วิกฤติศตวรรษที่21 : สถานการณ์ตลาดการเงินโลกในศตวรรษที่ 21

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (34) สถานการณ์ตลาดการเงินโลกในศตวรรษที่ 21

ตลาดการเงินเป็นตลาดที่ซื้อขายสินทรัพย์และหนี้สิน ได้แก่ หุ้น พันธบัตร เงินตรา และอนุพันธ์ต่างๆ ตลาดการเงินนั้น คิดเอาว่าจะต้องมีการตั้งราคาอย่างโปร่งใส มีกฎระเบียบควบคุมการซื้อขาย ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม โดยอาศัยอำนาจตลาดช่วยควบคุม มีในเกือบทุกประเทศทั่วโลก

มีการแบ่งประเภทละเอียด เช่น ตลาดทุนเป็นการลงทุนยาวเกินหนึ่งปี ส่วนตลาดเงินลงทุนยาวไม่เกินหนึ่งปี

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งตลาดการเงินออกเป็นตลาดแรกและตลาดรอง

โดยตลาดแรกเป็นตลาดที่ซื้อขายสินทรัพย์ที่ออกมาครั้งแรก โดยบริษัทที่ออกตราสารนั้นขายให้กับนักลงทุน

ตลาดรองเป็นการซื้อขายระหว่างนักลงทุนด้วยกัน และบางแห่งยังแบ่งให้มีถึงตลาดสาม ตลาดสี่ ซึ่งเป็นการซื้อขายระหว่างนายหน้า-ผู้ค้าหรือโบรกเกอร์-ดีลเลอร์และสถาบันใหญ่โดยผ่านการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over the Counter) ที่มีการควบคุมน้อยกว่า และเจรจาต่อรองกันได้ มีปริมาณการซื้อขายมากเพื่อไม่ให้กระทบดัชนีราคาหุ้นและนักลงทุนทั่วไป (ในประเทศไทยตลาดสามและสี่รวมอยู่ในตลาดรอง)

ในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 21 ดร.วิลเลียม เอฟ.ดุยเซนเบิร์ก ประธานธนาคารกลางยุโรปคนแรก (ดำรงตำแหน่ง 1998-2003) ได้กล่าวปราศรัยในงานฉลองครบรอบ 75 ปีของธนาคารแห่งเม็กซิโก สรุปพัฒนาการและแนวโน้มของตลาดการเงินโลกอย่างน่าสนใจว่า

1) มีการเชื่อมกันของการเงินโลกในกระบวนโลกาภิวัตน์

2) มีปรากฏการณ์การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) มากขึ้น เป็นการนำสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่น หนี้สินบริษัทที่ขาด สภาพคล่อง ที่ดิน เครื่องจักร มาแปรให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงขึ้น โดยผ่านการควบรวมและซื้อกิจการ หรือการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทหนึ่งเพื่อว่าจะได้มีสิทธิในการบริหารในบริษัทนั้น นอกจากนี้ ยังผ่านการออกพันธบัตรซึ่งพบว่าบรรษัทต่างๆ ได้ออกพันธบัตรมากขึ้นทั้งในเขตยูโรและสหรัฐ

3) เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วไป โดยเฉพาะหลักทรัพย์ในกลุ่มอินเตอร์เน็ตหรือกิจการโทรคมนาคมที่เรียกกันว่า “หุ้นเทคโนโลยี” ราคาหุ้นเหล่านี้พุ่งขึ้นสูงมาก ในช่วงปลายปี 1999 จนถึงต้นปี 2000 แต่เมื่อถึงปลายปี 2000 มูลค่าในตลาดได้ลดลงเป็นอันมาก

4) การเกิดขึ้นของสกุลเงินยูโร ทำให้ตลาดพันธบัตรหรือตลาดหนี้ในสกุลเงินยูโรขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 1999 พันธบัตรที่ออกแต่ละครั้งก็มีขนาดใหญ่ขึ้นมากด้วย การออกหุ้นใหม่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน สหภาพยุโรปได้เป็นผู้แสดงสำคัญในตลาดการเงินโลกยิ่งขึ้น

5) การขยายตัวของตลาดอนุพันธ์ที่เกิดจากการพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมทางการเงินที่คิดสร้างอนุพันธ์ที่กว้างขวางหลากหลายขึ้น และการจัดการความเสี่ยงที่มีการซื้อขายหน้าเคาน์เตอร์ ตลาดซื้อขายตราสารทุนและหนี้ เป็นเหมือนตลาดสดขายส่ง มีการต่อรองหรือประมูลราคากันได้ ทำให้ตลาดซื้อขายหน้าเคาน์เตอร์ เช่น แนสแด็กซ์ของสหรัฐใหญ่ขึ้นมาก

(ดูคำปราศรัยของ Dr. Willem F. Duisenberg ชื่อ Recent developments and trends in world financial markets ใน ecb.europa.eu 14.11.2000)

ในปาฐกถาของ ดร.ดุยเซนเบิร์ก เป็นการมองโลกด้วยความหวังตามสถานการณ์ที่สหภาพยุโรปกำลังขยายตัวไปในยุโรปตะวันออก เงินยูโรมีอนาคตที่สดใส มีการลงทุนใหม่และโอกาสทางการเงินใหม่

แต่สิ่งที่เขามองเห็นและกล่าวถึงหลายประการ ได้พลิกผันไปในด้านลบอย่างคาดไม่ถึง

ได้แก่

(ก) การเชื่อมกันของการเงินโลกในกระบวนโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดยุคธุรกรรมการเงินอยู่เหนือภาคการผลิตที่แท้จริง ตลาดการเงินไม่ได้ผูกกับเศรษฐกิจที่เป็นจริง เข้าสู่การเก็งกำไร ก่อฟองสบู่และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ข) ฟองสบู่หุ้นเทคโนโลยีแตกที่กล่าวถึงนั้น เป็นการเตือนถึงความเปราะบางและความเสี่ยงสูงในตลาดการเงินโลก ฟองสบู่ที่แตกใหญ่กว่านั้นก็ตามมา เป็นฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐที่พองใหญ่ขึ้นด้วยเครื่องมือการเงิน การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การออกพันธบัตรและการขายตราสารอนุพันธ์หน้าเคาน์เตอร์ระหว่างนายหน้าและผู้ค้าด้วยกัน วิกฤติเศรษฐกิจ 2008 กระทบถึงสถาบันการเงินใหญ่ ได้แก่ ธนาคาร วาณิชธนกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึงบริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดของสหรัฐ บ้างล้มละลาย บ้างเจียนอยู่เจียนไป ต้องอาศัยการค้ำจุนจากรัฐบาลและธนาคารกลาง

ค) การขยายตัวของตลาดการเงินประเภทตลาดพันธบัตรและตลาดอนุพันธ์ด้วยหลายเหตุปัจจัยนั้น มีด้านที่ช่วยให้เกิดการลงทุนและโอกาสทางการเงิน แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มปริมาณหนี้และความเปราะบางของการเงินโลกอย่างยิ่ง เช่น ตลาดอนุพันธ์มีส่วนสำคัญต่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในสหรัฐปี 2008

ในด้านฟองสบู่พันธบัตร อแลน กรีนสแปนด์ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐผู้โด่งดัง ได้จุดพลุเกี่ยวกับ ฟองสบู่พันธบัตรขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้สัมภาษณ์เตือนว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในปัจจุบันต่ำมาก และไม่อาจดำเนินเช่นนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งก็ก่อผลกระทบรุนแรงมาก เมื่อการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำสิ้นสุดลง ฟองสบู่พันธบัตรแตก มันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งตัวไม่ทันและรุนแรงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งเหวเสียอีก กรีนสแปนยังกล่าวว่า นักลงทุนจำนวนมากมีความเริงร่าอย่างไร้เหตุผลเกี่ยวกับตลาดพันธบัตร (ดูบทความของ Jeff Cox ชื่อ Greenspan : Bond bubble about to brake because of “abnormally low” interest rates ใน cnbc.com 04.08.2017) แน่นอนว่าทัศนะของเขาถูกรุมปฏิเสธจากนักวิเคราะห์และนักลงทุนทั้งหลาย

สำหรับตลาดอนุพันธ์นั้น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลกชาวสหรัฐได้ย้ำเตือนว่า ขนาดตลาดที่ใหญ่มากของอนุพันธ์มีอันตรายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ เป็นเหมือน “อาวุธทำลายล้างสูง”

(ดูบทความของ Marion Dakers ชื่อ Warren Buffett issues a fresh warning about derivatives “timebomb” ใน telegraph.co.uk 01.05.2016)

การแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ 2008

ที่ไม่เป็นผลของธนาคารกลางโลก

ช่วงปลายปี 2007 ที่สัญญาณวิกฤติการเงินใหญ่ปรากฏชัด ธนาคารกลางสหรัฐได้ร่วมมือกับธนาคารกลางในกลุ่ม 7 ได้แก่ ธนาคารกลางสหภาพยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น ในการผลิตเงินปริมาณมหาศาล ป้อนให้แก่ระบบธนาคารเอกชน ด้วยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ซึ่งด้านหนึ่งเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำใกล้ร้อยละ 0 และอีกด้านหนึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ

ประมาณว่าจนถึงปี 2017 ปริมาณเงินที่ธนาคารกลางหลักทั้งสามพิมพ์ออกมาใช้สูงถึงราว 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างฟองสบู่ทางการเงินขึ้น

งบดุลของธนาคารกลางเหล่านี้โป่งพองอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันสูงถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์

แต่เงินที่ทุ่มสู่ตลาดนั้นไม่ได้ช่วยภาคการผลิตหรือเศรษฐกิจที่แท้จริงมากนัก เกือบทั้งหมดถูกเก็บตุนไว้ในสถาบันการเงิน

ผู้ชนะสำคัญในมาตรการนี้คือธนาคารใหญ่ที่สุดหกแห่งในสหรัฐ ได้แก่ ธนาคารเจพีมอร์แกนเชส, ธนาคารแห่งอเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก, กลุ่มธนาคารซิตี้, โกลด์แมน แซกส์, มอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งหลังจากเริ่มยืนติดแล้ว ก็เริ่มใช้เงินซื้อคืนหุ้นของตน ตามแผนว่าจะเป็นมูลค่าถึง 92.8 พันล้านดอลลาร์

เป็นการสร้างดัชนีราคาหุ้นเทียมขึ้นในดัชนีแนสแดกซ์อันเป็นตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ของสหรัฐ

หน่วยงานรัฐที่ดูแลค้ำประกันเงินฝากของประชาชนในธนาคารประเมินว่า ในปี 2017 ธนาคารสหรัฐใช้รายได้สุทธิของตนถึงร้อยละ 99 เพื่อซื้อหุ้นของตนคืน และจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น

ผลของการสมรู้ร่วมคิดของธนาคารกลางโลกดังกล่าว ถึงปี 2017 ปรากฏว่าระดับหนี้ของโลกพุ่งสูงเป็นร้อยละ 325 หรือคิดเป็นตัวเงินราว 217 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับยอดงบดุลของสามธนาคารใหญ่ที่สูง 14 ล้านล้านดอลลาร์นั้นคิดเป็นราวร้อยละ 17 ของจีดีพีโลก

ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจนี้ ปรากฏว่าสินทรัพย์เช่นเงินเข้ารหัส (Crypto currency) มีบิตคอยน์ เป็นต้น และทองคำ เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากความหวาดเกรงของผู้คนว่าจะเกิดวิกฤติการเงินการธนาคารขึ้นมาอีก

อนึ่ง ปัจจุบันพบว่าธนาคารกลางโลกสามแห่งเริ่มเดินทางแยกกัน โดยธนาคารกลางสหภาพยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางอังกฤษยังคงซื้อสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องในมูลค่า 200 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐมีแผนที่จะขายทรัพย์สินของตนออก พร้อมกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

(ดูบทความของ Niomi Prins ชื่อ A decade of G7 central bank collusion – and counting… ใน niomiprins.com 29.07.2017)

จากสงครามเงินตราสู่สงครามการค้า

ที่เรียกว่าสงครามเงินตรา สงครามการเงินและสงครามเศรษฐกิจเป็นสงครามจริง ไม่ใช่สงครามแบบอุปมา นั่นคือมีการจัดตั้งวอร์รูมและสร้างเกมสงครามขึ้นจริงๆ ใต้การอำนวยการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

ขั้นตอนมีง่ายๆ ได้แก่

ก) การประมวลรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเงินในที่ต่างๆ มูลค่าเงินตรา การค้าและดุลการค้า รายตัวสินค้า บริษัททั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้า

ข) การออกแบบเกมสงคราม ซึ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในทุกด้านที่เกี่ยวข้องในด้านการเงิน ได้แก่ ผู้ที่ศึกษาภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ และผู้ปฏิบัติการประจำวัน เป็นต้น

การออกแบบนี้จะแบ่งประเทศและผู้เกี่ยวข้องเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายธรรมะคือสหรัฐ กับฝ่ายชั่วร้ายที่เป็นอริกับสหรัฐ มีอิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย

ค) การเล่น มีผู้เล่นเป็นตัวแทนของประเทศในเกมสงคราม เช่น ผู้เล่นสหรัฐลงมือทำอย่างหนึ่ง ผู้เล่นรัสเซียก็ลงมือตอบโต้อย่างหนึ่ง ผลได้ก็จะนำมาสร้างเป็นเกมสงครามในทางปฏิบัติ

ผู้มีประสบการณ์ตรงในการเข้าร่วมพัฒนาเกมสงครามเงินตราผู้หนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐในปี 2009 ได้แก่ เจมส์ ริกการ์ดส์ เขาเป็นนักเขียนและนักวิเคราะห์ทางการเงินที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ เรียนทางด้านกฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เข้าทำงานเป็นที่ปรึกษาในสถาบันการเงินวอลสตรีตกว่า 35 ปี รวมทั้งมีประสบการณ์ตรงในการกอบกู้กองทุนลอง-เทอม แคปิตัล แมเนจเมนต์

ในช่วงปี 1998 เป็นนักเขียนและนักวิเคราะห์ทางการเงินที่มีชื่อเสียง

หนังสือเด่นของเขาได้แก่ “สงครามเงินตรา” (Currency Wars : The Making of the Next Global Crisis, 2011 ติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์) เล่าประสบการณ์ตรงของเขาในการเข้าร่วมการสร้างเกมสงครามการเงินกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

และชี้ให้เห็นจุดอ่อนของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถูกโจมตีจากหลายแหล่ง ได้แก่ การที่จีนกว้านซื้อทองคำ หรือชาติที่มีเงินดอลลาร์มากเช่นจีน ประเทศส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลาง ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เข้ามาซื้อหลักทรัพย์และหนี้ที่มั่นคงในสหรัฐได้แก่พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งในระยะยาวจะกัดกร่อนมูลค่าและความน่าเชื่อถือของเงินดอลลาร์

งานเขียนเล่มล่าสุดได้แก่ “หนทางสู่ความหายนะ” (The Road to Ruin : The Global Elites” Secret Plan for the Next Financial Crisis, 2016 ติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์)

ทัศนะของริกการ์ดส์เกี่ยวกับสงครามเงินตรา สงครามการค้า สรุปได้ดังนี้คือ

(1) สงครามเงินตราเกิดขึ้นในเงื่อนไขหนึ่งและจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะเกิดการปฏิรูปในระบบหรือระบบล่มสลาย เงื่อนไขดังกล่าวคือเกิดภาระ หนี้มากและอัตราการเติบโตต่ำ อัตราการว่างงานสูง ประเทศต่างๆ พยายามขโมยการเติบโตจากคู่ค้าของตน โดยทำให้ค่าเงินของตนต่ำ เป็นการส่งเสริมการส่งออก และสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก หลังจากสงครามเงินตราดำเนินไปพักหนึ่งก็จะยกระดับสู่สงครามการค้า

(2) สงครามการค้า ประกอบด้วยการตั้งกำแพงภาษีศุลกากร การอุดหนุนการส่งออก และการตั้งกำแพงทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เช่น อ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม การทำลายสิทธิมนุษย์ สุขภาพ และการเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนา เป็นต้น

(3) ทั้งสงครามเงินตราและสงครามการค้า ล้วนแต่มีผลด้านลบมาก เป็นการเล่นเกมแบบผลรวมเป็นศูนย์ คือมีผู้แพ้และผู้ชนะ กระทั่งผลรวมติดลบ ทุกคนเป็นผู้แพ้ แม้ปรากฏว่าในระยะใกล้ดูเหมือนมีผู้ชนะจากการลดค่าเงินของตน แต่ในไม่ช้าชาติอื่นก็จะลดค่าเงินของตนบ้าง การตั้งกำแพงภาษีก็เช่นเดียวกัน ประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษี ก็จะตั้งกำแพงภาษีโต้ตอบ ในระยะยาวแล้วทุกประเทศแย่ลง และในอดีตก้าวสู่สงครามใช้กำลังไฟ

(4) สงครามการเงินเกิดครั้งหลังสุดในปี 2010 เมื่อรัฐบาลโอบามาดำเนินนโยบายส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว เมื่อถึงครึ่งหลังของปี 2011 เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ชาติต่างๆ ก็ตอบโต้จนเกิดสถานการณ์ค่าเงินสำคัญอ่อนตัวทั้งโลก นั่นคือเกิด “ดอลลาร์อ่อน” “ยูโรอ่อน” “เยนอ่อน” ในช่วงหลังปี 2012

(5) สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันเข้าสู่ภาวะสงครามการค้าแล้ว เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามใช้กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาด้วยคะแนนท่วมท้นที่จะแซงก์ชั่นรัสเซีย จากนี้คาดหมายว่าสงครามการค้าจะขยายตัวสู่การทำสงครามการค้ากับจีน ทวีความรุนแรงจนก้าวสู่สงครามไซเบอร์ เป็นต้น

เยอรมนีก็จำต้องเข้ามาร่วมสงครามนี้ด้วย

(ดูบทความของ James Rickards ชื่อ Now a Trade War – Is a Shooting War Next? ใน dailyreckoning.com 07.08.2017)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามเงินตราในทัศนะของนักยุทธศาสตร์ชาติจีน