เกิดอะไรขึ้นบ้าง ? เมื่อญี่ปุ่นคว่ำบาตรรัสเซีย

สุภา ปัทมานันท์ | ญี่ปุ่นคว่ำบาตรรัสเซีย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในเอเชียที่แสดงจุดยืนชัดเจนประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียในทันที เวลาผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว ญี่ปุ่นให้ทั้งเงินและความช่วยเหลือต่างๆ และรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน

สถานการณ์มีแต่รุนแรงขึ้น ไม่เพียงการสู้รบทางทหารแต่มีการสังหารหมู่พลเรือน ทั่วโลกประณามการกระทำอันโหดร้าย สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเข้มข้นขึ้น รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย

มาตรการคว่ำบาตรของญี่ปุ่นต่อรัสเซียมี 5 ประการหลัก คือ การคว่ำบาตรทางการเงิน(金融制裁)มาตรการการส่งออกไปยังรัสเซีย(輸出規制) มาตรการถอดออกจากการเป็นประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง(最恵国待遇の取り消し・撤回) มาตรการการนำเข้าจากรัสเซีย(輸入規制)มาตรการแช่แข็งทรัพย์สินของกลุ่มคณาธิปไตย(オリガルヒの資産凍結)

ญี่ปุ่นประกาศคว่ำบาตรทางการเงิน SWIFT ตามหลังสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศอียู

แช่แข็งทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซีย ญี่ปุ่นเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศต่อรัฐสภา (5 เมษายน) เพื่อปิดเส้นทางและป้องกันการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของรัสเซียที่ซุกซ่อนไว้ และประกาศแช่แข็งทรัพย์สินของธนาคารยักษ์ใหญ่ Sberbank ของรัสเซีย (8 เมษายน)

เมื่อรัสเซียถูกคว่ำบาตรระบบการชำระเงินตราต่างประเทศ SWIFT จากนานาประเทศ การโอนชำระเงินค่าสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้าก็ทำไม่ได้ คือถูกตัดขาดจากระบบเศรษฐกิจโลกนั่นเอง การแช่แช็งทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียที่ถือครองอยู่ในต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เป็นต้น ทำให้เงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลง ไม่เป็นที่ต้องการของคู่ค้า

ในช่วงแรกมาตรการนี้ได้ผลดี ธนาคารกลางรัสเซียขึ้นดอกเบี้ยถึง 20% ค่าเงินรูเบิลอ่อนลงประมาณ 50% แต่ขณะนี้ ค่าเงินฟื้นกลับมาอยู่ในสภาพเดิม จากการที่รัสเซียประกาศให้การชำระเงินค่าซื้อก๊าซธรรมชาติต้องชำระเป็นเงินรูเบิลเท่านั้น ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องใช้ก๊าซ จึงทำให้ค่าเงินรูเบิลกลับมาเป็นเงินตราที่จำเป็นอีกครั้ง เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันค่าเงิน

มาตรการการส่งออกไปยังรัสเซีย ญี่ปุ่นห้ามส่งออกเซมิคอนดัคเตอร์ที่ใช้สำหรับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการผลิต อุปกรณ์การผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ อุปกรณ์การสื่อสารและเซนเซอร์ เป็นต้น และเพิ่มเติมอีก 57 รายการ (18 มีนาคม) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับยุทโธปกรณ์ 230 รายการ ตั้งแต่ปี 2014 หลังการผนวกไครเมียเป็นต้นมา เช่น เครื่องมือเครื่องจักร เครื่องยนต์ดีเซลกำลังแรงสูงที่ใช้กับรถบรรทุก รถแทรกเตอร์ และเส้นใยคาร์บอน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมัน เป็นต้น เพิ่มเป็น 300 รายการ รวมสินค้าที่ใช้เพื่อกิจการพลเรือนด้วย

ญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ใช้มาตรการการส่งออกที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหาร เพื่อร่วมกันกดดันให้รัสเซียหยุดการรุกรานยูเครนโดยเร็ว และวันที่ 8 เมษายน ญี่ปุ่นห้ามการลงทุนทุกชนิดในรัสเซีย

นอกจากนี้ ยังเพิ่มแรงกดดันแก่กลุ่มคณาธิปไตยผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดี ปูติน ญี่ปุ่นมีมาตรการห้ามการส่งออกสินค้าทีมีมูลค่าสูง 19 รายการ เช่น รถยนต์นั่งราคาเกิน 6 ล้านเยน แกรนด์เปียโน เครื่องประดับอัญมณี เช่น ไข่มุก วิสกี้ นาฬิกาข้อมือ เป็นต้น

การถอดออกจากประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงขององค์การการค้าโลก WTO ว่าด้วยการให้สิทธิทางภาษีแก่ประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์จากการค้าเสรี

รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นแก้ไขกฎหมายภาษีศุลกากร จากการถอดรัสเซียออกจากประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (5 เมษายน) จะทำให้สินค้านำเข้าจากรัสเซียที่เคยมีอัตราภาษีนำเข้าต่ำต้องเสียภาษีสูงขึ้น เช่น สินค้าจำพวกไม้สนแปรรูป จาก 4.8% เป็น 8% สัตว์น้ำ ปลาแซลมอน และไข่ปลาแซลมอน จาก 3.5% เป็น 5% ปูทะเลจาก 4% เป็น 6% แต่ก๊าซธรรมชาติ(LNG) แร่พาลาเดียม ถ่านหิน ไม่มีภาษีนำเข้า จึงไม่เปลี่ยนแปลง

สินค้า 100 รายการที่มีอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น มีมูลค่าภาษีถึง 3.6 พันล้านเยน ภาษีนำเข้าเหล่านี้เป็นภาระของผู้นำเข้าญี่ปุ่น แต่แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วอาหาร เช่น ปลาแซลมอน ไข่ปลาแซลมอน ที่ขายในประเทศต้องมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

ญี่ปุ่นประกาศห้ามนำเข้า ถ่านหิน เครื่องจักร สินค้าจำพวกไม้บางชนิด เหล้าวอดก้า (8 เมษายน) การนำเข้าถ่านหินจะลดปริมาณลงเป็นลำดับจนถึงห้ามนำเข้า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นมาตรการเกี่ยวกับการพลังงานลำดับแรกของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นต่างจากสหรัฐอเมริกาที่พึ่งตนเองด้านพลังงานค่อนข้างสูง ซึ่งห้ามการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียแล้ว เพิ่มแรงกดดันรัสเซียซึ่งมีอุตสาหกรรมหลักเกี่ยวกับการผลิตพลังงานส่งออก ประเทศกลุ่มทะเลบอลติก 3 ประเทศ(バルト三国)เอสทัวเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนีย ก็มีมาตรการงดการพึ่งพิงพลังงาน หยุดนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปแล้วด้วย

ญี่ปุ่นยังไม่อาจหยุดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้ทั้งหมด แม้ว่าการนำเข้าจากรัสเซียไม่สูงมาก โครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ตะวันออกไกลและหมู่เกาะซัคคาริน (Sakhalin) ที่รัฐบาลและบริษัทใหญ่เกี่ยวข้องอยู่ ยังมีการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาแง่ความมั่นคงด้านพลังงาน ญี่ปุ่นต้องรอบคอบและจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนจากหลายแห่ง โดยกำลังเจรจากับประเทศผู้ผลิตอื่น เช่น ออสเตรเลีย และประเทศในอินโดจีน เป็นต้น แล้วค่อยลดการนำเข้าลงจนถึงห้ามการนำเข้าในที่สุด

ปีที่แล้วญี่ปุ่นนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย 11% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด รัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตถ่านหินซึ่งมีปริมาณส่งออกประมาณ 20% ของปริมาณส่งออกทั่วโลก ต่อจากนี้ราคาถ่านหินจะแพงขึ้น และเป็นปัจจัยทำให้ค่าไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า เป็นต้น ในญี่ปุ่นมีราคาสูงขึ้นแน่นอน

มาตรการแช่แข็งทรัพย์สินของเหล่าคณาธิปไตย คือกลุ่มบุคคลร่ำรวยชั้นสูงที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ มหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่มีทรัพย์สินเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ (1.28แสนล้านเยน) มีทรัพย์สินรวมกันถึง 21% ของ GDP

ญี่ปุ่น มีมาตรการแช่แข็งทรัพย์สินของประธานาธิบดี ปูติน และกลุ่มคณาธิปไตย (12 เมษายน) ผู้มีความใกล้ชิดส่วนตัว เช่น เพื่อนร่วมรุ่น กลุ่มยูโด เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังด้านเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล รวมบุตรสาว 2 คนของประธานาธิบดี ปูติน จำนวน 398 คน และอีก 28 องค์กร การคว่ำบาตรบุคคลกลุ่มนี้เป็นแรงกดดันประธานาธิบดีปูตินด้วย

เมื่อญี่ปุ่นคว่ำบาตรรัสเซีย ก็ย่อมได้รับมาตรการตอบโต้ รัสเซียระบุว่า ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอียู เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น รวม 48 ประเทศ เป็น “กลุ่มประเทศที่ไม่เป็นมิตร”(非友好的な国)ประธานาธิบดี ปูติน ได้ลงนามในคำสั่งระงับการให้ความสะดวกเกี่ยวกับวีซ่าแก่ กลุ่มประเทศอียู และ นอร์เวย์ เป็นต้น

“กลุ่มประเทศที่ไม่เป็นมิตร” นี้ หากซื้อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ต้องชำระเป็นสกุลเงินรูเบิลเท่านั้น กลุ่มประเทศ G7 ร่วมกันปฏิเสธการชำระเงินเป็นรูเบิล รัสเซียได้ระงับการส่งออกสินค้ากว่า 200 รายการมายังประเทศเหล่านี้ เช่น อุปกรณ์การสื่อสาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรการเกษตร ตู้โดยสารรถไฟ เป็นต้น และห้ามสายการบินของประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และแคนาดา เป็นต้น รวม 36 ประเทศ บินผ่านน่านฟ้ารัสเซีย

เห็นได้ว่า ญี่ปุ่นและหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่มีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียจากการรุกรานยูเครน รวมทั้งรัสเซียเอง ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ไม่น้อยไปกว่ากัน

สถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ใครรู้บ้าง…