นางนาค พระทอง ‘หญิงมีอำนาจเหนือชาย’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

นางนาค พระทอง เป็นตำนานกำเนิดบ้านเมืองสมัยแรกรับวัฒนธรรมอินเดียบริเวณโตนเลสาบและแม่น้ำโขงในกัมพูชา แล้วแพร่หลายอยู่ในราชสำนักอยุธยาด้วย

นางนาค เป็นธิดาพญานาค สัญลักษณ์หญิงพื้นเมืองสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ (พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร)

พระทอง เป็นเจ้าชายเชื้อสายจาม (พูดตระกูลภาษาชวา-มลายู)

แต่งงานนางนาคกับพระทอง เมื่อส่งตัวเข้าหอในพิธีแต่งงาน นางนาคเดินนำหน้า ส่วนพระทองจับชายสไบนางนาคเดินตามหลัง สะท้อนสังคมดึกดำบรรพ์หญิงมีอำนาจเหนือชาย

เพลงมโหรี ให้ความสําคัญเป็นพิเศษเรื่องทําขวัญแต่งงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสังวาสของคนทุกชั้น นางนาคกับพระทอง เป็นเพลงคู่กันใช้บรรเลงพิธีแต่งงานยุคอยุธยา

ขวัญ เป็นความเชื่อทางศาสนาผีของคนทุกเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์ มีจํานวนต่างๆ กันในคน, พืช, สัตว์, สิ่งของ, สถานที่ ขวัญในคนมีมากถึง 80 (ตรงข้ามกับวิญญาณในศาสนาพุทธและพราหมณ์ มีดวงเดียวเฉพาะในคนเท่านั้น)

เพลงนางนาค เนื้อร้องพรรณนาความงามของหญิง ในที่นี้คือเจ้าสาวจะเข้าพิธีแต่งงาน

ในพิธีทําขวัญ เพลงนางนาคใช้เป็นเพลงแรก (ซึ่งต่างจากพิธีอื่นๆ ต้องเริ่มด้วยเพลงสาธุการ) ทั้งนี้เพราะทําขวัญเป็นพิธีในศาสนาผี ซึ่งมีในอุษาคเนย์ก่อนการมาถึงของพุทธและพราหมณ์ (ทําขวัญ เป็นพิธีกรรมสําคัญอย่างยิ่งของคนแต่ก่อน ต้องทําทุกครั้งจะเริ่มงาน เช่น แต่งงาน ต้องเริ่มด้วยทําขวัญ, บวช ก็เริ่มด้วยทําขวัญนาค ฯลฯ)

เพลงพระทอง เนื้อร้องพรรณนารูปร่างหน้าตาพระทองงามเหมือนรูปปั้นหล่อด้วยทองสําริด ซึ่งเป็นขนบการชมรูปร่างหน้าตา มีคําเก่าว่า “งามตะละปั้น” (คือ เหมือนรูปปั้นหล่อ) หรือ “งามดังแกล้ง” (คือ แกล้งเกลา แปลว่า ประณีตประดิดประดอย)

เนื้อหาเป็นเรื่องในตํานานบรรพชนเขมร จึงไม่ใช่เรื่องรูปปั้นสําริดที่เจ้าสามพระยา (ยุคต้นอยุธยา) ขนกลับอยุธยาหลังตีได้เมืองนครธม (ปัจจุบันพม่าขนไปหลังตีอยุธยา) ซึ่งมีรูปโคนนทิ กับรูปพระอีศวร (พระศิวะ) ที่นิทานเขมรเรียกพระโค พระแก้ว ไม่ใช่พระทอง

บทร้องเพลงคู่พระทอง พรรณนาการร่ำลาอาลัยอาวรณ์หลังเสพสังวาส ฝ่ายหญิง (คือ นางนาค) เปิดเผยความต้องการทางเพศออดอ้อนพระทอง

นางนาค เป็นตัวแทนหญิงพื้นเมือง ส่วนพระทอง เป็นตัวแทนชายต่างชาติ มีวัฒนธรรมก้าวหน้ากว่ามาทางทะเล เป็นตํานานกําเนิดวงศ์กษัตริย์กัมพูชาและอาณาจักรกัมพูชา อยู่ในราชพงศาวดารกัมพูชา แล้วยังพบเค้ามูลในเอกสารจีนกับจารึกต่างๆ

แนวดนตรี เพลงนางนาคกับเพลงพระทองมีหลายสำนวน เช่น สำนวนดนตรีเขมร, สำนวนดนตรีลาว, สำนวนดนตรีไทย ซึ่งเหมือนกันก็มี ต่างกันก็มี โดยเฉพาะสำนวนดนตรีเขมรมีซับซ้อนหลากหลาย แต่ผมเข้าไม่ถึง

เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เคยบอกนานหลายปีแล้ว (ก่อนถึงแก่กรรม) ว่าเพลงนางนาคใช้หน้าทับปรบไก่ เป็นลักษณะพื้นเมือง ส่วนเพลงพระทองใช้หน้าทับแขกมลายู เข้ากับจามพูดตระกูลภาษามลายู [หน้าทับ หมายถึงจังหวะตีกลองกำกับทำนองบรรเลงดนตรี]

การเรียนการสอนดนตรีไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ผูกติดประวัติศาสตร์ไทยชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ที่ด้อยค่าเพื่อนบ้าน เลยผูกนิทานขึ้นเองอย่างเลื่อนลอย และกลวงโบ๋ จึงไม่รู้จักหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเรื่องนางนาคและพระทอง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในต้นตอรากเหง้าของบ้านเมืองใหญ่บนสุวรรณภูมิ ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย •

 

กัมพูชาเปิดตัว “รูปปั้นทองแดงยักษ์”
ผู้ก่อตั้ง “อาณาจักรฟูนัน” โบราณ

(แฟ้มภาพซินหัว : พระสงฆ์ร่วมพิธีเปิดตัวรูปปั้นพระทองและนางนาคในจังหวัดพระสีหนุ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา วันที่ 16 เมษายน 2022)
(แฟ้มภาพซินหัว : สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (ขวา) และภริยา ร่วมพิธีเปิดตัวรูปปั้นพระทองและนางนาคในจังหวัดพระสีหนุ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา วันที่ 16 เมษายน 2022)

พนมเปญ, 17 เมษายน (ซินหัว) – เมื่อวันเสาร์ (16 เมษายน) สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดตัวรูปปั้น “พระทองและนางนาค” ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักรฟูนันโบราณในตำนาน บริเวณวงเวียนแห่งหนึ่งในเขตไพรนบ จังหวัดสีหนุ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

รูปปั้นทองแดงดังกล่าวหันหน้าสู่ทะเล มีน้ำหนัก 60 ตัน สูงตระหง่าน 21 เมตร และยืนอยู่บนบัลลังก์สูง 6.34 เมตร บอกเล่าเหตุการณ์ขณะพระทองและนางนาคเดินทางไปพบพ่อแม่ที่วังพญานาคใต้ท้องทะเลลึก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดแผ่นดิน วัฒนธรรม อารยธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีกัมพูชา

ฮุนเซนกล่าวผ่านรายการสดทางโทรทัศน์แห่งชาติกัมพูชา (TVK) ว่า รูปปั้นนี้มีความสมบูรณ์แบบ สะท้อนเอกลักษณ์ของกัมพูชา โดยไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการถือกำเนิดแผ่นดิน ทว่ายังเป็นผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดใจด้วย

ไล รัศมี ปลัดกระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง และการก่อสร้างของกัมพูชา กล่าวว่า รูปปั้นข้างต้นออกแบบโดยสถาปนิกกัมพูชา และหล่อขึ้นที่โรงงานทองแดงในจีน เนื่องจากกัมพูชาไม่มีโรงงานขนาดใหญ่พอที่จะหลอมทองแดงสำหรับรูปปั้นขนาดใหญ่เท่านี้

อนึ่ง จังหวัดพระสีหนุอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญของกัมพูชาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 230 กิโลเมตร •