ชญาเนศวร : ต้นสายนักบุญแห่งพระวิโฐพา / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ชญาเนศวร

: ต้นสายนักบุญแห่งพระวิโฐพา

 

ผมได้เคยกล่าวถึงสิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์ฮินดูอย่างไทยมานานแล้ว ซึ่งอาจกล่าวโดยรวมว่า สิ่งที่ขาดหายไปอย่างสำคัญคือมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์ เช่น ความรัก ความอาลัยโหยหา ความอ่อนน้อม ฯลฯ เพราะเราเลือกเอาบางส่วนของศาสนาพราหณ์ฮินดูมาใช้เพื่อเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำ

ศาสนาพราหมณ์ ฮินดูที่ถูกกล่าวถึงในบ้านเราจึงแบนมากๆ ราวกับมีเพียงด้านของความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งดูงมงายไร้เหตุผลและตอกย้ำความสูงต่ำทางชนชั้นเท่านั้น ส่วนพุทธศาสนาก็ถูกนำเสนอว่าดีงามกว่าในทุกๆ ด้าน

ทว่า ดังที่ผมได้เสนอไปหลายครั้งว่า ศาสนาฮินดูมีมิติที่น่าสนใจอีกหลายประการ เช่น มิติด้านเหตุผลที่ลึกซึ้งซับซ้อนถึงกับปรากฏเป็นสำนักทางตรรกวิทยาหรือวิชาที่ว่าด้วยเหตุผล คือ สำนักนยายะ นักการศาสนาฮินดูหลายคนเองได้รับการยกย่องว่ามีผลงานที่ใช้เหตุผลอย่างดีเยี่ยมอย่างที่คนรุ่นหลังก็ทำตามได้ยาก เช่น ท่านอาทิศังกราจารย์

ส่วนมิติที่น่าสนใจอีกสองอย่าง คือมิติด้านการปฏิรูปตนเอง ทั้งในแง่อารมณ์ความรู้สึกจากที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ความรักภักดีที่เรียบง่ายต่อพระเจ้าและสรรพสัตว์ หรือในแง่การปฏิรูปความคิดด้านชนชั้น และมิติของอารมณ์ความรู้สึกอันรุ่มรวยที่ขับเน้นโดยกวีนิพนธ์และวัฒนธรรมด้านดนตรี

ผู้ที่ทำให้เกิดมิติสองอย่างหลัง คือบรรดานักบุญทั้งหลายในศาสนาฮินดู ซึ่งทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ขบวนการภักติโดยเฉพาะในสมัยกลางของอินเดีย ขบวนการเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในหลายภูมิภาค ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียซึ่งผมกำลังกล่าวถึง มักเรียกกันว่า ขบวนการภักติในแคว้นมหาราษฎร์

ในคราวที่ผ่านๆ มา ผมได้เล่าถึงความเคลื่อนไหวของขบวนการภักติในแคว้นมหาราษฎร์ ผ่านการเล่าถึงนิกายวารกรี และเทพเจ้าวิโฐพา รวมถึงได้กล่าวถึงนักบุญของพระวิโฐพาไว้พอสังเขป

มาวันนี้จึงอยากจะทยอยเล่าถึงชีวิตนักบุญที่น่าสนใจในนิกายวารกรี และถ้ายังนึกสนุกก็อาจเล่าไปถึงนักบุญในภูมิภาคอื่นๆ ของอินเดียด้วย

ถือว่าผมนำส่วนที่ขาดหรือเราอาจยังไม่ได้รับรู้มากนัก ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญมากๆ ของศาสนาฮินดูมาเสนอแก่ท่านผู้อ่านครับ

 

นักบุญที่อาจถือว่าเป็นบรมครู หรือเป็นต้นสายของเหล่านักบุญแห่งวารกรีคือท่าน ชญานเนศวร (Jnaneshvara) หรือชญานเทวะ (Jnanadeva) ซึ่งคนมาราฐีมักออกเสียงว่า Dyaneshvara หรือเรียกว่า มาอุลี (Mauli) ซึ่งแปลว่า “แม่ผู้ห่วงใย” ตามวิถีชาววารกรีที่ใช้เรียกสิ่งเคารพรัก

ท่านชญานเทวะ เกิดในปี ค.ศ.1275 ในแคว้นมหาราษฎร์ นับว่าเป็นนักบุญในช่วงต้นยุคกลาง มีพี่น้องซึ่งชาวมาราฐีต่างนับถือว่าเป็นนักบุญทั้งหมด ได้แก่ ท่านนิวฤตนาถเป็นพี่ชายคนโตและเป็นคุรุของท่านด้วย ท่านชญาเนศวรเป็นคนรอง น้องชายโสปานและน้องสาวคนสุดท้องคือมุกตาพาอี (ออกเสียงว่า ไบ พาอีเป็นคำต่อท้ายนามสตรี ใช้ในหลายภูมิภาค ในภาษามาราฐีเป็นคำแสดงความเคารพ)

ก่อนท่านจะกำเนิด เกิดเรื่องราวที่กลายเป็นปมปัญหาที่สำคัญที่สุดในชีวิตท่าน บิดาของท่านเป็นพราหมณ์นามว่า วิฐฐละหรือวิฐฐลปัณฑะจากตระกูลกุลกรณี ส่วนมารดาชื่อรขุมาพาอี

ทั้งคู่แต่งงานกันมานานแต่ไม่มีบุตร บิดาของท่านจึงได้เดินทางไปยังพาราณสีแล้วออกบวชเป็นสันยาสี โดยเป็นศิษย์ของราม ศรมา ซึ่งเป็นคุรุในสาย “นาถ” (เป็นกลุ่มนักบวชเร่ร่อนที่เน้นปฏิบัติสมาธิภาวนาและเป็นสายลึกลับสายหนึ่ง)

เมื่อคุรุทราบว่าวิฐฐลาออกบวชโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภรรยา ท่านจึงมีคำสั่งให้วิฐฐลากลับไปยังบ้านเดิมแล้วใช้ชีวิตคู่กับภรรยาต่อไปแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องผิดธรรมเนียมอย่างร้ายแรง เนื่องจากเท่ากับสั่งให้พระกลับไปใช้ชีวิตฆราวาส (สันยาสีบวชแล้วสึกไม่ได้)

รขุมาได้ตั้งครรภ์และคลอดบุตรทั้งสี่คน เมื่อถึงเวลาที่เด็กชายทั้งสามจะต้องเข้าพิธีอุปนยนะสวมสายยัชโญปวีตตามขนบพราหมณ์เพื่อจะได้เริ่มต้นศึกษาพระเวท สภาของพวกพราหมณ์ในถิ่นนั้นไม่ยอมทำพิธีให้เพราะเห็นว่า ลูกของสันยาสีเป็นคนที่เกิดจากการละเมิดข้อห้าม เด็กๆ จึงถูกปฏิเสธ

เท่ากับพวกเขาถูกขับออกจากวรรณะพราหมณ์ไปโดยปริยาย

ความทุกข์ใจที่ลูกๆ ไม่ได้รับการยอมรับ วิฐฐลาเชื่อว่าเป็นเพราะบาปของตนกับภรรยา ทั้งคู่จึงฆ่าตัวตายในแม่น้ำอินทรยาณี บางตำนานก็ว่าเป็นเงื่อนไขที่พวกพราหมณ์หยิบยื่นให้เพื่อให้เด็กๆ ได้รับการศึกษา หรือใช้ชีวิตโดยได้ไม่ถูกรังเกียจ

 

หลังจากสิ้นบิดามารดา เด็กๆ ทั้งหมดได้ออกบวชในสายนาถเช่นเดียวกัน กลายเป็นสันยาสีเด็กเร่ร่อนจาริก ชญานเทวะได้พบกับนามเทพ นักบุญอีกองค์ซึ่งเป็นศูทร ทั้งคู่ได้จาริกไปยังที่ต่างๆ ด้วยกัน

ท่านชญานเทวะ มีอายุเพียง 21 ปี ก็เข้าสู่สัญชีวันสมาธิ (ตายตามแบบโยคี คือเข้าไปยังที่บรรจุศพเพื่อทำสมาธิสุดท้ายในขณะยังมีลมหายใจอยู่แล้วปิดที่บรรจุศพนั้น) ณ เมืองอาลันที ซึ่งได้กลายเป็นที่แสวงบุญของวารกรีในภายหลัง

ความรักภักดีต่อพระวิโฐพา ปัญญารอบรู้ในข้อธรรมชั้นสูง ความเมตตา รวมถึงสมาธิโยคะปฏิบัติอันเข้มงวด ทำให้พี่น้องทั้งสี่เป็นที่เคารพในหมู่ชาวบ้าน

ท่านชญาเนศวรได้แต่งหนังสือสำคัญสองเล่ม คือ “ชญาเนศวรี” หรือภาวรถทีปิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาของคัมภีร์ “ภควัทคีตา” ในภาษามาราฐี แต่เดิมภควัทคีตาเป็นสันสกฤตซึ่งชาวบ้านไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ปัจจุบันชญาเนศวรียังคงเป็นหนังสือที่ชาวมาราฐีเคารพอย่างสูง และเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านวิโนพา ภาเว ศิษย์คนสำคัญของมหาตมะคานธี แต่ง “คีตาอี” หรือ ภควัทคีตาฉบับสมบูรณ์ในภาษามาราฐี ขณะที่ท่านถูกจำคุกด้วย

อีกเล่มคือ “อมฤตานุภาวะ” หรืออนุภาวามฤติ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยหลักปรัชญาจากอุปนิษัท และประสบการณ์ของท่านเองเกี่ยวโยคะและสมาธิ

ทว่า งานประพันธ์ของท่านที่แพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน คือบทกวีชนิด “อภังคะ” จำนวนมากมายหลายร้อยบท ซึ่งล้วนแต่มีความไพเราะลึกซึ้งกินใจ ว่าด้วยความรักภักดีที่มีต่อพระวิโฐพา ชาวบ้านต่างจดจำและยังคงขับขานกันมาจนถึงทุกวันนี้

ตามตำนานเล่าขานในหนังสือภักตะวิชัยของมหิปติ ซึ่งบรรจุเรื่องราวของนักบุญในภาคหนือไว้หลายท่าน ท่านชญาเนศวรได้แสดงปาฏิหาริย์มากมาย แต่ปาฏิหาริย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเรื่องสอนควายให้สวดพระเวท

ดังนี้

 

เมื่อท่านชญาเนศวรมีอายุได้สิบสองปี ได้เดินทางไปยังเมืองไปธานเพื่อขอให้พราหมณ์มอบความรู้ให้ ทว่า พราหมณ์ที่รู้ชาติกำเนิดของท่านก็เอาแต่เยาะเย้ย ในเวลาเดียวกันมีชายคนหนึ่งกำลังทุบตีควายแก่ๆ เพื่อใช้แรงงานอย่างหนัก ท่านชญาเนศวรจึงเข้าไปห้ามปรามด้วยความสงสาร

พราหมณ์เห็นเข้าจึงเสียดสีว่าทำไมถึงมามัวสนใจกับเรื่องสัตว์ชั้นต่ำ แทนที่จะสนใจเรื่องเรียนพระเวทดังที่กล่าวอ้าง ท่านชญาเนศวรจึงตอบไปว่า ในทัศนะของท่าน ไม่มีสัตว์ใดชั้นต่ำกว่าสัตว์อื่น เหตุเพราะทุกๆ ชีพล้วนเป็นการแสดงออกของ “พรหมัน” หรือความจริงสูงสุดทั้งสิ้น

พราหมณ์จึงกล่าวต่อไปว่า ถ้าพูดแบบนั้น ควายก็ย่อมไม่ต่างจากพราหมณ์ แปลว่าควายก็ย่อมมีความสามารถที่จะเรียนพระเวทเช่นเดียวกับพราหมณ์ด้วยนะสิ

ท่านชญานเทวะจึงวางมือบนหัวของควายตัวนั้น แล้วเริ่มสวดพระเวท ในเวลาไม่นานควายตัวนั้นก็ร้องออกมาเป็นเสียงสวดพระเวทด้วยเช่นกัน! พราหมณ์จึงก้มกราบขอขมาต่อท่านชญาเนศวรด้วยความตกใจ

 

แม้ตำนานนี้จะจริงหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ได้แสดงให้เห็นสองสิ่ง สิ่งแรกคือปรัชญาของท่านชญาเนศวรเน้นการไม่แบ่งแยกสรรพสิ่ง จากแนวคิดในอุปนิษัทที่แสดงว่าสรรพสิ่งคือการแสดงออกของพระเจ้า อันนำไปสู่การละเลิกความทระนงตนหรือถือตัวด้วยชนชั้นวรรณะ ซึ่งจะเป็นรากฐานของแนวคิดนิกายวารกรี

อย่างที่สองคือแนวคิดที่เน้นความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเพียงควายแก่ๆ ของคนแปลกหน้า

แม้ตามตำนาน ท่านชญาเนศวรจะมีชีวิตในโลกนี้สั้นมาก แต่รอยประทับได้ฝังลึกในใจอนุชนมาอีกหลายร้อยปีและได้ให้กำเนิดนักบุญอื่นๆ ที่พยายามจะเจริญรอยตามท่านอีกมาก

ซึ่งผมจะได้ทยอยเล่าต่อไป •