‘ฉัตร’ และ ‘พระขรรค์’ สัญลักษณ์เก่าแก่ของอำนาจ และสิทธิธรรมของกษัตริย์ในอุษาคเนย์ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

‘ฉัตร’ และ ‘พระขรรค์’

สัญลักษณ์เก่าแก่ของอำนาจ

และสิทธิธรรมของกษัตริย์ในอุษาคเนย์

 

ในปัจจุบันนี้ วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันเมื่อระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ในเรือน พ.ศ.2562 ที่เพิ่งจะผ่านไปไม่นานนี้เอง

แต่ประเพณีวันฉัตรมงคลนี้ไม่ได้มีเก่าแก่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรอกนะครับ

เพราะเพิ่งจะเริ่มมีขึ้นเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 4 เท่านั้นเอง เนื่องด้วยทรงตระหนักว่านานาอารยประเทศนั้น เขาเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญแก่วันบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ เพราะในแง่หนึ่งการขึ้นครองราชย์และอาณาจักรของตะวันตกเป็นสัญญาสังคมอย่างหนึ่งระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระผู้เป็นเจ้าและราษฎร รัชกาลที่ 4 ทรงได้ริเริ่มให้มีวันฉัตรมงคลขึ้น

เล่าต่อๆ กันมาว่าเพราะเป็นธรรมเนียมใหม่ อธิบายให้ใครโดยทั่วไปฟังก็ไม่เข้าใจกันสักนิด แต่เผอิญวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม พระองค์ทรงได้อธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค ทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัยอีก

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามจะเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลเศวตฉัตร หลังจากที่พราหมณ์ร่ายเวทจนครบถ้วนกระบวนความแล้ว จึงรับถวาย “เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้า” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระมหากษัตริย์อันได้แก่ พระมหาพิชัยมกุฏ พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน เหล่านี่นี้เองคือเครื่องราชูปโภคที่รัชกาลที่ 4 ว่า

และความตรงนี้แหละครับที่น่าสนใจ เพราะพิธีในสมัยนั้นกระทำขึ้นโดยจัดให้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 (อันเป็นวันที่รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับการสมโภชฉัตร หรือเครื่องราชูปโภคใดๆ เลย?

การใช้ชื่อพระราชพิธีว่า “ฉัตรมงคล” จึงแสดงให้เห็นว่าตามธรรมเนียมแต่ดั้งเดิมของสยาม ฉัตรเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและบุญญาธิการของพระเจ้าแผ่นดินเสียยิ่งกว่า มงกุฎ พระขรรค์ หรือแม้กระทั่งบัลลังก์

และอันที่จริงแล้ว คติเรื่องเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นี้ ก็น่าจะเป็นความเชื่อ หรือระบบสัญลักษณ์ที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาพร้อมๆ กับการยอมรับนับถือเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาสมาทานใช้ในสังคมไทย

ดีไม่ดีก็อาจจะไม่ได้เก่าแก่ไปถึงยุคกรุงศรีอยุธยาเสียด้วยซ้ำ เพราะในหนังสือมหาวงศ์ อันเป็นพงศาวดารของลังกาทวีป แต่มีเนื้อหาที่สนิทแนบและใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา (แน่นอนว่า โดยเฉพาะพุทธศาสนาแบบที่เรียกกันว่า ลังกาวงศ์) ได้กล่าวถึงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของกษัตริย์ลังกาโบราณ (นัยว่าเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิราช) ที่ก็ประกอบไปด้วยเครื่องราชูปโภคทั้ง 5 ชนิดเดียวกับของไทยนี่แหละ

ที่สำคัญก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ได้โปรดฯ ให้มีการพงศาวดารของเกาะศรีลังกาฉบับนี้ และแปลออกมาเป็นภาษาไทย

ดังนั้น ถ้าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของยุคกรุงเทพฯ จะไปมีลักษณะต้องตรงกันกับของชาวลังกา ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก

 

แน่นอนว่า มีการพบชุดเครื่องสูงจำลองอยู่ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ที่เจ้าสามพระยาน่าจะสร้างให้พระราชบิดาของตนเองคือ สมเด็จพระนครินทราชา แถมเครื่องสูงจำลองที่ว่าเหล่านี้ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมบางอย่าง ที่จะสถาปนาดวงวิญญาณของสมเด็จพระนครินทราชา ให้เป็น “พระจักรพรรดิราช” ตามปรัมปราคติในพุทธศาสนา

แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า เครื่องสูงคือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลองเหล่านี้ มีขนาดเล็กกว่าของจริงมาก

ในขณะที่ “พระขรรค์” อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจกกุธราชภัณฑ์ ตามอย่างคติสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น กลับเป็นเครื่องราชูปโภคที่มีขนาดเท่าของจริงอยู่เพียงอย่างเดียวในกรุแห่งนี้

และควรสังเกตด้วยว่า ในรายชื่อเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของไทยนั้น มีการระบุชื่อของพระขรรค์ลงไปชัดๆ เลยว่าคือ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ในขณะที่ในหนังสือมหาวงศ์ของลังกานั้นไม่มีชื่อของพระขรรค์ระบุไว้

“พระแสงขรรค์ชัยศรี” เป็นชื่อที่ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม โดยมีข้อความระบุในทำนองว่า ผีฟ้าแห่งเมืองยโสธรปุระ (คือกษัตริย์แห่งนครธม) ได้มอบพระแสงขรรค์ชัยศรี พร้อมกับพระราชธิดาคือ ศิขรเทวี ให้กับพ่อขุนผาเมือง ส่วนในบันทึกของจิวตากวน ซึ่งได้เดินทางเข้าไปในนครธมเมื่อ พ.ศ.1839 นั้นระบุถึงข้อความตอนนี้ต่างออกไปว่า

“พระเจ้าแผ่นดินองค์พ่อตาทรงมีพระสิเนหาในพระราชธิดา พระราชธิดาจึงได้ทรงลักเอาพระขรรค์ทองคำไปให้พระสวามีเป็นเหตุให้พระโอรสาธิราชทางสืบสันตติวงศ์ต่อไปไม่ได้” (สำนวนแปลตามเฉลิม ยงบุญเกิด)

ความในบันทึกของจิวตากวนน่าสนใจนะครับ การที่ไม่มีพระแสงทอง หรือพระแสงขรรค์ชัยศรี แล้วสืบสันตติวงศ์ไม่ได้ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระแสงองค์นี้มีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจ หรือสิทธิธรรมในการครองราชย์และการปกครองของกษัตริย์ สัญลักษณ์ดังกล่าวย่อมตกทอดมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏชื่อพระขรรค์องค์นี้อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ด้วย ทั้งที่ไม่มีอยู่ในหนังสือมหาวงศ์นั่นเอง

 

ถึงแม้ว่า พระแสงขรรค์ชัยศรีจะเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ หรือสิทธิธรรมของกษัตริย์ของผู้คนแถบนี้มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.1800 หย่อนๆ จนกลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในภายหลังแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่ายังมีเครื่องราชูปโภคที่แสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นของอำนาจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งดูจะสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “ฉัตร”

และก็สำคัญมากพอจนทำให้รัชกาลที่ 4 ตั้งชื่อ “วันบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์” ว่า “วันฉัตรมงคล” เลยทีเดียว

อันที่จริงแล้ว การใช้ฉัตรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ไม่ได้มีอยู่เฉพาะชาวสยามแต่คงจะเป็นลักษณะโดยทั่วไปของชาวอุษาคเนย์ ภาพสลักที่ระเบียงคตปราสาทนครวัด แสดงภาพขบวนไพร่พลต่างๆ ที่มีอำนาจและฐานันดรลดหลั่นโดยใช้ฉัตรเป็นสัญลักษณ์มาตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ.1650 เป็นอย่างน้อย

แต่อะไรที่เรียกว่า “ฉัตร” ในภาพสลักที่ปราสาทนครวัดนั้น ไม่ได้ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ อย่างในปัจจุบัน แต่เป็นเหมือนร่มคันใหญ่ๆ หลายๆ คัน และดูเหมือนว่า ยิ่งใครมีร่ม หรือฉัตรมากแล้ว ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มากขึ้นไปด้วย ไม่ต่างอะไรกับจำนวนชั้นของฉัตรตามคติในปัจจุบัน

ลักษณะของฉัตรแบบดั้งเดิมนี้ยังมีร่องรอยตกค้างอยู่ใน เครื่องยศขุนนางบรรดาศักดิ์ที่ระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาลของกรุงศรีอยุธยา ที่ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ว่า ผู้มีศักดินา 5000 “ขี่ยั่วร่มทงยู” แปลว่า นั่งเครื่องแบกหาม และมีเครื่องบังแดดฝนที่เรียกว่า ร่มทงยู

ปราชญ์อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายไว้ในหนังสือที่ชื่อ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติเอาไว้ว่า “ทงยู” เป็นภาษาเขมร ปัจจุบันเขียน “ทำงยู” ออกเสียงว่า “เตียงยู” แปลว่า “ร่มกระดาษ” โดยจิตรได้สันนิษฐานต่อไปว่า คำว่า “ร่มทงยู” ในกฎมณเพียรบาลอยุธยานั้น ร่มทำจากกระดาษที่ใช้ประดับยศผู้มีศักดิ์ อย่างเดียวกับที่มีสลักอยู่ในระเบียงคตปราสาทนครวัดนั่นแหละครับ

เอาเข้าจริงแล้ว ร่มกระดาษที่เรียกว่า “ร่มทงยู” นั้นจึงเป็นเครื่องประดับยศเก่าแก่ของอุษาคเนย์ ที่พัฒนาความซับซ้อนของระบบสัญลักษณ์จนกลายมาเป็น “ฉัตร” อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอำนาจบารมีของกษัตริย์ในยุคต่อมา จนกลายมาเป็นเครื่องหมายสำคัญของการบรมราชาภิเษก จนรัชกาลที่ 4 ใช้ตั้งเป็นชื่อเรียกว่า “วันฉัตรมงคล” ในที่สุด •