‘หนาว’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘หนาว’

 

หนาวยะเยือก

ผมรู้สึกเช่นนี้ขณะนอนอยู่ในเต็นท์ริมลำห้วยสายเล็กๆ เสียงลมพัดยอดไม้ดัง “ซู่! ซู่!”

นอนในป่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะพบกับความหนาวเย็น หากเป็นเดือนพฤศจิกายน

แต่นี่คือกลางเดือนเมษายน

มันไม่ใช่สิ่งที่เคยพบมากับช่วงฤดูแล้งในป่าหรอก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะยอมรับว่า สภาวะอากาศบนโลกนี้เปลี่ยนไป

โลกอันที่คุ้นเคยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

 

ผมอยู่ในแคมป์ซึ่งอยู่ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 450 เมตร ป่าโดนโอบล้อมด้วยทิวเขา

ผมเคยอยู่ที่นี่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เรียกเวลานั้นได้ว่า เป็นเวลาที่ฤดูหนาวครอบคลุมผืนป่าแล้วอย่างสมบูรณ์

อุณหภูมิช่วงเช้ามืด เหลือ 10 กว่าองศาเซลเซียส ส่วนบนสันเขานั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่อุณหภูมิเพียง 4-5 องศา

หากเป็นเช่นทุกปีที่ผ่านๆ มา เราจะพบกับสายลมพัดแรง ใบไม้แห้งกรอบหลายต้นเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นสีน้ำตาลแห้ง และปลิดปลิวลงจากต้น

 

นั่นเป็นฤดูแล้ง สำหรับสัตว์ป่า พวกมันมีเพียงฤดูแล้งกับฤดูฝน ในฤดูหนาวนั้น นอกจากความหนาวเย็น ผิวหนังแห้ง ปากแตกเป็นขุย และเจ็บ การอาบน้ำในลำห้วยตอนค่ำ เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

สิ่งที่มาพร้อมกับความแห้งแล้งอย่างมากมายคือ เห็บ

เห็บลมตัวเล็กๆ ซึ่งมองแทบไม่เห็นนี่เอง ที่ทำให้การเดินสู่จุดหมายในป่าล่าช้ากว่าปกติ เพราะใช้เวลาไปกับการหาเห็บออกจากร่างกาย

เราใช้ถุงกันทากที่ทำจากผ้าดิบยาวถึงน่อง นอกจากกันทากในฤดูฝน เราใช้กันเห็บด้วย ไม่ได้ผลนักหรอก เพียงช่วยได้บ้าง

ตามร่างกายคนทำงานในป่าช่วงนี้จะเต็มไปด้วยจุดแดงเป็นจ้ำๆ หรือหากบางคนที่แพ้ แผลจากเห็บดูคล้ายกับการถูกสัตว์ใหญ่ๆ กัดเลยทีเดียว

ไม่ว่าเวลาใด เดิน, ยืน, หยุดพักอยู่กับที่ หรือช่วงนั่งกินข้าวกลางวัน

เราหลีกหลบเห็บไปไม่พ้น แม้จะเลี่ยงการนั่งบนขอนไม้แห้ง รวมทั้งกวาดใบไม้แห้งๆ บนพื้นออกไปบ้างก่อนทรุดตัวลงนั่ง

ไม่เพียงเป็นแผลตามร่างกาย ผลจากเห็บกัดทำให้เรายืน นั่ง หรือนอนไม่เป็นสุข เพราะต้องเกาเพื่อบรรเทาอาการคันตลอดเวลา

“แลกกับเดินป่าไม่มีเห็บ ให้เข้าไปหาเสือก็ได้ครับ” บางคนพูดเช่นนี้

หากยุงร้ายกว่าเสือ ดังเช่นคำโฆษณายากำจัดยุง

เห็บนี่แหละที่ร้ายกว่ายุง

 

ที่ผ่านมา สายลมหนาว ในฤดูกาลปกติ สำหรับสัตว์ป่า เรียกได้ว่าเป็นฤดูกาลแห่งความรัก

สัตว์ตัวผู้จะมีร่างกำยำ สมบูรณ์ ขนชุดใหม่ขึ้นเป็นมันเงางาม

ส่วนใหญ่สัตว์ป่าตัวผู้คือผู้ถูกเลือก พวกมันต้องแสดงความเข้มแข็งให้ตัวเมียเห็น ให้เหนือกว่าตัวผู้ตัวอื่น ตัวเมียจะเลือกผู้เหมาะสมที่สุดเพื่อเป็นพ่อของลูก

กระทิง, วัวแดง ตัวใดอ่อนล้า ไม่เข้มแข็งพอ ก็จะถูกกระทิงตัวที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาคลอเคลียตัวเมียในฝูง

เช่นเดียวกับเสือโคร่ง เมื่อใดที่อ่อนล้า หรือวัยอาวุโสมากขึ้น การถูกเบียดออกจากพื้นที่ซึ่งตนครอบครอง ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

นั่นหมายถึงว่าไม่สูญเสียเฉพาะพื้นที่ แต่รวมถึงตัวเมียในความครอบครอง 2 ถึง 3 ตัวนั่นด้วย

นี่ย่อมเป็นวิถีของพวกมัน มีการจัดสรรสิ่งต่างๆ ไว้อย่างเหมาะสม

ตัวที่แข็งแรงกว่า มีโอกาสอยู่รอด แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวที่อ่อนแอกว่าชีวิตจะจบสิ้น

เสือที่ถูกเบียดออกไป พวกมันปรับตัวอยู่กับพื้นที่กันดารไม่สมบูรณ์ ยากลำบากขึ้น

กวางผา – บนดอยสูง ในฤดูกาลปกติ เมื่อสายลมหนาวครอบคลุมดอยอย่างสมบูรณ์ กวางผาจะใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่ตามชะง่อนหิน

นั่นคือความเป็นไปในช่วงฤดูปกติ ทำงานในป่า หากไม่พะวงกับเรื่องเห็บมากนัก ก็เป็นช่วงเวลาที่ดี เส้นทางสัญจรไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องอยู่กับความเปียกชื้น ผจญกับยุง ฝูงผึ้ง

พบเจอสัตว์ป่าไม่ยาก พวกมันวนเวียนอยู่ตามแหล่งอาหารเสริม

สัตว์ป่าปรับเปลี่ยนวิถีพวกมันไปตามฤดูกาล ไม่ว่าจะอยู่แห่งใดในป่าทึบหรือบนดอยสูง พวกมันสอนเช่นนี้

ผมยอมรับบทเรียนนี้ แต่ก็รู้สึกเสมอว่า ปรับกายนั้นไม่ยาก สิ่งที่ยากคือการปรับใจ

 

กลางเดือนเมษายน

รอยตีนเสือโคร่งเดินเลาะไปตามลำห้วยที่ระดับน้ำสูงทั้งที่ควรเป็นลำห้วยแห้งๆ

การปรับตัวของเสือโคร่งที่ถูกเบียดออกจากพื้นที่ เพื่ออยู่ให้ได้ในพื้นที่กันดารย่อมไม่ง่าย

บางทีรอยตีนที่เดินอย่างมั่นคงนั่น บอกให้รู้ว่า

กายอ่อนล้า ไม่ได้หมายถึงใจที่ยอมแพ้

 

หนาวยะเยือก

ในวันที่ฤดูกาลไม่เป็นเช่นเดิม ปรับกายเพื่ออยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้นยากแต่ทำได้

อยู่กับความเย็นยะเยือกกลางฤดูแล้ง ผมพบว่า ปรับใจยังคงยากเสมอ

ออกจากเต็นท์ แหงนหน้าดู แม้ท้องฟ้าจะมืดเพราะเมฆฝน

แต่หลังเมฆดำ นั่นมีแสงจันทร์นวล

เชื่อเช่นนี้ดูเหมือนว่า ความ “หนาว” จะลดลง •