หลังเลนส์ในดงลึก/”หยุด”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“หยุด”

“หยุดเขื่อน”!

นี่คือประโยคสำคัญที่ สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนๆ รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้โครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในลุ่มน้ำแม่กลองเกิดขึ้น

“คำว่า หยุด กับ ค้าน มีความแตกต่างกัน” วีรวัฒน์ ธีรประสาธน์ ทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในเวลานั้น (ปี พ.ศ.2530) และทำหน้าที่นี้อยู่ถึง 16 ปี อธิบายเพิ่มเติม

“หยุดคือหยุด ส่วนค้านเป็นกิจกรรมที่จะนำมาซึ่งเงื่อนไขอื่นๆ ตามมา เช่น หากค้านเขื่อนเพราะรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ดี เจ้าของโครงการก็จะนำรายงานกลับไปแก้ไขใหม่”

เขาย้ำว่า กรณีเขื่อนน้ำโจน ฝ่ายคัดค้านมีความชัดเจนว่า ต้องการคำว่า “หยุด” ในการแสดงออก

“Stop ไม่ใช่ No และไม่ได้หมายความถึงโครงการเขื่อนน้ำโจนเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ว่า ต้องหยุดทุกๆ เขื่อนที่จะสร้างในป่าอนุรักษ์ทั้งหมด”

ชายร่างเล็ก แกร่ง แววตามุ่งมั่น

พูดและยืนยันเช่นนี้ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว

ความแน่วแน่ของพวกเขา หยุดการสร้างเขื่อนน้ำโจนไว้ได้

ถ้าคนกลุ่มนี้หยุดไม่สำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้น

ส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จะจมอยู่ใต้น้ำ หลายสิ่งหลายอย่างจะหายไปอย่างไม่มีวันสร้างขึ้นได้ใหม่

และยังรวมถึงความสูญเสียในมิติอื่นๆ เกินกว่าจะประเมินค่าได้

สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ เสียพื้นที่ป่าไม้

ป่า ซึ่งในความเป็นจริงคือแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า

การสูญเสีย ย่อมไม่ได้เสียไปแค่ขนาดความจุของเขื่อน แต่ยังรวมถึงพื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำที่ถูกจัดสรรไว้เป็นบ้านพัก พื้นที่แนวส่งไฟฟ้า มีการประเมินไว้ว่า มูลค่าป่าไม้ที่สูญเสียทั้งสิ้น 550,081 ไร่

กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่จะสูญพันธุ์เมื่อมีการสร้างเขื่อน

ตัวอย่างอันชัดเจนคือพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี หลังการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์

สัตว์ป่าไม่สามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยังที่เหมาะสมตามฤดูกาลได้

ส่งผลให้ประชากรพวกมันลดลงในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากที่กระแสน้ำหยุดนิ่ง ออกซิเจนที่ลดลง แหล่งอาศัยหากิน วางไข่ สิ้นสภาพ ไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

หลายชนิดสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ชีวิตดั้งเดิมหายไป เหลือเพียงปลาไม่กี่ชนิดที่ถูกปล่อยลงไปให้เติบโตในแอ่งน้ำกว้าง

นอกจากพื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า

ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์

เช่น มีหลักฐานว่า เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ จนถึงยุคโลหะ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี ลพบุรี อยุธยา และรัตนโกสินทร์

มีการพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยเดียวกับมนุยษ์ปักกิ่ง และมนุยษ์ชวา

ในเวลานั้น แม้ว่าการศึกษาด้านโบราณคดีจะยังไม่เข้มข้นนัก แต่ก็พบทั้งถ้ำที่อยู่อาศัยในยุคก่อนประวัติศาสตร์

หลักฐานทางโบราณวัตถุในพื้นที่โครงการของเขื่อน ถ้ามีการสำรวจเพิ่มเติม คงพบหลักฐานมากขึ้น

และทั้งหมดจะกลายเป็นสิ่งลี้ลับ สาบสูญอยู่ใต้น้ำ

ภัยจากแผ่นดินไหว

เป็นอีกเรื่องที่กลุ่มคนที่ต้องการหยุดเขื่อนน้ำโจน นำมาพูดถึง

ลำน้ำแควใหญ่ตอนบนนั้น อยู่ในแนวแตกของหิน (Fault) ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวได้มาก

ไม่มีใครรับรองได้ว่าเขื่อนจะไม่พังเพราะแผ่นดินไหว

ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ คือส่วนหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อหยุดการสร้างเขื่อน

แต่ความจริงอันน่าหดหู่ ที่ สืบ นาคะเสถียร นำเข้าไปเสนอกับคณะกรรมการ

ความจริงที่ว่า สัตว์ป่าต้องพบกับชะตากรรมเช่นไรเมื่อแหล่งอาศัยของพวกมันถูกน้ำท่วม

เป็นความจริงสำคัญซึ่งทำให้การสร้างเขื่อนน้ำโจนหยุด

ในรายงานการอพยพสัตว์ป่าในอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

สืบเขียนไว้ในบทสรุปว่า

“ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรมตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าที่มนุยษ์มิอาจสร้างขึ้นมาได้”

ในงานเรื่องความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรกับการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน

สืบสรุปไว้ว่า

“จะเกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม พื้นที่ป่าที่ลุ่มไม่น้อยกว่า 140 ตารางกิโลเมตรของลุ่มน้ำแควใหญ่ตอนบนจะสูญหายไปอย่างแน่นอน แหล่งรวมทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์จะหมดสิ้นไป”

ปลายปี พ.ศ.2559

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

“เรือมาส่งได้ถึงแค่นี้ครับ” โบว์ ชายหนุ่มผิวขาว จากบ้านทุ่งเสือโทน พนักงานราชการ ตำแหน่งพิทักษ์ป่า บังคับเรือหางยาวลำเล็กเข้าชิดฝั่งด้านขวามือ

เราทวนลำน้ำแม่กลองจากบริเวณจุดที่น้ำจากแอ่งน้ำเอ่อขึ้นมาถึงราว 30 นาที

“ข้างหน้าเป็นแก่ง และจากแก่งนั้น อีกไม่ไกลก็ถึงน้ำโจนครับ”

ผมลงจากเรือ ช่วยขนสัมภาระขึ้นฝั่ง

“เดินขึ้นเขาไปสักสองชั่วโมง ก็ถึงที่จะพักแรมได้”

โบว์พูดพลางยกเป้ขึ้นสะพาย

เขาและน้องๆ อีก 3 คนจะไปส่งผมกับยิ่งบุญ ที่จะไปเฝ้ารอที่โป่งแห่งหนึ่ง

หลังจากไต่ขึ้นทางชัน โบว์พามาถึงที่ราบ เส้นทางค่อยไต่ลง เลาะไปตามห้วยสายเล็ก

เราเดินไปตามทางด่าน ย่ำทับไปบนรอยตีนกระทิง ซึ่งเดินล่วงหน้าไปเป็นฝูง

ริมลำห้วย ซึ่งมีสายน้ำไหลรินๆ มีที่ราบๆ พอให้เป็นแคมป์ค่อนข้างสบาย

“อีก 7 วัน ผมจะเอาเสบียงมาให้นะครับ” โบว์พูดก่อนจะกลับ

“ตรงนี้รับวิทยุไม่ได้ ถ้ามีอะไร ต้องขึ้นไปบนเขา จะรับเขาพระฤๅษีได้”

สถานีแม่ข่าย เขาพระฤๅษี คือ “ที่พึ่ง” ของคนทำงานในป่าทุ่งใหญ่

ผมกับยิ่งบุญผูกเปล จัดที่ทาง กางฟลายชีต

โป่ง ที่ตั้งใจมา อยู่ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร

เราไม่รู้หรอกว่าจะใช้เวลานานกี่วัน

เป็นเวลาเริ่มต้นรอ

หลายวันในป่า ไม่ไกลจากลำน้ำแม่กลอง

โป่งแห่งนั้นมีสัตว์ป่าแวะเวียนมาสม่ำเสมอ กวาง กระทิง และสัตว์ลึกลับอย่างสมเสร็จ

ที่ขนานไปกับลำห้วย คือร่องรอยเส้นทางเก่าๆ

ทางที่สร้างขึ้นมาจากแม่น้ำเพื่อสำรวจและชักลากไม้

หากโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนก่อสร้างจนสำเร็จ บริเวณนี้ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกไม่พ้น แม้ว่าจะอยู่ใต้เขื่อน ไม่ใช่บริเวณที่น้ำจะท่วม

คํ่าวันหนึ่ง เรากลับถึงแคมป์

ผมหยิบกล้องออกมาจากเป้ เปิดและกดดูภาพที่บันทึกไว้เมื่อตอนเย็น

เป็นภาพสมเสร็จตัวหนึ่งกินน้ำในโป่งด้วยท่าทีสบายๆ

ที่นี่ไม่ใช่ที่ปราศจากร่องรอยคน

การทำงานมายาวนานบอกผมอย่างหนึ่ง

ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใด ทุกที่มีคนมาล่วงหน้าแล้ว

เช่นเดียวกับสิ่งที่เราคิดว่าได้ทำในสิ่งใหม่ๆ

แท้จริงไม่ใช่สิ่งใหม่อะไรเลย มีคนทำมาแล้วทั้งนั้น

อาจมีเพียงเครื่องมือเท่านั้นที่เปลี่ยนไป

สมเสร็จตัวหนึ่ง

ทำให้ผมรู้ว่า หากคำว่า “หยุด” ที่คนกลุ่มหนึ่งนำมาใช้ไม่ได้ผล

เผ่าพันธุ์ของพวกมันที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อาจสูญสิ้นไปหมดแล้ว

30 ปีผ่านไป

การพยายามสร้างเขื่อนในผืนป่าอนุรักษ์ยังมีอยู่

ผู้คนส่วนหนึ่งยังไม่ “หยุด” เพื่อจะได้มองเห็นความจริง…

หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก “สาส์นสืบ” ฉบับเดือนกันยายน 2560