กินดีแบบมีเทคโนโลยีช่วยคุม/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

กินดีแบบมีเทคโนโลยีช่วยคุม

 

แก็ดเจ็ตหลายชิ้นได้รับการออกแบบมาช่วยให้ผู้ใช้งานอย่างเราสามารถดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น

แก็ดเจ็ตเพื่อสุขภาพที่เราคุ้นเคยกันดีและได้รับความนิยมทั่วไปก็อย่างเช่น เครื่องออกกำลังกาย นาฬิกาหรือสายรัดข้อมือที่ช่วยให้เราแทร็กข้อมูลสุขภาพได้อย่างละเอียด ไปจนถึงเครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะ

ในขณะที่ก็จะมีแก็ดเจ็ตเพื่อสุขภาพอีกกลุ่มที่มีความเฉพาะทางมากขึ้นและมีคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างใหม่

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันเกี่ยวกับภาษีความเค็มที่ภาครัฐกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดเก็บ

ภาษีความเค็มหมายถึงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมที่สูงซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง หรือโรคหลอดเลือดสมอง ภาครัฐอยากให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ลดการบริโภคเค็มลง ก็เลยจะเก็บภาษีความเค็มในสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมเกินกำหนดนั่นเอง

สถิติระบุว่าคนไทยบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งภาคที่มีการกินเกลือมากที่สุดก็คือภาคใต้

ฉันซึ่งเป็นคนใต้อ่านแล้วก็ไม่ประหลาดใจเลย เพราะกลับบ้านทีไร อาหารพื้นบ้านที่ชวนกันออกไปกินกับครอบครัวก็จะเค็มสุดๆ ชนิดที่ต้องดื่มน้ำตามเป็นขวดๆ แต่ก็ทำให้ฉันเติบโตมากลายเป็นคนที่ติดรสเค็มไปเลย

สำหรับคนที่ไม่ได้ทำอาหารกินเองที่บ้าน การจะลดปริมาณโซเดียมก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายสักเท่าไหร่ แต่ในยุคที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยควบคุมคุณภาพการกินของมนุษย์ การลดอาหารเค็มก็อาจจะไม่ได้ยากขนาดนั้นอีกแล้วก็ได้

ในเมื่อการควบคุมเกลือที่อยู่ในอาหารแต่ละจานที่เรากินไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าคนติดกินเค็ม กินอะไรไม่เค็มก็พาลจะไม่อร่อยไปเสียหมดก็ยิ่งทำให้ควบคุมยากขึ้นไปอีก

ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่นก็เลยพลิกแนวคิดใหม่ แทนที่จะคุมปริมาณเกลือในอาหาร ก็หันมาคุมที่ปุ่มรับรสไปเลยดีกว่า

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Meiji University ที่ทำงานร่วมกับบริษัท Kirin Holdings คิดค้นและพัฒนาตะเกียบแบบใหม่ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยให้เราคีบอาหารและส่งเข้าปากได้เท่านั้นแต่เป็นตะเกียบไฟฟ้าที่จะช่วยปรับเปลี่ยนการรับรสของเราให้เรารู้สึกว่าอาหารที่เรากินอยู่เค็มกว่าปกติ

ตะเกียบคู่นี้จะส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อเข้าไปกระตุ้นลิ้น โดยเป็นกระแสไฟฟ้าที่อ่อนจนไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อร่างกายของมนุษย์ และจะไปเปลี่ยนฟังก์ชั่นการทำงานของโซเดียมคลอไรด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดรสเค็มเพื่อเปลี่ยนการรับรู้รสของมนุษย์ ทำให้เรารู้สึกว่าอาหารในปากมีรสชาติเค็มขึ้นกว่าเดิม หลักการเดียวกันนี้สามารถทำได้กับโซเดียมกลูตาเมตเพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรสหวานเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

นักวิจัยทดลองใช้ตะเกียบไฟฟ้ากับอาสาสมัคร 36 คนที่สวมคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กไว้ที่ข้อมือและต่อสายเข้ากับตะเกียบ โดยนักวิจัยจะวัดความรับรู้รสชาติเค็มผ่านเจลสองชนิดที่มีส่วนประกอบของเกลือแตกต่างกันออกไป อยู่ที่ 0.80 เปอร์เซ็นต์ และ 0.56 เปอร์เซ็นต์

ผลปรากฏว่าอาสาสมัครให้คะแนนความเค็มของเจลทั้งสองชนิดไว้เท่ากันแม้ว่าเจลชนิดหนึ่งจะมีปริมาณโซเดียมไม่เท่าอีกชนิดก็ตาม นักวิจัยสรุปว่าตะเกียบช่วยทำให้อาหารโซเดียมต่ำมีรสชาติที่เค็มขึ้นได้ถึง 1.5 เท่า

แปลว่าหากเรารับประทานอาหารด้วยตะเกียบไฟฟ้านี้เราก็จะลดปริมาณโซเดียมในอาหารลงได้ในขณะที่ก็ไม่ต้องเสียรสชาติของความเค็มที่เราชื่นชอบไปด้วย ก็จะเหมาะเป็นอย่างมากสำหรับคนที่กำลังอยากปรับเปลี่ยนการกิน หรือกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้ลดการกินเค็มลง

 

แม้ว่าในการวิจัยคราวนี้จะใช้ตะเกียบเป็นหลัก แต่นักวิจัยก็บอกว่าอันที่จริงแล้วจะปรับให้เข้ากับอุปกรณ์รับประทานอาหารแบบไหนก็ได้ ทั้งช้อน ส้อม หรือจะถ้วยน้ำชาก็ได้หมด

นอกจากตะเกียบที่สามารถกระตุ้นให้เรารับรู้รสเค็มได้มากขึ้นแล้วก็ยังมีภาชนะหรืออุปกรณ์รับประทานอาหารอีกหลายประเภทที่ได้รับการออกแบบและคิดค้นขึ้นมาให้ฉลาดกว่าหน้าที่หลักของมัน

แบรนด์แรกๆ ที่ฉันได้ยินมาเมื่อหลายปีก่อนก็อย่างเช่น HAPIfork ส้อมไฟฟ้าที่จะช่วยปรับนิสัยให้เรารับประทานอาหารให้ช้าลง โดยจะมีไฟขึ้นเตือนและสั่นเบาๆ ถ้าส้อมตรวจจับได้ว่าเราตักอาหารส่งเข้าปากเร็วเกินไป

บริษัทผู้ผลิตบอกว่าการรับประทานอาหารช้าๆ จะช่วยทั้งเรื่องการลดน้ำหนักและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการย่อยอาหารและกรดในกระเพาะอาหารด้วย

นอกจากอุปกรณ์รับประทานอาหารแล้ว สำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักแต่ไม่ค่อยแน่ใจปริมาณอาหารหรือแคลอรีที่ตัวเองบริโภคเข้าไปในแต่ละวัน ก็มีแก็ดเจ็ตช่วยนับแคลอรีในรูปแบบต่างๆ

แบบที่พื้นฐานที่สุดก็คือการป้อนข้อมูลแคลอรีเอาไว้ในแอพพลิเคชั่นที่มีฐานข้อมูลแคลอรีของอาหารประเภทต่างๆ ให้อยู่แล้ว

 

หลายปีที่แล้วในงานจัดแสดงเทคโนโลยี CES ที่ลาสเวกัส ฉันเคยเห็นอุปกรณ์ที่เป็นภาชนะใส่อาหารที่จะทำหน้าที่ในการช่วยวัดปริมาณแคลอรีให้ด้วย แต่ก็คาดว่าน่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่ท้ายที่สุดน่าจะใช้งานไม่ได้จริงสักเท่าไหร่ การบันทึกแคลอรีเอาไว้ในแอพพ์เองอาจจะเป็นวิธีที่เวิร์กสำหรับคนส่วนใหญ่มากกว่า

สำหรับคนที่จริงจังเรื่องสารอาหารและโภชนาการก็มีตัวเลือกเป็นแก็ดเจ็ตอย่างเครื่องสแกนอาหารที่เน้นให้ผู้บริโภครู้ว่าอาหารที่ตัวเองกำลังจะซื้อไปปรุงนั้นปลูกที่ไหน เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ และประกอบไปด้วยสารอาหารอะไรบ้าง ก็จะช่วยให้เรากินอาหารได้อย่างสบายใจมากขึ้น

คนที่แพ้อาหารบางชนิดอย่างแพ้กลูเต็นก็มีเครื่องสแกนให้ดูว่าอาหารตรงหน้ามีกลูเต็นเป็นส่วนประกอบหรือไม่ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่แพ้อาหารบางประเภทแบบเข้าขั้นรุนแรง

ส่วนที่ล้ำที่สุดก็น่าจะเป็นอุปกรณ์ช่วยตรวจสอบอาหารที่เรากินเพื่อให้เข้ากับร่างกายของเราแต่ละคนมากที่สุดด้วยแนวคิดที่ว่าร่างกายของเราทุกคนมีพันธุกรรมที่แตกต่างกันและต้องการสารอาหารไม่เหมือนกัน

แก็ดเจ็ตที่คนไทยคุ้นเคยชื่อมากที่สุดเพราะเคยเป็นข่าวใหญ่ก็น่าจะเป็น DNA Nudge ที่ใช้ DNA ของเรามาช่วยแนะนำว่าอาหารชนิดไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับเราบ้างโดยมาในรูปแบบของกำไลข้อมือที่เราสามารถสแกนบาร์โค้ดอาหารได้

 

ทั้งหมดที่พูดถึงมาเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยกระจ้อยร่อยเท่านั้นท่ามกลางแก็ดเจ็ตเพื่อสุขภาพและการกินมหาศาลที่มีอยู่ในตอนนี้

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นไม่ใช่อะไรที่สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เป็นกระบวนการยาวนานที่จะต้องทำตลอดทั้งชีวิต

แก็ดเจ็ตอาจจะช่วยให้เราเริ่มต้นได้เร็วขึ้น แต่ท้ายที่สุดเราจะปรับการกินของเราให้ดีต่อสุขภาพได้อย่างยั่งยืนแค่ไหนก็อยู่ที่วินัยของเราด้วยนะคะ