จากทรานส์นิสเตรียสู่มอลโดวา เป้าหมายต่อไปของรัสเซีย?

ชื่อของดินแดนทรานส์นิสเตรีย ปรากฏอยู่ในกระแสความสนใจโลก หลังมีคำกล่าวเปรยจากรุสตัม มินเนคาเยฟ รักษาการผู้บัญชาการกองกำลังทหารเขตกลางของกองทัพรัสเซีย ผ่านสื่อเมื่อเร็วๆ นี้ ประมาณว่าหากรัสเซียสามารถควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางตอนใต้ของยูเครนไว้ได้ทั้งหมด นั่นจะเป็นอีกหนทางที่จะปูทางเชื่อมรัสเซียไปถึงดินแดนทรานส์นิสเตรียได้ในวันข้างหน้า

ความเห็นข้างต้นของผู้บัญชาการทหารระดับสูงของรัสเซีย แม้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ชัดว่าเป็นเจตนามุ่งมั่นที่แท้จริงของทางการรัสเซียเองหรือไม่

แต่คำกล่าวเปรยเช่นนี้สร้างความกังวลร้อนใจให้กับมอลโดวา ชาติเพื่อนบ้านของยูเครนที่มีพรมแดนติดกันเป็นอย่างมาก ที่หวั่นจะเผชิญภัยคุกคามอธิปไตยซ้ำรอยเหมือนที่ยูเครนเผชิญจากรัสเซียได้

เป็นผลให้มอลโดวาต้องเรียกตัวเอกอัครราชทูตรัสเซียเข้าพบเพื่อแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อท่าทีความเห็นของมินเนคาเยฟ

 

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักเข้าใจกับดินแดนที่เรียกว่าทรานส์นิสเตรีย กันก่อนว่ามีความสำคัญเกี่ยวข้องอย่างไรทั้งกับมอลโดวาและรัสเซีย

โดยต้องย้อนดูถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศมอลโดวา ชาติเล็กๆ ในยุโรปตะวันออกที่ไม่มีทางออกทางทะเล ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างยูเครนและโรมาเนีย

ซึ่งหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ระหว่างสาธารณรัฐมอลโดวาที่แยกตัวเป็นรัฐเอกราชใหม่ กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคทรานส์นิสเตรีย ซึ่งต้องการธำรงความสัมพันธ์กับโซเวียตเอาไว้

นั่นทำให้ทรานส์นิสเตรีย ดินแดนเล็กๆ ที่ทอดตัวยาวอยู่ตรงแนวชายแดนทางตะวันออกของมอลโดวาติดกับภาคตะวันตกของยูเครน ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากมอลโดวาในปี 1992 หลังการทำสงครามสั้นๆ ที่มีกองกำลังรัสเซียร่วมเคียงข้างกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในทรานส์นิสเตรีย ทำสงครามสู้รบกับกองทัพมอลโดวา

ทว่า ไม่มีประเทศใดที่ให้การรับรองการประกาศตัวเป็นรัฐอิสระของทรานส์นิสเตรีย แม้กระทั่งรัสเซียเอง

ทรานส์นิสเตรียยังตั้งอยู่ห่างจากกรุงคีชีเนา เมืองหลวงของมอลโดวา ไปเพียงราว 80 ก.ม. ปัจจุบันมีประชากรอยู่ราว 500,000 คน โดยยังมีทหารรัสเซียประจำการอยู่ที่นั่นมาเป็นเวลาหลายสิบปีในฐานะ “ผู้รักษาสันติภาพ”

มีการประเมินว่าปัจจุบันมีทหารรัสเซียประจำการอยู่ในทรานส์นิสเตรียราว 1,500 นาย

 

การทำสงครามบุกยูเครนที่วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เรียกขานว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ครั้งนี้โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อมุ่งขจัดการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกในยุโรปตะวันออก ที่รัสเซียถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของตน ได้จุดความประหวั่นพรั่งพรึงให้กับชาติเพื่อนบ้านเล็กๆ อย่างมอลโดวาว่าจะโดนรัสเซียบุกรุกรานอธิปไตยเหมือนยูเครน โดยเริ่มจากการยึดครองดินแดนทรานส์นิสเตรียก่อนได้ โดยใช้ประเด็นกล่าวอ้างว่ามีการกดขี่ผู้ที่ใช้ภาษารัสเซียในดินแดนนั้นๆ มาเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมในการทำสงครามรุกราน เหมือนอย่างในไครเมีย ดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นของตนเองไปแล้วในปี ค.ศ.2014 และในแคว้นโดเนตสค์และแคว้นลูฮานสค์ ในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน ที่รัสเซียยื่นมือเข้าไปแทรกแซงและให้การรับรองการประกาศเป็นรัฐอิสระของทั้งสองแคว้นดังกล่าวไปไม่กี่วันก่อนหน้าที่ปูตินจะเปิดฉากสงครามยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อันโตน บาร์บาชิน นักวิเคราะห์ทางการเมืองจากริดเดิล วารสารออนไลน์ของรัสเซีย กล่าวว่า แนวคิดของรัสเซียที่ต้องการสร้างการเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์กับภูมิภาคทรานส์นิสเตรียนั้น เป็นวาทกรรมที่มีมานานตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ด้วยรัสเซียพยายามที่จะรักษาอิทธิพลในยุโรปตะวันออกเอาไว้หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย โดยการให้ความสนับสนุนช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างก๊าซธรรมชาติ

แต่บาร์บาชินมองว่า ทรานส์นิสเตรียไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับรัสเซียมากขนาดนั้น ฉะนั้น การจะส่งกำลังทหารรัสเซียไปที่นั่นเพื่อหมายครอบครองในตอนนี้จะยิ่งเป็นปัญหาสำหรับรัสเซียมากกว่า ที่อาจทำให้รัสเซียเผชิญการถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติมากขึ้น

และยังจะทำลายความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับมอลโดวา ที่แม้จะได้ยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ไปแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แต่มอลโดวาได้ประกาศย้ำชัดถึง สถานะความเป็นกลางของตนเองไว้อย่างชัดเจน และยืนยันว่ามอลโดว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เหมือนอย่างที่ยูเครนดำเนินความพยายามอย่างมากก่อนหน้านี้ ก่อนที่รัสเซียจะเปิดศึกสงครามก็ตาม

 

ขณะที่ไมเคิล คอฟแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียจากองค์กรวิจัยไม่แสวงผลกำไรแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ก็มองว่ากองทัพรัสเซียยังไม่มีความสามารถจะบุกโจมตีไปได้ไกลถึงขั้นนั้นในตอนนี้ ซึ่งเป็นไปได้มากกว่าที่จะมีขึ้นหลังจากการโจมตีดอนบาสแล้ว

อย่างไรก็ดี มิไฮ ป๊อปซอย รัฐมนตรีต่างประเทศของมอลโดวาออกโรงแสดงท่าทีว่ามอลโดวาพิจารณาท่าทีของผู้บัญชาการทหารระดับสูงรัสเซียอย่างจริงจัง ที่อย่างน้อยแสดงให้เห็นเจตนามุ่งมั่นของรัสเซียที่ต้องการทำให้มอลโดวาและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เกิดความหวั่นกลัว

แม้ความหวั่นกลัวถึงการรุกรานอธิปไตยจะยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ แต่อนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ หากผู้นำรัสเซียอย่างปูติน ฝันอยากย้อนเวลากลับไปสู่ความยิ่งใหญ่เหมือนสหภาพโซเวียตในอดีต!