เสนาะเสน่ห์กำสรวล สั่งแก้ว / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

เสนาะเสน่ห์กำสรวล สั่งแก้ว

 

บทเต็มของโคลงนิราศนรินทร์บาทนี้ คือ

แถลงปางบำราศห้อง โหยครวญ

เสนาะเสน่ห์กำสรวล สั่งแก้ว

โอบองค์ผอูนอวล ออกโอษฐ์ อรเอย

ยามหนึ่งฤๅแคล้วแคล้ว คลาดคล้ายขวบปี

ศัพท์ยากคือคำ “ผอูน” แปลว่า “น้อง” คือ น้องหญิงนั่นเอง เป็นคำเขมร ผโอน ก็เรียก ดูจะหมดสมัยไปแล้ว ทั้งสองคำนี้ คือ ผอูน และ ผโอน

โคลงบทนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจความลองอ่านซ้ำดูนะ โดยเฉพาะวรรคที่นำมาขึ้นชื่อบทไว้นี้คือ

เสนาะเสน่ห์กำสรวล สั่งแก้ว

 

คํา “เสนาะเสน่ห์” นี้ นอกจากไพเราะด้วยเสียงอักษร ซึ่งมีทั้งเสียงและลีลาแล้ว ยังสะท้อนถึงความนัย งดงามลึกซึ้งอันมีครบอยู่ในสองคำนี้

ซึ่งก็คือ เสน่ห์ทั้งหมด ของโคลงนิราศนรินทร์ทั้งเล่มที่แสนจะไพเราะ “เสนาะ” นัก

จะอ่านเอาความก็รวมความสำคัญได้ไม่รู้ว่าจะจาระไนได้หมดสักกี่หน้ากระดาษในบทเดียวนี้

อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

สิงหาสน์ปรางรัตน์บรร- เจิดหล้า

บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง

บาทท้ายบาทเดียวก็ระบายได้ไม่หมด “ใจเมือง” กันแล้ว

ยังคำไพเราะที่ให้เสียง “เสนาะ” โดยเราไม่รู้ตัว คือไพเราะทั้งเสียงสูงต่ำปานเสียงดนตรี รวมทั้งจังหวะจะโคนอันรวมแล้วเป็นลีลาของคีตกวีที่ผู้รู้ประหนึ่ง “วาทยกร” เท่านั้น จึงจะจาระไนได้หมดจด

อย่างเช่นบาทแรก

อยุธยายศล่มแล้ว

ห้าคำ (เจ็ดวลี) อยู่ในจังหวะห้า คือ

อยุธ-ยา-ยศ-ล่ม-แล้ว

คำ ยุธ กับ ยศ เป็นเสียงตรีเดียวกัน ส่วนจังหวะ คือ อยุด-ทะยา เป็นสองจังหวะ ซึ่งคำ ทะยา มีเสียงเบาเพื่อให้ทอดไปทิ้งจังหวะลงที่คำ ยศ กลายเป็นเน้นเสียงตรีเดียวกัน คือ ยุดกับยศ ลองอ่านสังเกตดูจะเข้าใจถึงความไพเราะที่นำมาลงด้วยคำ “ล่มแล้ว” อันร่ายเรียงด้วยเสียงตรี สลับสับร้อย กระจาย ถึงสามเสียงในวรรคเดียว คือ

ยุธ-ยศ-แล้ว

ลงท้ายด้วย “ลอยสวรรค์” และ “ลงฤๅ”

ลอยสวรรค์เป็นเสียงสามัญกับเสียงเอก (สะ) และจัตวา (หวัน)

จากตรี คือเสียงสูงสุดแล้วทอดลงมาต่ำ นี้เป็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่นำมาเรียงให้ดีให้ได้จังหวะจะโคนจะไพเราะนักในทางดนตรีหรือคีตกรรม

จำเพาะโคลงบทแรกวรรคเดียวของนิราศนรินทร์นี้ ก็ไพเราะหนักหนาสมควรผู้สนใจจะใฝ่รู้ใฝ่เรียนยิ่ง เพื่อจะจดจำเป็นแบบฝึกหัดแต่งก็ยิ่งสมควรยิ่ง

มิฉะนั้นจะเป็นดังที่ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี หรือ พ. ณ ประมวญมารค หรือ “ท่านจันทร์” วิจารณ์ไว้ว่า พวกแต่งโคลงแค่ถูกเอก-โทนั้น ก็ดีแต่อ่าน “เทิ่งๆ” ไปเท่านั้น หาที่ไพเราะอันใดมิได้

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

ความไพเราะของโคลงนั้น นอกจากเสียงและลีลาดังว่ามานั้นแล้ว ยังอยู่ที่สำคัญยิ่งและสำคัญสุดคือ

“คำโคลง” หรือ โวหารกวีของคำโคลง

อย่างในนิราศนรินทร์บางบาทบางบท เช่น

โฉมควรจักฝากฟ้า ฤๅดิน ดีฤๅ

เกรงเทพไท้ธรนินทร์ ลอบกล้ำ

ฝากลมเลื่อนโฉมบิน บนเล่า นะแม่

ลมจะชายชักช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน

 

นี้เป็นโวหารกวีทั้งบทโดยความเปรียบที่ไม่เชื่ออะไรทั้งหมดบรรดามีที่ทั้งโลกเขาเชื่อกัน แม้เทพเจ้าทั้งหลายกระทั่งมาลงท้ายในอีกบทถัดไป ดังบาทท้ายว่า

โฉมฝากใจแม่ได้ ยิ่งด้วยใครครอง

สมบูรณ์หมดจดหมดใจ โดยเฉพาะสมบูรณ์ด้วย “รสกวี” โดยแท้

เหมือนอีกวรรคที่ว่า “บางบ่รับคำคล้อง กล่าวน้ำตาคลอ” คำ “กล่าวน้ำตาคลอ” นี้ให้ความรู้สึกได้ทั้งความไพเราะของเสียงคำ และภาพจินตนาการที่กินใจ

บทกวีประเภทโคลงนี้แหละที่จัดว่าเป็นเอกกว่าบทกวีประเภทอื่นทั้งปวงตรงที่เพียบพร้อมทั้งเสียงบังคับ และลีลาจังหวะ พร้อมทั้งจำนวนคำสัมผัส ประกอบด้วยชั้นเชิงอันเป็น กวีโวหาร

 

ผู้รู้จำแนกโคลงไว้เป็นสามประเภท ดังนี้

หนึ่ง คือ โคลงครู เช่น โคลงสุภาษิตทั้งหลาย

สอง คือ โคลงมนุษย์ เช่น โคลงนิราศนรินทร์

สาม คือ โคลงเทวดา เช่น โคลงลิลิตตะเลงพ่าย

ผู้แตกฉานในกวีจะแต่งโคลงได้โดยไม่รู้สึกยากเลย

ผู้ไม่แตกฉานในกวี ก็จะรู้สึกว่าแต่งโคลงได้ง่ายจริง แต่โคลงของเขาก็จะเป็นอย่างว่าคือ

อ่านเทิ่งๆ ไปเท่านั้น

คำประพันธ์ร้อยกรองประเภทโคลง และประเภทกลอน สองลักษณะนี้เท่านั้นที่ถือเป็น “เอกลักษณ์” ถึงขั้น “อัจฉริยลักษณ์” ของภาษาไทยได้ทีเดียว เพราะกำหนดความไพเราะได้ด้วย “เสียงอักษร” ดังคำโคลงมีบังคับ “เอก-โท” คำกลอนบังคับเสียงท้ายวรรค ดังนี้

ท้ายวรรคแรก ได้ทุกเสียง

ท้ายวรรคสอง เสียงสามัญ-ตรี

ท้ายวรรคสามสี่ ต้องสามัญ-ตรี

ภาษาไทยมีเอกลักษณ์กว่าภาษาอื่น ตรงมีเสียงจำเพาะห้าเสียง คือ สามัญ-เอก-โท-ตรี-จัตวา (ยกเว้นสำเนียงภาษาถิ่น)

ฉะนั้น โคลงกับกลอนจึงสำแดงพลังเสียงดนตรีได้ชัดเจน โดดเด่น

เป็นอัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทยโดยแท้ •