นายกฯ คนนอก อุดหู แต่ยิ่งได้ยิน/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

นายกฯ คนนอก

อุดหู แต่ยิ่งได้ยิน

 

คําว่า “นายกฯ สำรอง” คำว่า “นายกฯ ขัดตาทัพ” คนที่จุดพลุขึ้นมาให้เปรี้ยงปร้าง

คือ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ’35 ที่ออกมาแสดงความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ในวาระครบรอบ 30 ปี เหตุการพฤษภาคม 2535

ที่ระบุว่า การเมืองไทยถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดสภาพความเป็นผู้นำประเทศไปแล้ว อยู่ในอำนาจมา 8 ปี มีแต่ทำให้ประเทศถอยหลังแทบทุกด้าน

พร้อมเสนอว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของพี่น้อง 3 ป. ผู้ผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นทางออก

“ในสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่มีบุคคลใดที่จะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้ มีแต่ลุงป้อมเท่านั้นที่เป็นบุคคลมากด้วยบารมี ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงจากอำนาจได้ และหากลุงป้อมเป็นนายกฯ เอง น้องตู่ก็หมดกังวลใจว่าจะไม่มีใครตามเช็กบิล แต่ถ้าลุงป้อมไม่กล้าเป็นนายกฯ แทน ก็คงต้องร่วมรับผลกรรมที่น้องตู่ทำไว้กับบ้านเมืองทุกประการ” นายอดุลย์ระบุ

นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า นายกฯ สำรอง และผู้ที่ถูกระบุถึงคือ พล.อ.ประวิตรนั่นเอง

 

น่าสังเกตว่า การออกโรงครั้งนี้ นายอดุลย์ยังฝากความหวังไว้กับพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มีชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค กับ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค อย่างสูงว่า หากพรรคเศรษฐกิจไทยมาร่วมสร้างความสามัคคีปรองดองให้กับคนในชาติ นำบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นประชาธิปไตย จะเกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อชาติบ้านเมือง

และน่าสังเกตต่อไปด้วยว่า หลังจากนั้น ดูจะบังเอิญเมื่อ ร.อ.ธรรมนัสก็ได้ออกมาพูดเรื่องนายกรัฐมนตรีสำรองเช่นกัน โดยกล่าวถึง พล.อ.ประวิตร ว่า “หากถาม (พล.อ.ประวิตร) สามารถเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ ความจริงท่านก็เป็นได้ตลอดเวลา แต่ทุกอย่างอยู่ที่ตัวท่าน”

ส่วนที่นายอดุลย์เสนอให้ พล.อ.ประวิตรมาเป็นนายกฯ เพื่อแก้วิกฤตนั้น ร.อ.ธรรมนัสบอกว่า นายอดุลย์คงมีความคิดที่อยากให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์และเดินหน้าแก้ไขปัญหาในทุกๆ เรื่อง ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี

โดยกรณีที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเกิดอุบัติเหตุการเมืองในสภาขึ้นนั้น ร.อ.ธรรมนัสบอกว่า ในความคิดเห็นของตน คงใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขในสถานการณ์นี้ได้

ซึ่งการมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 ที่ ร.อ.ธรรมนัสระบุถึงนั้น ก็คือ “นายกฯ คนนอก” นั่นเอง

 

การเอ่ยอ้างที่ระบุลงถึงระดับมาตราของ ร.อ.ธรรมนัสนี้ ทำให้ถูกมองว่าไม่ใช่เป็นการบังเอิญหรือหลุดปากธรรมดา

หากแต่น่าจะผ่านการศึกษามาก่อน จึงสามารถขานมาตราลงในรายละเอียดได้

และ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ก็กล่าวสนับสนุน ร.อ.ธรรมนัส ที่เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง ให้มีนายกฯ คนนอก ว่าเป็นไปได้ ด้วยแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีอยู่คนไม่ศรัทธา คนไม่เอาก็ไม่เอา จึงต้องหาคนที่ประชาชนต้องการ ที่ทำเพื่อประชาชน

“ผมไม่ได้มองใคร ผมมองแค่ พล.อ.ประวิตร ท่านมีความเหมาะสม ที่สามารถจะช่วยประเทศได้ในเวลานี้ เพราะท่านทำงานมาตลอด ก็น่าจะรู้ดีว่าทำอย่างไร”

ท่าทีเชียร์ข้ามพรรคไปถึง พล.อ.ประวิตร ที่สอดคล้องกันเช่นนี้ ทำให้เรื่องนายกฯ คนนอก นายกฯ สำรอง นายกฯ ขัดตาทัพ จึงถูกจับตาว่าไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญ

หากแต่น่าจะผ่านการเตรียมการมาก่อนอย่างน่าสังเกต

จึงทำให้เรื่องนี้ร้อนระอุ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวนำเรื่องนายกฯ สำรองไปถาม พล.อ.ประยุทธ์

ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์เดิน “อุดหู” ขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า

เหมือนไม่อยากฟัง ไม่อยากรับรู้ ในกรณีนี้

และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปกระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปรากฏว่าในงานนี้ พล.อ.ประวิตรได้มาร่วมงานด้วย และ พล.อ.ประวิตรโชว์เดินเกาะไหล่ พล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางสายตาของสื่อมวลชน

ซึ่งแม้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรจะไม่ได้กล่าวอะไร

แต่ภาพการเดินเกาะไหล่ ก็เหมือนเป็นการบอกอีกครั้งและอีกครั้งว่า พี่น้อง 2 ป.ยังกลมเกลียว ถึงกระแสนายกฯ สำรองจะกระหึ่มก็ตาม

ประกอบพรรคเศรษฐกิจไทย โดยนายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล รองโฆษกพรรค ก็ได้พยายามลดโทนโดยชี้แจงแทน พล.อ.วิชญ์ ว่า ไม่มีแนวความคิดขัดขวางการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งจับมือกับฝ่ายค้าน พรรคเล็กเพื่อโค่นล้มรัฐบาลแต่อย่างใด ข่าวต่างๆ ที่ออกมานั้น เป็นความเห็นของส่วนบุคคล พรรคเศรษฐกิจไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“ยืนยันว่าพรรคจะไม่ไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการตามที่มีข่าวออกมา อีกทั้งไม่ได้สนับสนุนเรื่องนายกฯ คนนอก ซึ่งพรรคจะมุ่งเน้นทำหน้าที่ในการส่งเสริมแนวทางตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น” นายคมสันระบุ

 

นอกจากพรรคเศรษฐกิจไทยจะพยายามบอกว่า ไม่ได้สนับสนุนเรื่องนายกฯ คนนอกแล้ว

มือกฎหมายของรัฐบาลคือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังออกมาพูดถึงนายกฯ สำรอง ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องผ่านขั้นตอนอีกมาก

โดยเฉพาะหากนายกฯ คนปัจจุบันต้องออกด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น ต้องพ้นจากตำแหน่งกรณีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี

ขั้นตอนแรกก็ต้องมีนายกรัฐมนตรีรักษาการก่อน

ซึ่งก็เป็นไปตามลำดับที่เรียงไว้ คนแรกคือ พล.อ.ประวิตร และคนที่สองคือตน

จากนั้นเป็นหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะต้องจัดประชุมรัฐสภาให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายใน 3-7 วัน ตามบัญชีที่มีอยู่

ซึ่งประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

โดยคงจะมีคนลุกขึ้นมาเสนอชื่อ 2-3 คนและมีการลงมติแข่งกัน ใครคะแนนสูงสุดก็ว่ากันไป

หากเลือกกันไม่ได้ ต้องไปใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง เพื่อเปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยต้องมีผู้เสนอคือ ส.ส. 250 คนเสนอว่า ให้ล้มบัญชีที่มี และเอาบัญชีใหม่ และประธานรัฐสภาก็เรียกประชุมรัฐสภา โดยรัฐสภาต้องมีมติ 500 เสียงจาก 750 เสียง เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่เมื่อเห็นชอบก็จะต้องมี ส.ส. 50 คน เสนอชื่อผู้จะเป็นนายกฯ และประชุมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อโหวตทั้งรัฐสภา ว่าจะเอาชื่อไหน

 

พิจารณาตามนี้ นายกฯ สำรอง จึงซับซ้อนและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปถึง

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ดูจะไม่อยากรับฟัง

จึงเดินอุดหู เมื่อถูกถามกรณีนี้

แต่ก็มีคำถามว่าเอาเข้าจริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจ “ไม่ได้ยิน” ได้หรือไม่

ซึ่งดูแล้วคงยากอย่างยิ่ง เพราะถึงจะอุดหูอย่างไร เสียงเขย่าเก้าอี้ก็เสียดเข้าหูจนได้

จะบอกว่าไม่ได้ยิน หรือไม่รับรู้ ก็คงยากจะเชื่อ

ยากจะเชื่อ เหมือนกับการกอด การเกาะไหล่ ระหว่างพี่น้อง 2 ป. ที่แม้จะจงใจส่งสัญญะว่าพี่น้องยังรักใคร่กลมเกลียวกัน

แต่ก็จะสยบ หรือกลบเกลื่อนกระแสการแตกร้าวระหว่างกันไม่ได้

เพราะแนวโน้มต่างคนต่างเดิน ได้มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็กำลังเข้าสู่สมรภูมิการเมืองอันร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การต้องผลักดัน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 ให้ผ่านสภา ที่คงต้องคุมเสียงรัฐบาลอย่างเข้มงวดมิให้พ่ายแพ้ในการโหวต

จากนั้นต้องไปสู้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และต่อเนื่องไปถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องถูกตีความเรื่องการอยู่ในวาระเกิน 8 ปี

ล้วนเป็น “ด่าน” ขวางกั้นเส้นทางแห่งอำนาจ อันมากด้วยความอ่อนไหว ว่าอาจจะเกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์กับ พล.อ.ประยุทธ์

ถึงขนาดเกิดกระแสข่าวลือมีขบวนการซื้อเสียง ส.ส.ในสภาเพื่อล้มเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในวงเงินตั้งแต่ 5 ล้านบาท-30 ล้านบาท

ซึ่งแม้ไร้หลักฐานและไม่น่าเชื่อถือ

แต่ก็ทำให้บรรยากาศอึมครึมด้วยข่าวลือ ข่าวปลอม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และยังบั่นเซาะความมั่นคงไปเรื่อยๆ

ดังที่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวในเชิงขู่ไว้ว่า “ตอนนี้ต้องพูดว่า มือที่มองไม่เห็นมันเยอะ สภายังไม่เปิดก็ยังไม่รู้ และเดี๋ยวสภาเปิดก็จะรู้ เพราะตอนนี้ทุกคนต่างซ่อนมีดไว้ข้างหลังตัวเองหมด จึงยังไม่รู้อะไรเป็นอะไร”

 

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนอยู่บนความไม่แน่นอนเพิ่มยิ่งขึ้นทุกทีนั้น

เวลาเดียวกัน พล.อ.ประวิตรกลับมี “โอกาส” และมี “ช่องทาง” ก้าวขึ้นเป็น “ตัวแทน” มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการ

และจากนั้น ก็อาจเป็นอย่างที่ ร.อ.ธรรมนัสเสนอ นั่นคือใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2

เปิดทางสำหรับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ซึ่งก็มีการขานชื่อว่า พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด

และเสียงนี้นับวันจะดังขึ้นๆ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะอุดหู ไม่ฟัง ไม่รับรู้

แต่ก็คงไม่อาจป้องกันไม่ให้ได้ยินเสียงชู พล.อ.ประวิตรเขย่าฐานอำนาจได้

ตรงกันข้าม นับวันเสียงนั้นยิ่งจะดังเสียดแทงเข้าไปในโสตประสาทของ พล.อ.ประยุทธ์มากขึ้นทุกที!