เมื่อทะเลเดือด/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เมื่อทะเลเดือด

 

เมื่อตอนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนก้าวสู่อำนาจปี 2012 ได้ไม่นาน เขาเขียนบันทึกทำนองว่า

“…มหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ เป็นพื้นที่มั่นคงของทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา…”

บันทึกของท่านผู้นำสูงสุดของจีนเวลานั้น เป็นข้อวิพากษวิจารณ์ที่ทำขึ้นในเวลาที่สหรัฐอเมริกากำลังพัฒนานโยบายและการดำเนินการด้านการต่างประเทศเพื่อ ปักหมุด (pivot) หรือ ปรับสมดุลใหม่ (rebalance) ในเอเชียแปซิฟิก ด้วยห่วงกังวัลถึงศักยภาพจีน ในการสร้างพื้นที่อิทธิพลในภูมิภาค อันสามารถก้าวมาไกลถึงหมู่เกาะแปซิฟิก

โดยในเวลานั้น นโยบายแปซิฟิกของจีน รวมทั้งข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) เป็นเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจ มากกว่าใช้ ข้อริเริ่มนี้เพื่อยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการทหารอย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญก็เกิดขึ้น

 

ความเปลี่ยนแปลง

มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากเกิดขึ้น เมื่อการทูตระหว่างจีน-ไต้หวัน ได้ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ เมื่อ Tsai Ing-wen ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในปี 2016 ในอีก 3 ปีต่อมา รัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการโน้มน้าว 2 รัฐในหมู่เกาะแปซิฟิกคือ Kiribati และหมู่เกาะ Solomon ให้เปลี่ยนมารับรองไทเปมาเป็นปักกิ่ง1

แล้วเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา การออกแบบทางการเมืองของจีนในแปซิฟิกเผยออกมา เมื่อร่างข้อตกลงด้านความมั่นคงระหว่างจีนกับรัฐบาลหมู่เกาะ Solomon รวมทั้ง บทว่าด้วยที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจีนใน Solomon และอนุญาตให้เรือจีนใช้ขนถ่ายสัมภาระต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

ข่าวนี้เป็นคำเตือนสำคัญต่อภูมิภาค โดยเฉพาะต่อมหาอำนาจในภูมิภาคทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แม้ประธานาธิบดีของ Solomon คือประธานาธิบดี Manassek Sogavane ออกมายืนยันว่า การเจรจานี้ไม่รวมความเป็นไปได้ของการมีกองทัพเรือจีนอย่างถาวร

ทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แสดงความกังวลมากว่า ถึงกระนั้น นี่คือการจัดตั้งการปรากฏตัวของกองทหารจีนในแปซิฟิกภายใต้ข้อตกลงนี้

สหรัฐอเมริกาไม่ละเลยความสนใจ มีแผนงานที่เจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมทั้งขาใหญ่อย่างนาย Kurt Campbell ที่ใครๆ เรียกเขาว่า Indo-Pacific czar เดินทางมาพูดคุยเกี่ยวกับความมั่นคงของ Solomon

สำหรับสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย แนวโน้มของจีนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในแปซิฟิก ยืนยันข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบาทจีนนั่นเอง ในกลุ่มของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในแปซิฟิกนั้น จำเป็นต้องจัดให้มีการจัดหาความช่วยเหลือด้านความมั่นคง มีความชัดเจนและบอกเป็นนัยว่า จีนไม่ได้อยู่ร่วมในชาติพันธมิตรนี้

สำหรับพวกที่เชื่อเรื่องลัทธิขยายอิทธิพล (expansionism) เห็นว่า การขยายบทบาทของจีนเข้ากันไม่ได้กับวิสัยทัศน์ เสรีและเปิดของอินโดแปซิฟิก (Free and Open Indo-Pacific) แต่เป็นการคุกคามอำนาจเดิมของออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา และขยายสู่นิวซีแลนด์ด้วย

 

การตอบสนองของออสเตรเลีย

เมื่อมีข้อมูลหลุดออกมาจาก ดีลข้อตกลงความมั่นคงจีน-Solomon ย่อมทำให้รัฐบาลออสเตรเลียที่นำโดยนายกรัฐมนตรี Scott Morrison กังวลใจมาก

แปซิฟิกเป็นภูมิภาคสำคัญหลักของออสเตรเลียเรื่อยมา ทั้งจากรัฐบาลออสเตรเลียชุดที่แล้วภายใต้นโยบาย 2016 Pacific Step up การให้ความช่วยเหลือด้านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ปรับปรุงท่าอากาศยาน การลงทุนด้าน เคเบิล อินเตอร์เน็ตใต้น้ำให้กับประเทศ Micronesia, Kiribati และ Nauru

ออสเตรเลียยังให้ความสำคัญต่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก เพราะความต้องการด้านแรงงานซึ่งออสเตรเลียขาดแคลนอย่างมาก2

แต่ในเวลาเดียวกัน การเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลียในเดือนพฤษภาคมนี้มีความสำคัญต่อนายกรัฐมนตรีมอริสันอย่างมาก ดังนั้น ประเด็นเรื่องแปซิฟิกย่อมสำคัญต่อชัยชนะการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

แต่ประเด็นข้อตกลงความมั่นคงจีน-Solomon ย่อมทำให้นายกรัฐมนตรีท่านนี้ต้องทำให้ทุกอย่างเป็นประโยชน์ต่อออสเตรเลียและตัวท่านในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียก่อนหน้านี้ก็แย่มากด้วย ในขณะที่ผู้สื่อข่าวออสเตรเลียประจำจีน 2 คนถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงจีน ทางตำรวจออสเตรเลียก็สอบสวนกลุ่มสนทนาใน Wechat โซเชียลมีเดียจีน โดยตำรวจเห็นว่า การสนทนานั้นมีส่วนสนับสนุนผลประโยชน์แห่งชาติของจีน หรือคือมีประเด็นด้านการจารกรรม สายลับ และกล่าวหาว่า จีนแทรกแซงการเมืองภายในออสเตรเลียด้วย

ซึ่งก็เป็นข้อกล่าวหาเดียวกันของรัฐบาลจีนต่อผู้สื่อข่าวออสเตรเลียในจีนเหมือนกัน

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนทางการทูตระหว่างสองประเทศที่แย่ลงเรื่อยๆ น่าจะมาจากจุดยืนทางการทูตของรัฐบาลออสเตรเลียที่สนับสนุนการสอบสวนหาต้นตอโรคระบาดโควิด-19 อันสร้างความไม่พอใจจากจีนเป็นอย่างมาก

ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลจีนได้บังคับใช้หลายๆ มาตรการต่อออสเตรเลีย การนำเข้าสินค้าของออสเตรเลีย เช่น เนื้อวัว ข้าวบาร์เลย์และไวน์ ที่มองได้ว่านี่เป็นการตอบโต้ของทางการจีน แล้วจีนยังเตือนนักท่องเที่ยวและนักศึกษาจีนในเรื่อง การเหยียดเชื้อชาติในออสเตรเลียอีกด้วย

ดังนั้น ข้อตกลงความมั่นคงจีน-Solomon จึงเป็นประเด็นที่กระตุ้นความบาดหมางระหว่างจีน-ออสเตรเลียอยู่แล้วทั้งเรื่อง สายลับ การแทรกแซงกิจการภายในของออสเตรเลีย ความไม่ชอบและระแวงจีน การกีดกันทางการค้า อันล้วนมีผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลียทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงด้านความมั่นคงจีน-Solomon เป็นอันตรายและเป็นการสถาปนาความมั่นคงด้านกายภาพจีนในแปซิฟิกมากกว่า เพราะย่อมขยายพลังอำนาจทางทหารและการเมืองทั่วภูมิภาคเลยทีเดียว

 

มองด้วย แว่นภูมิรัฐศาสตร์กว้างขึ้น

ดีลความมั่นคงระหว่างจีนและชาติในแปซิฟิกนี้ ตอบสนองโดยตรงต่อ ผู้ที่อยู่ที่นี่แล้วหรือ การฟื้นคืนชีพ กลุ่มความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะ AUKUS ซึ่งจีนได้ตอบโต้กลุ่มนี้มาตั้งแต่ต้นว่า เป็นพวก แนวความคิดแบบสงครามเย็น ที่บั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค รวมทั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลีเคลื่อนไหวเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา บางทีสาธารณรัฐเกาหลีอาจเข้าเป็นสมาชิก Quad ที่รวมสหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อเผชิญกับเป้าหมายจีน คือ อำนาจนำ (Hegemony) ในแปซิฟิกตะวันตก3

คำถามใหญ่ที่ควรดูต่อไปจาก ข้อตกลงด้านความมั่นคงจีน-Solomon คือ มันจะนำไปสู่ความตกลงด้านความมั่นคงและการติดอาวุธ กับชาติอื่นๆ ในแปซิฟิกอีกหรือไม่ ตามความเห็นของประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐ Micronesia ประธานาธิบดี David Pannnebo เห็นว่า จะเกิดความร่วมมือแบบพหุภาคีกับรัฐอ่อนแอในแปซิฟิก

ผลก็คือ ทำให้ออสเตรเลียชาติมหาอำนาจใหญ่ที่สุดของภูมิภาค อาจพิจารณาใหม่อีกครั้ง ต่อความพยายามเร่งด้านการทูตในแปซิฟิกและมีนโยบายที่ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและการทหารเพิ่มมากกว่าเดิม ทั้งนี้ ด้วยเป็นช่วงของการหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปในออสเตรเลีย

เรายังสังเกตเพิ่มได้ว่า รัฐสภาออสเตรเลียในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กำลังผลักดันอำนาจอ่อน (soft power) ในภูมิภาคนี้หลายด้าน และมีการกระจายความเชื่อมโยงอำนาจอ่อนกับประเทศต่างๆในแปซิฟิก ในประเด็นข้อตกลงด้านความมั่นคง จีน-Solomon ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียต้องแสดงให้เห็นว่า ออสเตรเลียมีนโยบายลดความสำคัญของจีนในภูมิภาคแปซิฟิกลงด้วย

ทะเลที่ร้อนอยู่แล้ว ร้อนขึ้นมาอีก

1Larisma Stunkel and Marc Lanteigne, “Now Australia and US will consider how to response, possibly intensifying the security competition in the Pacific”, The Diplomat 13 April 2022.

2Patricia O’Brien, “China-Solomon Islands Security Deal Changes Everything”, The Diplomat 5 April 2022.

3Philip Bowring, “Anti-China resistance grows in Asia-Pacific” Asia Sentinel 23 April 2022. : 1.