คอฟฟี่เบรก/ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (อาจารย์ฝรั่งของลูกศิษย์)

คอฟฟี่เบรก/ประภาส อิ่มอารมณ์

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (อาจารย์ฝรั่งของลูกศิษย์)

สืบเนื่องจากปี พ.ศ.2466 ท่านได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรปและยังมีความต้องการแสวงหาสถานที่ปฏิบัติงานแห่งใหม่

ประกอบกับในช่วงเวลานั้นซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระประสงค์ต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตกเพื่อที่จะเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นในแผ่นดินไทยและทำการฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกได้

ทางรัฐบาลอิตาลีจึงได้ยื่นข้อเสนอโดยการส่งคุณวุฒิและผลงานของศาสตราจารย์คอร์ราโดให้สยามพิจารณา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือกศาสตราจารย์คอร์ราโดให้มาปฏิบัติงานในสยาม

ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์คอร์ราโดจึงเดินทางสู่แผ่นดินสยามพร้อมกับภรรยาและบุตรสาวโดยทางเรือ เพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2466 ขณะมีอายุได้ 32 ปี

และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ.2469

เมื่อแรกเริ่มการเข้ารับราชการ ศาสตราจารย์คอร์ราโดทำสัญญารับราชการในสยามเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยอัตราเงินเดือน 800 บาท

แต่ในตอนแรกก็ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าใดเนื่องจากยังไม่มีใครได้เห็นฝีมือของท่าน จนกระทั่งท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งได้ประทับทดลองเป็นแบบปั้นให้อาจารย์คอร์ราโด และปรากฏว่าศาสตราจารย์คอร์ราโดสามารถปั้นได้อย่างสมจริงเป็นอย่างมาก

กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงกราบบังคมทูลเชิญให้รัชกาลที่ 6 มาเป็นแบบจริงให้แก่ศาสตราจารย์คอร์ราโด โดยปั้นเฉพาะพระพักตร์ เป็นที่พอพระราชหฤทัย และเป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวง

แรกเริ่มศาสตราจารย์คอร์ราโดได้วางหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมซึ่งส่วนมากจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่างโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ

ซึ่งต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรมก็ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ทำให้ทางราชการได้ขอให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดวางหลักสูตรการศึกษารูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปะยุโรป

ศาสตราจารย์คอร์ราโดได้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นพร้อมกับก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้น สังกัดกรมศิลปากร

ภายหลังได้รวมโรงเรียนเข้ากับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” และพัฒนาการเรียนการสอนเรื่อยมา

จนในปี พ.ศ.2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี

และรัฐบาลในขณะนั้นโดย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ

จึงได้มีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2486

โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก

ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโดก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2485 ประเทศอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

ชาวอิตาลีในประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของญี่ปุ่น เนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นเองต้องการสืบให้ทราบว่าชาวอิตาลีกลุ่มนี้ภักดีต่อกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาวอยผู้ซึ่งประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรหรือสนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีที่ประกาศขอสู้ต่อกันแน่

ทำให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดเองก็ถูกควบคุมตัวไว้เช่นกัน

แต่รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสามารถท่านและได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี เอาไว้เองเพื่อคุ้มครองท่านไว้ ไม่ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจน์

โดยหลวงวิจิตรวาทการ ได้ดำเนินการทำเรื่องราวขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย

โดยเปลี่ยนชื่อของท่านจาก นายคอร์ราโด เฟโรจี ให้มาเป็น “นายศิลป์ พีระศรี” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ตลอดชั่วชีวิตการทำงานกว่า 39 ปีในประเทศไทย ท่านได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทยจำนวนมาก

และยังรวมไปถึงการออกแบบพระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล

ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ได้ศึกษาพระพุทธรูปลีลาของศิลปะสุโขทัยอย่างลึกซึ้ง จนสามารถสร้างพระพุทธรูปลีลาที่มีการผสมผสานรูปแบบศิลปะสุโขทัยเข้ากับศิลปะไทยสมัยใหม่และมีความงดงามเป็นอย่างมากที่สุดองค์หนึ่งของไทย

ผลงานของท่านยังคงปรากฏให้เห็นต่อสายตาชาวไทย เฉกเช่นเดียวกับคุณงามความดีของท่านที่ยังเป็นที่ระลึกถึงเสมอมา

ศาสตราจารย์ศิลป์มีนิสัยรักธรรมชาติ ชอบความเรียบง่ายและหลงรักในวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยพัฒนาวงการศิลปะไทยให้ก้าวหน้า

ในมุมมองของลูกศิษย์นั้น ศาสตราจารย์ศิลป์เป็นคนที่มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก

ในเวลาสอน ศาสตราจารย์ศิลป์จะจริงจังและเป็นคนที่มีความตรงต่อเวลา

สอนด้วยความเข้มงวดและมักจะพร่ำสอนให้นักศึกษาทำงานหนักอยู่เป็นประจำ เพราะงานศิลปะที่ดีนั้นย่อมมาจากการฝึกฝนอย่างหนัก โดยท่านยังมีความเป็นกันเองกับนักศึกษา

มักจะแทนตัวเองว่า “ฉัน” และแทนนักศึกษาว่า “นาย”

เมื่อนักศึกษาคนไหนขาดแคลนทุนทรัพย์ ท่านก็มักจะช่วยเหลือเสมอ

ท่านยังโปรดปรานการฟังเพลงเป็นอย่างมาก โดยเพลงที่ท่านมักจะฮัมเวลาทำงานอยู่บ่อยๆ ก็คือเพลงซานตา ลูเชีย เพลงพื้นเมืองภาษาอิตาลี ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตราจารย์ศิลป์ยังเป็นคนที่ตั้งใจในการทำงานอย่างแท้จริง

ท่านจะมาทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาพักผ่อนในช่วงกลางวันแค่สั้นๆ เพื่อที่จะไม่เป็นการเสียเวลาต่อการทำงาน และจะกลับบ้านก็ต่อเมื่อค่ำแล้วเท่านั้น

โดยจะใช้เวลาไปกับการทำงานในห้องทำงาน สอนนักศึกษาและหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา

ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจะพิมพ์คัดลอกเอกสารสำหรับสอนนักศึกษาไว้เพิ่มเติมอีกหนึ่งชุดเสมอเพื่อป้องกัน ศาสตราจารย์ศิลป์นั้นมีอุดมการณ์ที่จะต้องการพัฒนาวงการศิลปะไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีก

และในยุคที่ศิลปะตะวันตกกำลังรุ่งเรืองในประเทศไทย สิ่งที่ท่านเล็งเห็นก็คือการทำอย่างไรให้คนไทยสามารถสร้างผลงานรูปแบบตะวันตกได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องว่าจ้างช่างตะวันตก และมีงานศิลปะที่เป็นตัวของตัวเองไม่ลอกเลียนแบบตะวันตกไปเสียหมด

ด้วยแนวคิดนี้จึงเกิดโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นเพื่อเพาะพันธุ์เมล็ดศิลปินที่จะเติบโตไปเป็นช่างแห่งกรุงสยามในภายภาคหน้า

อีกสาเหตุหนึ่งที่ท่านตัดสินใจตั้งโรงเรียนขึ้นก็เพราะท่านมองว่าการเปิดโรงเรียนสอนเพื่อผลิตศิลปินนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อวงการศิลปะมากกว่าการสร้างสรรค์งานแต่ตัวท่านเพียงลำพัง

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ยังได้มีส่วนช่วยในการจัดหาทุนทรัพย์และทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาศิลปะชาวไทยเพื่อรักษาให้ชาติยังคงมีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นต่อไป เนื่องจากในยุคข้าวยากหมากแพงนั้นผู้ปกครองแทบทุกคนไม่สนับสนุนให้ลูกของตนเรียนวิชาศิลปะ

ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้พยายามอย่างสุดความสามารถให้ไทยสามารถมีช่างที่มีฝีมือได้ต่อไป ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเพราะบรรดาลูกศิษย์ของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง

นอกไปจากนั้นแล้วศาสตราจารย์ศิลป์ยังได้เป็นกำลังหลักในการผลักดันให้เกิดการประกวดวาดเส้น จิตรกรรมและประติมากรรม จนเกิดเป็นงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเกิดขึ้น

มีจุดประสงค์ให้ศิลปินไทยเกิดการแข่งขันในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกสู่สาธารณชนและช่วยให้ศิลปะไทยมีความก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไม่มีหยุด

และเล็งเห็นต่องานช่างและงานศิลปะไทยในสาขาอื่นๆ

จึงได้ส่งเสริมให้มีการก่อตั้งคณะในมหาวิทยาลัยศิลปากรเพิ่มคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์

ด้วยคุณูปการนี้ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของศิลปะไทยสมัยใหม่ที่ได้พลิกโฉมรูปแบบศิลปะไทยแบบเดิมให้มีความก้าวหน้าไปอย่างสูงทัดเทียมสากล

เกิดศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่สามารถสืบทอดงานศิลปะไทยต่อไปได้นานเท่านาน ไม่เพียงแต่งานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม แต่ยังรวมไปถึงงานด้านสถาปัตยกรรม โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมไปถึงมัณฑนศิลป์อีกด้วย

ทุกวันที่ 15 กันยายน ของทุกๆ ปี เป็นวันเกิดของท่าน แม้จะวายชนม์ไป 54 ปีแล้วก็ตาม ลูกศิษย์ลูกหาทั้งที่ได้ร่ำเรียนสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และรุ่นต่อมาที่รับเพียงการเล่าขานเรื่องราวของท่านก็ตาม จะพร้อมใจกันจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของผู้วางรากฐานการศึกษาวิชาศิลปะและก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้น

แต่…อีกฟากหนึ่งของโลก บนผืนแผ่นดินประเทศอิตาลีที่เป็นถิ่นที่ให้กำเนิดท่านมา…จะมีคนในประเทศนั้นสักกี่คนที่รู้ว่า โปรเฟสเซอร์ คอร์ราโด เฟโรจี แห่งเมืองฟลอเรนซ์ ได้รับความเคารพนับถือ ในฐานะผู้สร้างคุณูปการกับการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ประเทศไทย

และสร้างผลงานประติมากรรมที่เป็นอนุสรณ์ระดับโลกไว้มากมายในผืนแผ่นดินแห่งนี้

ผมเคยไปศึกษาและใช้ชีวิตในประเทศอิตาลีมาหลายปี

พบว่า คนอิตาเลียนไม่มีใครรู้จักท่านเลย นอกจากพวกโปรเฟสเซอร์ทางสถาบันศิลปะที่รู้จักจากการได้รับลูกศิษย์ของท่านที่ไปศึกษาต่อที่นั่นเท่านั้น

ทำให้เกิดความคิดน้อยใจแทนอาจารย์ และมีความคิดที่ทำให้คนอิตาเลียนได้รู้ว่า มีคนของเขาคนหนึ่ง ได้มาแสดงความสามารถและสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่จนทำให้คนทั่วประเทศไทยได้รู้จักท่าน

และ…เมื่อสองปีที่ผ่านมานี้ ผมได้ขยายความคิดนี้สู่บางองค์กรที่ทำหน้าที่โยงใยต่อการสืบสานเผยแพร่ผลงานของอาจารย์ศิลป์ ด้วยคอนเซ็ปต์ “พาอาจารย์กลับบ้าน อย่างวีรบุรุษแห่งชาติอิตาลี” เพื่อให้ชื่อเสียงของท่านได้รู้จักกันทั้งประเทศอิตาลีและของโลก

ซึ่งแน่นอนผลสะท้อนของโครงการนี้จะหวนกลับมาถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ในเชิงท่องเที่ยวและมาตรฐานงานศิลปะสากล

วิธีการดำเนินให้เป็นรูปธรรมก็ใช้งบประมาณไม่มากมาย ในการจัดส่งผลงานต้นแบบประติมากรรมชิ้นเล็กๆ ฝีมือของท่าน ภาพถ่ายผลงานใหญ่ๆ อย่างอนุสาวรีย์ต่างๆ และบางภาพวิถีชีวิตของระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย พร้อมด้วยคำบรรยายต่างๆ แปลเป็นภาษาอิตาเลียน

ซึ่งงบประมาณสำหรับจัดการแสดงงานครั้งนี้ สามารถขอความอนุเคราะห์จากองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร การท่องเที่ยวฯ กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิศิลป์ พีระศรี และบางบริษัทเอกชน ฯลฯ

และ…ผมได้ขอข้อมูลจากสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทยในการดำเนินการเรื่องนี้ สถานทูตแนะนำว่าสะพานที่สามารถเชื่อมโยงโครงการนี้ให้เป็นความจริงได้ คือ กระทรวงการต่างประเทศไทยเห็นดีด้วยและเป็นผู้ประสานงานกับประเทศอิตาลี โดยสถานทูตอิตาลีในไทยจึงสามารถเป็นต้นเรื่องให้

เมื่อได้ขยายผลความคืบหน้าให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำภารกิจของศาสตราจารย์ศิลป์ได้รับรู้…ทุกอย่างก็หายเงียบ…

เงียบจนเหมือนไม่มีใครเคยรับรู้มาก่อน

ช่างมัน…เพราะนี่แหละคนศิลปากร ที่มักชอบอยู่ในโลกของเขาเพียงอย่างเดียว

แม้แต่โครงการง่ายๆ ในการรณรงค์ให้งดเสียตังค์ไปซื้อดอกไม้มาแสดงความคารวะในวันศิลป์ พีระศรี แต่เปลี่ยนเป็นทำการ์ดอวยพรวันเกิดแทน เริ่มจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ก่อน ให้อาจารย์สั่งงานออกแบบการ์ดอวยพรวันเกิดให้อาจารย์ศิลป์ แล้วจัดบอร์ดสำหรับติดโชว์หรือวิธีอื่นๆ เสมือนส่งงานให้อาจารย์ศิลป์ตรวจไปในตัวด้วย บางคนบอกว่าเดี๋ยวฝนตกเปียกหมด

ผมเลยทำชิ้นแรกขนาดเอ4 อาบพลาสติกแบบไม่กลัวฝนไปวางที่หน้าแท่นอนุสาวรีย์ของท่านเมื่อปีก่อนเป็นตัวอย่าง…ปีนี้ก็ทำไว้แล้ว

ของง่ายๆ แบบนี้…ไม่มีใครสนใจ แต่ผมไม่แคร์และจะทำไปเรื่อยๆ…แม้จะไม่มีการจัด “วันศิลป์ พีระศรี” ผมก็จะจัดเองที่บ้านและทำการ์ดอวยพรวันเกิดให้อาจารย์ต่อไปจนชีวิตจะหาไม่

บางที…หากร่างกายยังแข็งแรงและเดินทางไหว ผมอาจจะนำไปวางที่หลุมฝังอัฐิของอาจารย์ที่ Cimitero degli Allori เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี กับเพื่อนๆ คนศิลปากรที่คงอยากไปด้วยหลายคนแน่ๆ…แต่มีข้อแม้ว่า ทุกคนต้องทำการ์ดอวยพรไปด้วย

“วันศิลป์ พีระศรี” 15 กันยายน 2560 ที่ตรงกับวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่มติชนสุดสัปดาห์ออกวางตลาด ผมจึงถือโอกาสเผยแพร่ชีวิตและผลงานบางส่วนของคนอิตาเลียนคนหนึ่งที่อุทิศกายและใจ เพื่อพัฒนาวงการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ให้กับพวกเรา ด้วยความรักประเทศไทยราวกับเป็นคนไทยคนหนึ่ง

ซึ่งพวกเราชาวศิลปากรเชื่อว่า “ชาติก่อนอาจารย์ศิลป์คงเกิดเป็นคนไทย ชาตินี้จึงกลับมารับใช้ชาติไทย และตายในเมืองไทย”