เมื่อญี่ปุ่นบุก! กับงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2484/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

เมื่อญี่ปุ่นบุก!

กับงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2484

 

“8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ผมตื่นแต่เช้า มีนายตำรวจมาเรียกพ่อผม…พ่อส่งปืนให้ผมกระบอกหนึ่ง ผมทราบแล้วว่า ญี่ปุ่นขึ้นบกที่บางปู เพราะวิทยุออกข่าว… ตกบ่ายผมเห็นว่าไม่มีเหตุการณ์อะไร ผมก็เข้ากรุงเทพฯ เพราะรู้อยู่แล้วว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญต้องงดไปโดยปริยาย…”

(แท้ ประกาศวุฒิสาร, 2544)

 

งานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2484 ที่ล่มลงจากเหตุกองทัพญี่ปุ่นบุกไทยในวันเปิดงานวันแรกนั้น แทบไม่มีการศึกษา เนื่องจากมีผู้จดบันทึก รูปถ่าย และเอกสารร่วมสมัยที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานในครั้งนั้นได้น้อย เนื่องจากเป็นการยุติอย่างฉับพลัน แทบไม่มีใครมีประสบการณ์ในงานที่ไม่ได้เปิด อีกทั้งสังคมไทยเผชิญหน้ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในเอเชียจึงเหลือร่องรอยที่เกี่ยวกับงานครั้งนั้นน้อย

จากความทรงจำของแท้ ประกาศวุฒิสาร พนักงานถ่ายรูปของบริษัทสหศีนิมา เล่าไว้ว่า ในวันสุกดิบก่อนงานฉลองที่มโหฬารแห่งชาติในปี 2484 จะเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้นนั้น “7 ธันวาคม พ.ศ.2484 ผมจำได้ดี เพราะเป็นวันก่อนหน้าวันเปิดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี พ.ศ.2484 ที่สวนอัมพร… ปีนั้นเอง ผมได้เตรียมชุดราตรีสำหรับจะแต่งให้โก้ ไปถ่ายรูปการประกวดนางสาวไทย ผมไม่เคยแต่งมาก่อน ปีนั้นจึงตั้งใจเต็มที่” (แท้ ประกาศวุฒิสาร, 2544, 83)

และในช่วงบ่ายๆ ของวันที่ 7 ธันวาคม เขาแวะดูความเรียบร้อยของร้านแผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในอาคารหลังใหญ่ในสนามเสือป่า ใกล้สวนอัมพร เขาพบคุณหลวงถวิลเศรษฐการ อธิบดีกรมพาณิชย์ และกำลังถ่ายภาพหมู่กับเหล่าข้าราชการหน้าอาคารร้านของกระทรวงพาณิชย์

ส่วนคุณลมูล อติพยัคฆ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ขณะนั้น ลมูลทำงานกับแผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว กำลังง่วนอยู่กับตกแต่งการโฆษณาร้านให้สวยงามเพื่อรอวันเปิดงานในวันรุ่งขึ้น ไม่มีผู้ใดคาดคิดได้เลยว่า ทุกอย่างที่เตรียมการเป็นอย่างดีจะล่มลงจากภัยสงคราม

แท้คาดการณ์ว่า ในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเปิดงาน เขาจะมีภารกิจมาก เนื่องจากเขาเป็นพนักงานของบริษัทสหศีนิมา ที่มีชุณห์ ปิณฑานนท์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นประธานบริษัท สหศีนิมาที่จะต้องเดินทางไปร่วมเปิดสถานที่ต่างๆ และเขาต้องติดตามไปถ่ายรูปและภาพยนตร์ตลอดทั้งงาน

ดังนั้น ในเย็นวันนั้น เขาจึงรีบเข้านอนเพื่อตื่นเช้าไปถ่ายภาพในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2484

กองทัพญี่ปุ่นในไทย เช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 และสมุดกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนั้น

อย่างไรก็ตาม ความหวังของเขาในการแต่งตัวโก้ไปถ่ายรูปงานประกวดนางสาวไทย มิอาจเป็นไปได้ ด้วยเช้าตรู่ของวันที่ 8 เดือนนั้น กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยอย่างฉับพลันพร้อมยื่นข้อเรียกร้องขอผ่านไทยไปยังพม่าและมลายูทันที

ทั้งนี้ นโยบายต่างประเทศใหม่ของไทยภายหลังการปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนจากเดิมเคยโอนอ่อนผ่อนตามมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสตามระบอบเก่า มาสู่การเริ่มถอยห่างออกผลประโยชน์ของมหาอำนาจตะวันตกมาสู่การรักษาความอิสระในการตัดสินด้วยการรักษาความเป็นกลาง (2475-2484) นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจในยุโรปที่เริ่มปะทุตัวขึ้น ในขณะที่ไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ หัวเลี้ยวหัวต่อของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น คือกรณีความขัดแย้งไทย-ฝรั่งเศสเรื่องการเรียกร้องดินแดนอินโดจีนคืน (2483-2484) ส่งผลให้ญี่ปุ่น มหาอำนาจใหม่ในเอเชียยื่นมือเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ไทยเริ่มโน้มเอียงไปทางญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น (ณัฐพล ใจจริง, 2563, 40-66; กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร, 2532, 49)

ควรบันทึกด้วยว่า นับตั้งแต่กลางปี 2484 เป็นต้นมา ไทยเริ่มประจักษ์ชัดแล้วว่า บรรยากาศคุกรุ่นระหว่างมหาอำนาจเก่า อังกฤษ ฝรั่งเศส กับญี่ปุ่น เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง อังกฤษและสหรัฐไม่พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทย หากเกิดเหตุการณ์ญี่ปุ่นรุกรานไทย สำหรับการประเมินบทบาทการขยายแสนยานุภาพทางทหารของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียแล้ว จอมพล ป.เห็นว่า ญี่ปุ่นจะต้องขยายอำนาจมาทางอินโดจีนและไทยอย่างแน่นอน และไทยไม่มีศักยภาพทางการทหารเพียงพอที่จะต่อกรกับญี่ปุ่นได้ ดังนั้น ยุทธวิธีในการรับมือของเขาคือ การทำให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนห่างจากไทยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

(กอบเกื้อ, 2532, 25-26)

พิธีลงนามในกติกาสัญญาไมตรีไทย-ญี่ปุ่นที่วัดพระแก้ว 21 ธันวาคม 2484

ในสายตาของญี่ปุ่นแล้ว ไทยเป็นประเทศยุทธศาสตร์เปรียบเหมือนประตูที่เปิดเข้าสู่อินเดีย พม่าและสิงคโปร์ ดังนั้น การยาตราทัพจำผ่านไทยจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เช้าตรู่ของวันที่ 8 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นบุกทางบกเข้าทางอรัญประเทศ ปราจีนบุรี พระตะบอง พิบูลสงคราม และยกพลขึ้นบกที่บางปู สมุทปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ทางภาคใต้มีการสู้รบกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารไทยกับญี่ปุ่น ฯพณฯ ทสุโบกามิ เอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำไทยยื่นคำขาดขอให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย โดยญี่ปุ่นจะรับรองเอกราชและอธิปไตยของไทย รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการอภิปรายกันในคณะรัฐมนตรีกันอย่างหนัก แต่ไทยไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ จึงยินยอมตามคำขอของญี่ปุ่น (กอบเกื้อ, 2532, 35)

หากวิเคราะห์แล้ว การตัดสินใจของรัฐบาลในเช้าวันนั้นเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากยิ่ง เนื่องจากการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นอย่างแบบพลัน (fait accompli) พร้อมกับการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฮาวายของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ สมรภูมิครั้งนี้หาได้อยู่ไกลบ้านอย่างในสงครามโลกครั้ง 1 แต่สมรภูมิครั้งนี้เป็นสนามรบที่ประชิดแดนไทย ในที่สุด ไทยตกลงยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปยังมลายูและพม่า มีการลงนามใน “สนธิสัญญาไทย-ญี่ปุ่น” ในช่วงสายวันเดียวกัน (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2556,1-36; แถมสุข นุ่มนนท์, 2548,23-24)

ทั้งนี้ แถมสุข นุ่มนนท์ ประเมินว่า การตัดสินของรัฐบาลจากเหตุการณ์วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เหมาะสมกับจังหวะเวลา เมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีอย่างฉับพลัน คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนฯ ข้าราชการและประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับว่า กองทัพไทยสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ( แถมสุข, 2548, 41)