กะเหรี่ยงอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น แยกกันมิได้ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

กะเหรี่ยงอยู่ไหน?

ไทยอยู่นั่น แยกกันมิได้

ความเป็น “คน” มาก่อนความเป็น “ไทย”

“คน” เป็นของจริง “ไทย” เป็นสมมุติ (ชื่อสมมุติ)

กะเหรี่ยงกับไทยเคยมีบรรพชนอยู่ร่วมกันบริเวณ “โซเมีย” ทางตอนใต้ของจีน มากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว หรือก่อน พ.ศ.500

ครั้งนั้นถูกจีนเรียกเหมารวมอย่างเหยียดหยามให้เป็นพวกไม่ใช่คน ด้วยคำจีนว่า “เยว่” แปลว่า เถื่อน, ป่าเถื่อน ซึ่งมีมากเป็นร้อยๆ จำพวกจึงถูกจีนเรียก “ไป่เยว่”

บรรพชนบนที่สูงของกะเหรี่ยงและไทยคือเยว่ (ออกเสียงคล้ายเยวี่ย, เหวียด, เหยอะ, แหยะ, แย้ ฯลฯ) เป็นชื่อรวมๆ ที่จีนเรียกคนหลายชาติพันธุ์นับไม่ถ้วน ประกอบด้วยคนต่างภาษาที่พูดตระกูลภาษาต่างๆ ตามชื่อสมมุติที่ถูกสร้างใหม่ ได้แก่ จีน-ทิเบต, ทิเบต-พม่า, ม้ง-เมี่ยน, มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไท-ไต หรือ ไท-กะได เป็นต้น

ไท-ไต หรือ ไท-กะได ชื่อสมมุติเรียกตระกูลภาษาซึ่งเป็นต้นตอหรือรากเหง้าภาษาไทย (ในประเทศไทยทุกวันนี้) มีข้อมูลเกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

สมัยนั้นคนพูดภาษาตระกูลไท-ไตทางตอนใต้ของจีนบริเวณโซเมียไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่เรียกตนเองตามชื่อทางวัฒนธรรมเป็นกลุ่มๆ ตามที่เลือกสรรกันเอง ได้แก่ ต้ง, จ้วง, นุง, สุ่ย, หลี, ปู้ยี, มู่หล่าว, เหมาหนาน, ผู้ไท เป็นต้น

[เยว่ร้อยเผ่า หรือเยว่ร้อยจำพวก เป็นพวก “ไม่ฮั่น” พบหลักฐานสนับสนุนหลายอย่าง ได้แก่ เอกสาร, เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากทองสำริด, พิธีกรรมความเชื่อจากภาพเขียนบนเพิงผาและอื่นๆ แต่จำเพาะเอกสารจีนโบราณชื่อ “หมานซู” (แต่งเป็นภาษาจีน พ.ศ.1410) บอกเล่าว่าคนพื้นเมืองป่าเถื่อนหลายจำพวกซึ่งไม่ใช่ฮั่นอยู่ทางใต้ของจีนตั้งแต่ทางใต้แม่น้ำแยงซีถึงฝั่งทะเลสมุทร (จากหนังสือหมานซู จดหมายเหตุพวกหมาน ของ ฝันฉัว กรมศิลปากร ให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนโบราณแปลเป็นภาษาไทย แล้วพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2512) เท่ากับเป็นที่รู้กันนับพันปีแล้วว่าทางใต้ของจีนล้วน “ไม่ฮั่น” หมายถึงเป็นหลักแหล่งของคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ซึ่งล้วนไม่ใช่จีน]

บรรดา “เยว่” ร้อยจำพวกพากันตอบโต้จีนว่าเขาไม่ใช่พวกเถื่อน แต่ “กูเป็นคน” ด้วยถ้อยคำของใครของมัน ได้แก่

กะเหรี่ยงมีคำว่า “ปกาเกอะญอ” แปลว่าคน, ไทยมีคำว่า “ไท” หรือ “ไต” แปลว่าคน

 

บรรพชนบนที่สูงของกะเหรี่ยงและไทย

กะเหรี่ยงพูดตระกูลภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) เป็นประชากรเก่าแก่ดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว

มอญเรียก “กะเรง” ไทยเรียกตามคำมอญด้วยการกลายเสียงว่า “กะเหรี่ยง” (บางกลุ่มทางราชบุรี-เพชรบุรี เรียก “กะหร่าง”) ชาวล้านนาเรียก “ยาง”

หลักแหล่งดั้งเดิมอยู่บริเวณ “โซเมีย” ทางตอนใต้ของจีน (ใต้แม่น้ำแยงซีหรือทางตอนเหนือของอุษาคเนย์โบราณ เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ มอญ, เขมร, พม่า, ลาว, เวียดนาม, ไทย ฯลฯ) โดยเคลื่อนไหวโยกย้ายไปมาถึงลุ่มน้ำสาละวินในพม่า และบริเวณเทือกเขาพรมแดนพม่า-ไทย

[โซเมีย เป็นชื่อดินแดนที่มีทิวเขาสลับซับซ้อนผืนใหญ่กลางทวีปเอเชีย บนดินแดนเทือกเขานี้มีที่ราบหุบเขากระจายอยู่ทั่วไปทั้งขนาดใหญ่และน้อยอันเป็นที่ตั้งของชุมชนเมือง ซึ่งบางแห่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่อื่น บางแห่งเป็นอิสระในตัวเอง บางแห่งแม้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับมีอิสระปกครองและดำเนินความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยตนเอง วิลเลม ฟาน สเคนเดิล (Willem van Schendel) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม สมมุติชื่อว่า Zomia สรุปจากคำอธิบายหลายแห่งของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เช่น จากหนังสือความไม่ไทยของคนไทย (พ.ศ. 2559) และในเล่มอื่นๆ]


หม้อสามขา (ภาชนะดินเผามี 3 ขา) เป็นเครื่องเซ่นผีที่แสดงฐานะทางสังคมระดับชนชั้นนำของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ตายแล้วฝังไว้ (ในภาพ) หม้อสามขาอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว เลียนแบบวัฒนธรรมฮั่นซึ่งนำมาโดยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย เช่น กะเหรี่ยง ฯลฯ พบที่บ้านเก่า ต.จรเข้เผือก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จากการขุดค้นโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ไทย-เดนมาร์ก พ.ศ.2503-2505 จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี (ภาพจากพิพิธภัณฑ์ฯ โดย นางสาวณุดา ปิ่นตัน)

กะเหรี่ยงกับไทยอยู่ที่นี่

ส่วนคำว่า ไท หรือ ไต แปลว่า คน หรือ ชาว เช่น ไทพวน แปลว่า คนพวน หรือ ชาวพวน, ไตลื้อ แปลว่า คนลื้อ หรือ ชาวลื้อ (ข้อมูลรายละเอียดมีอีกมากในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ โครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519) คำว่า ไต มีใช้ในภาษาเขมร พบในจารึกพิมาย แปลว่าคน แต่มีฐานะทางสังคมต่ำลงหมายถึงคนที่เป็นทาส

คนพูดตระกูลภาษาไท-ไตและกะเหรี่ยง รวมทั้งคนหลากหลายชาติพันธุ์บริเวณโซเมียต่อไปข้างหน้าจะมีความเคลื่อนไหวโยกย้ายไปมาหลายทิศทางตามเส้นทางการค้าภายใน กระทั่งลงไปตั้งหลักแหล่งมีอำนาจทางภาษาและวัฒนธรรมอยู่ร่วมกับคนในตระกูลภาษาอื่นๆ เช่น ชวา-มลายู, มอญ-เขมร, ทิเบต-พม่า เป็นต้น ครั้นนานไปได้กลายตนแล้วเรียกตนเองด้วยชื่อสมมุติใหม่ว่าไทย

ส่วนกะเหรี่ยงตั้งหลักแหล่งกระจายอยู่ในหุบเขาทางตะวันตกของไทย พรมแดนพม่า-ไทย โดยพบหลักฐานตามรายทาง ได้แก่ หม้อสามขา, กลองทอง (มโหระทึก), วงตีไก่

หม้อสามขา บริเวณโซเมีย-ที่ราบในหุบเขาสูงทางตอนใต้ของจีนอยู่ใกล้ชิดวัฒนธรรมฮั่น ดังนั้น บางส่วนถูกผนวกเป็นจีน แต่บางส่วนแม้อยู่เป็นเอกเทศก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วยอมอยู่ในอำนาจของจีนทั้งทางสังคม-วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ-การเมือง

การติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมฮั่นของคนชาติพันธุ์ต่างๆ ในโซเมีย ซึ่งรวมถึงคนในตระกูลไท-ไต มีหลักฐานสำคัญ คือ ภาชนะดินเผามีสามขา หรือหม้อสามขา (อายุหลายพันปีมาแล้ว) พบครั้งแรกในจีน ถูกนักโบราณคดีจีนขุดพบในหลุมฝังศพ (จากหนังสือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 42-47)

ส่วนในประเทศไทยพบครั้งแรกที่บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จากการขุดค้นในหลุมศพโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก (เมื่อ พ.ศ.2503-2505) หลังจากนั้นพบทั่วไปทาง จ.สุพรรณบุรี และอื่นๆ กระจายกว้างขวางในชุมชนดั้งเดิมบริเวณที่ราบเชิงเขาทางตะวันตกตั้งแต่ภาคเหนือของไทย แล้วแผ่ทอดยาวผ่านภาคกลางลงไปภาคใต้ตลอดคาบสมุทรมลายู

ลักษณะของหม้อสามขาเหล่านี้ตรงกับภาชนะดินเผามีสามขาอายุราว 3,000 ปีมาแล้วในวัฒนธรรมลุงชานของจีนบริเวณลุ่มน้ำฮวงโห (จีนเรียกวัฒนธรรมหลงซาน-Longshan culture) เป็นหลักฐานยืนยันว่ากลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในไทยกับในจีนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีการติดต่อสังสรรค์สัมพันธ์กันตามเส้นทางการค้าตั้งแต่ลุ่มน้ำฮวงโห ผ่านลุ่มน้ำแยงซีบริเวณ “โซเมีย” (ซึ่งเป็นที่ราบในหุบเขาสูงทางตอนใต้ของจีน) ลงไปลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องถึงคาบสมุทรมลายู

หม้อสามขาเป็นเครื่องเซ่นผีเพื่อแสดงฐานะทางสังคมของคนตายผู้เป็นชนชั้นนำระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ฝังในหลุมดิน ดังนั้น เมื่อหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตายก็เอาหม้อสามขาฝังรวมในหลุมฝังศพ เพื่อใช้งานในโลกต่างมิติตามความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี

กลองทอง (มโหระทึก) หมายถึงกลองสำริด ราว 2,500 ปีมาแล้ว ใช้ประโคมงานศพและพิธีกรรมสำคัญของเผ่า นอกจากนั้นยังสืบเนื่องเทคโนโลยีผลิตกลองทองจนปัจจุบัน

วงตีไก่ คูน้ำคันดินล้อมรอบรูปวงกลม (ไม่สม่ำเสมอ) จัดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อพิธีกรรมหลังความตาย เช่น ที่ฝังศพ เป็นต้น ต่อไปข้างหน้าจะเป็นส่วนหนึ่งของเมือง •