‘พระบาง’ เสี้ยวศตวรรษ ณ กรุงสยาม (2) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘พระบาง’ เสี้ยวศตวรรษ

ณ กรุงสยาม (2)

 

ในเมื่อ “พระบาง” เคยประทับอยู่ในแผ่นดินสยามถึงสองครั้ง รวมแล้วเป็นเวลา 25 ปี (ทั้งกรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ)

แล้วเมืองเวียงจันท์เล่า ตกลงพระบางเคยประทับที่นี่กี่ปีกันแน่?

 

พระไชยเชษฐาองค์ไหนย้ายพระบาง

จากหลวงพระบางไปเวียงจันท์

จริงล่ะหรือ ต่อคำกล่าวที่ว่านับแต่รัชกาลของพระไชยเชษฐาธิราชเป็นต้นมา ทั้งพระแก้วมรกตและพระบางได้ถูกย้ายจากเมืองหลวงพระบาง ลงมาไว้ที่เวียงจันท์ โดยอ้างว่าเพื่อหนีการรุกรานของพม่า

หากจริง เหตุการณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นราว พ.ศ.2103-2104 ตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาลของพระไชยเชษฐาธิราช หลังจากที่ล้านนาแตกปี 2101 เลยทีเดียว

คำกล่าวนี้เราต่างเคยได้ยินได้ฟังกันในวงกว้างมาอย่างยาวนาน ครั้นเมื่อตรวจสอบกับเอกสารพงศาวดารต่างๆ ของฝ่ายลาว กลับพบว่า เอาเข้าจริงแล้ว พระไชยเชษฐาหาได้ย้ายพระพุทธรูปสำคัญองค์ใดจากหลวงพระบางมาไว้ที่เมืองเวียงจันท์เลยแม้แต่องค์เดียว

มีแต่การสร้างพระองค์หนึ่งชื่อ “พระบางควร” ต่อมาเรียกเป็น “บังพวน” ประดิษฐานไว้ที่พระธาตุบังพวน หนองคาย

แม้พระองค์จักสถาปนาเวียงจันท์เป็นเมืองหลวงแทน “เมืองเชียงทอง” (ชื่อเดิมของหลวงพระบาง) แต่พงศาวดารลาวระบุว่า พระไชยเชษฐาได้ยกสถานะของเมืองเชียงทอง จากราชธานีให้เป็น “เวียงพระธาตุศักดิ์สิทธิ์” แทน พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “หลวงพระบางราชธานีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว”

ทำนองเดียวกันกับการที่ หลังจากพระญามังรายได้สถาปนานครพิงค์เชียงใหม่เป็นเมืองหลวงแล้ว ก็ได้ประกาศให้ลำพูนหรือหริภุญไชยราชธานีดั้งเดิม กลายสถานะเป็นเวียงพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่ที่ขุนนางอำมาตย์ต้องมาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ล้านนาทุกพระองค์ต้องมากระทำพิธีบรมราชาภิเษกก่อนนั่งเมืองเชียงใหม่

อย่างไรก็ดี พระญามังรายได้อัญเชิญพระแก้วขาว เสตังคมณีจากลำพูนมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ด้วย ณ วัดเชียงหมั้น กรณีของพระไชยเชษฐานั้นเล่า จักคงสถานะของเวียงพระธาตุไว้เช่นไร? พระพุทธรูปองค์สำคัญจักให้คงอยู่ ณ เวียงพระธาตุที่เดิม หรือจักย้ายมาเป็นศูนย์รวมจิตใจ ณ ราชธานีใหม่?

พบเอกสารเพียงชิ้นเดียวที่อาจใช้ยืนยันว่า พระไชยเชษฐาได้อัญเชิญ “พระแก้ว” ลงมาไว้ที่เวียงจันท์ด้วย นั่นคือจารึกพระธาตุหลวงเวียงจันท์ เขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนา (หรือเรียกธัมม์อีสานก็ได้) ปี 2109 ในรัชกาลพระไชยเชษฐาธิราช บรรทัดที่ 20-23 มีข้อความว่า

มีการกัลปนาผู้คนจำนวนหนึ่ง (แค่ 10 คน) เอาไว้อุปัฏฐากดูแล “พระแก้ว” ณ วัดพระธาตุหลวงเวียงจันท์

ธีรานนท์ โพธะราช นักวิชาการด้านล้านช้างศึกษา วิเคราะห์ว่า “น่าสงสัยทีเดียวที่ทำไมจำนวนคนที่กัลปนาให้ดูแล “พระแก้ว” นั้นจึงน้อยมาก (หากเป็นพระแก้วมรกตจริง) ราวกับเป็นพระพุทธรูปไม่สำคัญ อีกประการคือ คำว่า “พระแก้ว” ในจารึกนี้ นอกจากจะเป็นพระแก้วมรกตแล้ว อาจหมายถึงพระแก้วองค์อื่นๆ อีกได้หรือไม่ เช่น พระแก้วขาว? ซึ่งตำนานฝ่ายเชียงใหม่ก็ระบุว่าพระไชยเชษฐานำเอาพระแก้วขาวจากล้านนาไปด้วย และอาจจะหลายองค์”

ธีรานนท์เห็นว่า มีหลักฐานชิ้นนี้เพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่ (อาจทำให้) เชื่อว่า “พระแก้ว” เสด็จมาประทับ ณ เวียงจันท์จริง ตั้งแต่สมัยพระไชยเชษฐาแล้ว ในขณะที่เอกสารเล่มอื่นๆ ทั้งหมดของฝ่ายลาว ที่เขียนในชั้นหลังนั้นล้วนแล้วแต่ระบุตรงกันว่า

ทั้งพระแก้ว (มรกต) พระบาง และพระแทรกคำ เพิ่งถูกอัญเชิญจากหลวงพระบางมาอยู่ที่เวียงจันท์ ในปี พ.ศ.2245-2246 นี่เอง อันตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์ที่มีชื่อคล้ายกันว่า “พระไชยเชษฐาธิราชที่ 2” หรือพระไชยองค์เว้ หากเทียบให้ง่ายคือ ตรงกับสมัยพระเพทราชาของกรุงศรีอยุธยา

เหตุการณ์ในลาวช่วงนั้น มีความขัดแย้งกันระหว่างหลวงพระบางกับเวียงจันท์อย่างรุนแรง กระทั่งมีการนำเอาพระพุทธปฏิมาสำคัญสามองค์จากหลวงพระบางมาไว้ที่เวียงจันท์ พระสามองค์นี้ได้แก่

พระแก้วมรกต ซึ่งพระไชยเชษฐาธิราช (1) ย้ายมาจากเชียงใหม่

พระแทรกคำ ก็ย้ายมาจากเชียงใหม่ (บ้างว่าได้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าโพธิสาลราชแล้ว บ้างว่าได้มาในสมัยพระไชยเชษฐา)

กับอีกองค์คือ พระบาง นั้น ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองอยู่ที่หลวงพระบางมาก่อนพระองค์อื่น แต่ก็ไม่ได้สร้างขึ้นในลาวเช่นกัน (ประวัติความเป็นมาว่าด้วยการสร้างพระบาง จักกล่าวถึงในฉบับหน้า)

กล่าวโดยสรุปก็คือ พระแก้วมรกต ประทับร่วมกันกับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง ระหว่าง พ.ศ.2103 จนถึง 2245 (ไชยเชษฐาธิราชที่ 1 ถึงไชยเชษฐาที่ 2 องค์เว้ หรือยุคก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 เล้กน้อยจนถึงยุคพระเพทราชา) รวมแล้วเป็นเวลาที่พระสององค์อยู่ด้วยกันในหลวงพระบางนานถึง 142 ปีโดยประมาณ

จากนั้น พระแก้ว-พระบาง ก็ถูกย้ายลงมาประทับพร้อมกันในนครเวียงจันท์ หากเชื่อตามพงศาวดารทุกฉบับ และตีความว่าจารึกพระธาตุหลวงเวียงจันท์ที่ปรากฏคำว่า “พระแก้ว” นั้นน่าจะหมายถึง พระแก้วขาวมากกว่า

กระทั่งพระสององค์อยู่คู่กันมาจนถึงปีที่พระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือรัชกาลที่ 1) มาตีนครเวียงจันท์แตก อัญเชิญพระแก้ว-พระบางไปในปี พ.ศ.2321 ช่วงปลายสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

สิริรวมอายุที่พระบาง-พระแก้ว อยู่ในเวียงจันท์ด้วยกันก็ราวๆ 76 ปี (ที่ต้องใช้คำว่าราวๆ เนื่องจากเอกสารแต่ละฉบับระบุปีศักราชที่พระไชยเชษฐาองค์เว้ ย้ายพระแก้ว-พระบางมาไว้เวียงจันท์ ไม่ตรงกัน)

จากนั้น พระแก้ว-พระบาง ก็ยังต้องอยู่ด้วยกันที่กรุงธนบุรีอีกประมาณ 5-6 ปี แล้วพระบางก็ถูกย้ายกลับไปเวียงจันท์ ในปี พ.ศ.2326 ตั้งแต่แรกเสวยราชย์ของรัชกาลที่ 1

น่าจะเป็นครั้งแรกที่พระแก้วกับพระบางถูกจับแยกกันอย่างเป็นทางการ หลังจากประทับด้วยกันอย่างยาวนานอยู่หลวงพระบางด้วยกัน ย้ายไปเวียงจันท์ด้วยกัน และย้ายมากรุงธนบุรีพร้อมกัน นับแต่ปี 2103 ที่พระไชยเชษฐานำพระแก้วมาจากเชียงใหม่ รวมเป็นเวลา 223 ปี

ดังนี้แล้ว วลีที่ว่า “ผีอารักษ์ของพระแก้ว-พระบางเป็นอริกัน” ตามคำพูดของเจ้านันทเสนนั้น เป็นจริงมากน้อยเพียงใดกันเล่า ในเมื่อห้วงเวลาที่ผ่านมา พระแก้วกับพระบางก็อยู่คู่กันมาตลอด ใช่ว่า พระไชยเชษฐาได้นำพระแก้วมรกตมาไว้ที่กรุงเวียงจันท์ก่อนพระบางตั้งนานนมแล้ว ก็หาไม่

เจ้าพระยาบดินทร์เดชานำพระบาง

มาเป็นองค์ประกันแทนเจ้าอนุวงศ์?

ตัดกลับมาสู่เนื้อหาที่พูดค้างไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ว่ารัชกาลที่ 1 ได้ส่งมอบพระบางกลับคืนไปสู่เวียงจันท์แล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า “ผีอารักษ์ของพระแก้ว-พระบาง ไม่ถูกกัน” ขืนยังฝืนนำพระสององค์ไว้เมืองเดียวกัน บ้านนั้นเมืองนั้นย่อมเกิดอาเพศ

แต่แล้ว เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมัยที่ดำรงยศเป็นพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก ผู้ได้รับมอบหมายจากรัชกาลที่ 3 ให้ไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันท์ ไฉนเลยจึงยังจะนำ “พระบาง” กลับมายังกรุงรัตนโกสินทร์อีก?

รู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจ ว่าหากนำพระบางมาอยู่คู่กับพระแก้ว บ้านเมืองอาจไม่สงบสุข ได้ไม่คุ้มเสีย

เมื่ออ่านพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี จึงทำให้พอจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของพระยาราชสุภาวดี ปี 2370 ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานนั้นได้ดีว่า

ในเมื่อพยายามค้นหาตัวเจ้าอนุวงศ์ไม่พบ ทราบว่าหนีไปอยู่ในแดนญวนแล้ว จะให้พระยาราชสุภาวดีกลับกรุงเทพฯ มือเปล่าได้กระไร แม่ทัพใหญ่ย่อมกระทำเช่นนั้นไม่ได้แน่ แม้นจักเคยได้ยินได้ฟังเรื่องอาถรรพ์ระหว่างผีอารักษ์ของพระแก้ว-พระบางมาก่อนแล้วก็ตาม

พระยาราชสุภาวดีจำต้องหา “สัญลักษณ์” อะไรบางอย่างที่เป็นหัวใจของเมืองลาว นำกลับมาถวายแด่รัชกาลที่ 3 แทนตัวเจ้าอนุวงศ์ให้จงได้ นั่นคือการสืบหาว่าพระบางถูกนำไปซ่อนไว้ที่ไหน เมื่อค้นพบแล้ว จึงได้นำพระบาง พร้อมด้วยพระแทรกคำและพระปฏิมาองค์อื่นๆ จำนวนหนึ่งกลับมากรุงเทพฯ ปรากฏว่า พระจากล้านช้างทั้งหมด ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้ประดิษฐานแถวรอบนอก ส่วนพระบางนั้น ให้ทำวิหารประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิ

คืออย่างไรเสียก็ไม่ยอมให้พระจากล้านช้างเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังอยู่ดี ด้วยได้ยินกิตติศัพท์สืบต่อๆ กันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้วว่า ไม่ควรนำพระบางไปไว้คู่กับพระแก้ว

 

ส่งคืนหลวงพระบาง ทำไมไม่คืนเวียงจันท์?

ในหนังสือ “ประชุมพระราชปุจฉา ภาคที่ 4” รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชปุจฉาถึงพระบางว่า

“พระบางเป็นพระพุทธรูปอัญเชิญลงมาแต่เมืองเวียงจันท์ ครั้นจะเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเล่า พระพุทธลักษณวิลาสก์ มิได้งามบริบูรณ์เหมือนด้วยพระพุทธรูปฉลองพระองค์ จะอัญเชิญไว้ด้วยกัน ก็จะไม่จำเริญพระเนตรเฉลิมพระราชศรัทธา”

ถ้อยคำนี้ชี้ชัดว่า พุทธลักษณะของพระบางหาได้มีความงามใดๆ เลยในสายพระเนตรกษัตริย์กรุงสยาม มิสมควรให้เข้าร่วมประดิษฐานไว้ในหมู่เดียวกันกับพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์อื่นๆ ในพระอุโบสถวัดพระแก้ว

การตำหนิเรื่องรูปลักษณ์ คำก็ไม่งาม สองคำก็ไม่งด ของพระบางซ้ำๆ อยู่เช่นนี้ เป็นเหตุให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึงกับปรารภว่าอยากเห็นองค์จริงของพระบางด้วยตาตัวเอง ดังความที่ปรากฏใน “สาส์นสมเด็จ” ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2482 ว่า

“เสียใจมากที่ไม่ได้ทราบลักษณะพระพุทธรูปที่เรียกว่า พระบาง ตัวเองก็ไม่เคยเห็น ฝ่าพระบาท (หมายถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ก็ตรัสบอกไม่ได้ ด้วยไม่เคยทอดพระเนตรเห็นองค์พระเหมือนกัน เลยไม่สามารถที่จะหยั่งถึงว่าเป็นของเก่าใหม่เพียงไร เป็นของทำเมืองขอมหรือในลาวกาว”

พระบางยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดจักรวรรดิราชาวาสมาจนถึงสมัยรัชกาลที่พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้กล่าวว่า

“ครั้นมาถึงเมื่อ ณ ปีขาล อัฐศก เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้รับเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงพระบางตามเดิม เจ้าอุปฮาดราชวงศ์ได้เชิญเสด็จพระบางออกจากพระวิหารวัดจักรวรรดิ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2408 …ไปประทับไว้ที่พระตำหนักน้ำ ทำการสมโภชอยู่ 3 วัน แล้วบอกบุญราชาคณะเปรียญฐานานุกรม สัตบุรุษแห่ขึ้นไปส่งเพียงปากเกร็ด”

นานเพียงใดแล้วเล่า ที่ “พระบาง” ถูกย้ายไปประทับอยู่ในเวียงจันท์ ธนบุรี กลับมาลาวครั้งแรกก็ยังอยู่เวียงจันท์ นำมากรุงเทพฯ อีก ในที่สุดก็ถูกส่งกลับคืนสู่อ้อมอกเมืองหลวงพระบางจนได้

เรื่องนี้น่าคิด ว่าเป็นเพราะราชสำนักสยามยังขุ่นข้องหมองใจต่อปมปัญหาเรื่องกบฏเจ้าอนุวงศ์อยู่อีกหรือเช่นไร จึงตัดสินใจมอบพระบางข้ามเวียงจันท์ขึ้นไปให้หลวงพระบางแทน? •