ไม่ควรแค่เปลี่ยนตัวในทีมเดียวกัน ไม่ควรมีนายกฯ สำรองที่มาจากทีมเดียวกันกับนายกฯ ปัจจุบัน

การเมืองไทยในช่วงจากนี้ไปจนถึงสิงหาคม จะเป็น 4 เดือนที่เต็มไปด้วยความร้อนแรง

กระแสหมดอายุประยุทธ์ และการเตรียมนายกฯ สำรองคือ พล.อ.ประวิตร คงจะกระหึ่มตลอดช่วง 4 เดือนนี้!!