เมื่อโลกแยกขั้ว : จีนกับรัสเซียเผชิญหน้ามะกันกับยุโรปตะวันตก/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

เมื่อโลกแยกขั้ว

: จีนกับรัสเซียเผชิญหน้ามะกันกับยุโรปตะวันตก

 

สงครามยูเครนจะทำให้เกิดการแบ่งโลกเป็นสองขั้วทางด้านเศรษฐกิจและทหารหรือไม่ เป็นหัวใจที่ถกแถลงกันอย่างกว้างขวางในวันนี้

ขั้วหนึ่งคือรัสเซียกับจีน

อีกซีกหนึ่งคือสหรัฐกับยุโรปตะวันตกหรือ NATO

โอกาสของการทำสงครามระดับโลกอาจจะไม่ได้อยู่ในลำดับที่ “เป็นไปไม่ได้” เหมือนที่เคยเชื่อกัน

นักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ระดับโลกกำลังเสนอว่าเราต้องเริ่ม “คิดในสิ่งที่ไม่เคยกล้าคิด” หรือ Thinking the Unthinkable

ฉากทัศน์แห่งสงครามระดับโลกอันมีสาเหตุจากสงครามยูเครนจึงกำลังกลายเป็น “รูปการณ์” ที่จะทิ้งลงตะกร้าไม่ได้อีกต่อไป

รัสเซียมีงบประมาณทางทหาร ใช้จ่ายด้านการทหารสูงสุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐ และจีน

และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

แต่ไม่ได้ยกระดับด้านสร้างแสนยานุภาพทางทหารเพียงคนเดียว

ในทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียสามารถขอความช่วยเหลือจากจีนได้

สองประเทศพันธมิตรมีพลังรวมกันมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เต็มใจยอมรับ

เมื่อรัสเซียบุกแหลมไครเมียเมื่อปี 2014 จีนสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้โดยปริยายด้วยการงดออกเสียงในสหประชาชาติ

และเมื่อมีการคว่ำบาตรใหม่ของสหภาพยุโรปต่อรัสเซีย ปักกิ่งแสดงจุดยืนว่าการคว่ำบาตรเพิ่มเติม “อาจนำไปสู่ปัจจัยใหม่และซับซ้อนมากขึ้น” ในยูเครน

มองลึกลงไป รัสเซียและจีนร่วมมือกันตามแนวเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การทหาร และการเมือง

เรียกได้ว่าเกือบครบทุกมิติ

แถลงการณ์ร่วมระหว่างสี จิ้นผิง กับปูติน ก่อนรัสเซียบุกยูเครนไม่กี่สัปดาห์ระบุว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศ “ไร้ข้อจำกัด”

วลีนี้เป็น “นวัตกรรม” ของภาษาทางการทูตในยุคนี้ที่ต้องการจะเน้นย้ำถึงความเหนียวแน่นแห่งความสัมพันธ์

แรงจูงใจสำหรับการเน้นว่าความร่วมมือของสองชาติไร้ขีดจำกัดนั้นน่าจะต้องการพุ่งเป้าไปที่ประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ…ที่กำลังรวมหัวกันคว่ำบาตรมอสโกรอบใหม่เพราะกรณีบุกยูเครน

 

ตัวอย่างของพันธมิตรจีน-รัสเซียมีอยู่มากมาย

การลงนามในข้อตกลงก๊าซธรรมชาติระยะเวลา 30 ปีมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์ระหว่างจีนและรัสเซีย ถือเป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ

“โครงการนี้จะเป็นโครงการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยปราศจากการพูดเกินจริง” ปูตินกล่าวในเซี่ยงไฮ้ ขณะที่เขายกแก้วเพื่อดื่มอวยพรกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน

ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลง รัสเซียจะจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับจีนเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือก๊าซ 38 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ผ่านท่อและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่นๆ

ในด้านการทหารทั้งสองประเทศร่วมมือกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

กองทัพเรือรัสเซียและจีนได้จัดให้มีการฝึกซ้อมร่วมกันขนาดใหญ่ในทะเลจีนตะวันออก

เป็นการส่งสัญญาณให้ญี่ปุ่นที่มีความตึงเครียดกับปักกิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มอสโกและปักกิ่งประสานกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้นเพราะตระหนักถึงความได้เปรียบในการทำงานร่วมกันเพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐ

และสร้างพื้นที่มากขึ้นในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ

กระทรวงกลาโหมจีนและรัสเซียพยายามปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีโดยการติดตามและให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยในระยะยาวและครอบคลุมถึงการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น

ด้านทะเล, อากาศ, อวกาศ, ไซเบอร์, สงครามอิเล็กทรอนิกส์และความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อตอบโต้ข้อได้เปรียบทางทหารของสหรัฐแบบดั้งเดิม

เพนตากอนเคยเตือนว่าสักวันหนึ่งสหรัฐอาจเผชิญกับ “เพิร์ลฮาร์เบอร์” ทางไซเบอร์ที่อยู่ในมือของจีนและรัสเซียที่ “มีความสามารถทางไซเบอร์ขั้นสูง” ได้

 

เพราะทั้งคู่กลายเป็นคู่กรณีของโลกตะวันตก จีนและรัสเซียจึงกระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้นตลอดเวลา

แต่ในฐานะคู่ค้าและ “มิตรในยามยาก” ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ย่อมนำมาซึ่ง “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตั้งแต่รัสเซียกลายเป็นเหยื่อของมาตรการคว่ำบาตรจากฝั่งตะวันตกรอบแล้วรอบเล่าอันเกิดจากการรุกรานยูเครน การค้าระหว่างจีนและรัสเซียทั้งหมดพุ่งขึ้น 35.9% ในปี 2021 ที่ผ่านมาสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 147.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลศุลกากรของจีน

โดยรัสเซียเป็นแหล่งน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน และสินค้าเกษตรรายใหญ่ และเกินดุลการค้ากับจีน

นับตั้งแต่มีการคว่ำบาตรในปี 2014 หลังจากรัสเซียผนวกดินแดนไครเมียของยูเครน การค้าทวิภาคีได้ขยายตัวมากกว่า 50%

และจีนกลายเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย

ทั้งสองประเทศตั้งเป้าที่จะเพิ่มการค้ารวมเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2024 หรือจากนี้ไปอีกเพียงสองปี

แต่ตามเป้าหมายใหม่ที่ตกลงกันระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งของปูตินในงานโอลิมปิกฤดูหนาวก่อนที่รัสเซียเปิด “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ต่อยูเครน ทั้งสองฝ่ายต้องการให้การค้าทวิภาคีเติบโตเป็น 250,000 ล้านดอลลาร์

นั่นย่อมแปลว่าทั้งปูตินและสี จิ้นผิง ได้พูดคุยกันถึงฉากทัศน์ที่โจ ไบเดน จะเดินหน้าปลุกกระแสต่อต้านรัสเซียอย่างรุนแรงเพียงใด

 

ควรสังเกตว่าปูตันกับสี จิ้นผิง มี “เคมีสอดคล้องกัน” มาก สะท้อนถึงความคุ้นเคยในลักษณะนิสัยและวิธีคิดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

ดังที่เห็นได้จากภาษาทางการในการประชุมและปฏิสัมพันธ์ส่วนตัวในงาน St. Petersburg International Economic Forum ปี 2018

เช่น เรื่องเล่าขานว่าปูตินขับกล่อมสี จิ้นผิง ด้วยการเล่นเปียโนระหว่างการสังสรรค์ส่วนตัวเพื่อกระชับมิตรไมตรีต่อกัน

เพราะทั้งสองมีศัตรูร่วม

และมีเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่จะบรรลุได้ก็ด้วยการเกื้อหนุนของกันและกันในโลกที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทุกวัน

สหรัฐพยายามจะแยกจีนออกจากรัสเซีย…เพราะต้องการจะเตือนว่าหากปักกิ่งยังขืน “อุ้ม” มอสโกต่อไปในการทำสงครามยูเครน จีนก็ต้องประเมิน “โอกาส” กับ “ความเสี่ยง” ให้จงหนัก

หนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญคือการที่จีนจะถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรไปด้วย

รัฐมนตรีคลังสหรัฐเจเน็ต เจเลน บอกว่าหลายประเทศรวมทั้งจีนยังคงนิ่งเฉยกับคำเรียกร้องจากตะวันตกให้ร่วมกันกดดันรัสเซียให้ยุติการรุกรานยูเครน

เหมือนเธอจะเตือนว่าใครที่ “นั่งบนภู ดูเสือกัดกัน” นั้นบางทีอาจเห็นโอกาสที่จะได้กำไรจากการรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซียและเติมเต็มช่องว่างที่คนอื่นทิ้งไว้

แต่เธอบอกว่าความคิดเช่นนี้เป็นความคิดแบบ “สายตาสั้น”

รัฐมนตรีคลังสหรัฐบอกว่า “อนาคตของระเบียบระหว่างประเทศของเรา ทั้งเพื่อความมั่นคงโดยสันติและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ กำลังตกอยู่ในอันตราย”

เธอย้ำว่าฝ่ายพันธมิตรตะวันตกยังมีความเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียว

“เราจะไม่เฉยเมยต่อการกระทำที่บ่อนทำลายการคว่ำบาตรที่เราได้วางไว้”

รัฐมนตรีคลังสหรัฐบอกว่าอเมริกาจำเป็นต้องทำงานอย่างหนักกับจีนเพื่อหลีกเลี่ยงระบบการเงินโลกสองขั้วที่บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยกับประเทศที่เผด็จการ

เธออ้างว่าจีนได้รับประโยชน์จากสถาปัตยกรรมทางการเงินที่นำโดยสหรัฐ

แต่การที่จีนใช้พึ่งพารัฐวิสาหกิจและแนวปฏิบัติทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อประโยชน์แห่งตนทำให้กระทบผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติสหรัฐ ในด้านต่างๆ มากขึ้นอีก

ท้ายที่สุดจีนจะฟังคำเตือนจากอเมริกา หรือจะยิ่งกระชับความสนิทสนมกับรัสเซียย่อมเห็นได้ชัดขึ้นทุกวัน!