ต่างประเทศอินโดจีน : หมอตำแย

ย้อนหลังกลับไปเพียง 10 ปี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการคลอด (มาเทอร์นัล มอร์ทาลิตี) สูงที่สุดในโลก

มีเหตุผลมากมายอยู่เบื้องหลังสถิติน่าเศร้าดังกล่าวนั้น นอกเหนือจากการขาดแคลนทุกอย่าง ตั้งแต่ผู้ช่วยทำคลอดเรื่อยไปจนถึงแพทย์สูตินรีเวช ผู้ให้คำปรึกษา ดูแล ระหว่างการตั้งครรภ์

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปริมาณการเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ตลอดไปจนถึงช่วงการคลอดบุตรในแต่ละปีนั้น เปรียบเทียบแล้วสูงกว่า อัตราการตายเฉลี่ยรายปีที่เกิดจากสงครามเสียอีก

ที่เป็นตลกร้ายก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนระหว่างท้องและคลอดนั้น ไม่ได้ยากเย็นหรือแพงระยับเหมือนกับการทำหรือป้องกันสงครามด้วยอีกต่างหาก

“พยาบาลผดุงครรภ์” หรือที่ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า หมอตำแย คือคนที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์ เรื่อยไปจนถึงการทำคลอด ช่วยให้หมอจริงๆ มีเวลามากขึ้นในการจัดการแก้ปัญหาอื่นๆ

เคยมีงานวิจัยตีพิมพ์ใน “เดอะ ลานเซท” เมื่อปี 2014 ระบุเอาไว้ว่าทางการต้องเสียค่าใช้จ่ายเพียง 70,000 บาทเศษๆ เท่านั้นในการจัดหาบริการของพยาบาลผดุงครรภ์ให้สามารถช่วยชีวิตได้ 1 คน ถูกสตางค์กว่าการพัฒนาอาวุธสักชิ้นขึ้นมาไว้ฆ่ากันมากนัก

นั่นเป็นที่มาของโครงการฝึกอบรมพยาบาลผดุงครรภ์ในลาว ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2009 และถือว่าประสบผลสำเร็จ

เพราะถึงปี 2015 ลาวกลายเป็นเพียง 1 ใน 9 ประเทศทั่วโลกที่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่กำหนดให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากการคลอดจากระดับเมื่อปี 1990 ลงให้ได้ 75 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อยได้

 

รัฐบาลลาวพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้รุดหน้ามากขึ้น สามารถจัดตั้งศูนย์อนามัยขนาดเล็กๆ ให้กระจายออกไปในพื้นที่ชนบทได้มากขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือ กองทุนเพื่อประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟพีเอ) ให้เงินสนับสนุนทางการลาวจัดทำโครงการฝึกอบรมพยาบาลผดุงครรภ์ สามารถผลิตพยาบาลผดุงครรภ์ออกมาได้ถึง 1,700 คน เพื่อให้ไปประจำตามศูนย์อนามัยดังกล่าว

ตอนที่เริ่มต้นนั้น โครงการนี้ดังมาก เพราะนอกจากจะได้ศึกษาเล่าเรียนแล้ว ยังการันตีอีกด้วยว่า เรียนจบแล้วจะมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์

เคียนทอง ประสิด สมัครแข่งขันกับเขาด้วย มุ่งมั่นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติต่อเนื่อง 2 ปี ก็ถูกส่งมาประจำที่ โพนหมากไม้ อำเภอนอง จังหวัดสะหวันนะเขด ตอนกลางของประเทศ ไม่ห่างจากชายแดนเวียดนามมากมายนัก พื้นที่ส่วนนี้ถูกระเบิดถล่มอย่างหนักในช่วงสงครามเวียดนาม และตอนนี้ยังคงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนที่สุดของลาว

เมื่อได้ทำงานเข้าจริงๆ เคียนทอง ถึงได้รู้ว่ามีเหตุผลอีกไม่น้อยที่เป็นสาเหตุให้อัตราการเสียชีวิตจากการคลอดของลาวสูงได้ขนาดนั้น นอกเหนือจากการขาดแคลนบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว

นอกเหนือจากเรื่องเชื้อชาติ ประเพณี ภาษาถิ่นที่หลากหลายซึ่งเป็นอุปสรรคอยู่ก่อนแล้ว ยังมีอุปสรรคอีกมาก

 

หลายสัปดาห์แรกที่ทำงาน เธอไม่เจอคนท้องแม้แต่รายเดียวแม้จะออกเยี่ยมตามบ้านต่างๆ ในท้องที่แล้วก็เถอะ เพราะว่าไม่มีใครยอมปริปากบอกว่าท้อง กระทั่งรายหนึ่งเกิดคลอดยากขึ้นมาและต้องการความช่วยเหลือแล้วนั่นแหละ เคียนทองจึงได้รับการยอมรับมากขึ้น

ขนบธรรมเนียม ความเชื่อ ที่ฝังหัวมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ยากต่อการดูแล ให้คำปรึกษาเพื่อนร่วมชาติที่ตั้งครรภ์ ตัวอย่างเช่น ในบางพื้นที่แม่หญิงลาวที่ครรภ์แก่มักหลบออกจากบ้านเรือนไปคลอดในป่า เพื่อไม่ให้เป็นการ “รบกวนผีบ้านผีเฮือน” เป็นต้น

พิธีกรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เคียนทอง ประสิด จำได้ขึ้นใจว่า ญาติๆ แม่หญิงรายหนึ่งประกอบพิธีกรรมรับขวัญการคลอด 3 วัน 3 คืน จนผู้เป็นแม่ตกเลือดตายคาพิธี เพราะส่งตัวไปโรงพยาบาลไม่ได้

พยาบาลผดุงครรภ์ในลาว จึงต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ ทำความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมในเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมให้กับชาวบ้านไปด้วยนอกเหนือจากเรื่องการวางแผนครอบครัว สุขอนามัยแม่และเด็กแล้ว

 

10 ปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาพยาบาลผดุงครรภ์ในลาว แม้จะประสบความสำเร็จ กระนั้น ลาวก็ยังได้ชื่อว่าเป็นชาติอาเซียนที่มีอัตราการเสียชีวิตขณะคลอดของแม่และเด็กสูงสุดอยู่ดี

ยูเอ็นเอฟพีเอ เคยตั้งเป้าจะขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบทและพื้นที่สูงห่างไกลในประเทศให้ได้มากที่สุด แต่ยังจัดหางบประมาณมาไม่ได้

โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกตัดเงินอุดหนุนยูเอ็นเอฟพีเอ ก่อนใคร ด้วยเหตุผลว่าโครงการนี้ส่งเสริมการทำแท้ง ซึ่งในฐานะโรมันคาทอลิกเคร่งครัด ยอมรับไม่ได้

การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างการเกิดและการตายในลาวที่เคยถ่างกว้างออกมาได้ระดับหนึ่ง

อาจตกกลับลงไปหลงเหลือเพียงเส้นคั่นบางๆ อีกครั้ง