คุยกับทูต : จูเว็งซียู มาร์ติงซ์ ติมอร์-เลสเต ฉลองเอกราช 20 ปี พร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ (1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : จูเว็งซียู มาร์ติงซ์

ติมอร์-เลสเต ฉลองเอกราช 20 ปี

พร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ (1)

 

ไม่อาจมีใครพูดได้ว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่นสำหรับประเทศที่อายุน้อยที่สุดในเอเชีย และเมื่อปี 2021 ก็ไม่มีข้อยกเว้น เพราะประชาชนต้องเผชิญกับไฟไหม้ น้ำท่วม และโรคระบาด

แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในความยุ่งยากของปีที่ผ่านมา ก็ยังมีที่ว่างสำหรับความภาคภูมิใจ โดยเหตุที่เป็นปีซึ่งชาวติมอร์-เลสเตได้แสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างสูงเพื่อเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง

“เรามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีติมอร์ตะวันออกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย”

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ (H.E. Mr. Juvencio de Jesus Martins) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำราชอาณาจักรไทย เล่าว่า

“เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 4 ของติมอร์-เลสเต นับตั้งแต่ปี 2002 ที่ได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียหลังปกครองอยู่นาน 24 ปี”

“ติมอร์-เลสเตเป็นประเทศที่มีระบบกึ่งประธานาธิบดี (Semi-Presidential system) ซึ่งกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาทุกๆ 5 ปี”

“ปีนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม และมีรอบที่สองอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง 16 รายไม่ได้รับคะแนนเสียง 50+1 เปอร์เซ็นต์ในรอบแรกตามกฎหมายการเลือกตั้งของประเทศ”

“โดยในรอบแรก มีผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดสองคนคือ อดีตประธานาธิบดีรามุซ-ฮอร์ตา (José
Manuel Ramos-Horta) อายุ 72 ปี ได้คะแนนเสียงสนับสนุน 46.58% และประธานาธิบดีกูเตอร์เรส (Francisco “Lu Olo” Guterres) ผู้นำคนปัจจุบันได้ 22.35%”

“จึงมีการแข่งขันกันอีกครั้งในรอบที่สองเมื่อ 19 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาว่าคนใดมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่จะเป็นผู้ชนะที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผลปรากฏว่า อดีตประธานาธิบดีรามุซ-ฮอร์ตา ได้รับคะแนนนำสูงสุด คือ 62% ในขณะที่ประธานาธิบดีกูเตอร์เรส คนปัจจุบันได้รับคะแนน 37%”

รามุซ-ฮอร์ตา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2022 ภาพ – REUTERS Lirio da Fonseca

รามุซ-ฮอร์ตา กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าติมอร์ตะวันออกจะเป็นชาติสมาชิกลำดับที่ 11 ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) “ภายในปีนี้หรือปีหน้าเป็นอย่างช้า”

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 พฤษภาคม 2022 ซึ่งตรงกันวันประกาศเอกราชของติมอร์-เลสเต

ปกติ ประธานาธิบดีของติมอร์-เลสเตจะไม่ค่อยมีบทบาทในการออกนโยบาย แต่ถือว่าสำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมเสถียรภาพของประเทศซึ่งเพิ่งได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการจากอินโดนีเซียในปี 2002 หลังจากที่ต้องต่อสู้และนองเลือดกันเป็นเวลาหลายปี

และเมื่อได้รับเอกราชแล้วก็ยังเกิดความไม่สงบภายในประเทศ

เทศบาลเลาเตม Lautem ติมอร์ตะวันออก เครดิต-.timorleste.tl

ติมอร์-เลสเต หรือติมอร์ตะวันออก (คำว่า “เลสเต” นั้นคือภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า ตะวันออก) เป็นอาณานิคมของโปรตุเกสตั้งแต่ปี 1520 ภายหลังโปรตุเกสถอนตัวออกไปเมื่อปี 1975 อินโดนิเซียได้ส่งทหารเข้ายึดครองติมอร์ฯ โดยผนวกเข้าเป็นจังหวัดที่ 27

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลอินโดนิเซียยินยอมให้ชาวติมอร์ฯ ลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนีเซียในวันที่ 30 สิงหาคม 1999 ชาวติมอร์ฯ กว่าร้อยละ 80 แสดงพลังออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช ก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในติมอร์-เลสเตโดยกลุ่มทหารบ้านติดอาวุธหรือมิลิเทีย (Militia) ที่นิยมอินโดนีเซีย

สหประชาชาติจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (International Force in East Timor-INTERFET) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 1999 เพื่อส่งเข้าไปรักษาสันติภาพในติมอร์ฯ ก่อนที่ติมอร์ฯ จะประกาศเอกราชในวันที่ 20 พฤษภาคม 2002

โดยสหประชาชาติให้การสนับสนุนติมอร์-เลสเตตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2002-วันที่ 19 พฤษภาคม 2004 ภายใต้ United Nations Mission of Support in East Timor (UNMISET)

Maubisse เป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของติมอร์ตะวันออก เครดิต – Flick

ไทยและติมอร์-เลสเต สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2002 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี เปิดทำการเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2002

นายโชเอา เฟรตัส เด กามารา (João Freitas de Câmara) เข้ารับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตติมอร์ฯ ประจำราชอาณาจักรไทยคนแรก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2008

ปัจจุบัน นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ (H.E. Mr. Juvencio de Jesus Martins) รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำราชอาณาจักรไทย เป็นคนที่สาม โดยเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ปี 2021

นายมาร์ติงซ์สำเร็จการศึกษาจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ เอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเต ประจำประเทศมาเลเซีย (เขตอาณาครอบคลุมประเทศเวียดนามและเมียนมา) และเอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเต ประจำประเทศฟิลิปปินส์

ตำแหน่งล่าสุดก่อนมาประจำประเทศไทยคือ อุปทูตติมอร์-เลสเต ประจำประเทศอินโดนีเซีย

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ เล่าประวัติความเป็นมาว่า

“กว่าจะเป็นติมอร์-เลสเตวันนี้ เราเคยเป็นอาณานิคมของประเทศโปรตุเกสมาก่อน ซึ่งในปี 1975 โปรตุเกสกำลังจะให้อิสระแก่เราเพื่อให้เราเลือกโชคชะตาของตัวเอง แต่แล้วเพื่อนบ้านของเราคือ อินโดนีเซีย กลับเข้ารุกรานและยึดครองเป็นเวลา 24 ปี”

อิสรภาพของติมอร์ตะวันออกนั้นคงอยู่ได้ไม่นาน เมื่ออินโดนีเซียส่งกำลังเข้ายึดครองหลังติมอร์ฯ ประกาศอิสรภาพได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน ก่อนประกาศให้ติมอร์ฯ เป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซียในปี 1976

หลังจากนั้นอีกราว 2 ทศวรรษ ติมอร์ตะวันออกกลายเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตกว่าสองแสนราย สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่อสู้เพื่ออิสรภาพกับรัฐบาลอินโดนีเซีย จนกระทั่งอินโดนีเซียยอมให้ชาวติมอร์ฯ มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียต่อไป หรือจะก่อตั้งเป็นประเทศใหม่ไม่ขึ้นกับผู้ใด

“ตอนนั้นผมไม่ได้มีความคิดว่าจะเป็นนักการทูตในอนาคต เพราะเราต่อสู้กันในเวลานั้นนานถึง 24 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ตัวผมเองจำต้องเข้าไปอยู่ในป่าถึง 4 ปี ต่อมา ถูกจับ กลายเป็นนักโทษการเมือง”

“เมื่อได้ออกมา จึงย้ายไปอยู่ที่เมืองหลวง เป็นข้าราชการในการปกครองของชาวอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ก็เพื่อความอยู่รอด นับเป็นความยากลำบากมาก เราต่อสู้มาโดยตลอดถึงแม้ว่ายังเป็นข้าราชการของอินโดนีเซียก็ตาม จนในที่สุด เราก็ได้รับอิสรภาพในปี 1999”

“สหประชาชาติได้เข้าไปจัดการในกระบวนการลงประชามติ ผลการลงประชามติแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายสนับสนุนต้องการให้ติมอร์-เลสเตแยกตัวเป็นอิสรภาพได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย”

การจัดลงประชามติมีขึ้นในวันที่ 30 สิงหาคม 1999 ซึ่งผลประชามติออกมาเป็นฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสรภาพได้ชัยชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นราว 80 เปอร์เซ็นต์ และจัดตั้งประเทศในชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (Democratic Republic of Timor-Leste)

อย่างไรก็ตาม กระบวนการถ่ายโอนอำนาจหลังการลงประชามติมิได้เป็นไปอย่างราบรื่นเท่าใดนัก เมื่อฝ่ายต่อต้านการประกาศอิสรภาพใช้กำลังเข้าขัดขวางทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย และประชาชนนับพันๆ คนพากันอพยพไปยังฝั่งตะวันตกของเกาะ ก่อนเดินทางกลับถิ่นฐานเดิมในระยะหลัง

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

เหตุที่ตัดสินใจเข้าทำงานกับกระทรวงต่างประเทศ

“ก็อย่างที่คุณทราบหลังสมัยโปรตุเกส เป็นช่วงเวลาของอินโดนีเซีย เราเป็นเพียงจังหวัดหนึ่ง และเราไม่มีฝ่ายต่างประเทศ ไม่มีทีมทำงานต่างประเทศที่เป็นตัวแทนของประเทศ เมื่อติมอร์ฯ เป็นเอกราช จึงมีความจำเป็นต้องทำงานกับต่างประเทศ”

“ตอนนั้นผมอายุ 38 ใกล้จะ 40 แล้ว นายรามุช-ออร์ตา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนแรกของติมอร์-เลสเต และเคยมาเยือนประเทศไทยหลายครั้งแล้ว เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่สนใจทำงานด้านต่างประเทศ ซึ่งผมก็ตัดสินใจไปสมัครและได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 30 คน คิดว่ามีคู่แข่งประมาณ 300 คน เป็นการคัดเลือกให้อยู่ในระดับกลางและระดับสูงโดยยังไม่ได้กำหนดตำแหน่งหน้าที่”

นายรามุช-ออร์ตา เป็นผู้แทนต่างประเทศของกลุ่มต่อต้านจากติมอร์-เลสเต ในช่วงที่อินโดนีเซียยึดครองระหว่าง 1975-1999 ขณะที่อินโดนีเซียยึดครองอยู่นั้น เขาอยู่ที่ออสเตรเลียและนำเรื่องนี้เข้าสู่สหประชาชาติ และพยายามวิ่งเต้นต่อนานาชาติเพื่อไม่ให้เรื่องนี้เงียบไป ในที่สุด ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับหัวหน้าบาทหลวงการ์ลุช ฟีลีปึ ชีเมนึช เบลู (Carlos Filipe Ximenes Belo) จากการทำงาน “เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในติมอร์ตะวันออกอย่างยุติธรรมและสันติ” (towards a just and peaceful solution to the conflict in East Timor) ปี 1996

นายรามุช-ออร์ตา เกิดที่เมืองดิลีเป็นลูกผสมระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวติมอร์ ได้เข้าร่วมกับสมาคมสังคมประชาธิปไตยชาวติมอร์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเฟรตีลิน (Fretilin) เมื่อการลงประชามติเสร็จสิ้นลง จึงกลับสู่ดิลีในเดือนธันวาคม 1999 และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหลังจากติมอร์-เลสเตได้รับเอกราชในปี 2002 โดยมีนายชานานา กุฌเมา (Xanana Gusm?o) เป็นประธานาธิบดีติมอร์-เลสเตคนแรก

ต่อมา นายรามุช-ออร์ตา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (ปี 2006 -2007) เป็นประธานาธิบดีของติมอร์ตะวันออก (20 พฤษภาคม 2007-20 พฤษภาคม 2012) จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งให้กลับมาเป็นประธานาธิบดีของติมอร์ตะวันออกอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2022

“สิ่งที่จูงใจผมให้เข้าร่วมงานด้านต่างประเทศคือ ประการแรก เราต้องพิจารณาการประสานงานทางบริการ และประการต่อมา ที่ผมรู้สึกว่ามีความน่าสนใจ เพราะเรามีเครือข่ายระหว่างประเทศ จากนั้นเราสามารถดำเนินงานให้มากขึ้นเพื่อนำการลงทุนมาสู่ประเทศของเรา รวมทั้งโอกาสในการส่งเสริมสันติภาพและความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าการเป็นสมาชิกของ Foreign Services ถือเป็นสิทธิพิเศษเพราะสามารถสร้างเครือข่ายกับโลกภายนอกได้”

เอกอัครราชทูตมาร์ติงซ์เสริมว่า

“ผมยินดีมากที่ได้ร่วมงานกับกระทรวงต่างประเทศ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ชาวติมอร์ตะวันออกสามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประเทศไปสู่นานาชาติทั่วโลก เป็นอาชีพที่สร้างความตื่นเต้น ท้าทาย เปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจอย่างที่สุดที่มีโอกาสได้รับใช้ประเทศชาติ” •