นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาภูมิภาค/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาภูมิภาค

 

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) มีกำหนดการ 8 วันเยือนอินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย แล้วบ่ายหน้าสู่อิตาลี อังกฤษ กลับญี่ปุ่น 6 พฤษภาคม

ไม่เพียงปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ที่ยังแพร่ไม่หยุดหย่อน ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่รุมเร้า หากไม่ใช่เรื่องสำคัญแท้จริง นายกรัฐมนตรีแห่งแดนอาทิตย์อุทัยคงไม่จรลีเหินน่านฟ้ามาอาเซียน แล้วไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา Francis ณ นครวาติกัน ก่อนไปคุยกับนายกรัฐมนตรีเมืองผู้ดีแห่งเมืองอังกฤษหรอก

นายกรัฐมนตรีคิชิดะมาทำอะไร แล้วคาดหวังอะไรได้แค่ไหน

มือเก่าการต่างประเทศและความมั่นคง

นายกรัฐมนตรีคิชิดะ

เมื่อก้าวสู่ผู้นำสูงสุดของญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีคิชิดะให้ความสำคัญกับกิจการต่างประเทศและความมั่นคง แต่มีลักษณะต่อเนื่องมากกว่าเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอาเบะและนายกรัฐมนตรีสึงะ

เขาตั้งใจรักษาวิสัยทัศน์ Free and Open Indo-Pacific ยังให้ความสนับสนุน Ouad อันได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกา

โดยพื้นฐาน นายกรัฐมนตรีคิชิดะมีทัศนะเชิง “นกพิราบ” ไม่ดุดันแบบ “เหยี่ยว” ต่างจากคู่แข่งของเขา Sanae Takaichi ในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานพรรค LDP1

เรื่องใหญ่ตอนนี้คือ นายกรัฐมนตรีคิชิดะเห็นความเสี่ยงอย่างมากกรณีความสัมพันธ์กับจีน เขาเสนอให้เพิ่มศักยภาพทางทหารของญี่ปุ่น เขาจะเดินแต้มอย่างไรในกรณีไต้หวัน ญี่ปุ่นต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังการทำงานกับสหรัฐอเมริกา เพื่อขวางไม่ให้เกิดผลร้ายมากๆ กับจีน ด้านความมั่นคง เขาจะต้องเร่งเพิ่มศักยภาพของญี่ปุ่น แต่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างฝ่ายเห็นด้วย กับฝ่ายต่อต้าน ประเด็นระบบอาวุธที่อนุญาตให้ญี่ปุ่นใช้กับภัยคุกคามเมื่อมีความจำเป็น การยิงขีปนาวุธเมื่อเร็วๆ นี้ของเกาหลีเหนือ สร้างความตึงเครียดในคาบสมุทร

เขาจะตัดสินใจอย่างไร ปรับปรุงระบบความสัมพันธ์ 3 ฝ่าย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐเกาหลี

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพื้นฐานของกิจการต่างประเทศญี่ปุ่นภายใต้นายกรัฐมนตรีคิชิดะ แล้วเมื่อเขามาภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 2 หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเช่นไร

 

ก้าวสำคัญที่อินโดนีเซีย

นายกรัฐมนตรีคิชิดะและประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ยืนยันความร่วมมือแข็งขัน Free and Open Indo-Pacific ท่ามกลางการยืนยันอย่างมั่นใจมากขึ้นของจีนต่อบทบาทในภูมิภาค และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

นายกรัฐมนตรีวิโดโดกล่าวถึงอินโดนีเซียและอาเซียนเคียงข้างกันสร้างพันธมิตร โดยเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีคิชิดะที่เน้นระเบียบระหว่างประเทศ ที่ยึดหลักกฎหมาย นายกรัฐมนตรีคิชิดะกล่าวถึงการเผชิญหน้าความท้าทายหลายอย่าง รวมถึงสถานการณ์ในยูเครน เอเชียตะวันออก ทะเลจีนใต้ และเกาหลีเหนือ การรักษาและเร่งเพิ่มความเข้มแข็งในหลักการกฎหมาย เสรีและเปิดระเบียบระหว่างประเทศอินโด-แปซิฟิก โดยอินโดนีเซียเป็นผู้นำหน้า

นายกรัฐมนตรีคิชิดะยืนยันพวกเขาจะเพิ่มความแข็งแกร่งในความร่วมมือเสรีและเปิดอินโด-แปซิฟิกที่ญี่ปุ่นได้ผลักดันไปข้างหน้า และอาเซียนมองอินโด-แปซิฟิก โดยอินโดนีเซียเป็นผู้นำหน้า

ญี่ปุ่นมองอินโดนีเซียที่เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G 20 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พันธมิตรสำคัญที่แชร์คุณค่าสากลได้แก่ ประชาธิปไตยและการปกครองโดยกฎหมาย ทั้งญี่ปุ่นและอินโดนีเซียยังตกลงกันด้วยว่า สงครามในยูเครนต้องยุติด้วยการเจรจา และร่วมกันทำงานด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรมเนื่องจากสงคราม

อินโดนีเซียสนับสนุนยูเครน แต่ไม่ได้คว่ำบาตรรัสเซีย

ทางการอินโดนีเซียแจ้งว่า วันเดียวกันนั้นเอง ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียแสดงความตั้งใจเข้าร่วมประชุมสุดยอด G 20 และอินโดนีเซียได้เชิญประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky แห่งยูเครนเข้าร่วมประชุมด้วย

ตรงนี้ แผ่นดินอินโดนีเซียจะลุกเป็นไฟ เพราะรัสเซียและจีนเป็นสมาชิกของ G 20 แต่ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ในเวลาเดียวกัน ชาติตะวันตกต่างล็อบบี้อินโดนีเซียไม่เชิญรัสเซียเข้ามาร่วมประชุมสุดยอด G 20 ในขณะที่ประธานาธิบดีปูตินเกาะติดการเคลื่อนไหวนี้ แล้วชิงจังหวะแสดงความจำนงเข้าร่วมประชุม นาง Lyudmila Vorobieva ทูตรัสเซียประจำอินโดนีเซีย กล่าวว่า

“…ประธานาธิบดีปูตินตั้งใจจะเข้าประชุม G 20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย พฤศจิกายนนี้ เธอให้ความเห็นว่า ที่ประชุมถกเถียงกันเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่วิกฤตการณ์เหมือนยูเครน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ หากปราศจากรัสเซีย จะทำให้ยุ่งยากมากขึ้น2

ทางการจีนยังสนับสนุนรัสเซีย Wang Wenbin โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวว่า

“…รัสเซียเป็นสมาชิกสำคัญของ G 20 ไม่มีชาติใดได้สิทธิ เอาประเทศสมาชิกอื่นออกจากสมาชิก G 20 ควรปฏิบัติอย่างพหุพาคีอย่างแท้จริง เอกภาพเข้มข้นและร่วมมือกัน”3

นายกรัฐมนตรีคิชิดะมีแผนการสอบถามท่าที และโน้มน้าวความคิดเห็นผู้นำของอาเซียนให้มีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เพราะมีเพียงสิงคโปร์ชาติอาเซียนชาติเดียวที่ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย4

ไม่มีใครรู้ว่า แผนการของผู้นำญี่ปุ่นครั้งนี้สำเร็จหรือไม่ เขาพยายามโน้มน้าวอินโดนีเซีย จะเห็นได้ว่า มีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีคิชิดะเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในโอกาสนั้น เขาเดินทางไปอินเดียและกัมพูชา แล้วพยายามโน้มน้าวทั้งอินเดียและกัมพูชา แต่ไม่สำเร็จ อินเดียไม่เห็นด้วยกับรัสเซียที่บุกยูเครนและใช้ความรุนแรง แต่อินเดียก็ไม่ประณามรัสเซีย แล้วยังสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียด้วย

ส่วนกัมพูชา แม้กัมพูชาใกล้ชิดกับจีนมาก แล้วจีนรักษาระยะห่างทั้งไม่คัดค้านและไม่สนับสนุนการบุกยูเครนของรัสเซีย ส่วนกัมพูชาผูกพันกับรัสเซียทางการค้าและการทหาร และความมั่นคงระดับหนึ่ง

แต่รัสเซียแนบแน่นกับเวียดนามทั้งด้านความมั่นคงและการทหาร รัสเซียยังได้รับผลเสียหายหากจีนก้าวร้าวโดยสกัดกั้นการร่วมลงทุนสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซของบริษัทต่างชาติในทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐวิสาหกิจพลังงานรัสเซียร่วมลงทุนกับรัฐวิสาหกิจของทหารเวียดนาม แล้วกลับมาอยู่ในมือบริษัทจีน

ดังนั้น กัมพูชาจึงมีระยะห่างจากรัสเซียพอสมควร แล้วไม่ได้ดำเนินการประนามหรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย

ส่วนญี่ปุ่นได้ร่วมคว่ำบาตรรัสเซียทั้งในฐานะสมาชิกกลุ่ม G 7 ทั้งยังมีเหตุผลและการเคลื่อนไหวช่วงรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอาเบะที่ร่วมประชุมกับทางการรัสเซียเรื่องปัญหาหมู่เกาะทางเหนือที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วดูเหมือนมีความคืบหน้า แต่ในที่สุดรัสเซียยกเลิกการประชุมร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ล่าสุด ญี่ปุ่นเปลี่ยนจุดยืน ในความขัดแย้งด้านพรมแดนกับรัสเซีย ที่ยาวนานหลายทศวรรษ ยืนยัน 4 เกาะทางเหนือของญี่ปุ่นที่ถูกยึดโดยรัสเซีย “ยึดครองโดยผิดกฎหมาย”5 แล้วสงครามยูเครนก็แทรกซ้อนขึ้นมา

 

ก่อนบ่ายหน้าสู่ไทย

การเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ช่วยสร้างเสริมสถานะทางการเมืองที่ย่ำแย่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา ผู้นำไทยระดับต่างๆ ไปเยือนญี่ปุ่นหลายคณะด้วยโจทย์เก่าๆ เช่น ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของไทยและอาเซียน ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยกำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ขณะนี้

เรื่องเล่าเก่าๆ ที่รัฐบาลไทยหลายชุดชื่นชอบได้แก่ ความสัมพันธ์ยาวนานระหว่างญี่ปุ่นกับไทย เช่นกัน ปีนี้ความสัมพันธ์ไทยและญี่ปุ่นครบรอบ 135 ปี คงหยิบมาปัดฝุ่นเอามาประชาสัมพันธ์กันบ้าง

ความจริงปีนี้ ไทยมีความสำคัญมากในเวทีระหว่างประเทศ เพราะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC เดิมเวทีนี้ถูกจัดวางให้เป็น ประชาสัมพันธ์ทางการเมืองเพื่อยืดอายุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้างว่าต้องเป็นเจ้าภาพจัดงาน แต่ด้วยพรรคพลังประชารัฐแตกแล้วแตกอีก โดยเฉพาะแนวโน้มการเมือง สลับตำแหน่งผู้นำรัฐบาล อาจช่วยให้รัฐบาลของ 3 ป.อยู่รอด จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเป็นบวก อย่างน้อยเพื่อการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ดังนั้น ไม่ควรเสียเวลาล็อบบี้ไทยเรื่องรัสเซีย ผู้นำไทยขี้เกรงใจ แค่มาเยือนไทย พวกเขาก็ชื่นใจ ยิ้มได้ตามสมควร

1Sheila A. Smith, “The Road Ahead for Japan’s New Prime Minister,” Council on Foreign Affairs’ 5 October 3021. :1-2.

2Angie Teo and Stanley Widanto, “Russia’s Putin gets Chinese backing to stay G 20” Reuter, 23 March 2022.

3Ibid.,

4อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ “สงคราม-ยูเครนในอาเซียน” มติชนสุดสัปดาห์, 22-28 เมษายน 2565 : 80.

5คำนี้ปรากฏใน Blue Book เอกสารรายงานนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่นประจำปี เผยแพร่ 22 เมษายน 2022 อ้างจาก “Japan shifts to hard line stance on territorial dispute with Russia”, Kyodo News, 22 April 2022.