โตเกียวจ๋า…เถ้าแก่ลาก่อน/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

โตเกียวจ๋า…เถ้าแก่ลาก่อน

 

ญี่ปุ่นไม่ต่างจากทุกประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มายาวนานเข้าปีที่ 3 จึงมีธุรกิจที่อยู่ที่โตเกียวและ 3 จังหวัดใกล้เคียง(首都圏)คือ ไซตามะ ชิบะ และคานางาวา ย้ายสำนักงานใหญ่หรือหน่วยงานบางส่วนไปยังต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดที่มากที่สุดคือ ฮอกไกโด ปี 2019 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มี 7 บริษัท ย้ายเข้ามาและปี 2021 มี 33 บริษัท เพิ่มขึ้น 26 บริษัท เพิ่มขึ้นทีเดียวเกือบ 5 เท่า รองลงมาคือ โอซากา ปีที่แล้วย้ายเข้ามา 46 บริษัท เพิ่มขึ้น 14 บริษัท

ตลอด1ปี ที่ผ่านมา มีบริษัทที่ลาโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียงไปต่างจังหวัด 351 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา มีบริษัทที่ย้ายเข้ามายังโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง 328 บริษัท คือย้ายออกมากกว่าย้ายเข้าในรอบ 11 ปี

ในปี 2022 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ยังคงเห็นแนวโน้มจำนวนธุรกิจที่ลาโตเกียวอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ คือ การที่ต้องเวิร์กฟรอมโฮมมานานจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้รูปแบบของการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจค่อย ๆ เปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องพบหน้ากัน การมีสำนักงานอยู่ในเมืองหลวงที่มีต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงกว่าจึงเป็นภาระหนักของผู้บริหาร

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมองไม่เห็นหนทางข้างหน้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด มิหนำซ้ำยังมีสถานการณ์ในยูเครน มาตรการคว่ำบาตร ต้นทุนการผลิต ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินเยนอ่อนลง เป็นต้น การย้ายออกจากโตเกียว จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่มีใครคิดมาก่อน

หลายๆ ธุรกิจที่อยู่ในสภาพทำกำไรไม่ได้ บอบช้ำในช่วง 2 ปี หาทางออกไม่ได้ จึงมีผู้บริหารที่มองเห็นโอกาสจากการย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นแทน เพราะการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้นในโลกออนไลน์ ความจำเป็นที่ต้องอยู่ในโตเกียวจึงแทบจะไม่มี ย้ายสำนักงานใหญ่ไปจังหวัดอื่น แล้วมาโตเกียวบ้างตามความจำเป็น เป็นรูปแบบธุรกิจที่ต่างจากแบบเดิมอย่างตรงกันข้าม และอาจจะขยายวงกว้างทำตามกันอีก

ผู้ผลิตเบียร์สดแห่งหนึ่งย้ายสำนักงานใหญ่จากชิบูยา ใจกลางโตเกียวไปยังหมู่บ้านเล็กๆ โอบล้อมด้วยธรรมชาติและทิวทัศน์ภูเขาฟูจิ ในจังหวัดยามานาชิ(山梨県)กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากลูกพีช ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับชาวสวน ใช้ลูกพีชที่มีตำหนิ ไม่ได้ขนาด นำออกจำหน่ายในตลาดไม่ได้ แต่บริษัทรับซื้อไว้แล้วพัฒนาเป็นส่วนผสมในเบียร์สด บริษัทได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนเกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น ได้กับได้ทั้ง 2 ฝ่าย น่าสนใจทีเดียว

ชาวสวนผู้ปลูกลูกพีช ต่างก็แปลกใจ ไม่เคยได้ยินและไม่คิดว่าใครจะนำลูกพีชมาเป็นส่วนประกอบของเบียร์ได้ การที่ต้องทิ้งผลผลิตไปเพราะตำหนิเพียงเล็กน้อย เป็นความรู้สึกปวดใจมากสำหรับผู้ปลูก แต่ลูกพีชจะไปอยู่ในสินค้าชนิดอื่นได้ ก็น่ายินดี พวกเขาจะได้ดื่มเบียร์สดรสพีชกันแล้ว และที่น่ายินดียิ่งไปกว่านั้นก็คือ บริษัทสร้างงาน สร้างรายได้ และกิจกรรมให้แก่คนในจังหวัด

สำหรับผู้บริหาร กว่าจะตัดสินใจย้ายสำนักงานไปต่างจังหวัดไม่ง่ายเลย นอกจากมีค่าใช้จ่ายและช่วงเวลาปรับเปลี่ยนแล้ว ยังสร้างภาระให้แก่พนักงานที่ต้องย้ายตามไปด้วย บางคนมีครอบครัว มีลูกที่กำลังเรียน จึงสะดวกที่จะอยู่โตเกียวมากกว่า บริษัทต้องจัดระบบงานให้ลงตัวก่อนตัดสินใจย้ายไป

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ บริษัทมิชิลิน(ミチリンタイヤ)ผู้ผลิตยางรถยนต์ของญี่ปุ่น ในปีหน้ามีแผนจะย้ายสำนักงานใหญ่จากเขตชินจุกุ โตเกียว ไปจังหวัดกุมมะ(群馬県)ทางเหนือของจังหวัดไซตามะ ไม่ไกลจากโตเกียวนัก โรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งมีฐานการผลิตอยู่ที่นี่ บริษัทสามารถใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับผู้ผลิตท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยในจังหวัด พัฒนาบุคลากร โดยจะผลิตยางรถยนต์ และสร้างหน่วยงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ด้านอวกาศ และการแพทย์ เป็นต้น สร้างนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ขึ้นและให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูง

โลกยุคดิจิทัลทำให้รูปแบบของการทำงานมีอิสระมากขึ้น ไม่ได้ใช้หลักการตัดสินข้อดีหรือข้อเสียจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อย่างแต่ก่อนอีกแล้ว ยุคนี้มีเครื่องมือทางดิจิทัลหลากหลายขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้การลาจากโตเกียวง่ายขึ้น มีโอกาสสร้างความร่วมมือกับธุรกิจในท้องถิ่น และสร้างผู้ผลิตรุ่นใหม่ขึ้นได้

ด้านหน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่งก็เร่งมาตรการดึงดูดนักลงทุนอย่างจริงจัง

จังหวัดทตโทริ(鳥取県)ทางตอนใต้ของเกาะฮอนชู ฝั่งทะเลญี่ปุ่น มีประชากรเบาบางประมาณ 550,000 คน มีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ย้ายมาตั้งสำนักงานที่นี่ คือ ในปีแรกให้เงินช่วยเหลือค่าเช่าซื้อเครื่องจักร และเงินช่วยเหลือการซื้อหรือเช่าที่ตั้งสำนักงาน สูงสุด 15% รวมมูลค่า 200 ล้านเยน และยังเพิ่มแรงจูงใจอีกคือ สร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการย้ายครอบครัวมาอยู่ด้วยของพนักงาน ให้เงินช่วยเหลือแก่พนักงานคนละ 3 แสนเยน มีหน่วยงานให้คำปรึกษาการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น

ผลจากมาตรการเอาใจกันสุดๆ นี้ ทำให้มีผู้ย้ายมาจากโตเกียวเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเดิมของจังหวัดที่มีแต่ลดลง

บริษัทไอทีแห่งหนึ่ง มีสำนักงานใหญ่ที่โตเกียว ได้ย้ายบางแผนกมาที่จังหวัดทตโทริเพิ่มขึ้นอีก เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแผ่นดินไหว บริษัทร่วมมือกับทางจังหวัดมีมาตรการจูงใจ คือ ถ้าอยู่อาศัยครบ 5 ปีจะได้รับเงินช่วยเหลือ 60 ล้านเยน (16 ล้านบาท) …อย่างนี้ หลายคนคงอยากไปอยู่แน่

พนักงานบริษัท วัย 34 ปี ภรรยาและลูกได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ เขาได้รับเงินช่วยเหลือจากเมือง ใช้ซื้อเครื่องเรือน ของใช้จำเป็นต่างๆ และได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างดีจากหน่วยงานของจังหวัด จัดหาศูนย์ดูแลเด็กเล็กใกล้บ้านให้ เป็นต้น เขาตัดสินใจไม่ผิดเลยที่ย้ายมาที่นี่ เพราะบ้านพักก็กว้างขวางกว่าเดิมถึง 1.5 เท่า ลูกๆ มีที่เล่น อยู่ใกล้สวนสาธารณะและทะเล

ขณะที่จังหวัดต่าง ๆเร่งสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ธุรกิจย้ายมา พร้อมๆกันนี้สำนักงานเขต 23 เขต ของโตเกียว ก็กำลังหามาตรการจูงใจด้านภาษีนิติบุคคล ให้แก่บริษัทที่พร้อมจะลาจากโตเกียว

นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ “แข่งขันสร้างแรงจูงใจ”(誘致合戦)ให้เงินช่วยเหลือ หรือลดภาษีนิติบุคคลเช่นนี้ อาจทำให้ท้องถิ่นและบริษัทพากันประสบหายนะได้ ธุรกิจจะไม่คำนึงถึงการทำธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรกันแล้ว คิดแต่จะหาประโยชน์จากมาตรการลดภาษี และรับการช่วยเหลือของจังหวัด มาชดเชยกับค่าใช้จ่ายการย้ายสำนักงาน

จังหวัดต่าง ๆไม่ควรจูงใจด้วยการลดภาษีหรือให้เงินช่วยเหลือ แต่ควรช่วยเหลือด้านการสร้างธุรกิจให้เติบโต เพิ่มความสามารถทำกำไรเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงให้แก่เมืองและจังหวัดต่างหาก ถ้าโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ย่อมเป็นแรงดึงดูดธุรกิจต่างๆมายังพื้นที่ที่เคยเงียบเหงาได้เอง

โตเกียวจ๋า…เถ้าแก่ลาก่อน คงมีให้เห็นอีก