ปริทรรศน์หนังสือ ก่อร่างเป็นบางกอก ของเอ็ดวาร์ด แวน รอย/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

ปริทรรศน์หนังสือ

ก่อร่างเป็นบางกอก

ของเอ็ดวาร์ด แวน รอย

 

นำเรื่อง

หมายเหตุ มติชนสุดสัปดาห์ บทปริทรรศน์หนังสือ ก่อร่างเป็นบางกอก โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ มาด้วยแล้ว เป็นภาษาอังกฤษตีพิมพ์ใน The Journal of the Siam Society บทภาษาไทยนี้แปลโดยธาม โสธรประภากร

 

ข้าพเจ้าเริ่มสนใจหนังสือ Siamese Melting Pot ของเอ็ดวาร์ด แวน รอย (Edward Van Roy) หลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อก่อร่างเป็นบางกอก โดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำนวนแปลนั้นอ่านลื่นและปกหนังสือเองก็สวยงาม ตัวบทฉบับภาษาไทย 526 หน้านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและนักอ่านชาวไทยผู้ไม่สันทัดในการอ่านภาษาอังกฤษอย่างแน่นอน

งานวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณานี้เป็นผลผลิตจากงานวิจัยกว่าครึ่งศตวรรษของแวน รอย ในฐานะผู้สังเกตการณ์และมีส่วนร่วมในกรุงเทพฯ อันเป็นบ้านที่เขาเลือกอยู่อาศัย ส่วนผสมอันมีชีวิตชีวาระหว่างวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนชั้นต่างๆ บนความโกลาหลแห่งแดนบางกอก เป็นแรงบันดาลใจให้เขามองหารากฐานอันเป็นเหตุเป็นผลภายใต้ส่วนผสมดังกล่าว

เขาใช้ความชำนาญทางมานุษยวิทยาในการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียด ผลลัพธ์ที่ได้คือชิ้นงานที่ประสบความสำเร็จ ประกอบขึ้นอย่างบรรจงผ่านข้อมูล ประเด็นปัญหาและการวิเคราะห์ที่ละเอียดอ่อน

แวน รอย พาเราเดินทางผ่านการเปลี่ยนแปลงของเหล่าชุมชนชาติพันธุ์ในบางกอกดั้งเดิม จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

ช่วงเวลานี้เป็นหมุดหมายของจุดผันผวนและความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับอาณาจักรสยามหลายประการ

ตั้งแต่การละทิ้งซากปรักหักพังของเมืองหลวงอยุธยา การสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ธนบุรีและบางกอกในเวลาต่อมา สงครามกับรัฐเพื่อนบ้าน ไปจนถึงกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ภายใต้การปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง มันคือการเปลี่ยนรูปแบบของรัฐและสังคมสยามจากระบอบศักดินาไปสู่รัฐ-ชาติสมัยใหม่ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่หนังสือเล่มนี้พูดถึง ประกอบไปด้วยชาวไทย (ชนชั้นนำและสามัญชน) มอญ ลาว มุสลิม (จาม เปอร์เซีย อาหรับ อินเดีย มาเลย์ อินโดนีเซีย) และจีน (แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฮากกา ไหหลำ กวางตุ้ง) เขมร เวียดนาม ไทยวน ซิกข์ และฝรั่ง

การตั้งถิ่นฐานของพวกเขาแผ่ขยายไปมากกว่า 70 ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

ก่อร่างเป็นบางกอกคือหนังสือที่มีเนื้อหาครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของทุกๆ กลุ่มชาติพันธุ์ในบางกอก ด้วยความที่เขาคุ้นเคยกับความสัมพันธ์ทางสังคมในไทย แวน รอย จึงเห็นถึงความไม่ลงรอย ความขัดแย้งและความตึงเครียดในเมืองแห่งรอยยิ้มนี้ได้อย่างง่ายดาย

เขาเห็น “ความเด่นชัดของนิสัยเข้ากับคนง่าย ความสนิทสนมยินดี และความสงบเสงี่ยมเจียมตัว” ที่ดำเนินไปพร้อมกันกับ “ความอ่อนไหวเชิงชาตินิยม ทั้งยังมีอคติทางชนชั้น และวิภาษภาวะพื้นฐานระหว่างความอาวุโสและความพินอบพิเทา เสียงอื้ออึงของบางกอกเคยปรากฏอยู่อย่างกว้างขวาง” (xvii)

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการมีอยู่ของอารามหลวง 2 แห่งที่แตกต่างกันในพื้นที่บางลำภู ความเปล่งประกายตระการตาของวัดบวรนิเวศฯ บดบังอยู่เหนือความหดหู่ซอมซ่อของวัดชนะสงคราม

อย่างไรก็ดี แวน รอย ได้ขุดค้นประวัติศาสตร์ของทั้งสองสถานที่ เพื่ออธิบายสถานะในปัจจุบันของวัดสองแห่งนี้จากมุมมองของการคัดง้างอำนาจระหว่างกษัตริย์กับอุปราช แน่นอนว่า วัดบวรนิเวศฯ เป็นของกษัตริย์ผู้ชนะในการต่อสู้ (xviii)

หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยหลายประเด็นที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งผู้อ่านจากภูมิหลังที่หลากหลายต่างก็สามารถดื่มด่ำไปกับมันได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ลงหลักปักฐานและการถูกบังคับย้ายถิ่นฐานของเชลยสงคราม ผู้ลี้ภัย และผู้อพยพชาวต่างชาติ

โครงสร้างศักดินาของบางกอกดั้งเดิม ซึ่งเชื่อมโยงชนชั้นนำเข้ากับไพร่ชาติพันธุ์ต่างๆ

เชลยสงคราม ทาส คนงานจากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย และผู้ประกอบการอิสระ

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างความเชี่ยวชาญ (หรือไม่เชี่ยวชาญ) ในการประกอบอาชีพของพวกเขากับสถานที่ลงหลักปักฐาน

การออกแบบพื้นที่ศูนย์กลางเมืองหลวงตามระบบมณฑลที่ค่อยๆ เลือนหายไปในเวลาต่อมา

การกลืนกลาย แปรเปลี่ยนและสูญหายไปของชุมชนและวัฒนธรรมชาติพันธุ์

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นผลพวงจากอิทธิพลหลายประการด้วยกัน นโยบายของรัฐว่าด้วยบทบาทของเมืองและประชาชน การแทนที่กลไกผูกขาดของรัฐด้วยระบบตลาดเสรี ระบบอุปถัมถ์ที่ยึดโยงชุมชนชาติพันธุ์เข้ากับชนชั้นนำไทย ความใกล้ชิดทางสังคม ความตึงเครียด และการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ การศึกษาระดับมวลชน

และการเกิดขึ้นของชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ (ethnonationalism) ของไทย

 

แน่นอนว่า การเขียนประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากในขอบเขตเวลาเกินกว่าหนึ่งศตวรรษ พร้อมทั้งประเด็นปัญหาและปัจจัยข้างต้น ย่อมเป็นโครงการวิจัยที่ทะเยอทะยานอย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ดี แวน รอย ก็ได้ทำความเข้าใจทุกกลุ่มชาติพันธุ์อย่างละเอียดอ่อนและมีมิติ

โดยให้ความสนใจกับบริบทและความเปลี่ยนแปลงอันเฉพาะเจาะจงของแต่ละกลุ่ม

เป็นที่รู้กันดีว่า การเลือนหายหรือกลืนกลายไปอย่างช้าๆ ของความเป็นพหุวัฒนธรรมนั้นเป็นผลพวงจากการก่อตัวของชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ที่ยึดไทยเป็นศูนย์กลางท่ามกลางภัยคุกคามของอำนาจอาณานิคมยุโรป ไม่ช้าก็เร็ว กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ต่างก็รับเอา “ไทย” เป็นอัตลักษณ์ของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำให้เป็นไทย (Thaification) ของแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะที่พวกเขาต้องเผชิญ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากแรงกดดัน การข่มขู่ การยอมรับโดยสมัครใจ การฉวยโอกาสเพื่อความคล่องตัวทางเศรษฐกิจสังคม ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น วิธีการหนึ่งที่รัฐใช้ในการกลืนกลายกลุ่มชาติพันธุ์มอญคือการบังคับใช้พระราชบัญญัติสงฆ์ปี พ.ศ.2445 อย่างเข้มงวด อันเป็นการผนวกรวมคณะสงฆ์รามัญนิกายเข้ากับคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

อีกหนึ่งวิธีการคือการโอนย้ายกองกำลังมอญ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับหน้าที่ตรวจตราที่ดินและน้ำในขอบเขตนครหลวงมาเป็นเวลานาน ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังตำรวจอาชีพ ภายใต้นโยบายของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมุ่งสร้างกองทัพสมัยใหม่ของสยาม

ผลที่ตามมาก็คือ “ความกระชับมั่นเชิงชาติพันธุ์ของกองกำลังตำรวจมอญจึงค่อยๆ ถูกบั่นทอนไปด้วยการบังคับใช้ระบบมาตรฐานความสามารถเพื่อพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง” (185)

 

หนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับมิติเชิงพื้นที่ของบางกอกนั้น คือการที่ผู้คนจากกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกระจายตัวออกไปตามพื้นที่ทั่วทั้งบางกอก แทนที่จะกระจุกตัวในตำแหน่งใกล้เคียงกัน เช่น ชุมชนมุสลิมบ้านครัว บางรัก-สีลม บางกะปิ เป็นต้น

แวน รอย เสนอว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ “การจัดสรรถิ่นฐานใกล้ไกลของชุมชนชาติพันธุ์ในบางกอกไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงในเชิงชาติพันธุ์ หากแต่สัมพันธ์กับตำแหน่งทางการเมือง สถานะทางสังคม และทักษะทางอาชีพ” (53)

กลุ่มที่เชี่ยวชาญในทักษะอันเป็นที่ต้องการ เช่น พ่อค้า ช่างทอง ช่างเงิน ช่างปั้นดินเผา ช่างไม้ ช่างทอผ้าไหม พ่อค้าต่างชาติ มักอาศัยอยู่ใกล้ศูนย์กลางเมือง

ผู้ลี้ภัย เชลยสงคราม และชาวเผ่าผู้ถูกไล่ที่ ต่างก็ถูกย้ายถิ่นฐานไปยังรอบนอกของบางกอก ก่อตัวเป็นชุมชนของชาวนายากจน หรือแรงงานไร้ค่าจ้างตามความต้องการของเจ้านาย

ผู้คนกลุ่มหลังนี้ถูกพรากโอกาสในชีวิตไปอย่างน่าเศร้า ตกอยู่ในความอัตคัดขัดสนไปตลอดชีวิต

การบังคับย้ายถิ่นฐานพวกเขาเหล่านี้ แท้จริงแล้วเป็นการกีดกันและขูดรีดทางชนชั้น ในแง่นี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแวน รอยไม่ได้สนับสนุนมโนทัศน์ว่าด้วยความสัมพันธ์ชวนฝันแบบลูกพี่-ลูกน้องของไทย

การลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ.2398 ได้แทนที่ระบบผูกขาดทางการค้าด้วยระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี แน่นอนว่ากลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในบางกอก ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกยึดโยงเข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำสยามอย่างแยกขาดไม่ได้ ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสนธิสัญญานี้ ทั้งสามัญชนและทาสกลายสถานะเป็นแรงงานอิสระ ผู้คนได้รับอิสระในการเดินทาง ออกจากชุมชนของพวกเขา เข้าสู่ระบบการศึกษาระดับมวลชน เข้าบรรจุในระบบราชการและกองกำลังทหารที่ขยายตัว ฯลฯ พวกเขาแทรกตัวเข้าไปยังแหล่งการค้าใหม่ๆ ใจกลางเมือง “จนถึงจุดที่ความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่เมืองบางกอกด้านในมิได้กลายเป็นเรื่องจริงจังอีกต่อไป”

การออกแบบพื้นที่รอบวงส่วนในของบางกอกบริเวณรอบพระราชวัง ซึ่งออกแบบตามระบบมณฑลของดินแดนแห่งองค์อินทร์และควรจะมีสถานะศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็เสื่อมถอยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (61)

แม้แต่เมืองชั้นในที่ได้รับการปกป้องอย่างดีนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ของความไร้ระเบียบอย่างไม่น่าเชื่อ

ดังนั้นแล้ว เราอาจมองได้ว่าการก่อสร้างเกาะรัตนโกสินทร์ขึ้นใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 นั้น มีเป้าหมายเพื่อเร่งฟื้นคืนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ให้กับพื้นที่แห่งนี้

ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถเยี่ยมชมเกาะรัตนโกสินทร์ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา แต่ก็ไร้ชีวิตยิ่งกว่าเก่า

 

ในที่นี้ ตัวข้าพเจ้าเองสนใจบทที่พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์จีนต่างๆ เป็นพิเศษ ในฐานะบุตรของผู้อพยพชาวจีนแต้จิ๋ว เกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ ข้าพเจ้าเห็นว่า แวน รอย สามารถอธิบายการเลือนหายไปของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการสลายตัวของเส้นแบ่งทางชาติพันธุ์ได้น่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง

เขาขยายความประเด็นเรื่องการแข่งขัน การสร้างชื่อเสียง อภิสิทธิ์และการอยู่ร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฮากกา ไหหลำ และกวางตุ้งในบางกอกดั้งเดิมอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปัจจัยหลายประการก็ส่งอิทธิพลให้เส้นแบ่งเหล่านี้พร่าเลือนไปอย่างช้าๆ นอกเหนือจากการก่อตัวของชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ของไทย การควบคุมโดยรัฐ การแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ การศึกษาระดับมวลชน สิทธิพลเมืองและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ แล้ว เขายังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการโค่นล้มราชวงศ์ชิงและการก่อตั้งสาธารณรัฐจีนในปี พ.ศ.2454 ที่มีต่อการหลอมรวมชุมชนชาวจีน โดยไม่ขึ้นกับความแตกต่างทางชนชั้น อาชีพหรือชาติพันธุ์ จิตวิญญาณชาตินิยมจีนที่ลุกโชนขึ้นในช่วงนี้ได้นำพาพวกเขาเข้าหากัน ก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนกว้างใหญ่อันประกอบไปด้วยสมาคมบริการสาธารณะหลากชาติพันธุ์ ซึ่งรวมไปถึงหอการค้าจีน โรงพยาบาลเทียนฟ้า มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สมาคมผู้ค้าข้าว และโรงเรียนเผยอิง (349-350)

แม้ข้าพเจ้าจะเติบโตขึ้นกว่าหนึ่งศตวรรษให้หลังจากยุคสมัยที่งานวิจัยนี้เน้นศึกษา แต่หนังสือเล่มนี้ก็ช่วยให้ข้าพเจ้ามองเห็นอดีตของตัวเองได้อย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น

กรุงเทพฯ ในความทรงจำวัยเด็กของข้าพเจ้านั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์กว่าในปัจจุบันอย่างมาก

อันที่จริง ชุมชนที่ครอบครัวของข้าพเจ้าอยู่อาศัยนั้นถูกซ่อนซุกไว้ในส่วนลึกใจกลางกรุงเทพฯ ซอยกิ่งเพชร ซอยลึกแคบติดถนนเพชรบุรี ไม่กี่กิโลเมตรจากบริเวณสยามสแควร์อันรุ่งโรจน์ ประชากรส่วนใหญ่ (หากไม่ใช่ทั้งหมด) ในพื้นที่นี้คือผู้อพยพฐานะยากจน โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นชาวแต้จิ๋ว และมีกลุ่มอื่นๆ คือชาวไหหลำ ฮากกา หรือชาวฮินดูจากอินเดีย

อีกสุดปลายหนึ่งของซอยก็มีชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่อยู่ด้วย ซึ่งเชื่อมติดกับชุมชนบ้านครัวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ความสนิทสนมชิดใกล้มักจะเกิดขึ้นแค่ภายในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น เพื่อนสนิทของมารดาข้าพเจ้าล้วนแต่เป็นชาวแต้จิ๋ว

อย่างไรก็ดี ผู้คนจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างสามารถอยู่เคียงข้างกันได้อย่างสงบสุข ทว่า อีกไม่กี่ทศวรรษถัดมาบรรยากาศพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ก็ได้เลือนหายไปอย่างช้าๆ

เส้นแบ่งทางวัฒนธรรมและภาษาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์จีนต่างๆ ไม่อาจมองเห็นได้อีกต่อไปแล้ว

ลูกหลานของครอบครัวจีนเหล่านี้แทบไม่ได้สนใจที่จะอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์วัฒนธรรมจีนของพวกเขา

คนรุ่นนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้พูดสำเนียงของพ่อแม่ หรือแม้แต่ภาษาจีนกลาง การพูดภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง หรือจะให้ดียิ่งกว่านั้นคือภาษาอังกฤษ เป็นความใฝ่ฝันของพวกเรา พวกเราไม่สนใจว่ามิตรสหายและเพื่อนร่วมงานของเราจะมาจากกลุ่มภาษาจีนกลุ่มไหน เช่นเดียวกับคนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ ชาวจีนถูกผนวกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยศูนย์กลางเรียบร้อยแล้ว กรุงเทพฯ กลายมาเป็นตัวแทนของชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์หลักของไทย พร้อมการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

อิทธิพลทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยที่ถูกรวมศูนย์ มอบโอกาสที่ดีขึ้นให้ชาวจีนในกรุงเทพฯ ได้ไต่เต้าขึ้นไปบนบันไดเศรษฐกิจสังคม พวกเขาหลายคนพยายามจะเป็นคนไทย หรือแม้แต่อวดอ้างว่าเป็นไทยบริสุทธิ์ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหลานชนชั้นกลางชาวจีนที่ประสบความสำเร็จ เช่นนี้เอง เมื่อสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าพ่อสื่อเสื้อเหลือง หรือเหล่าคนจีนเกิดในไทยผู้รักชาติ พร้อมใจกันโบกสะบัดธงชาตินิยมของความเป็น “ลูกจีนรักชาติ” ในการต่อต้านทักษิณ ชินวัตร กับพรรคการเมืองของเขา จึงแทบไม่มีชาวไทย-จีนคนไหนเลยผู้เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการนี้ จะสนใจคำถามที่ว่าพวกเขามาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใด

ข้าพเจ้ายังคงกลับไปเยี่ยมเยือนชุมชนเก่าที่เคยอาศัยอยู่บางครั้งคราว ทุกวันนี้ ชาวอีสานจากตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้ามาแทนที่ชาวจีน และกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่อย่างสังเกตได้ เพื่อนบ้านชาวจีนของเราพากันย้ายรกรากออกไปหมดแล้ว พื้นที่ทรุดโทรมเก่าแก่บริเวณนี้กลายมาเป็นถิ่นฐานสำหรับผู้แสวงหาชีวิตที่ดีกลุ่มใหม่ “หม้อหลอม” ความหลากหลายของกรุงเทพฯ ไม่เคยหยุดนิ่ง อย่างไรก็ดี ชุมชนมุสลิมยังคงอยู่ที่เดิม แต่คาดได้ว่าพวกเขาเองก็ต้อนรับผู้มาใหม่อยู่เสมอ

แวน รอยได้ถกเถียงไว้อย่างโน้มน้าวว่า อิทธิพลและปัจจัยนานัปการได้เข้ามาปะทะรังสรรค์กัน เกิดเป็นการหลอมรวมกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างไร ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตชีวา ค่อยๆ พร่าเลือนลงทุกที ผสมปนเปหรือแม้แต่จางหายไปในที่สุด แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้สูญหายไปเสียทีเดียว ใน “หม้อหลอม” ใบนี้ บางร่องรอยทางวัฒนธรรมและถิ่นฐานทางชาติพันธุ์มากมายยังคงพบเห็นได้และมีคุณค่าในปัจจุบัน

ท้ายที่สุดนี้ ก่อร่างเป็นบางกอกย้ำเตือนให้เรานึกถึงถ้อยคำที่ย้อนแย้งสองประการด้วยกัน ประการแรกคืออีกชื่อหนึ่งของบางกอกซึ่งคนไทยมักนิยมใช้กันคือ “กรุงเทพฯ” หรือก็คือกรุงของเทพ ประการที่สองคือสโลแกนที่กทม. มอบให้กับกรุงเทพฯ “กรุงเทพเมืองเทพสร้าง” หรือก็คือเมืองที่สร้างโดยเทพ ในหนังสือเล่มนี้ แวน รอยพิสูจน์ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วบางกอกนั้นถูกสร้างขึ้นและขับเคลื่อนโดยเหล่าอดีตทาส เชลยสงคราม สามัญชน ผู้อพยพหลากชาติพันธุ์ แรงงาน นักเดินทาง และนักผจญภัย แท้จริงแล้ว ทายาทของผู้คนและผู้มาเยือนเหล่านี้ต่างหากคือแรงขับเคลื่อนของมหานครแห่งนี้ •