Right to be forgotten คำขอร้องเพื่อถูกลืม/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Delete Remove Trash Can Application Graphic

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Right to be forgotten

คำขอร้องเพื่อถูกลืม

 

เมื่อชีวิตของเราผูกพันกับอินเตอร์เน็ตไปในทุกแง่มุม ทั้งเรื่องงานไปจนถึงเรื่องส่วนตัวจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยหากข้อมูลส่วนตัวบางอย่างของเราอาจจะถูกเผยแพร่ออกไปบนโลกอินเตอร์เน็ตโดยที่เราไม่รู้ตัว

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นหากข้อมูลส่วนตัวที่ว่าไปปรากฏอยู่ในผลลัพธ์การค้นหาของ Google ด้วย ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่ข้อมูลของเราจะถูกหยิบฉวยไปใช้ให้กลับมาเป็นโทษต่อตัวเราเองได้

Right to be forgotten หรือสิทธิที่จะถูกลืมเป็นแนวคิดที่มีการพูดถึงและใช้จริงมานานหลายปีแล้ว

สิทธินี้หมายถึงการที่เจ้าของข้อมูลสามารถดำเนินเรื่องร้องขอให้มีการปลดข้อมูลส่วนตัวของตัวเองลงจากผลลัพธ์การค้นหาบนอินเตอร์เน็ตได้

ลองนึกดูว่าหากช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตเราเคยตัดสินใจผิดพลาด อาจจะด้วยความเยาว์ในช่วงเวลานั้นหรือการถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายให้เสียหายและมีหลักฐานปรากฏหราอยู่บนอินเตอร์เน็ต ทุกครั้งที่มีคนเสิร์ชชื่อเราซึ่งอาจจะเป็นนายจ้างขององค์กรที่เราไปยื่นใบสมัครงานไว้ หรือแม้กระทั่งคนที่เรากำลังจะไปออกเดตด้วย ผลลัพธ์การค้นหาที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวชีวิตที่น่าอายของเราก็จะปรากฏขึ้นมาให้คนเหล่านั้นได้เห็นก่อนที่พวกเขาจะได้สัมผัสถึงตัวตนที่แท้จริงของเราเสียด้วยซ้ำ

สิทธิที่จะถูกลืมคือการหยิบยื่นโอกาสในการลบอดีตอันน่าอายและไม่เป็นธรรมของเราทิ้งไปและทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่ต้องคอยหวาดระแวงอยู่เสมอ

การปลดข้อมูลที่เราต้องการลืมทิ้งไปไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถยื่นเรื่องเพื่อบังคับให้เว็บไซต์ต้นตอลบข้อมูลของเราทิ้งได้ แต่เป็นการขอให้เสิร์ชเอนจิ้นซึ่งรายใหญ่ที่สุดก็คือ Google ช่วยปลดลิงค์เหล่านั้นออกไม่ให้ปรากฏอยู่ในผลลัพธ์การค้นหาอีกต่อไป

ดังนั้น แม้เว็บไซต์ต้นทางจะยังอยู่ แต่เวลาใครค้นหาชื่อเรา ลิงค์นั้นก็จะไม่ปรากฏขึ้นมาให้คลิกเข้าไปดูได้อีกต่อไป

 

กรณีที่มีการหยิบยกสิทธิในการถูกลืมมาพูดถึงบ่อยๆ ก็อย่างเช่น สิ่งที่เรียกว่า revenge porn หรือการที่แฟนเก่านำภาพลับในตอนที่ยังคบกันออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนโดยไม่ได้รับการยินยอม สร้างความอับอายและเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับคนๆ นั้น สิทธิที่จะถูกลืมจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเหยื่อกลุ่มนี้ได้

อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิที่จะถูกลืมไม่ใช่เรื่องที่จะปฏิบัติจริงได้ง่ายเสมอไป และต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบเสรีภาพทางการแสดงออก ไม่ให้กลายเป็นเซ็นเซอร์ชิป หรือการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ และจะต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของสาธารณะด้วย

เพราะเรื่องบางเรื่องแม้จะเป็นเรื่องที่เจ้าตัวอยากให้ลบ แต่การมีอยู่ของเรื่องนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ในสังคม ก็อาจจะทำให้ไม่เข้าข่ายที่จะลบได้

ดังนั้น จะบังคับใช้ในกรณีไหนบ้างก็คงจะต้องอาศัยวิจารณญาณเป็นเรื่องๆ ไป และขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของแต่ละประเทศด้วย

 

Google ได้เปิดช่องทางให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตยื่นคำร้องขอให้ปลดข้อมูลส่วนตัวของตัวเองออกจากผลลัพธ์การค้นหาได้ โดยมีความเคลื่อนไหวล่าสุดก็คือ Google ได้เพิ่มหมวดหมู่ใหม่ๆ ของข้อมูลส่วนตัวที่ผู้ใช้งานอย่างเราจะยื่นคำร้องขอลบได้ โดยได้รวมถึงข้อมูลอย่างเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ด้วยแล้ว

Google บอกว่าบริษัทเข้าใจดีว่าข้อมูลการติดต่อส่วนตัวอย่างเบอร์โทรหรือที่อยู่ถือเป็นข้อมูลที่หากหลุดออกไปก็จะทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้ อาจจะได้รับการติดต่อในแบบที่เราไม่ต้องการ (สวัสดีค่ะ แก๊งคอลเซ็นเตอร์) หรือถ้าที่อยู่หลุดไป ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพทางร่างกายได้

นอกจากช่องทางการติดต่อส่วนตัวอย่างเบอร์โทรศัพท์ อีเมล และที่อยู่แล้ว ก็ยังมีข้อมูลส่วนตัวอีกหลายประเภทที่ Google จะยอมพิจารณาลบออกจากผลลัพธ์การค้นหา อย่างเช่น ข้อมูลเลขบัตรเครดิต เลขบัญชี ลายเซ็นของเราที่อาจจะถูกมิจฉาชีพสวมรอยได้ ข้อมูลล็อกอิน รหัสผ่าน ข้อมูลทางการแพทย์ ภาพวาบหวิวที่เราไม่สมยอม แม้กระทั่งภาพโป๊ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีดีพเฟกก็ถูกรวมเอาไว้ด้วยเหมือนกัน

หากคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในคนที่มีข้อมูลส่วนตัวหลุดรั่วออกไปบนอินเตอร์เน็ตที่สร้างความเสียหายให้กับตัวเองก็สามารถส่งเรื่องไปเพื่อขอให้ Google ช่วยลบลิงก์ไปยังเว็บไซต์เหล่านั้นได้ แต่จะต้องแนบหลักฐานต่างๆ ไปด้วยนะคะ Google เขาจะพิจารณาให้เป็นเคสๆ ไปเลย

 

การส่งคำขอให้ Google ลบลิงก์ออกจากผลลัพธ์การค้นหาก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยได้ แต่นอกจาก Google แล้วก็ยังมีความพยายามจากองค์กรอื่นๆ อีก อย่างเช่น บริษัท Mine จากอิสราเอลซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งโดยชาวอิสราเอล ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยให้ผู้ใช้งานได้เห็นว่าข้อมูลส่วนตัวของตัวเองถูกเก็บเอาไว้ที่ไหนบ้าง อย่างเช่น ข้อมูลส่วนตัวที่ร้านขายรองเท้าแอบเก็บเอาไว้โดยที่ไม่ได้บอกเรา ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ด้วยการสแกนหัวข้ออีเมลในกล่องอินบ็อกซ์ของเรา

เมื่อได้ผลลัพธ์ออกมาแล้วว่าบริษัทไหนมีข้อมูลของเราบ้าง เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป หากตัดสินใจว่าอยากให้บริษัทเหล่านั้นลบข้อมูลส่วนตัวของเราทิ้ง Mine ก็มีรูปแบบอีเมลพร้อมให้เราคลิกส่งเพื่อสั่งการให้บริษัทเหล่านั้นจัดการได้ทันที คล้ายๆ กับการขอใช้สิทธิที่จะถูกลืมเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก

Mine บอกว่าตอนนี้มีคนใช้งานแพลตฟอร์มของบริษัทแล้วราว 1 ล้านคนทั่วโลก และได้ส่งอีเมลคำขอลบข้อมูลไปแล้วมากกว่า 10 ล้านฉบับ

 

แม้ว่าขั้นตอนหลังจากการกดส่งอีเมลไปแล้วอาจจะไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เพราะบางบริษัทหรือบางองค์กรก็ไม่สามารถลบข้อมูลบางอย่างได้อย่างถูกกฎหมาย อย่างเช่น ข้อมูลในบล็อกเชนหรือธุรกรรมทางการเงินที่จะต้องนำไปใช้ในกระบวนการด้านภาษี อาจจะไม่สามารถทำได้ง่ายดายแค่ปลายนิ้วคลิกเหมือนกับที่บริษัทพูด แต่นี่ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ดีที่ทำให้คนตระหนักถึงสิทธินี้กันมากขึ้น

นอกจากเราจะได้รับรู้ถึงคุณค่า ความสำคัญ และสิทธิที่เรามีเหนือข้อมูลส่วนตัวของตัวเองแล้ว บริษัทและองค์กรต่างๆ ก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าการดำเนินนโยบายข้อมูลส่วนตัวที่โปร่งใสมีแต่จะส่งผลดีต่อบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากเราทุกคนใส่ใจกับเรื่องนี้มากขึ้น ก็จะเป็นการกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ระมัดระวังการเก็บข้อมูลมากขึ้น ในที่สุดก็จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของลูกค้า

ในช่วงชีวิตหนึ่งทุกคนก็คงมีโมเมนต์ที่อยากจะให้โลกใบนี้จดจำเราบ้าง แต่เรื่องของข้อมูลส่วนตัว บางทีการถูกลืมนี่แหละกลับกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด