รุ้งพระจันทร์ / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

รุ้งพระจันทร์ (Moonbow)/Reddit

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

รุ้งพระจันทร์

 

ช่วงเขียนแผ่นดินเชียงราย ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2533-2 มกราคม 2534 ได้เขียนไว้สี่เรื่องสี่สถานที่ตามลำดับ คือ

ล่องแพแม่กก กราบพระธาตดอยตุง สามเหลี่ยมทองคำ แม่สาย

น้ำแม่กกนั้นเริ่มจาก อ.ชัยปราการ ไหลมาลงน้ำโขงที่เมืองเชียงราย ตรงข้ามอีกฟากโขงคือเมืองสุวรรณโคมคำของลาว ที่มีตำนานเรื่องเล่าถึงความผูกพันระหว่างผู้คนกับลำน้ำโขงตรึงใจนัก

จำเพาะน้ำกกที่คณะเขียนแผ่นดินล่องแพข้ามคืนข้ามวันมานี้ก็มีตำนาน

เลื่อนโล้โยนกนาคนคร

เลื้อยรินดินดอนดำเริงผา

ปราดปรายดั่งเป็นแต่ปางมา

แบ่งมหาอาณาจักรจำแลงลง

เป็นตำนานร่วมระหว่างโยนกนาคนครกับสุวรรณโคมคำนั่นเอง

โบราณไม่แบ่งประเทศด้วยสายน้ำสองฟากโขงจึงเป็นแผ่นปฐพีเดียวกัน แม่น้ำก็คือซูเปอร์ไฮเวย์ใช้เป็นทางสัญจรไปมาแม้จนวันนี้

 

กราบพระธาตุดอยตุง ขึ้นโคลงบทต้น ดังนี้

ปู่เจ้าลาวจกตั้ง ดอยตุง

ดอยปู่ดอยย่าพยุง อยู่เหย้า

ดอยทาท่าอำรุง พื้นราบ

ดอยสบดอยสามเส้า พระธาตุสร้างเป็นศรี ฯ

คำว่า “ตุง” คือ “ธง” ของทางเหนือจึงเขียนบอกไว้ คือ

สมัยเมื่อพระเสาะสร้าง ศรีสถาน

ธงพระพันวาพาน พาดพริ้ง

กำหนดเขตเอาฬาร โดยรอบ

แสงพระกลอกฟ้ากลิ้ง สว่างด้าวดอยสวรรค์ ฯ

 

เขียนแผ่นดินบทท้ายคือ แม่สายที่อำเภอแม่สายเหนือสุดสยาม หลากล้วนเรื่องราวของแผ่นน้ำแผ่นดิน

ขุนน้ำคือนาคควักรอย ขุดควักดินดอย

เป็นด่านเป็นแดนดึกดำบรรพ์

ขุนดอยคือสิงหนวัน หนวัติผาดผัน

เพื่อขุนต่อขุนต่อคาม

ต่อคนต่อฝั่งยังยาม โยนกนาคนาม

ลุ่มน้ำละว้ามหานที

คือน้ำแม่สายแม่ศรี แม่สร้างบุรี

บุราณบุรมรักษาฯ

น้ำโขงนั้นตำนานว่า นาคสองตัวคือ ศรีศตนาคกับนหุตนาคช่วยกัน “ขุดควักดินดอย” เป็นลำน้ำโขงล่องไหลร่วมสองฝั่งไทย-ลาวตลอดจึงเรียกอาณาจักรนี้ว่า “ศรีศตนาคนหุต”

คำแปลคือ “ล้านช้าง” จากศัพท์ “นาค” คือช้าง (โดยหมายเอาลักษณะงวงช้างเป็นนาค) “ศตะ” คือ “ร้อย” “นหุต” คือ “หมื่น” ศตะ+นหุต = ร้อยหมื่นคือหนึ่งล้าน

ในที่นี้ถือเป็นนาคสองตัวคือ “ศตนาค” กับ “นหุตนาค” ร้อยนาคกับหมื่นนาคคือ “ล้านช้าง” นั่นเอง

คู่กับ “ล้านช้าง” คือ “ล้านนา”

เมืองเหนือคือล้านนา เมืองตะวันออกเฉียงเหนือคือล้านช้าง เป็นสองอาณาจักรร่วมสายลำน้ำโขง ช่วงลาวไทย

 

ก่อนเขียนบท “แม่สาย” ได้เขียนบท “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่ อ.เชียงแสนไว้

ผาขุนมาแผ่คาด ขอบฟ้าพาดเป็นกำแพง

โขงหลั่งชะลอแรง ค่อยรินทาบมาเป็นทาง

น้ำรวกเข้าร้อยเรียง ระหว่างเกาะเป็นแก่งกลาง

คว้างคว้างควะควั่งคว้าง ลงร่วมของเป็นลำโขง

สบรวมสบโขงไหล คือสายใยที่เชื่อมโยง

สามแหล่งอันจรรโลง เป็นสามเหลี่ยมทองคำเลอ

เลอชื่อให้เลอชาติ สุวรรณมาศ ฤ มาเสมอ

สามใจประสานเจอ ทั้งลาวทั้งพม่า ไทย ฯ

บทนี้เป็นกาพย์ยานี 11 แบบกลบท ใช้อักษรเสียงเดียวในช่วงลงจังหวะตก คือ สอง-สาม (วรรคแรก) กับสาม-สาม (วรรคสอง)

เขียนจบบทสามเหลี่ยมทองคำ คณะเรานั่งเรือทวนน้ำโขงจากริมแม่สายขึ้นไปเที่ยวตลาดนัดเมืองมอมฝั่งลาว ต้องออกเรือแต่ตีสี่เพราะกว่าจะแล่นเรือทวนน้ำโขงถึงที่หมายราวหกโมงเช้าพอดี

เกิดเหตุมหัศจรรย์คือขณะเรืออยู่กลางโขงเสียงน้ำโขงไหลคึกคะนองกลบเสียงเรือหางยาวที่เรานั่งอยู่ อัศจรรย์กว่านั้นคือ หมอกขาวรอบทิศมืดมิดไม่เห็นทิศทาง

เคยเห็นแต่ความมืดเป็นสีดำ แต่นี่ความมืดเป็นสีขาว ขนาดเอื้อมมือไม่เห็นมือนั่น

ท่ามกลางความมืดสีขาวนั้นเอง พลันเห็นแสงโค้งอย่างรุ้งกินน้ำอยู่ข้างลำเรือด้านขวาไม่ถึงกับเจ็ดสีอร่ามแต่เป็นสีเรืองๆ

ตกใจสุดๆ คือเพิ่งนึกได้ว่าว่ายน้ำไม่เป็น รุ้งกินน้ำกลางโขงค่อนคืนคือประตูสวรรค์เปิดรับกระมัง

แหงนดูฟ้าจึงประจักษ์พระจันทร์กลมโตอร่ามอยู่กลางฟ้าผ่องฉายแสงผ่านหมอกให้เกิดรุ้งกินน้ำวงโค้งน้อยๆ ขนาดลำเรือ

นี่เอง รุ้งพระจันทร์

เราเหหัวเรือเข้าจอดเกาะกลางโขงระหว่างสามเหลี่ยมทองคำพอดี เชื่อว่าไม่มีใครเห็นรุ้งพระจันทร์เช่นนี้แน่ เราเองก็ภาวนาว่า ขออย่าได้เห็นอีกเลย

บันดาลใจนี้จึงกลับมาแต่งเพลง “รุ้งพระจันทร์” โดยใช้ทำนองพื้นบ้านของเยอรมัน

นอกฟ้าป่าหิมพานต์โพ้น •

 

รุ้งพระจันทร์

จะอยู่ที่ไหน ไกลแสนไกล

ไม่ไกลเกินใจ คิดถึง

จะบอกว่ารัก รัก ยังตราตรึง

ได้แต่ คิดถึง…ห่วงเธอ

ดังดาวทิ้งฟ้า ทุกคราคราว

แต่ยังมีดาว เสมอ

เหมือนดั่งใจฉันนั้น ยังมีเธอ

รักอยู่เสมอ…ผูกพัน

ตะวันจะลับฟ้า ราตรี

ก็ยังมีจันทร์ เฉิดฉัน

สวยดั่งเรียวรุ้ง เหนือธารพระจันทร์

รุ้งแห่งความฝัน…ศรัทธา

จะอยู่ที่ไหน ไกลแสนไกล

ไม่ไกลเกินใจ ใฝ่หา

ถึงโลกจะสูญสิ้น กาลเวลา

ไม่สิ้นเสน่หา…แห่งใจ ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ •