ใครกันแน่ ‘ที่ไม่พร้อม’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ใครกันแน่ ‘ที่ไม่พร้อม’

 

แม้ในความเป็นไปของการเมืองไทยจะชัดเจนถึงเจตนาพาหันหลังเข้าคลอง จาก “อำนาจประชาชน” ที่เคยพัฒนามา ถูกนำสู่อำนาจที่สั่งการเบ็ดเสร็จจากส่วนกลาง ซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นชัดๆ ในหลายเรื่อง

แต่ในความเป็นไปเช่นนั้น กลับมีความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจรวมศูนย์อย่างเข้มข้นและเกรี้ยวกราด ไม่เพียงพลังของคนรุ่นใหม่ หนุ่ม-สาวเท่านั้นที่ลุกขึ้นมาสู่เพื่อสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม ปฏิเสธอำนาจรวมศูนย์อย่างแหลมคนเท่านั้น

กลุ่มการเมืองใหม่อย่าง “คณะก้าวหน้า” ภายใต้การนำของ “มหาเศรษฐีหนุ่ม” อย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่เอาสถานะของตัวเองมาเสี่ยงอย่างไม่ยอมจำนน

แม้จะถูกไล่ล้างทำลายรุนแรงในหลายเรื่อง ยังร่วมเดินหน้ารณรงค์ให้รื้อกติกาเพื่อรับการกระจายอำนาจเต็มกำลัง

ด้วยการเดินสายทั่วประเทศ จัดเวทีชี้ให้เห็นความอัปลักษณ์ของ “อำนาจรวมศูนย์” ที่ดูดซับทรัพยากรของชาติมาบำรุงบำเรอคนบางกลุ่ม

โดยไม่เพียงปล่อยให้คนต่างจังหวัดซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องเสียเปรียบ ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม

ซ้ำยังต้องรับผลกระทบจากผลพิษ หรือความเสื่อมทรามของทรัพยากรในพื้นที่อย่างไร้การเหลียวแล

 

รูปธรรมหนึ่งของเสียงเรียกร้องให้ “กระจายอำนาจ” กำจัด “อำนาจรวมศูนย์” คือการเลือก “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ให้การปกครองในต่างจังหวัดเหลือระบบเดียว ไม่ใช่ซ้ำซ้อนโดยมีทั้ง “การปกครองส่วนภูมิภาค” และ “การปกครองส่วนท้องถิ่น” มาแย่งชิงอำนาจ และหน้าที่ของกันและกัน ซึ่งสร้างความเสียหายมากกว่าที่จะเป็นผลดี

“การจัดสรรรายได้ของแผ่นดินวันนี้ แบ่งเป็น 70% ให้ส่วนกลาง อีก 30% ให้ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งไปแบ่งกันเอง ถ้าคิดตามรายได้แผ่นดินของปีงบประมาณ 2565 คือ 2.49 ล้านล้านบาท จะมีเงินมาถึงท้องถิ่นเพียง 7 แสนล้านบาท เฉลี่ยไปในท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งเท่านั้น” คือข้อมูลที่ “ธนาธร” เอามาเปิดเผย

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดนิ้ ยังเป็นที่สงสัยว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” จะตามทันหรือไม่ การต่อสู้ที่มุ่งไปสู่การ “คืนอำนาจให้ประชาชน” คนส่วนใหญ่จะเข้าใจได้แค่ไหน

จนบ่อยครั้งที่อุปสรรคใหญ่ของการต่อสู้ คือข้ออ้างที่ว่า “ประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่เข้าใจ และมีภาพที่เป็นลบต่อนักการเมืองที่ถูกเรียกขานว่านักเลือกตั้ง”

น่าสนใจยิ่งว่า ความจริงเป็นไปตามข้ออ้างนั้นหรือไม่

 

ผลสำรวจล่าสุดเรื่อง “คนต่างจังหวัดอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเองหรือไม่” คำตอบคือ ร้อยละ 66.14 ตอบว่า “อยากมาก” ขณะร้อยละ 18.64 ค่อนข้างอยาก ที่ตอบว่าไม่อยากเลย มีแค่ร้อยละ 10.07 และร้อยละ 3.79 ไม่ค่อยอยาก ที่เฉยๆ อย่างไรก็ได้ ร้อยละ 1.36

เมื่อถามถึงความคิดเห็นว่า “การมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในจังหวัด กับการมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากส่วนกลางจะทำให้ผลของการพัฒนาจังหวัดมีความต่างกันหรือไม่”

ร้อยละ 57.80 ตอบว่ามีความต่างอย่างมาก และร้อยละ 27.05 บอกค่อนข้างมีความแตกต่าง มีแค่ร้อยละ 8.71 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่ต่างเลย และร้อยละ 5.91 เห็นว่าไม่ค่อยต่าง และร้อยละ 0.53 ตอบว่าไม่แน่ใจ

หากประเมินเอาจากผลสำรวจนี้ ย่อมชัดเจนว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” พร้อมที่จะมี “ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง” และด้วยความเชื่อมั่นว่าจะแตกต่างจาก “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่แต่งตั้งจาก “ศูนย์อำนาจกลาง”

ข้ออ้างที่บอกว่า “ประชาชนไม่พร้อม” จึงน่าจะเป็น “มโน” กันไปเอง

ประชาชนพร้อมที่จะใช้อำนาจที่เท่าเทียม ด้วยความเชื่อว่าดีกว่า