แม่พระ ‘ธรณี’ ไหว/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

แม่พระ

‘ธรณี’ ไหว

ขับเคลื่อนจากปมอื้อฉาวของนายปริญญ์ พานิชภักดิ์

ไปสู่ปมการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อย่างเข้มข้นเต็มที่แล้ว

แถมยังไม่รู้จะบานปลายไปถึง และจะจบลงไปอย่างไร

อย่างที่ทราบกัน เรื่องนี้ปะทุใหญ่โตขึ้นมา

ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากกรณีไลน์หลุดของนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่โยนระเบิดเข้ากลางวงประชาธิปัตย์

ด้วยการตั้งข้อสงสัยว่า การที่คนในพรรคหยิบเรื่องนายปริญญ์ขึ้นมาขยายใหญ่

โดยเฉพาะการสอบจริยธรรมนั้น

นางมัลลิกาตั้งคำถามว่า “พฤติกรรมของคนหนึ่งคนควรถูกสอบจริยธรรมทั้งกรรมการบริหารพรรครึ? แปลว่าอยากอะไร? อยากเปลี่ยนหัวหน้าพรรค? อยากเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค หรืออยากอะไร?”

“เรื่องนี้เป็นกระบวนการหรือเปล่า”

นอกจากนางมัลลิกาตั้งคำถามถึงกระบวนการโค่นนายจุรินทร์แล้ว

ยังพาดพิงไปยังเรื่องการมุ้ง เรื่องกิ๊ก เรื่องชู้ในพรรคอีกด้วย

พร้อมตั้งคำถามเสียดหัวใจ

“แบบนี้ เราต้องสอบจริยธรรมไหม…ใครจะสอบ”

 

ประเด็นฉวัดเฉวียนทั้งเรื่อง “การเมือง-การมุ้ง” นี้เอง

แม้จะนำไปสู่การตั้งกรรมการขึ้นมาสองชุดเพื่อยุติเรื่อง

ชุดหนึ่ง คณะกรรมการกำหนดแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งคงจะโยงถึงการรับนายปริญญ์เข้าประชาธิปัตย์

อีกชุดหนึ่ง คณะกรรมการตรวจสอบการให้ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และการนำข้อมูลภายในพรรค ปชป.ไปเผยแพร่ทำให้พรรคได้รับความเสียหาย

เช่นกัน ถึงจะไม่ระบุว่าสอบใคร แต่ก็ย่อมหมายถึงนางมัลลิกานั่นเอง

แต่กระนั้น ดูเรื่องไม่อาจจบลงง่ายๆ

ไม่อาจจบง่ายๆ เช่นเดียวกับที่นายปริญญ์ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรค

ไม่อาจจบง่ายๆ เช่นเดียวกับที่นายจุรินทร์ออกมาขอโทษและเสียใจอย่างสุดซึ้งกับกรณีของนายปริญญ์ ที่ตนเองมีส่วนสำคัญในการดึงเข้ามาในพรรค และให้บทบาทสำคัญ ทั้งเป็นหัวหน้าทีอเวนเจอร์ส ดูแลเศรษฐกิจใหม่ของพรรค ทั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค ที่ขาดคุณสมบัติ แต่ก็ใช้มติพรรคยกเว้นข้อบังคับให้ ทั้งเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

และไม่อาจจบง่ายๆ เมื่อนางมัลลิกาได้ตัดสินใจลาออกจาก “กรรมการบริหาร”

ไม่จบ เพราะถูกมองจากคนในพรรคอีกฝ่ายหนึ่งว่า เป็นการลาออกเพียงเพื่อลดความกดดันที่ถาโถมเข้าใส่นายจุรินทร์ และคนใกล้ชิดเท่านั้น

มิใช่เป็นการยอมรับผิดกรณีกล่าวหาคนในพรรค

 

ขณะเดียวกัน วิธีการ “ลาออก” ดังกล่าวยังถูก “หยิบ” มาย้อนศรจากคนในพรรค เพื่อเป็นช่องเขย่าเก้าอี้นายจุรินทร์อีกด้วย

ทั้งนี้ ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 37(3) ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะจะต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด

ข้อมูลล่าสุด จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นประกาศ ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

ระบุว่า คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จํานวนทั้งสิ้น 37 คน ได้แก่

1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค

2.นายนราพัฒน์ แก้วทอง 3.นายไชยยศ จิรเมธากร 4.นายสาธิต ปิตุเตชะ 5.นายเดชอิศม์ ขาวทอง 6.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ 7.นายนิพนธ์ บุญญามณี 8.นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ 9.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 10.นายอลงกรณ์ พลบุตร 11.นายกนก วงษ์ตระหง่าน 12.นายสรรเสริญ สมะลาภา 13.นายอัศวิน วิภูศิริ 14.นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ทั้งหมดเป็นรองหัวหน้าพรรค

15.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค

16.นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร 17.นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ 18.นายชัยชนะ เดชเดโช 19.นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ 20.นายธนา ชีรวินิจ 21.พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ทั้งหมดเป็นรองเลขาธิการพรรค

22.นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ เหรัญญิกพรรค 23.นายวิรัช ร่มเย็น นายทะเบียนสมาชิกพรรค 24.นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค

25.นางขนิษฐา นิภาเกษม 26.นางกษมา วงศ์ศิริ 27.นายชวลิต รัตนสุทธิกุล 28.นายถนอมศักดิ์ แป๊ะเส้ง 29.นายทวีโชค อ๊อกกังวาล 30.นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ 31.นางสุพัชรี ธรรมเพชร 32.นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล 33.นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ 34.นางสาวรัชดา ธนาดิเรก 35.น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล 36.น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ 37.นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ทั้งหมดเป็นกรรมการบริหารพรรค

หากคนเหล่านี้ลาออกเกินกึ่งหนึ่ง คือประมาณ 18 คน นายจุรินทร์และกรรมการบริหารพรรคก็ต้องพ้นตำแหน่ง

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน นายปริญญ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นรองหัวหน้าและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 14 เมษายน 2565 หลังตกเป็นข่าวอื้อฉาว

ขณะที่นางมัลลิกาได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 23 เมษายน

หลังจากนั้น ก็เกิดลาออกตามมา แต่คราวนี้มิใช่ฝั่งฟากของนายจุรินทร์

หากแต่เป็นฝ่ายที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในพรรค

โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ประกาศลาออกจาก “รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” เพื่อตั้งคำถามต่อมาตรฐานความรับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้บริหารพรรคและหัวหน้าพรรค

พร้อมกับกระแสข่าวว่า จะมีกรรมการบริหารพรรคหญิง 7 คนลาออกด้วย

แต่ปรากฏมีข่าวว่ามีการล็อบบี้จากฝ่ายนำของพรรค ยับยั้งไว้ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผู้ฉวยโอกาส “เอาอย่าง” ด้วยการลาออก

ซึ่งหากไหลออกเกินกึ่งหนึ่งจะกระทบกับกรรมการบริหารทั้งชุด

จึงมีการสกัด “ลัทธิเอาอย่าง” เต็มที่

ที่สุดกรรมการบริหารพรรคที่เป็นสตรี เปลี่ยนใจอยู่ในตำแหน่งต่อ

ยกเว้น น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ที่ยืนยันว่าได้เขียนใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารแล้ว แต่ยังไม่ออกทันที จะรอหลังวันที่ 22 พฤษภาคม รอให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ผ่านไปก่อน

ทำให้เกมที่จะให้กรรมการบริหารพรรคลาออกเกินกึ่งหนึ่งคือ 18 คน ตอนนี้ยังคงไม่บรรลุเป้า

 

แต่กระนั้น กระแสรุกเร้า กดดันผู้บริหารชุดปัจจุบัน ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น

ที่ขับเคลื่อนคู่ขนานกันไป นั่นก็คือ การแสดงจุดยืนไม่ร่วมทำงานกับพรรคอีกแล้ว

โดยล่าสุด นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรค ยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

ตอกย้ำภาวะ “เลือดเก่าไหลออก” ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ทำให้การดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคของนายจุรินทร์ในรอบกว่า 3 ปี มีแกนนำคนสำคัญได้ลาออกจากสมาชิกพรรคอย่างไม่ขาดสาย

ไม่ว่า นายกษิต ภิรมย์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายกรณ์ จาติกวณิช นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นพ.ปรีชา มุสิกุล นายวิฑูรย์ นามบุตร นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายไพร พัฒโน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายอภิชัย เตชะอุบล

และคาดว่ายังจะมีคนลาออกอีกไม่น้อย

 

ภาวะระส่ำระสายนี้เอง ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำพรรคใหม่

ที่มีการจับตากันมากก็คือการเคลื่อนไหวของบรรดา ส.ส.และสมาชิกที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ให้คัมแบ๊กมากอบกู้พรรค

อย่างนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ทื่เป็นหนึ่งเดียวที่ลุกขึ้นซักถามกรณีนายปริญญ์ กลางที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์

และเรียกร้องการรับผิดชอบของหัวหน้าพรรค โดยอ้างว่าเพราะบุคคลที่ก่อเหตุล้วนเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดของหัวหน้าพรรคทั้งสิ้น

“ในความรู้สึกของประชาชนคือควรลาออก หรือการแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ อันจะทำให้เป็นการยุติปัญหาได้” นายสาทิตย์กล่าวยืนยัน

เช่นเดียวกับนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จี้ว่าการรับผิดชอบด้วยการลาออก ไม่ใช่เป็นการทิ้งปัญหา หรือหนีปัญหา พรรคประชาธิปัตย์คือสถาบันการเมือง ที่ควรยืนหยัดในหลักการ ไม่ใช่ตัวบุคคล

สอดคล้องกับนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่เคยถือว่าเป็น “โฆษกมาร์ค” แสดงความผิดหวังต่อการประชุมใหญ่พรรคเมื่อ 23 เมษายน ที่ไม่มีอะไรในกอไผ่ คนที่อยากเห็นคณะกรรมการบริหารพรรคลาออกทั้งชุด ได้เพียงแต่ฝันค้าง

อย่างไรก็ตาม แม้สมาชิกประชาธิปัตย์ “สายอภิสิทธิ์” ต้องการให้ผู้ตนสนับสนุนกลับมา แต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังเก็บตัวเงียบ ไม่ได้แสดงท่าทีอะไรออกมา

แต่การเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์ ย่อมต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดนับแต่จากนี้

เพราะหากกลับมาจริง จะกลายเป็นอีกขั้วในพรรค ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งยุติลงหรือไม่

นอกจากนี้ ที่สำคัญจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ คือ “ไม่รับ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดเจน

จุดยืนนี้หากนายอภสิทธิ์มานำพรรค ประชาธิปัตย์จะมีจุดยืนในการร่วมรัฐบาลอย่างไร

นี่คือคำถามที่ต้องลามจาก “ภายใน” พรรค ไป “นอก” พรรคอย่างมีนัยสำคัญ

 

ทําให้นอกจากชื่อของนายอภิสิทธิ์ ที่มีเงื่อนไขใหญ่ในการกลับมา

จึงมีการขานชื่อบิ๊กเนมขึ้นมาอีกคนหนึ่งคือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค

ในฐานะคนกลาง ผู้อาวุโสและมากล้นด้วยบารมี

ที่น่าจะช่วยทำให้พรรคกลับมามีเอกภาพอีกครั้ง

ซึ่งไม่เพียงคนในพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนเท่านั้นที่เสนอ

แม้แต่คนนอกพรรคอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้ความเห็นว่าโดยส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคหรือออกมาแสดงความรับผิดชอบก็จะทำให้สถานการณ์ของพรรคกลับไปเป็นเหมือนเดิม

ทั้งนี้ “หากนายชวนยอมเหนื่อยอีกสักรอบ ลงมาดูแลพรรคด้วยตัวเอง อาจจะเรียกขวัญ เรียกกำลังใจบรรดาสมาชิกพรรคที่ยังเหนียวแน่นอยู่กับพรรคต่อไป”

 

อย่างไรก็ตาม นายชวนซึ่งมากด้วยประสบการณ์ และจัดเจนทางการเมือง ไม่ขานรับข้อเสนอดังกล่าว

โดยยืนยันต้องให้กำลังใจคนทำงาน

และยังพยายามขอร้องสมาชิกพรรคว่าในยามมีปัญหาจะทำอะไรให้คิดหน้าคิดหลังให้ดี อย่าไปกลัวปัญหา อย่าหนีปัญหา อยากให้สมาชิกตระหนักว่าหากมีอะไรก็อย่าไปซ้ำเติม ต้องช่วยเหลือกัน

นอกจากนี้ นายชวนยังเลือกที่จะยืนเคียงข้างนายจุรินทร์ ให้ทำงานในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

และที่สำคัญ นายชวนดูเหมือนจะต้องการสยบกระแสการผลักดันตนเอง หรือนายอภิสิทธิ์กลับเข้าไปนำพรรค

โดยบอกอย่างชัดเจนว่านายอภิสิทธิ์และตนช่วยสนับสนุนนายจุรินทร์จนชนะ

พร้อมทั้งยังบอกเข้าไปในพรรคด้วยว่า “ขอร้องสมาชิกพรรคหากไม่ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับพรรค ก็อย่าเป็นตัวถ่วงของพรรค อย่าคอยวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิเพียงอย่างเดียว ต้องพยายามหาทางช่วยเหลือ”

 

ท่าทีของนายชวนดังกล่าว ประกอบกับมีกลุ่มอดีต ส.ส.เหนือ โชว์ตบเท้าให้กำลังใจนายจุรินทร์

ทำให้นายจุรินทร์ดูจะสบายใจขึ้น โดยขอบคุณสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้กำลังใจ รวมถึงนายชวนด้วย

จึงบอกอย่างมั่นใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ คลี่คลายผ่านไปได้

ซึ่งถือเป็นความพยายามมองในแง่บวก

อันแตกต่างจากมุมมองหลายฝ่ายทั้งในและนอกพรรค ที่เห็นว่าปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ร้าวลึกอย่างหนักและปะทุออกมาอย่างต่อเนื่อง

เสมือนหนึ่งแผ่นดินไหวรุนแรง และมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ซึ่งหากแม่พระธรณีบีบมวยผม สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสัญลักษณ์ของพรรครับรู้ได้

ย่อมรู้สึกห่วงใย กรณี “ธรณีไหว” คราวนี้ที่หนักหน่วง ว่าพรรคภายใต้การนำของนายจุรินทร์ จะรับมือ “ไหว” หรือไม่