ชาวเขา/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ชาวเขา

 

เรื่องที่ผมจะชวนคุยต่อไปนี้ อาศัยแนวคิดหลักจากงานสองชิ้นของ James C. Scott คือ The Art of Not Being Governed และ Against the Grain ถ้าท่านอ่านแล้วเห็นว่าไม่ได้เรื่อง ก็อย่าไปโทษอาจารย์ Scott เพราะแนวคิดหลักที่ผมเอามาใช้นี้ ท่านเสนอสำหรับเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องชาวเขาในประเทศไทย

มโนภาพเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ชาวเขา” ในประเทศไทยนั้นคือ กลุ่มคนที่น่าหวาดระแวง เพราะวิถีชีวิตของพวกเขาดูจะไม่สอดคล้องกับ “วัฒนธรรม” ของรัฐไทยเอาเลย ผมใช้คำกว้างๆ ว่าวัฒนธรรม เพื่อหมายรวมกฎหมาย, บทบาททางการเมืองหรือเศรษฐกิจหลัก, ศาสนาและประเพณีในชีวิตต่างๆ นับตั้งแต่เครื่องแต่งกายไปจนถึงการแต่งงานและบทบาทหญิง-ชาย ฯลฯ

ทศวรรษแรกหลัง 2500 อันเป็นช่วงที่รัฐไทยและคนไทยภาคกลางต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มชาวเขา อย่างใกล้และชิดขึ้นเป็นครั้งแรก ชาวเขาถูกหวาดระแวงว่าอาจตกเป็นเครื่องมือของพวกคอมมิวนิสต์ ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่ผิดที่ เพราะในการดำรงชีวิตของพวกเขา อาจเป็นเหตุให้ทำลายป่าต้นน้ำหรือบนที่สูงลงอย่างกว้างขวาง ซ้ำยังผลิตสินค้าที่ต้องห้ามคือฝิ่นอีกด้วย จึงกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องติดต่อค้าขายกับกลุ่มคนนอกกฎหมายอื่นๆ นับตั้งแต่ทหารก๊กมินตั๋งที่หลบหนีกองทัพประชาชนจีนจากแถบยูนนานลงมายังพม่าและไทย และแน่นอนพ่อค้าฝิ่นเถื่อน

แต่ประเด็นอันทำให้ชาวเขาน่าหวาดระแวงแก่รัฐไทย (และคนไทยซึ่งถูกรัฐกล่อมมาอย่างดีแล้ว) ดังกล่าวข้างต้น หมดไปนานพอสมควรแล้ว เช่น คอมมิวนิสต์ไม่เป็นภัยคุกคามรัฐไทยอีกต่อไป ชาวเขาแทบไม่ได้ผลิตฝิ่นอีกแล้ว และการทำลายทรัพยากรป่านั้นก็เป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นฝีมือของนายทุนโรงเลื่อยหรือนายทุนทำไร่เกษตรขนาดใหญ่ในพื้นราบ มากกว่าเป็นฝีมือของชาวเขาและวิถีชีวิตชาวเขา ซึ่งอยู่บนที่สูงในภาคเหนือของไทยมานานก่อนที่ผืนป่าจะถูกทำลายลง โดยเฉพาะกะเหรี่ยงและลัวะ

ตกลงอะไรคือเหตุอันควรต้องระแวงสงสัยจากรัฐกันแน่ คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ ฝิ่นไม่ใช่ ทำลายทรัพยากรก็ไม่ใช่ กะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งอยู่ใน “ใจแผ่นดิน” มานานโดยผืนป่าก็ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่เป็นคอมมิวนิสต์แน่ และไม่เคยปลูกฝิ่นเลย ก็ยังถูกไล่รื้อบ้านช่องเพื่อบังคับอพยพลงมาอยู่ “ข้างล่าง” ไม่ต่างจากลาหู่, อาข่า, ม้ง ฯลฯ ที่แทบไม่เหลือชุมชนของตนบนที่สูงแล้ว เพราะถูกบังคับอพยพลงมาจนหมด จำนวนไม่น้อยตกอยู่ในสลัมของเขตเมืองหลายแห่ง และหาทางเลี้ยงตัวเองได้ยาก นอกจากงานที่ผิดหรือปริ่มกฎหมาย เช่น ขนยาเสพติดหรือค้าประเวณี

 

ไม่แต่เฉพาะชาวเขาในเมืองไทยนะครับ ในลาวซึ่งกลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ก็หวาดระแวงกับชาวเขาไม่ต่างจากไทย รัฐบาลคอมมิวนิสต์ทั้งชักชวนและบีบคั้นให้ชาวเขาทั้งหลายอพยพลงมาอยู่ในพื้นราบ โดยเฉพาะตามถนนหลวงที่รัฐบาลตัดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะในแขวงหัวพันและพงสาลี มีหมู่บ้านชาวเขา (ขมุ, ผู้น้อยซึ่งเข้าใจว่าเป็นกลุ่มทิเบต-พม่า ฯลฯ) ตั้งอยู่ชิดกับถนนใหม่ และหาอาชีพแน่นอนไม่ได้

เวียดนามก็ไม่ต่างจากกัน กลุ่มชาวเขา (ส่วนใหญ่สังกัดในชาติพันธุ์ออสโตรเอเชียติก เช่น พวกบลัง) ซึ่งเคยปลูกข้าวไร่ ก็มักถูกอพยพลงมายังชุมชนใหม่ซึ่งตั้งอยู่ “ข้างล่าง” ได้รับการอุดหนุนแนะนำให้หันมาทำนาลุ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอแก่การบริโภค และหยุดการเคลื่อนย้าย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะข้าวไร่และเกษตรบนที่สูงตอบโจทย์ชีวิตของเขาได้ตรงกว่า ซึ่งก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ เพราะกว่าที่ใครจะเป็นคนขึ้นมาได้ ไม่ได้มีแต่ปากและท้อง ต้องมีอะไรอื่นๆ อีกมากที่รัฐมักจะลืมไปหรือตัดทิ้งไปดื้อๆ

ผมจึงคิดว่า เหตุนานาชนิดที่รัฐมักอ้างเพื่อนำเอาชาวเขาลงมา “ข้างล่าง” นั้นล้วนไม่จริง อคติต่อชาวเขานั้นข้ามพรมแดน, ข้ามอุดมการณ์ทางการเมืองและศาสนา, ข้ามสถานการณ์เฉพาะที่รัฐมักยกมาอ้างในการอพยพชาวเขาลงมาสู่พื้นราบ เหตุที่อธิบายได้ดีกว่าก็คือ “ชาวเขา” เป็นคนนอกรัฐ ไม่อยู่ในความควบคุม ไม่เสียภาษี และยังเชื่อมโยงกับคนนอกรัฐของรัฐอื่นด้วย จะเป็นอันตรายหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่น่าระแวง

 

สมัยดึกดำบรรพ์เมื่อตอนเกิดรัฐขึ้นระยะแรกในที่ราบลุ่มชื้นแฉะ คนนอกรัฐ (ชาวเขา, เผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน, คนเก็บของป่าล่าสัตว์, ยิปซีบก, ยิปซีทะเล ฯลฯ) มีจำนวนมากกว่าคนในรัฐอย่างล้นเหลือ หนึ่งในอาชีพของคนนอกรัฐก็คือปล้นอาหารในยุ้งฉางของคนในรัฐ เพราะจะหาการปล้นอะไรที่สะดวกเท่านี้ไม่มีอีกแล้ว ดังที่พวกเบอร์เบอร์ในแอฟริกาเหนือพูดว่า “การปล้นสะดมคือเกษตรกรรมของพวกเรา”

ชาวเขาซึ่งเป็นหนึ่งในคนนอกรัฐถูกระแวงมาตั้งแต่เมื่อเริ่มแรกมีรัฐเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว แต่อคติของรัฐต่อชาวเขาไม่ได้เป็นมรดกสืบทอดความรู้สึกมาโดยตรงขนาดนั้น เพราะในที่สุด คนในรัฐก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นจนมากกว่าคนนอกรัฐหรือ “คนป่า” อย่างล้นเหลือ (เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนในรัฐซึ่งตั้งภูมิลำเนาถาวรมีลูกได้ถี่กว่าชุมชนล่าสัตว์เก็บของป่าซึ่งต้องเคลื่อนย้าย) ภัยคุกคามของคนนอกรัฐ แม้ยังมีอยู่ก็เป็นภัยคุกคามที่รัฐพอจัดการได้

แม้กระนั้น ปฏิบัติการของรัฐต่อ “ชาวเขา” คือความพยายามของรัฐที่จะดูดกลืนและควบคุมคนนอกรัฐกลุ่มสุดท้าย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติอย่างไม่หยุดยั้ง นับตั้งแต่เริ่มมี “รัฐ” ขึ้นเมื่อ 5,000 กว่าปีมาแล้ว ไล่จับตัวเป็นทาสตรงไปตรงมาในระยะแรก ซื้อขายในระยะต่อมา ใช้วิธีอื่นที่ซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะทาสหรือแรงงานฟรีเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ในการสร้างอารยธรรมและรัฐ

ในภาคพื้นอุษาคเนย์ “ชาวเขา” ในที่นี้ย่อมรวมคนอีกหลายจำพวก เช่น ชาวเลและคนพื้นถิ่น – orang asli ในมาเลเซีย, ชาวพื้นเมืองบนเกาะอิเรียนจายา และบนเกาะอีกหลายแห่งในอินโดนีเซียตะวันออก และแน่นอนชาวป่าชาวเขาดั้งเดิมในฟิลิปปินส์ด้วย

 

ทําไมความระแวงต่อชาวเขาซึ่งเป็นคนนอกรัฐจึงดำรงอยู่มาได้อย่างสืบเนื่องเช่นนั้น เพื่อจะเข้าใจตรงนี้คงต้องเริ่มด้วยการให้ความหมายของ “รัฐ” เสียก่อน

ในทัศนะของ Scott แม้จะยอมรับว่าการชี้คุณลักษณะเฉพาะของรัฐในระยะแรกเป็นเรื่องที่หาหลักฐานมายืนยันได้ยาก แต่ท่านเห็นว่ามีคุณลักษณะเฉพาะสามอย่างที่ขาดไม่ได้เลยคือ กำแพง, ส่วย (แรงงาน, สิ่งของ, เงินตรา) และข้ารัฐการ (รวมกองกำลัง เพื่อ “ผูกขาด” การใช้ความรุนแรงด้วย) การบริหารรัฐย่อมนำมาซึ่ง “ช่วงชั้น” เพื่อจัดสรรทั้งอำนาจและส่วนแบ่งทรัพยากร

กำแพงเป็นเครื่องหมายชี้ขอบเขตอำนาจทางดินแดน ทำหน้าที่ป้องกันศัตรูจากภายนอก และที่สำคัญไม่แพ้กันคือป้องกันมิให้คนในหลบหนีออกไปจากอำนาจได้ด้วย ส่วยเอามาใช้บำรุงบำเรอชนชั้นนำและคนที่ไม่ได้ผลิตอาหารเอง เช่น พระ, นักปราชญ์, ข้ารับใช้ในวัง, ข้ารัฐการ ฯลฯ แน่นอนเอามาใช้เพื่อสร้างสาธารณูปโภคด้วย เช่น ระบบชลประทาน หรือแม้แต่เอาอาหารมาแจกจ่ายในยามที่เกิดทุพภิกขภัย ทั้งนี้ เพื่อรักษากำลังพลเมืองหรือคนในรัฐเอาไว้ รวมทั้งดึงดูดคนนอกรัฐให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อส่งส่วยให้มากขึ้น ข้ารัฐการทำหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องเหล่านี้

ลองคิดเลยมาถึงโลกปัจจุบันด้วยก็ดีนะครับ เช่น กำแพงของโลกปัจจุบันคือกฎระเบียบสากลที่ทุกคนต้องมีสัญชาติ รับรองด้วยเอกสารราชการ ใครไม่มีก็จะถูกลงโทษด้วยข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแล้วส่งกลับ (ถ้ามีที่ให้ส่ง)

เรื่องส่วย, ข้ารัฐการ และกองทัพ ก็ในทำนองเดียวกันล่ะครับ แม้รูปแบบจะต่างไปจากรัฐโบราณมากสักเพียงไรก็ตาม

 

คราวนี้ลองคิดถึงชาวเขาในฐานะคนนอกรัฐดู ก็จะเห็นได้ว่าพวกเขาคือหนามยอกอกของอำนาจอธิปไตย (อาจจะแรงไปหน่อย แต่เป็นที่เคืองใจแน่) เพราะเขาคือคนที่อยู่ใน “กำแพง” หรือในขอบเขตของดินแดนที่รัฐถืออำนาจอธิปไตย แต่กลับไม่อยู่ใต้อำนาจนั้นจริง ไม่ใช่เพราะเขาอยู่ในที่ซึ่งกำลังของรัฐเข้าถึงได้ยากนะครับ ข้อนั้นอาจแก้ได้ในระยะยาว เพราะถนนหนทางและยานพาหนะสมัยใหม่ทำให้รัฐเข้าถึงได้แทบทุกซอกทุกมุมอยู่ แต่วิถีชีวิตที่ทำให้รัฐควบคุมได้ยากต่างหาก ที่ทำให้ชาวเขารักษาความเป็นคนนอกรัฐเอาไว้

แค่ไม่อยู่เป็นที่เป็นทางอย่างเดียวรัฐก็งงแล้ว ว่าจะ “ขึ้นทะเบียน” เขาได้อย่างไร ไม่ใช่ทะเบียนบุคคลอย่างเดียวนะครับ แต่รวมถึงทะเบียนที่ดิน (เอกสารสิทธิ์) ทะเบียนทรัพย์สินอื่นๆ ทะเบียนโรคภัยไข้เจ็บ ทะเบียนการเกิดและการตาย ฯลฯ อำนาจของรัฐที่มีเหนือพลเมืองอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่เลยก็อยู่ที่ “ทะเบียน” นี่แหละครับ พูดให้ชัดกว่านั้นคือรัฐต้อง “อ่าน” พลเมืองออก (eligibility) แต่ชาวเขาคือคนที่รัฐอ่านไม่ออก

เมื่อตอนที่ผมมาทำงานที่เชียงใหม่แรกๆ จำได้ว่านักวิจัยของศูนย์วิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ (ตอนนั้นยังขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย) ไม่พยายามจะทำแผนที่ชุมชนชาวเขาทั้งประเทศ เพราะไม่มีประโยชน์อะไร เพียงในเวลาไม่กี่ปี แผนที่นั้นก็จะล้าสมัยไปแล้ว เพราะต่างโยกย้ายภูมิลำเนาไปที่อื่น (รวมทั้งข้ามไปมาระหว่างประเทศด้วย) แต่กลับลงทุนทำวิจัยศึกษาเส้นทางเดิน (trail) บนเขา เพราะนี่ย่อมอยู่ได้ยาวนานกว่าสถานที่ตั้งชุมชน

พืชอาหารที่พวกเขาปลูก (ก่อนจะปลูกฝิ่นอันเป็นพืชเศรษฐกิจที่แลกข้าวได้) ล้วนเป็นพืชหัวใต้ดิน หรือพืชที่ให้ผลโดยไม่มีฤดูแน่นอน อันล้วนเป็นผลผลิตที่เก็บส่วยได้ยาก แตกต่างจากธัญพืชเพียงไม่กี่อย่างที่ปลูกกันในโลกนี้ ซึ่งอยู่พ้นดินและมีฤดูเก็บเกี่ยวที่แน่นอน

และนี่คือเหตุผลอย่างหนึ่งที่ชาวเขาเลือกปลูกฝิ่น เพราะรัฐเข้าไม่ถึง (ไม่นับความเหมาะสมอื่นเช่นสภาพที่ดินภูมิอากาศ หรือความต้องการของตลาดที่ทำให้อยู่ในเศรษฐกิจยังชีพได้สะดวกขึ้นกว่าปลูกพืชอาหาร) ผมควรบอกไว้ด้วยว่า รัฐไทยในกรุงเทพฯ พอใจจะซื้อฝิ่นที่นำเข้าโดยอังกฤษจากอินเดีย มากกว่ารับซื้อฝิ่นของชาวเขา (ทั้งๆ ที่น่าจะได้ราคาถูกกว่า) เหตุผลเดียวก็คือ เก็บภาษีได้สะดวก ทั้งจากผู้นำเข้า, พ่อค้าซึ่งนำฝิ่นไปสู่โรงฝิ่น และโรงฝิ่นเอง

จะควบคุมคนนอกรัฐได้ ก็วิธีเดียวคือนำเขาลงมาสู่พื้นราบ หรือนำเอากลไกการควบคุมของรัฐขึ้นไปบังคับใช้กับพวกเขา อันล้วนทำลายวิถีชีวิตของพวกเขาลง จนไม่พอกินและบางกลุ่มต้องอพยพลงสู่พื้นราบเอง

 

หลายสิบปีมาแล้ว ผมสู้ดั้นด้นเข้าไปสู่ชุมชนซาไกในจังหวัดยะลา อันเป็นชุมชนใหม่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยสร้างขึ้น แล้วเกณฑ์พวกเขาออกจากป่ามาอยู่ในบ้านเรือน (ที่ทางการปลูกไว้ให้ตามจินตนาการของข้าราชการว่าหมู่บ้านควรเป็นอย่างไร) รวมแปลงปลูกผักและรั้วรอบขอบชิดในแต่ละหลังด้วย เมื่อไปถึงเหลือชาวซาไกผู้ชายอยู่คนเดียวทั้งชุมชน เขาถลาเข้ามากอดผมทันทีที่ลงจากรถ เหมือนได้พบญาติที่ห่างหายกันไปหลายปี ผมได้กลิ่นเหล้าฉุนจนต้องกลั้นหายใจ เขาทำท่าให้รู้ว่าเขาอยากได้เงิน ซึ่งผมก็ตามใจเขา

ผมคิดถึงดินแดนสงวนของอินเดียนแดงในสหรัฐ ซึ่งเพื่อนที่ไปเยี่ยมมาก็เล่าให้ฟังว่า มีแต่คนเมาอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับเพื่อนที่เป็นนักเรียนเก่านิวซีแลนด์ ก็เล่าอย่างเดียวกันว่า ส่วนใหญ่ของพวกเมารีที่เขาพบก็มักจะเมาแอ๋เสียหมด

ไม่นานมานี้ก็ได้ยินข่าวทีวีว่า ส่วนหนึ่งของชาวเซมังหรือซาไกที่ถูกกวาดให้มาอยู่ในชุมชนที่รัฐเข้าถึง ต่างพากันอพยพครอบครัวกลับเข้าป่า เพราะชีวิตในชุมชนของรัฐไม่พอกิน ผมเคยได้ยินข่าวทำนองนี้ในหมู่พวกมราบลีแถบจังหวัดน่านเหมือนกัน โดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่เพิ่งถูกอพยพ “ลงมา”

ชาวเขาคือหนึ่งในบรรดาคนนอกรัฐประเภทต่างๆ ที่กำลังถูกบังคับ หรือเกลี้ยกล่อม หรือปิดทางเลือกที่จะอยู่นอกรัฐต่อไป ให้ต้องเคลื่อน (ทางกายภาพหรือทางวิถีชีวิต) เข้ามาอยู่ในรัฐหรือพูดให้ชัดกว่านี้คืออยู่ในความควบคุมของรัฐดังพลเมืองอื่นๆ ทุกคน

ชาวเขาคือคนนอกรัฐกลุ่มสุดท้าย ร่วมกับชาวเบดูอิน, ชาวเล, ชาวอินเดียนในป่าแอมะซอน, ชาวเอสกิโมในอลาสกา, กลุ่มนักเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนในแอฟริกา, ชาวนาคในอินเดีย ฯลฯ ที่กำลังถูกรัฐผนวกเข้ามาไว้ในความควบคุม

ประวัติชีวิตเรื่องราวของเขาในโลกสมัยใหม่ก็เหมือนกันทั้งสิ้น คือตกอยู่ในกระบวนการที่เจ็บปวดและยากลำบากในการเปลี่ยนจากคนนอกรัฐมาเป็นพลเมืองของรัฐ หลายคนล้มหายตายจากไปในกระบวนการนี้ อีกหลายคนอาจสืบลูกหลานมาเป็นพลเมืองในสถานะต่ำสุดของรัฐ จึงถูกเอารัดเอาเปรียบไปอีกหลายชั่วคน กว่าเหลนของเหลนจะเงยหน้าอ้าปากมาเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกับคนอื่นได้

เพราะพวกเขาล้วนสูญเสียฐานการต่อรองทั้งหมดที่เคยมีเมื่อเป็นคนนอกรัฐไปจนไม่เหลืออะไรเลย เมื่อถูกบังคับให้เข้ามาเป็นคนในของรัฐ จะให้เขาต่อรองอะไรในสังคมที่เขากลายเป็นคนตัวเปล่าเล่าเปลือยถึงเพียงนั้น