คุยกับทูต ‘ฟิลลิป คริเดลก้า’ ฉลองความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูต “ไทย-เบลเยียม”

นายฟิลลิป คริเดลก้า (His Excellency Mr. Philippe Kridelka) เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย เริ่มต้นการสนทนา ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตเบลเยียมอันเงียบสงบในซอยพิพัฒน์ ระหว่างถนนสีลม-สาทร ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานคร

“ผมเกิดวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1960 จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยลีแยช (University of Liège) ประเทศเบลเยียม พูดได้สี่ภาษาคือ ฝรั่งเศส ดัตช์ และเยอรมัน ซึ่งเป็นภาษาราชการที่ใช้ในประเทศเบลเยียม และภาษาอังกฤษ ผมปฏิบัติงานในกระทรวงต่างประเทศเบลเยียมมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว นับว่าเป็นโอกาสดีที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไปประจำการยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก”

“เมื่อปี ค.ศ.2002 ได้เป็นเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศสิงคโปร์ มีอาณาเขตครอบคลุมประเทศบรูไน ต่อมาปี ค.ศ.2005 เป็นเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรของประเทศเบลเยียมประจำยูเนสโก ณ กรุงปารีส และในปี ค.ศ.2009 ผมดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานของยูเนสโกในช่วงสมัยที่ นางอิราน โบโควา (Mrs. Iran Bokova) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ”

“หลังจากนั้นผมมารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์แห่งยูเนสโก และผู้แทนของยูเนสโกประจำสหประชาชาติ ช่วงปี ค.ศ.2010-2013 ณ นครนิวยอร์ก หน้าที่หลักของผมในช่วงปฏิบัติงานในนครนิวยอร์ก คือการส่งเสริมการทำงานขององค์การยูเนสโกทั่วโลก (ในเรื่องของการศึกษา มรดกโลกเสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อสารมวลชน วิทยาศาสตร์และการศึกษาเกี่ยวกับมหาสมุทร) และเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นได้คงอยู่อย่างสอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติตามที่กำหนดไว้โดยประเทศสมาชิก”

“ตำแหน่งล่าสุดก่อนมารับหน้าที่เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทยซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา พม่า และลาว คือราชเลขาธิการประจำสำนักพระราชวังพระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม”

“เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.2013 ช่วงที่ผมเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ยูเนสโก ณ นครนิวยอร์ก สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปแห่งชาวเบลเยียม (His Majesty King Philippe of the Belgians) ทรงสืบราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ภายหลังจากการสละราชสมบัติของสมเด็จพระราชบิดาคือ สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 อันเนื่องมาจากปัญหาพระพลานามัย”

“สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปได้ทรงแต่งตั้งให้ผมดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการสำนักพระราชวังกรุงบรัสเซลส์ นั่นหมายความว่า เมื่อสามปีก่อนที่ผมจะมาเมืองไทย ผมปฏิบัติราชการในสมเด็จพระราชาธิบดีและพระราชินีองค์ใหม่แห่งชาวเบลเยียมเมื่อเริ่มต้นการครองราชย์ ทั้งสองพระองค์ทรงงานอย่างหนักโดยได้รับความนิยมชมชื่นเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกร”

เอกอัครราชทูตเบลเยียม
นายฟิลลิป คริเดก้า

“หนึ่งในหน้าที่ที่ผมต้องปฏิบัติในช่วงที่ประจำอยู่ที่สำนักพระราชวังกรุงบรัสเซลส์ คือเป็นผู้นำเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์และพระราชินี และในทุกๆ ปี สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปและพระราชินีมาธีลด์ (Queen Mathilde) จะพระราชทานงานเลี้ยงน้ำชาแก่เอกอัครราชทูตต่างประเทศพร้อมคู่สมรส”

“พระองค์ท่านจะต้อนรับและตอบคำถามด้วยพระองค์เอง นับเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์กับผู้แทนระดับสูงจากนานาประเทศ อันนำมาซึ่งความประทับใจแก่คณะทูตานุทูตเป็นที่สุด”

ประเทศเบลเยียม หรือราชอาณาจักรเบลเยียม มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และยังคงรักษาสภาพเมือง ตึก โบสถ์ และอาคารเก่าแก่ที่งดงามไว้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อปี ค.ศ.1830 เกิดการปฏิวัติในเบลเยียม ก่อตั้งเป็นรัฐเอกราช และในปี ค.ศ.1831 เจ้าชายเลโอโปลด์จากราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและโกธา ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1 โดยมีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

เบลเยียมมีความเจริญรุ่งเรืองและกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลกและได้สร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับหลายประเทศรวมถึงไทยซึ่งตอนนั้นเป็นที่รู้จักกันในนามว่าประเทศสยาม

ต่อมาเบลเยียมถูกเยอรมนีรุกรานในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เบลเยียมเป็นหนึ่งใน 12 ประเทศที่เข้าร่วมก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในปี ค.ศ.1949 ซึ่งในขณะนี้มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงบรัสเซลส์

ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.1944 เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กได้จัดตั้งกลุ่มเบเนลักซ์ (B?n?lux) อันเป็นกลุ่มที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นขึ้นในสามประเทศซึ่งถือเป็นการนำร่องของการรวมยุโรป

ในปี ค.ศ.1951 เบลเยียมเป็นหนึ่งใน 6 สมาชิกก่อตั้งของประชาคมถ่านหินและเหล็กยุโรป และในปี ค.ศ.1957 เบลเยียมร่วมกับอีก 5 ประเทศเริ่มก่อตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปและประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายเป็นสหภาพยุโรป (EU)

เบลเยียมเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่โดดเด่นและมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศที่ได้เปรียบ

เบลเยียมเป็นสหพันธรัฐ ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองของเบลเยียมมีความซับซ้อน และมีความแตกต่างกันทางภาษา มีการบริหารของรัฐบาลกลาง (Federal) รัฐบาลส่วนภูมิภาค (Region) และรัฐบาลท้องถิ่น (Community) ถ้าพูดในเรื่องของเศรษฐกิจเบลเยียมเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ การแพทย์ โลจิสติกส์ อัญมณี และเทคโนโลยีชีวภาพ

จตุรัสแกรนด์เพลส หรือ จ้ตุรัสกรองด์ปลาซ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม

เนื่องจากเป็นประเทศขนาดเล็กใจกลางทวีปยุโรป เบลเยียมจึงมุ่งผลักดันประเด็นสำคัญต่างๆ ร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่มีนโยบายคล้ายกันภายใต้กรอบ EU / NATO / BENELUX โดยอยู่ในเขตยูโรและความตกลงเชงเกน (Schengen Agreement)

กรุงบรัสเซลส์ เป็นนครหลวงที่ร่ำรวยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ และเป็นศูนย์กลางของ EU ซึ่งมีหน่วยงานสำคัญ 2 หน่วยงาน คือ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) อีกทั้งเป็นที่ตั้งของ NATO ทำให้หลายประเทศมีสถานทูตในบรัสเซลส์ถึง 3 แห่ง คือ สถานทูตปกติของแต่ละประเทศ สถานทูตประจำ EU และสถานทูตประจำ NATO การที่กรุงบรัสเซลส์เป็นที่ตั้งขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจึงได้รับสมญานามว่า นครหลวงแห่งประชาคมยุโรป

ตราประจำบ้านพักเอกอัครราชทูตเบลเยียม

“มีผู้คนกล่าวว่า บรัสเซลส์เป็นเมืองแห่งสายฝน ฤดูในประเทศเบลเยียมค่อนข้างแตกต่างจากฤดูในประเทศไทย ฤดูหนาวในเบลเยียมจะมีช่วงกลางคืนที่ยาวนานกว่ากลางวัน เมื่อมาอยู่ที่เมืองไทย ผมจึงรู้สึกหลงใหลในแสงแดด อย่างวันนี้ ผมหยุดยืนที่ข้างถนน แล้วยื่นหน้าออกรับแสงแดด ผู้คนก็พากันมองดูผมอย่างประหลาดใจ”