7 ปม ‘กทม.’ ต้องผ่าตัด / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

7 ปม ‘กทม.’ ต้องผ่าตัด

 

เหลือเวลาอีก 3 สัปดาห์ คนกรุงเทพฯ จะใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ คนที่ใช่ คนที่ชอบ ณ วันนี้ เชื่อว่าส่วนใหญ่รู้ในใจแล้วว่า เมื่อเดินเข้าไปในคูหาเลือกตั้งจะกาบัตรให้ผู้สมัครหมายเลขอะไร

สื่อหลายสำนักรวบรวมประเด็นปมปัญหาซึ่งเป็นเนื้อร้ายของ กทม.ที่ควรผ่าตัดปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ใครได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ต้องลงมือทำอย่างแน่นอนเพราะผู้สมัครบางคนใส่ปมปัญหาเหล่านี้ไว้ในนโยบายหาเสียงอยู่แล้ว

 

1.

“รถติด” เป็นปมปัญหาที่เรื้อรังมานาน ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทุกครั้ง นโยบายการแก้ปัญหารถติดจะถูกหยิบยกขึ้นมา แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีผู้ว่าฯ กทม.คนใดสามารถแก้ปัญหาจราจรได้สำเร็จแม้แต่คนเดียว

สาเหตุ “รถติด” นั้น มีรากปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผังเมือง ที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน เป็นเมืองหลวงที่อยู่ไปสร้างไป ไม่แบ่งโซน โซนไหนเป็นเขตชุมชนที่อยู่อาศัย เขตธุรกิจ หรือเขตอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความอลหม่าน มีทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ คอนโดมิเนียม โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาล สถานบันเทิง อาบอบนวด วัด ตึกแถว ตลาด บ้านจัดสรรสร้างปะปนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

จำนวนประชากรของ กทม.เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี กระทั่งทุกวันนี้มีไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร เมื่อไม่วางผังเมือง การขยายเมืองจึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง

ผู้คนกระจุกตัวอยู่กันมากๆ การเดินทางสัญจรกลายเป็นปัญหา เพราะระบบการขนส่งมวลชนไร้ประสิทธิภาพ รถเมล์ที่เก่าเขรอะ พ่นควันดำ คนขับไร้มารยาท ไม่สนกฎจราจร วิ่งไม่ตรงเวลา คนพากันซื้อรถยนต์ส่วนตัว ปัจจุบันมีรถยนต์ที่จดทะเบียนใน กทม.รวมแล้วกว่า 11 ล้านคน

ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด ใน กทม.มีรถยนต์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9 แสนคัน เพิ่งมาลดลงเหลือ 8 แสนกว่าคันในปี 2563

ถนนใน กทม.มีอยู่ราวๆ 4,000 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณรถยนต์ เท่ากับว่า 1 กิโลเมตรจะมีรถยนต์แออัดอยู่มากถึง 2,750 คัน สภาพความแออัดบนท้องถนนของ กทม.จึงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก

การสร้างถนนสายใหม่ๆ ใน กทม.มีความเป็นไปน้อยมากเนื่องจากราคาที่ดินสูงขึ้น การเวนคืนต้องใช้งบฯ สูงมาก เพราะฉะนั้น ทางออกต้องใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด การเชื่อมต่อระหว่างระบบราง เรือและรถเมล์โดยสารต้องเร่งทำอย่างรวดเร็วเพื่อลดปริมาณการจราจรที่แออัด

 

2.

อากาศเป็นพิษ เป็นปัญหาเชื่อมต่อจากปัญหาการจราจรที่ติดขัด

เมื่อต้นเดือนเมษายน ในการจัดอันดับคุณภาพอากาศ 10 อันดับเมืองของโลกที่มีมลพิษทางอากาศสูง พบว่า กรุงเทพฯ อยู่ที่อันดับ 5

ถ้าผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่สามารถแก้ปัญหาจราจร ลดจำนวนรถยนต์ที่แออัดบนท้องถนนลงได้

จะช่วยลดปัญหามลพิษในอากาศคุณภาพอากาศใน กทม.ดีขึ้น

 

3.

ทางเท้า เป็นหนึ่งในปมปัญหาจากการสำรวจความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า คน กทม.ไม่พอใจกับสภาพทางเท้าที่ขรุขระ ไม่เรียบเนียน ชำรุดพัง ฝาท่อระบายน้ำแตก มีหลายพื้นที่ทางเท้ากลายเป็นที่จอดรถยนต์ เป็นทางวิ่งของมอเตอร์ไซค์ และหาบเร่แผงลอย

ในหลายประเทศให้ความสำคัญกับทางเท้าอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการสัญจร บางแห่งสร้างทางเท้ากว้างมากเพื่อให้ผู้คนได้เดินพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และเป็นทางร่วมจักรยาน

ในการหาเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ “ซาดิก ข่าน” ซึ่งได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีสมัยที่สอง ประกาศนโยบายจะทำให้กรุงลอนดอนเป็นเมืองหลวงปลอด “คาร์บอน” ในอีก 10 ปีข้างหน้า

“ข่าน” ประกาศสร้างทางเท้าและเลนจักรยานทั่วกรุงลอนดอนเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า เพื่อลดการใช้รถยนต์ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมสุขภาพร่างกายของประชาชน

 

4.

ขยะ เป็นปัญหาเรื้อรังของ กทม. ยังไม่มีผู้ว่าฯ กทม.คนใดแก้ปัญหาได้สำเร็จ ปริมาณขยะในเมืองหลวงแห่งนี้มีอยู่ราวๆ 10,000 ตัน เฉลี่ยชาว กทม.ผลิตขยะ 1.6 กิโลกรัมต่อวัน

กทม.ต้องใช้งบประมาณในการจัดเก็บขยะเฉลี่ยปีละ 6,800 ล้านบาท แต่มีรายได้จากการเก็บแค่ 530 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนแค่ 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แนวทางในการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือ “3 R” ลดปริมาณขยะ (Reduce) นำขยะมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำขยะมาแปรรูปกลับไปใช้อีกครั้ง (Recycle)

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่จะต้องใช้พลังชักชวนให้ชาวกรุงเทพฯ ร่วมกันใช้แนวทาง 3 R ควบขนานไปกับระบบการจัดเก็บและกำจัดขยะ เพื่อลดปริมาณขยะ ทำให้กรุงเทพฯ สะอาดและน่าอยู่

 

5.

พื้นที่สีเขียว

ใน กทม.ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

การสร้างพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่แค่เอากระถางต้นไม้มาวางไว้บนเกาะกลางถนน

หรือปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

แต่ต้องเพิ่มปริมาณการปลูกต้นไม้ใหญ่หลากหลายพันธุ์ในทุกพื้นที่

ให้มีความเขียวชอุ่ม

 

6.

ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน

ชาว กทม.มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินหรือแม้กระทั่งในการเดินทาง เนื่องจากเมืองหลวงแห่งนี้เป็นแหล่งปัญหาอาชญกรรม

มีสถิติการเกิดอาชญากรรมสูงสุดในประเทศ ในคดีโจรกรรมรถยนต์มอเตอร์ไซค์ คดียาเสพติดและคดีลักทรัพย์

การแก้ปัญหาเบื้องต้นเพื่อลดอาชญากรรมต้องปรับปรุงโครงสร้างโครงสร้าง เช่น ติดตั้งไฟส่องสว่าง ระบบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ตรอกซอยต่างๆ

 

7.

ค่าครองชีพสูง เป็นอีกปัญหาของชาว กทม. เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีภาวะฝืดเคืองประกอบกับวิกฤตโรคระบาด ประชาชนจำนวนมากตกงาน รายได้ลดลงขณะที่รายจ่ายสูง สินค้าพากันเขย่งขึ้นราคา

การเลือกตั้งผู้บริหารเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ต่างเสนอวิสัยทัศน์ทำอย่างไรจึงจะให้เมืองนั้นๆ กลายเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยวหรือการเงิน

อย่างเช่นนายซาดิก ข่าน เสนอนโยบายสร้างงานให้กับชาวลอนดอนเพิ่มขึ้น 17,000 ตำแหน่ง ในกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ การปรับปรุงอาคารประหยัดพลังงาน ทั้งช่วยให้คนมีงานทำ ประหยัดพลังงานและลดโลกร้อน

หรือนางยูริโกะ โคอิเกะ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สมัยที่ 2 ชูนโยบายปั้น “โตเกียว” ให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ของโลก สนับสนุนนโยบายเทคโนโลยีดิจิตอล พัฒนาชาวโตเกียวให้มีศักยภาพเชื่อมต่อกับยุคดิจิตอล สร้างเศรษฐกิจสตาร์ตอัพใหม่ๆ และแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวยุคใหม่หลังวิกฤตโควิด-19

ถ้าผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่แก้ปมต่างๆ พร้อมกับชูวิสัยทัศน์เพื่อปลุกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้ชาว กทม. ด้วยแนวทางอย่างนี้ จะเป็นความสำเร็จที่งดงาม •