บาทวิถีลอยฟ้า / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

บาทวิถีลอยฟ้า

 

มองบ้านมองเมือง เคยมองบาทวิถีลอยฟ้า หรือ sky walk สมัยที่สะพานคนเดินลอยฟ้ายังเป็นของใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น และมีเฉพาะช่วงสั้นๆ แค่จากสถานีรถไฟฟ้าชิดลม มาเกือบจะถึงสถานีสยาม (จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ถึง ยังไม่เชื่อมต่อ)

ต้องย้อนกลับไปในสมัยที่โครงการขนส่งมวลชนระบบรางรถไฟลอยฟ้า ของกรุงเทพมหานคร ยังเป็นเพียงภาพฝัน ยังไม่ทันลงมือก่อสร้าง เช่นเดียวกับโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่สองแห่งที่อยู่ใกล้ๆ กัน

โครงการแรกคือ สยามพารากอน อยู่ตรงข้ามกับศูนย์การค้าสยามสแควร์ ส่วนอีกโครงการคือ เซ็นทรัลเวิลด์ ตรงสี่แยกราชประสงค์

หนึ่งในจุดขายที่ศูนย์การค้าพารากอนโฆษณาว่า ดีกว่าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ คือ มีสถานีรถไฟสยาม อยู่หน้าโครงการ

เพื่อแก้เกมทางการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จึงอุทิศทางเดินลอยฟ้าสาธารณะ ที่จะเชื่อมศูนย์การค้าไปยังสถานีสยามและสถานีชิดลม

คงเป็นเพราะบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ลงทุนระบบรถไฟลอยฟ้า เกรงจะขาดรายได้ จึงยอมให้สกายวอล์กจากสถานีชิดลม ผ่านแยกราชประสงค์ ไปสิ้นสุดหยุดตรงทางแยกพระราม 1-อังรีดูนังต์เท่านั้น

ทุกวันนี้ผู้สัญจรจึงต้องอาศัยสะพานลอยเล็กๆ ไปถึงสถานีสยาม จึงให้เป็นที่สงสัยของคนเจนปัจจุบัน ว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

สกายวอล์กของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากเพิ่มจุดขายหรือสร้างจุดแข็งให้โครงการแล้ว ยังเป็นแบบอย่างให้กับศูนย์การค้า สำนักงาน หรือโรงแรมอื่น สร้างทางเชื่อมไปสถานีต่างๆ เกิดเป็นโครงข่ายสกายวอล์ก อย่างเช่นที่ย่านราชประสงค์ ย่านอโศก ย่านสีลม และอื่นๆ หรือลานลอยฟ้าเชื่อมระหว่างศูนย์การค้าเอ็มโพเรียมและเอ็มควอเทียร์ กับสถานีพร้อมพงษ์ ลานลอยฟ้าปทุมวัน และสาทร รวมทั้งจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ไปยังที่จอดรถสามเสน และที่อื่นๆ อีกมากมาย

อีกทั้งเปลี่ยนภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพฯ ด้วยทางสัญจรลอยฟ้าทางสำหรับคนไทยและนักท่องเที่ยว ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลภาวะ ทางเท้าและถนนแคบ ไปจนถึงปัญหาน้ำท่วม

จำได้ว่าเคยมีนักวิชาการจากสิงคโปร์สงสัยว่า การวางแผนและก่อสร้างระบบสกายวอล์กที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และมีประสิทธิภาพอย่างมาก มาจากไหน โดยใคร หน่วยงานใด ที่สำคัญไม่มีแบบอย่างให้เห็นในต่างประเทศ

มองบ้านมองเมือง จึงขอเฉลยว่า ระบบบาทวิถีลอยฟ้า ไม่ได้มาจากการวางแผนหรือวางผัง หากเป็นปรากฏการณ์แบบไทยแท้ ที่ทุกอย่างค่อยๆ ปรากฏ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยกันสร้างเสริมต่อเติม ให้เห็นทั่วบ้านทั่วเมือง

ซึ่งรวมทั้งกระแสสกายวอล์ก ที่เชื่อมสวนลุมพินีทางถนนวิทยุ ไปจนถึงสวนเบญจสิรินั้น นับเป็นบาทวิถีลอยฟ้าสีเขียว เป็นกรีนสกายวอล์ก ร่วมยุคสมัยอย่างมาก •