ปชป. …อดีตและอนาคต หลังเลือกตั้ง กทม./หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ปชป. …อดีตและอนาคต

หลังเลือกตั้ง กทม.

 

ผู้คนจับตาการเปลี่ยนแปลงในประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และจะทำหรือไม่ ทำเพื่อใคร?

ฝีมือระดับ ปชป.สามารถพลิ้วไปได้บนยอดคลื่น หรือดำดิ่งไปหลบภัยในก้นทะเลได้ทุกสถานการณ์

แต่ยุคนี้ใครก็รู้ทัน

 

ปชป.ไม่ใช้จุดยืน

แต่เต้นไปตามสถานการณ์

ตลอด 76 ปีของการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่จะเห็นว่า ปชป.มีทั้งด้านที่ร่วมกับอำนาจเผด็จการ ด้านที่ต่อสู้กับเผด็จการและก็มีช่วงเวลาที่ยอมจำนนอย่างยาวนาน แต่ทุกครั้งที่เผด็จการถูกโค่นล้ม ปชป.ก็รู้จังหวะที่จะเข้ามามีอำนาจตามเส้นทางเดินในระบบรัฐสภา

คนส่วนใหญ่คิดว่า ปชป.เปลี่ยนจุดยืนจากนักประชาธิปไตยไปอิงแอบกับเผด็จการ

แต่มีผู้วิเคราะห์ว่าถ้ามองจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคตลอด 76 ปี ปชป.มีประสบการณ์ในการช่วงชิงอำนาจทุกรูปแบบ

และสามารถอยู่รอดในการเมืองได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะร้อนหนาวขนาดไหน

การก่อตั้งพรรคขึ้นมาครั้งแรกก็สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล โดยรับการโอนอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นคนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการชั่วคราวและจัดการเลือกตั้งใหม่เมื่อ 29 มกราคม 2491

พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส. 54 คน นายควงได้เป็นนายกฯ นี่คือชัยชนะครั้งแรกในการเลือกตั้งใหญ่และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ถูกทหารทวงอำนาจคืนใน 3 เดือน

นี่ถือเป็นการถูกหลอกครั้งแรก และทหารก็ปกครองมาตลอด จากยุคจอมพล ป. ต่อด้วยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร รวมแล้ว 25 ปี ปชป.ต้องดำดิ่งหลบหายไป โผล่มาหายใจได้ในปี 2512-2514 ก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา

จากนั้นมีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากมีการเผาบ้านเผาเมือง แต่คนเผาได้เป็นวีรชน เพราะโค่นเผด็จการสำเร็จ ปชป.ก็ออกจากสภาพดักแด้ กางปีกรับแสงประชาธิปไตย สามารถชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 2519 เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 28 ปี ได้เป็นรัฐบาลเพียง 6 เดือน ก็โดนรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาประชาชนหนีเข้าป่าจับอาวุธร่วมกับ พคท.

การต่อสู้ภายในประเทศดุเดือดถึงขั้นสงครามรัฐบาลเผด็จการปะทะ พคท. ทำให้ ปชป.ต้องอดทนรอคอยโดยไม่เสี่ยงภัย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ตามคำสั่ง 66/23

ต่อมาก็ปรับตัว มาอยู่ใต้… “ระบอบประชาธิปไตยแบบคนละครึ่ง”… คือเลือกตั้งชนะก็ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่ยอมร่วมรัฐบาลนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ นานถึง 8 ปี และต่อในสมัยนายกฯ ชาติชาย จนมีการรัฐประหาร 2534 ของคณะ รสช.

2535 หลังพฤษภาทมิฬ การเคลื่อนไหวของประชาชนที่โค่นเผด็จการ รสช.ลงได้ ปชป.ก็บอกว่า คนอื่น…พาคนไปตาย…และชนะเลือกตั้ง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกฯ ซึ่งครั้งนี้สามารถอยู่ได้ประมาณ 3 ปี นับเป็นชัยชนะจากการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลครั้งที่ 3 ในรอบ 45 ปี

แต่นายกฯ ชวนต้องลงจากอำนาจโดยการยุบสภา 19 พฤษภาคม 2538 หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องการแจกที่ดิน ส.ป.ก.4-01

 

ปชป.รู้จักช่วงชิงอำนาจ

โดยไม่ต้องรอเลือกตั้ง

ปชป.สามารถเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล โดยไม่ต้องชนะเลือกตั้ง เมื่อนายกฯ คนเก่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกในปี 2540 ปชป.ใช้ชั้นเชิงทางการเมืองดึงเอา ส.ส.งูเห่าจากพรรคประชากรไทยมาสนับสนุนจึงสามารถชิงตำแหน่งนายกฯ มาได้

เมื่อก่อน ปชป.ยังสงวนท่าทีในการร่วมมือกับอำนาจนอกระบบ แต่หลังจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง 2544 และ 2548 โดยเฉพาะเมื่อไทยรักไทยสามารถทำคะแนนเสียงจนจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียวปี 2548 ซึ่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ ส.ส.ถึง 377 คน คิดเป็น 75% ของสภา

ดูเหมือนว่า ปชป.จะให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งน้อยลงไปมาก เพราะรู้ว่าเลือกตั้งกี่ครั้งก็แพ้ จึงลืมคำขวัญที่ว่า “เราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” แต่เกิดแนวทางการต่อสู้แบบวงจรอุบาทว์ที่ต้องใช้อำนาจนอกระบบ ใช้ม็อบ องค์กรอิสระ ศาล บอยคอตและขัดขวางการเลือกตั้งใหม่ สุดท้ายก็มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

หลังรัฐประหาร มีการยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์ ส.ส. 111 คน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2550 แล้วเลือกตั้ง 2551 คิดว่าจะชนะแต่ก็ยังแพ้พรรคพลังประชาชน 164 ต่อ 248 จึงต้องใช้ม็อบเสื้อเหลืองและอำนาจตุลาการภิวัฒน์ ยุบพรรคพลังประชาชน ตัดสิทธิ์กรรมการอีกครั้ง และสามารถเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในค่ายทหารได้ กลายเป็นนายกฯ และรัฐบาลเทพประทานในปลายปี 2551 โดยไม่มีความอับอาย จึงถูกคนชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และก็นำไปสู่เหตุการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

สุดท้ายก็ยอมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ปี 2554 ก็แพ้เพื่อไทย 159 ต่อ 265 เสียง ได้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องกลับมาใช้วงจรอุบาทว์อีกรอบ ลงทุนเอา ส.ส. และกรรมการ สมาชิกบางกลุ่ม แปลงกายเป็น กปปส. ก่อม็อบล้มรัฐบาล ขัดขวางการเลือกตั้ง ปิดเมือง ยึดกระทรวง

และจบด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

 

รัฐประหาร 2557…ไม่ยอมแก้ไข เต็มใจให้หลอก

หลังรัฐประหาร ความฝันของ ปชป.ที่จะได้เป็นรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลกับคณะทหารก็หายไป ที่อุตส่าห์ลาออกแปลงกายเป็น กปปส.ปิดกรุงเทพฯ ยึดกระทรวงทบวงกรมก็เหมือนถูกเขาหลอก เพราะ คสช.เอาไปกินเรียบ แถมมีคดีพ่วงท้าย อาจจะมีแอบให้รางวัลบางคนเล็กๆ น้อยๆ แถม คสช.ขอเวลาอยู่ไม่นานถึง 5 ปี

ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งปี 2562 ปชป.ก็ไม่มีอะไรจะขาย ทั้งอุดมการณ์และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่ได้ 159 คน เมื่อผลการเลือกตั้ง 2562 ออกมา ก็เหลือเพียง 53 คน ในเขต กทม.ไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว

ถึงแม้เคยรับปากประชาชนตอนหาเสียง ว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับ คสช. แต่ก็อ้างความจำเป็น ให้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรค และ ปชป.ก็เข้าร่วมรัฐบาล แบบไม่ต้องคิดว่าเคยสัญญาอะไรไว้

เหมือนฝนตกขี้หมูไหล คนไร้ความสามารถและโรคภัยมารวมกัน ปัญหาสะสมก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดบัตรคนจนและบัตรวณิพกขึ้นในประเทศไทย สถานการณ์วันนี้ พบคนติดโรคโควิดเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่แปลกยิ่งกว่าก็คือ ถ้าพบใครที่ไม่เป็นหนี้ รัฐบาลก็สร้างหนี้นับสิบล้านล้านชนเพดานเงินกู้ ส่วนหนี้ครัวเรือนของประชาชนก็มีมากถึง 14 ล้านล้าน

การเป็นพรรคการเมืองก็คือการเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำการบริหารและพัฒนาประเทศให้เดินหน้า แต่ ปชป.จะเอาอะไร เอาใครมาโชว์ ว่ามีคุณสมบัติเพื่อตอบสนองภารกิจที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ได้ ที่เตรียมไว้ก็หลอกคนไม่ได้แล้ว เพราะดีแตก

สถานการณ์วันนี้ไม่จำเป็นต้องไปรอจนถึงมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศครั้งใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า เพราะจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จะบ่งชี้ว่าอนาคตของ ปชป.จะเป็นอย่างไร

 

สิ่งที่ ปชป.ควรทำตั้งหลายครั้งในรอบ 20 ปี

1.ในเชิงอุดมการณ์ประชาธิปไตย ฝ่ายนำของพรรคตั้งแต่หัวหน้าจนถึง ส.ส. จะต้องเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางรัฐสภา ยอมรับและฟังเสียงประชาชน ต้องเลิกคิดวิธีการต่างๆ ที่จะใช้ฉกฉวยอำนาจรัฐโดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้เลือก

การเปลี่ยนการนำ จึงต้องเปลี่ยนให้ได้คนที่ก้าวหน้า และทันโลก ต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศก่อน อย่าเห็นแก่ลาภยศเงินทองเฉพาะหน้า

2. ในเชิงนโยบาย ปชป.จะต้องปรับนโยบายโดยมุ่งผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ มีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ขณะเดียวกันจะต้องวิเคราะห์สภาพสังคมไทยปัจจุบันว่าทั้งในเมือง ในชนบท ได้เปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว ความรู้ ความคิดของประชาชนก้าวไปไกลขนาดไหน จากนั้นกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง นโยบายจึงจะทำได้จริงและผลประโยชน์ตกถึงชาวบ้านจริงๆ

3. ทัศนะต่อประชาชน ปชป.ต้องยึดมั่นความเท่าเทียม ต้องมองว่าประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาค เป็นประชาชนที่มีความคิด และเห็นต่างกันได้ การใช้อำนาจต่อประชาชนต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม อย่าเกรงกลัวอำนาจอิทธิพลอื่น จนทำให้ ปชป.กลายเป็นพรรคที่ล้าหลัง ลดระดับเป็นพรรคภูมิภาคเพราะ ปชป.ไม่ใช่พรรคเล็กที่อาจจะยอมเป็นพรรคระดับจังหวัดก็ได้

ความตกต่ำ ความเสื่อมที่ผ่านมา อย่าไปโทษแค่รองหัวหน้าพรรคคนหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการตัดสินใจของแกนนำ ที่ทำผิดหลักการประชาธิปไตยหลายครั้งตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการแปลงกายเป็น กปปส.เพื่อล้มระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงให้ทัน ก็คอยดูผลเลือกตั้ง 22 พฤษภาคมนี้ และการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า เพราะจะชี้ทั้งปัจจุบัน และอนาคต