สหพันธ์อินโดจีนกับเส้นแบ่ง ‘เบรวิเยร์’ (จบ)/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

สหพันธ์อินโดจีนกับเส้นแบ่ง ‘เบรวิเยร์’ (จบ)

 

นับเป็นมุมมองอันรันทดของนักประวัติศาสตร์เขมร ที่เจาะจงต่อเวียดนามว่าก่อการสงครามอินโดจีน (ใหม่) ถึง 2 ครา และว่า นี่คือกรณีการแสวงหาอาณานิคมใหม่แทนบารังในยุคสงครามเย็น

จึงไม่ว่าจะกี่ครั้งการกล่าวถึงเวียดนามมีแต่คำว่า “ญวน” เท่านั้น เช่นเดียวกับเวียดนามที่ออกเสียงเป็น “เยียกนาม” โชคดีที่หลังปีสหัสวรรษ อิทธิพลของดิจิตอลได้สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการ “รีทัช” ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยต่างๆ

จากปี 1954 เพียงปีแรกที่กัมพูชาได้เอกราช ทันทีในปีถัดมาสงครามครั้งที่ 2 จึงเริ่มขึ้น เมื่อโฮ จิมินห์ ปิด “สมาคมอินโดจีนเพื่อลัทธิมาร์ก” มาเป็น “พรรคแรงงาน” ในเวียดนามเหนือ และต่อมาในปี 1960 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะเสรีภาพแห่งชาติ/Front National de Lib?ration” (FNL)

แต่ปัญญาชนเขมร เรียกพรรคนี้ติดปากว่า “เวียดกง” และเชื่อว่าโฮจิมินห์ก่อตั้งขึ้นเพื่อแทรกแซงเวียดนามใต้ ลาว, กัมพูชาที่ต่างแยกเอกราชปกครองตนเอง

โดยสำหรับเขมรนั้น เวียดกงยังเอากองกำลังแทรกซึมหลายพื้นที่โดยกษัตริย์สีหนุยินยอม

และนี่คือสงครามอินโดจีนยก 2/1960 ที่เริ่มจากเวียดนามเหนือ และเริ่มความสัมพันธ์กับฝ่ายซ้ายกัมูชา และแน่นแฟ้นตามมา เมื่อระบอบสีหนุคิสต์ถูกโค่นล้ม/1970 ไปแล้ว คำว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนจึงกลับมาอย่างเงียบๆ

โดยที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กัมปูเจีย (พล พต) เวลานั้นยังไม่เปิดเผยตัวตนต่อชาวโลก

น่าสนใจว่าทำไมนักประวัติศาสตร์กัมพูชาร่วมสมัยที่ไม่เห็นด้วยกับพลพต แต่ไฉนจึงมองกรณีสงครามเวียดนามที่เริ่มในทศวรรษ 60 ว่าเป็นสงครามอินโดจีนในรอบ 2 ที่อยู่ในกำมือของเวียดนามเหนือ?

ช่างเป็นวาทกรรมอันสับสนและนัยว่า ขณะที่กลุ่มผู้นำเขมรแดงไปอบรมด้านการข่าวที่ฮานอยนั้น คนเหล่านี้ต่างมีท่าทีหวาดระแวงต่อกระแสโฮจิมินห์-เวียดกง โดยเฉพาะคำว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่ฝ่ายพลพตปฏิเสธอย่างแข็งขันในภายหลัง

กระทั่งเมื่อต่างยึดพนมเปญ-ไซ่ง่อนในปี 1975 นั่นเองที่รู้ว่า พวกเขาไม่อาจลงเรือลำเดียวกัน

cr image : Wikipedia

กัมพูชาอ้างว่า ตนถือระบอบคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 จึงไม่ใช่มาจากความคิดของเวียดนาม และชัดเจนว่า ปัญญาชนเขมรเวลานั้น ไม่เคยสังฆกรรมลัทธิมาร์กกับเวียดนามในเชิงสหายอุดมการณ์!

และการต่อสู้ด้วยเรื่องนี้ ไม่ต่างจากการปลดแอกออกจากการครอบงำที่ตนหวาดระแวงที่ตนเคยต่อต้านลัทธิมาร์กแบบเวียดนามตั้งแต่ 1951 มาแล้ว แม้จะมีผู้นำฝ่ายซ้ายเขมรบางคนที่เริ่มต้นจากเวียดนาม เช่น ซึง ง็อกมินห์

ซึ่งความสำเร็จของการปลดแอกดังกล่าวจะชัดเจนมากในยุคพล พต แต่นั่นก็นำความวิบัติมาสู่นโยบายที่สุดโต่งของตนในที่สุด

ผลก็คือชัยชนะของสงครามอินโดจีนรอบ 2 เป็นของเวียดนามในวันที่ 7 มกราคม 1979

ส่งผลให้พนมเปญได้อยู่ภายใต้ “สหพันธรัฐอินโดจีน” (ที่กร่นความหมายเป็นสหภาพอินโดจีนในภายหลัง) ราว 10 ปี (1979-89) เต็มกำลัง

จากนั้น ความหวาดระแวงตลอดมาที่กัมพูชารู้สึกว่าตนเสียดินแดนระหว่างปี 1955-1989 โดยเฉพาะในยุคพลพตที่กล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามใช้นโยบาย “สหพันธรัฐอินโดจีน” นี้ ดังที่เกิดขึ้นกับลาว ที่เขมรกล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์ลาวได้หลวมตัวสังฆกรรมกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจนก่อการเป็นถนนแห่งสงครามที่มีชื่อว่า “โฮจิมินห์เทร็ล”

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงที่พรรคมคอมมิวนิสต์กัมพูชาโดยคณะกัมพูชาประชาธิปไตยของพลพตได้ต่อต้านอย่างพันลึก โดยพบว่า จุดแตกร้าวมาจากประเด็นพรมแดนที่เป็นปัญหาร่วมกันมาแต่ครั้งได้เอกราชจากฝรั่งเศสซึ่งพล พต ได้ส่งตัวแทนเจรจาหลายครั้ง

อันเริ่มจากเส้นแบ่งของ “เบรวิเยร์”

“เบรวิเยร์” คือ Jules Brevi? คณะตัวแทนสูงสุดในการลงนามว่าด้วยเส้นแบ่งพรมแดนเวียดนาม-กัมพูชาตั้งแต่ครั้งยังเป็นอดีตอาณานิคมอินโดจีน

และนี่คือปมเหตุว่า ทำไมปัญญาชนเขมรยุคสงครามเย็นจึงติดประเด็น “สงครามอินโดจีน” กับเวียดนามซึ่งไม่เพียงเท่านั้น มันยังผลอย่างมากกับประวัติศาสตร์กัมพูชาในอีกต่อมาโดยไม่ว่าจะเป็นระบอบปกครองใด

และว่า ทำไมพลพตจึงประกาศไม่เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและพยายามจะนำเอา “เบรวิเยร์” กลับมาอยู่บนโต๊ะเจรจากับเวียดนามในแต่ละครั้งอย่างอยากลำบาก เช่นเดียวกับหลังปี1993 เมื่อกัมพูชาปกครองด้วยระบอบประชาธิไตย

แต่พรรคการเมืองใหม่ๆ และฝ่ายต่างๆ ก็ยังไม่วายที่จะชี้นิ้วไปยังต้นตอปัญหาของนโยบาย “สหพันธรัฐอินโดจีน” ของเวียดนามตลอดมา แม้กระทั่งแต่อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านนายสัม รังสี และนายกึม สกขา

และกลับมาสู่ความน่าประหลาดที่แม้จะผ่านมากว่ากึ่งศตวรรษแล้ว กระนั้น ความรู้สึกหวาดระแวงนั้นก็มีภาพอันเป็นจริงที่การต้องคดีความการเมืองในมุมมองเดียวกับอดีตผู้นำอย่างพล พต เช่นกรณี “เบรวิเยร์” จนทำให้นายรังลี้ภัยไปฝรั่งเศส และนายสกขาถูกควบคุมตัวที่กรุงพนมเปญ

และเป็นข้อถกเถียงอย่างลับๆ ของนักวิทูเขมรที่ว่า ทำไมทั้งสองโดยเฉพาะสัม รังสี ที่ต่อต้านเขมรแดง แต่ทำไม

ท้ายที่สุดแล้ว ตนเองก็สุดโต่งแอนตี้เวียดนาม ไม่ต่างจากพล พต?

และเช่นเดียวกัน ไม่ต่างกับที่ปราบคณะพลพตจนประชิดชายแดนตะวันตกยาวนานหลายปี สัม รังสี-กึม สกขา ต่างพ่ายแพ้ต่อฮุน เซน ผู้เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์จากระบอบสังคมนิยมที่เขาสั่งสมมายาวนาน ช่างทำให้เห็นว่า ทำไมเขาจึงสามารถกำหราบฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายดายถึงเพียงนั้น?

ในท่ามกลางกัมพูชาที่ก้าวหน้ากลายเป็นประเทศทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน เมื่อกัมพูชา ณ วันนี้ ไม่มีวันจะถอยหลังกลับไปในยุคสงครามเย็นอีกแล้ว และใครเล่าจะถอน “หมุด” ในประเด็นนี้ได้? และจะดีไปกว่า หากหมุดตัวนั้นยังค้างคาความหมายในคำว่า “สหพันธรัฐอินโดจีน”

และฮุน เซน ก็ทำมันด้วยตัวเอง เขาถอนหมุด “เบรวิเยร์” ที่เปราะบางมายาวนานระหว่างเขมรกับเวียดนาม ด้วยการดึงศักยภาพการลงทุนของต่างชาติโดยไม่สนใจว่าจะ 100 ปีลบ 1 หรือกว่านั้น

คำว่า “สัมปทาน” นี่เองที่มาแทน “เบรวิเยร์

 

ผ่าน “ระบอบในอันมั่นคง” ของตนมาหลายยุคหลายสมัย และใต้ระบอบอันเร้นลับที่ยาวนานนั้น ในที่สุด สมเด็จฮุน เซน ก็ปราดเปรื่องและนึกได้ (แม้จะใช้เวลาไปนานโข)

ตั้งแต่โฮจิมินห์-ลัทธิมาร์ก ถึงรัฐธรรมนูญฉบับล่าที่ระบุว่า “ประเทศกัมพูชาเป็นราชอาณาจักรซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยในรัฐสภาแบบพหุพรรค” เป็นที่ทราบกันว่า เขาสามารถทำให้รัฐสภาเขมรกลายเป็นระบอบพรรคเดียวเหมือนก่อนสมัย 1989 ที่ตนสังฆกรรมเป็นสหพันธรัฐอินโดจีนกับเวียดนาม

แต่เชื่อไหม อย่างระมัดระวัง ฮุน เซน ได้ถอนหมุดนั้นไปนานสักพักแล้ว ด้วยมนต์วิเศษ 10 ปีครั้งจากการเป็นประธานอาเซียน ทันใดนั้น อิทธิพลของฮานอยก็ถูกลดทอนลงไปในทุกครั้งที่เขาทำหน้าที่

เราจะไม่เคยเห็นใครที่สามารถฟอกล้างและสร้างตัว ด้วยชั้นเชิงการเมืองอย่างไม่กระทบต่อระบอบทั้งหมดที่ตนเคยพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็น “ดาวทอง” ที่ตนเคยอาศัยชายคามาร่วม 30 ปี แต่เบรวิเยร์ฮานอยก็ยังต้องถอยเมื่อเจอกับทุนเสรีของปักกิ่ง

เพื่อลดอิทธิพลของฮานอยไม่ต่างจากพล พต ก่อนนั้น ที่เคยภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอดีตและต่อสู้มาจนหมดคราบ และนี่คือกลไกของซอฟต์เพาเวอร์ในฮุน เซน ที่ระบอบเขมรแดงไม่เคยมี

ถ้านักวิทูของฝ่ายเสรีนิยมใหม่ในกัมพูชาจะกล่าวว่าพวกเขาต้องเสียอะไรไปมากมายระหว่างนี้?

สิ่งที่เห็นคือ

หลังจากผ่านผู้นำแบบฮาร์ดคอร์คนแล้วคนเล่า ไม่ว่า นโรดม สีหนุ, ลอน นอล, พล พต ฯ

ในที่สุด เราก็พบ “เบรวิเยร์” คนสุดท้ายในผู้นำเขมร ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง “ความสุดโต่งอันแข็งกร้าว” จนยากเกินต้านทาน

กับ “หลักเหลี่ยม” อัน “ลื่นไหล” ที่ยากจะ “สำมะหา”

cr image : Wikipedia